ชื่อจริงและชื่อเล่น (๑๔)

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


angkor

ชื่อเล่นของคนไทยถือเป็น “ของแปลก” ในสายตาคนต่างวัฒนธรรม อย่างชื่อเล่นของฝรั่งมักเป็นเรื่อง “ตายตัว” เช่นคนชื่อ William (วิลเลียม) ก็จะมีชื่อเล่นว่า Bill (บิล) เป็นอัตโนมัติเสมอไป อย่างบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ

คนต่างชาติต่างภาษาที่ได้รับรู้ย่อมอัศจรรย์ใจ ว่าคนไทยสมัยหนึ่งนิยมตั้งชื่อเล่นเป็นคำเรียกสัตว์ต่างๆ ซึ่งในวัฒนธรรมของเขาใช้เป็นคำด่า เช่น “หมู” จนมีการ์ตูนญี่ปุ่นบางเรื่องไปสรุปแบบมโนเรื่องคนไทยว่า ทุกคนต้องมีชื่อเป็นสัตว์ (ราวกับชื่ออินเดียนแดง) ก็มี

พี่ชายที่เคารพรักท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่าชื่อ “เล็ก” ของท่าน ไม่ใช่ว่ามีอะไรเล็กอะไรใหญ่ แต่เรียกย่อๆ มาจาก “หมาเล็ก” เพราะก่อนหน้าที่พ่อแม่จะมีพี่เขา เคยมีลูกอีกคนหนึ่งซึ่งเกิดมาได้ไม่นานก็เสียไปตั้งแต่ยังเล็ก ลูกคนต่อมาจึงต้องตั้งชื่อให้ฟังดูไม่เพราะพริ้ง ไม่สวยไม่งาม ให้น่ารังเกียจ เพื่อไม่ให้ “ผี” มาเอาตัวไปอีกคน ดังนั้น ท่านจึงต้องกลายเป็น “หมาเล็ก”

“พี่เล็ก” เล่าว่าว่าญาติผู้ใหญ่บางคนยังคงเรียกท่านว่า “หมาเล็ก” อยู่จนบัดนี้

ในประวัติตระกูลเก่าบางสกุลของไทยก็มีรายนามบรรพบุรุษที่มีชื่อทำนองนี้ เช่น หมาโต หมาจู

ธรรมเนียมนี้คงเคยแพร่หลายทั่วไปอย่างคำที่ผู้ใหญ่ทางภาคตะวันตก เช่นสุพรรณบุรี กาญจนบุรี เรียกเด็กๆ ว่า “ไอ้หมา!” ก็คงมีที่มาอย่างนี้เหมือนกัน

เผลอๆ วิธีคิดวิธีปฏิบัติทำนองนี้อาจมีแพร่หลายทั่วทั้งภูมิภาคมาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ก็ได้

ในหนังสือ “ประวัติเมืองพระนครของขอม” ที่ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ผู้ล่วงลับ ทรงแปลมาจากหนังสือภาษาฝรั่งเศสชื่อ Histoire d’ Angkor ของนางสาวมาดแลน จิโต (Madeleine Giteau) ตอนหนึ่งเล่าว่า ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักปราชญ์ทางโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญอารยธรรมขอม ศึกษาชื่อทาสเขมรโบราณจากศิลาจารึก พบว่ามีชื่อเช่น “หมา” “เหม็น” หรือ “น่าชัง” ท่านจึงสรุปว่า “ชื่อเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพวกทาสคงจะถูกดูหมิ่นดูแคลนมาก”

ซึ่งถ้าเปรียบเทียบจากคติร่วมสมัยในเมืองไทยก็อาจได้ข้อสรุปที่แตกต่างไปชนิด “คนละเรื่อง” เลยทีเดียว

เพราะจนถึงชั้นเจ้านายก็ยังมี “เจ้าฟ้าเหม็น” กรมขุนกษัตรานุชิต พระราชโอรสสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รวมถึงเจ้านายที่มีพระนามว่า “พระองค์เจ้าเน่า” ก็ยังมี

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็คงเนื่องมาแต่ท่านผู้ใหญ่แต่ก่อนหวังป้องกัน “ผี” ไม่ให้เอาตัวลูกหลานเล็กๆ ไป จึงต้องตั้งชื่อให้น่าเกลียดไปเสียเลย อย่างเดียวกับคติเก่าของไทยที่ไม่ให้ชมเด็กว่าน่ารัก แต่ต้องบอกว่า “น่าเกลียดน่าชัง” แทน จนถึงขนาดพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานก็ยังเก็บคำ “น่าเกลียดน่าชัง” เอาไว้ โดยอธิบายความหมายว่า “น่ารักน่าเอ็นดู (ใช้แก่เด็กเล็กๆ)”

angkor


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี