ก้าวที่ ๑๕ กล้าวรรณกรรมม

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


15klawannakam01

เป็นอีกค่ายที่ต่อเนื่องยาวนานของเมืองไทย ค่ายกล้าวรรณกรรม ซึ่งจัดมาเป็นรุ่นที่ ๑๕ ในปี ๒๕๖๑ เปิดรับนักเรียนชั้นมัธยมปลายรุ่นละ ๗๐-๘๐ คน มาเข้าค่ายการเขียน ๔ วันต้นเดือนตุลาคม ของทุกปี

ท่องโลกการเขียน เรียนทฤษฎี ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสร้างแรงบันดาลใจ ฝึกปฏิบัติการเขียน แล้วรับฟังคำวิจารณ์ผลงานจากนักเขียนและกวีมืออาชีพ เพื่อพัฒนาสร้างสรรค์งานต่อ

นักเรียนที่สมัครมาเข้าค่ายส่วนใหญ่ สนใจงานวรรณศิลป์อยู่แล้ว หลังเรียนรู้พื้นฐานงานเขียนแต่ละประเภท ค่ายกล้าวรรณกรรมมีฐานการเรียนรู้ ๓ กลุ่มให้แต่ละคนเลือกลงลึกได้ตามความสมัครใจ สารคดี เรื่องสั้น บทกวี

ว่าเฉพาะ ๒ กลุ่มที่เป็นงานเขียนร้อยแก้ว มีหลักการเบื้องต้นหลายอย่างร่วมกันอยู่ จุดต่างอยู่ที่สารคดีนั้นต้องตั้งอยู่บนฐานข้อมูลจริง แต่งเติมไม่ได้ ซึ่งนักเรียนทั้ง ๑๕ คน ที่สมัครมาอยู่ฐานสารคดีเข้าใจหลักการนี้มาแต่ต้นแล้ว

ที่วิทยากรประจำกลุ่มสามารถช่วยต่อยอดให้ได้ คือให้นักเขียนมือใหม่ตระหนักว่า บทบาทของงานเขียนสารคดีคือการบันทึก และให้ข้อมูลความรู้ตามข้อเท็จจริง และต้องได้รับรสรื่นรมย์ในการอ่าน

หัวใจสำคัญคือนักสารคดีต้องรู้จักจับจุดเด่น เหตุการณ์สำคัญ มาเล่าในลีลาภาษางานวรรณศิลป์ ซึ่งในแง่ของการเล่าเรื่องนี้สามารถใช้วิธีการและสำนวนภาษาได้ไม่ต่างจากเรื่องสั้น

ลองมาดูกันว่าพวกเขาทำได้สำเร็จไหม

15klawannakam02

“เพราะพี่มีความพยายามไงล่ะจ๊ะความพยายามไม่เคยทำให้ใครผิดหวังหรอกนะ ถ้าหนูตั้งใจจะทำอะไรจงทำให้ถึงที่สุด แล้วหนูจะค้นพบกับความสำเร็จ” ฉันบอกกับน้องพร้อมกับพยุงร่างของเธอแล้วจูงมือเธอกลับบ้าน

เหลือเวลาอีกแค่ไม่กี่วันพวกเราก็ต้องไปโชว์ฝีมือวาดลวดลายให้เฉิดฉายอยู่บนเวที วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เราจะซ้อม ฉันบอกกับตัวเองเสมอว่าต้องผ่านมันไปให้ได้ถึงแม้อุปสรรคจะเยอะมากเพียงไหนฉันก็จะผ่านมันไปให้ได้

สาวน้อยที่เอาแต่ร้องไห้เมื่ออาทิตย์ก่อนหายไปแล้วมีเพียงแต่สาวน้อยที่พร้อมจะสู้กับการแข่งขัน เธอวาดลวดลายที่สวยงามถึงแม้จะเป็นเพียงการซ้อมแต่เธอทำเต็มที่เสมือนกับอยู่บนเวทีการแข่งขันจริงๆ ฉันซ้อมไปพร้อมๆกับเธอ

(จากเรื่อง “วิชานอกหลักสูตร” โดย สุภาวี มามีศรี โรงเรียนระหานวิทยา)

ตาหันหลังก้าวนําฉันไป ทําให้เห็นแผ่นหลังของตาเปียกโชกเต็มไปด้วยเหงื่อราวกับตาเพิ่งผุดมาจากร่องน้ำ

หลังของตาทําให้ฉันรู้ว่าการอาบเหงื่อต่างน้ำเป็นเช่นนี้เอง

แผ่นหลังของตาคือกระดานชีวิตที่ไร้ ตัวอักษร แผ่นภาพหลากหลายที่ไร้เสียง แผ่นหลังของตาคงแบกความหวังของครอบครัวไว้ถึงแม้นมัน จะเหนื่อยแต่มนักค็งเป็นความสุขที่เต็มใจจะแบกไว้เพื่อคนที่รัก การได้ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งงที่เรารักและคนที่รัก มันเป็นโลกที่มีความสุข ความรักไม่ได้ทําให้เหน็ดเหนื่อยน้อยลงแต่มันทําให้เราเหนื่อยอย่างมีความสุข จริง ไหม

(จากเรื่อง “ครัวของตา” โดย มีนชยา ใจดี โรงเรียนระหานวิทยา)

15klawannakam03

ยายเป็นหญิงชรารูปร่างท้วม ไม่อ้วนมาก มีทรงผมสั้นประมาณไหล่มีตีนกาเต็มใบหน้า อายุ ๗๐ ปี ท่านชอบแต่งหน้าทาปากสีแดงสด และมีรอยยิ้มที่น่ารักกว่าหญิงอื่นใด คือ รอยยิ้มไร้ฟันของท่านที่เห็นทีไรอดยิ้มไม่ได้เลย เวลาท่านจะทานข้าวมักพกฟันปลอมอยู่เสมอ

ในช่วงปิดภาคเรียนทุกครั้ง เมื่อผมอายุราว ๕-๗ ปี ผมต้องนั่งรถจากบ้านผม จ.สุพรรณบุรี ไปหายายที่ จ.อ่างทอง อยู่ตลอดบ้านของท่านเป็นบ้านไม้เก่าๆแบบเป็นบ้านสองชั้นซึ่งชั้นล่างเป็นร้านขายของชำที่มีของใช้และขนมวางไว้มากมายรกรุงรังและมีโคมไฟแดงใหญ่แขวนไว้หน้าร้าน ซึ่งยายอาศัยอยู่กับน้า

….

เมื่อถึงเวลากลางวันผมจะหาขานุ่มๆของยายมาหนุนหัวแล้วลดตัวลงนอนอย่างสบายฟังเรื่องที่ยายไปเป็นเชฟอาหารไทยที่ประเทศอเมริกาเป็นเวลา ๓๐ ปี ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่สนุกและน่าฟัง ทุกครั้งที่ผมจะตื่นนอนจากการนอนกลางวันนั้น เป็นเพราะกลิ่นอันหอมชวนหิวที่โชยมาจากในครัวกลิ่นหอมฟุ้งกระจายไปทั้งบ้านคือกลิ่นที่ยายทำอาหารให้ผมทาน

อาหารที่ยายทำจะเป็นตุ้มยำกุ้ง, ผัดไท, แกงส้ม และที่อร่อยติดใจผมมาถึงทุกวันนี้คือ พะโล้หมู ที่ตุ๋นเป็นเวลานานมีกลิ่นหอมจากอบเชยและรสหวานหอมผิวสัมผัสของหมูที่ละลายในปากมาทานพร้อมกับข้าวสวยหอมมะลิที่ร้อนๆยิ่งได้ทานพร้อมกับยายแล้วทำให้ผมหยุดยิ้มไม่ได้เลย

เดินขึ้นมาถึงห้องยายเพื่อจะนำของมาเก็บจะมีเตียงขนาดไมใหญ่มากขนาดนอน ๒ คนกับผ้าปูลายลูกไม้สีขาวและผ้าห่มลายดอกกุหลาบพับเป็นระเบียบอยู่ตรงกลางห้องและมีโทรทัศน์ขนาดเล็กวางอยู่หน้าเตียง ผนังห้องมีรูปเชฟสาวไทยถ่ายอยู่กับชาวต่างชาติที่มารับประทานอาหารไทย ณ ร้านอาหารไทยแห่งหนึ่ง ติดเต็มผนัง มีตู้เสื้อผ้าหลังใหญ่อย่ามุมห้องและกลิ่นตัวของยายฟุ้งเต็มห้องที่หอมน่าหลงใหล

“อาบน้ำเสร็จแล้วครับยาย ตัวหอมแล้ว”

“ไหนลูก… ยายขอหอมหน่อย”

ก่อนนอนทุกคืนยายมักสอนให้สวดมนต์และกราบหมอนทุกครั้ง ฟังนิทานที่ยายเล่าซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่มีค่ามากกว่าทองคำมีเงินมากแค่ไหนก็หาซื้อความสุขนี้มิได้ เมื่อกำลังจะนอน

“นน… โตไปนนอยากเป็นอะไร”
“ไม่รู้สิครับ อยากเป็นตำรวจมั้งครับ เท่ดี ยิงผู้ร้าย เปรี้ยงๆ” ตอนนั้นผมตอบไปตามภาษาเด็กโดยไม่ได้คิดอะไร
“ยาย รอดูความสำเร็จของนนอยู่นะ”

รอยยิ้มบนใบหน้าที่เหี่ยวย่นและเสียงจากลาที่ฟังแล้วชวนให้คิดถึง เป็นภาพจำในใจของผมเสมอมา

วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๓ คำพูดจากปากแม่ที่ทำให้ผมอึ้ง มือไม้อ่อน ไอศกรีมที่ผมซื้อทานทุกวันก่อนกลับบ้านก็ร่วงลงจากมือลงสู่พื้นดิน

มองขึ้นไปบนท้องฟ้าที่แสนจะมืดมนไปด้วยเมฆและเสียงลมพัดผิดปกติไปจากอื่นรอยยิ้มของผมคนเดิมจางหายไป

ยายเข้าโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.อ่างทอง เพราะโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นโรคที่ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ซึ่งหากผู้ป่วยโรคเบาหวานมีบาดแผลจะรักษาหายช้าและถ้ารักษาไม่ถูกต้องอาจจะต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นออก

วันรุ่งขึ้นยายเข้ารับการผ่าตัด ตัดนิ้วหัวแม่เท้าข้างขวาไป เนื่องจากได้รับการรักษาแผลอย่างไม่ถูกต้อง

ผมที่เคยมีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะกลับกลายเป็นอย่างอีกคนที่เงียบ ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะและเย็นชา ผมที่พึ่งเดินทางมาจากบ้านก็พุ่งตัวกอดยาย

“ยาย… ยายไม่ต้องเศร้านะ ยายยังมีนนอยู่นนเป็นกำลังใจให้ยายนะ”

ผมรู้สึกตัวมันเย็นและชาไปหมด มีน้ำหยดใส่หลังของผมพร้อมกับร่างกายของยายที่สั่นระรัว เสียงสูดน้ำมูกที่กำลังจะไหล การหายใจที่ดังขึ้นและยายก็ปล่อยกอดผม

“ยายไม่ได้เศร้า”

ยายพูดแล้วยิ้มแบบไร้ฟันให้ผมดู หัวใจของผมกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งที่ได้เห็นรอยยิ้มนั้น จากนั้นยายต้องรับการพักผ่อน เนื่องจากเข้าห้องผ่าตัด พ่อแม่จึงพาผมกลับบ้าน

วันเสาร์เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นมาแต่ไกล แม่เข้ารับโทรศัพท์ฟังด้วยสีหน้านิ่ง ไร้อารมณ์ ตอบแค่ว่า “คะ”

หลังจากวางโทรศัพท์ลง หันมาหาผมด้วยน้ำตาไหลหนองเต็มใบหน้า

“ยายเราเสียแล้ว”

วินาทีนั้นเหมือนมีคนนำมีดมมากรีดอกซ้ายแล้วกดแทงเข้าไปถึงหัวใจของผม เรี่ยวแรงที่มีกลับหายไปหมดจิตใจที่จะทำการบ้านกลับกลายเป็นผงพัดปลิ่วไปตามสายลมพร้อมกับน้ำที่ไหลอยู่ใต้ตาหนองหน้าที่ไร้ความรู้สึก

ยายเสียชีวิตจากการได้รับยาที่หมอฉีดผิดพลาดได้รับยาชนิดที่ร่างกายรับไม่ได้เข้าไปเกินขนาดเกิดอาการช็อค จากนั้นลมหายใจและชีพจรก็ดับหายไป

วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๓ ผมไปนั่งมองรูปยาย ในงานศพซึ่งวันนี้เป็นวันเผา ณ วัดแห่งหนึ่ง จ.อ่างทอง วันสุดท้ายที่ร่างกายของยายจะอยู่ร่วมกับผม คำพูดสุดท้ายที่ผมจะบอกกับยาย

“ยาย… ผมรู้คำตอบแล้วว่าผมโตจะเป็นอะไร”

ผม… อยากโตไปเป็นหมอ… เพื่อจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับคนอื่นอีก…

น้ำตาไหลรินนองใบหน้าหน้าเด็กหนุ่มตัวน้อยๆที่นั่งหน้ารูปยายแก่ที่ยิ้มอย่างมีความสุข

ยายจะอยู่ในใจผมตลอดไป

(จากเรื่อง “วันที่มีคำตอบให้ยาย” โดย ชานน มาลัยกฤษณะชลี โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย)


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา