ชื่อจริงและชื่อเล่น (๑๒)

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


phuttai sawan

ในแบบเรียนวิชาภาษาไทยที่สอนกันในโรงเรียนย่อมมีส่วนหนึ่งที่เป็นเรื่องของ “ราชาศัพท์”

หัวข้อย่อยหนึ่งในเรื่องราชาศัพท์ได้แก่ “คำสุภาพ” โดยอธิบายว่าคำเหล่านี้ ถือเป็น “คำต้องห้าม” ไม่อาจกล่าวถึงตรงๆ ได้ ต้องจับ “บิด” ไปใช้คำเรียกให้เป็นอย่างอื่นแทน จึงจะสามารถใช้กราบบังคมทูลฯ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

เด็กไทยทั่วประเทศจึงต้องท่องว่า กาลครั้งหนึ่งเคยมี “คำสุภาพ” ที่ใช้เรียก “ปลาช่อน” ว่า “ปลาหาง” เรียก “ปลาสลิด” ว่า “ปลาใบไม้” รวมถึงเรียก “ผักบุ้ง” ว่า “ผักทอดยอด” ฯลฯ

แต่สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนคุณครูคนไหนๆ จะไม่เคยอธิบายให้นักเรียนฟังเลยก็คือ ทำไม ? คำเหล่านี้จึงถือเป็น “คำหยาบ” ถึงขนาดต้องถูกจับเปลี่ยนชื่อ ทั้งที่ก็เป็นคำเรียกทั่วไปอย่างที่ใครๆ ใช้กันในชีวิตประจำวัน

หนังสือ “ราชาศัพท์ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” (พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๕๐) อธิบายต้นเค้าว่า กฎเกณฑ์เรื่องเหล่านี้ปรากฏหลักฐานมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ดังมีใน “จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ เล่ม ๓ จุลศักราช ๑๑๗๑-๑๑๗๔” กล่าวว่า “อนึ่ง ของสิ่งใด เรียกเป็นคำหยาบคำผวน ห้ามมิให้กราบทูล…ถ้าจะทูลให้ไปอย่างอื่น แต่พอเข้าพระทัย…” จากนั้นก็ยกตัวอย่างมาอีกยืดยาว

หลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษไทยเป็น “นักเล่น” ที่ชื่นชอบการ “ผวนคำ” มาตั้งแต่โบราณ จนขนาดทำให้ต้องออกกฎเกณฑ์ว่าทุกคนต้องเรียก “ผักบุ้ง” ว่า “ผักทอดยอด” “ถั่วงอก” เป็น “ถั่วเพาะ” ส่วน “ดอกลั่นทม” ต้องเรียกแค่ “ลั่นทม” เฉยๆ

รวมถึงคำที่ต่อให้ไม่มีความหมายหรือฟังไม่ได้ความ แต่สามารถ “ผวน” ให้เป็น “คำนั้น” ได้ เป็นต้นว่า “สี่หน” “เจ็ดอย่าง” “แปดตัว” ก็ต้องเรียกใหม่เป็น “สี่ครั้ง” “เจ็ดประการ” และ “สี่คู่”

นอกจากนั้น คำใดๆ ที่มี “นัย” หมายถึงอวัยวะเพศชาย/หญิง ซึ่งคงเป็น “คำแสลง” ในอดีต เช่น “ปลาช่อน” (ชาย) “ปลาไหล” (ชาย) “ปลาสลิด” (หญิง) “เต่า” (หญิง) ต้องถูกบัญญัติให้เรียกว่า ปลาหาง-ปลายาว-ปลาใบไม้ และ จิตรจุล-ตามชื่อเต่าในเรื่องภูริทัตชาดก

คำเหล่านี้ยังใช้แพร่หลายในหมู่ “ผู้ดี” ชาวบางกอกยุคนั้นด้วย เช่นเมื่อท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ แต่งหนังสือ “แม่ครัวหัวป่าก์” ตำรากับข้าวยุคปลายรัชกาลที่ ๕ ท่านก็เรียกปลาสลิดว่า “ปลาใบไม้” แต่บางแห่งท่านก็ขยายความไว้ในวงเล็บตามแบบฝรั่ง (คงกลัวผู้อ่านทั่วไปไม่เข้าใจ) เช่น “ปลาหางสด (ช่อน)” และ “ถั่วเพาะ (งอก)”

นอกจากสัตว์และพืชผักผลไม้แล้ว ชื่อสิ่งของต่างๆ บรรดาที่มีคำว่า “อี” ทั้งหลาย ก็อยู่ในข่ายที่เป็นคำหยาบ และต้องจับเปลี่ยนใหม่ให้สุภาพราบเรียบ

ด้วยเหตุนั้น “อีเลิ้ง” ชื่อภาชนะดินเผาอย่างหนึ่งใช้ใส่น้ำ (บางคนว่าเป็นหม้อ บ้างว่าเป็นโอ่งใบย่อมๆ) อย่างที่สุนทรภู่พรรณนาไว้ในนิราศวัดเจ้าฟ้าของสุนทรภู่ ถึงหมู่บ้านช่างปั้นหม้อที่เมืองปทุมธานีว่า

“ชาวบ้านนั้นปั้นอีเลิ้งใส่เพิงพะ กระโถนกระทะอ่างโอ่งกระโถงกระถาง”

ในจดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ ๒ ฉบับดังกล่าว ยังระบุว่าต้องเปลี่ยนใหม่ให้เสนาะหูเจ้านาย จึงกลายเป็น “นางเลิ้ง” ดังที่ปรากฏเป็นชื่อย่านชื่อตลาดเก่าร้อยปีแห่งหนึ่งของพระนคร

และด้วยเหตุนั้น เราจึงสันนิษฐานกลับไปได้ด้วยว่า “นกนางนวล” และ “หอยนางรม” ย่อมต้องมีชื่อชาวบ้านเรียกกันมาแต่โบราณว่า “นกอีนวล” และ “หอยอีรม” เป็นแน่

phuttai sawan


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี