ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก


เรื่อง : อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล
ภาพ : ธนิสร หลักชัย

สัมผัส พุหางนาค ภูเขาแห่งศรัทธา ๕๐๐ ล้านปี

“ครืดๆ แกรบๆ!”

เสียงล้อจักรยานเสือภูเขาสีกระทบดินฉ่ำฝน

โคลนที่เกรอะกรังทุกซี่ล้อเพิ่มความเหนื่อยหอบในการปั่นขึ้นเนินลาดชันจนต้องปรับเกียร์เบอร์ ๑พร้อมสูดลมหายใจเต็มปอด แล้วปั่นให้เต็มสูบมุ่งหน้าสู่ “พุหางนาค” ที่ชาวชุมชนศรัทธาว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ล้านปีแห่งเมืองโบราณอู่ทองของจังหวัดสุพรรณบุรี

เป็นเรื่องปกติของนักพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนฝึกหัด ที่หลังรู้ทฤษฎี “พัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน” จะต้องลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้การประเมินศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชนด้วย เพราะถือเป็นหลักสูตร ๑๐๑ เพื่อเตรียมเป็นนักพัฒนาการท่องเที่ยวมืออาชีพ

ทำงานมาครึ่งขวบปี ฉันเริ่มบทเรียนแรกในพื้นที่ภาคกลางแห่งนี้ด้วยความพิเศษที่เป็นเมืองต้นกำเนิดประวัติศาสตร์อารยธรรมสุวรรณภูมิ จากหลักฐานทางโบราณคดีที่สันนิษฐานว่าที่นี่อาจเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรทวารวดีและเป็นศูนย์กลางของดินแดนสุวรรณภูมิ

ชั่วอึดใจใหญ่ ฉันและทีมงานปั่นมาถึงทางเข้าพุหางนาค-ภูเขาภาคกลางสำเร็จ

puhangnak01 puhangnak02

เดชะบุญที่ตอนนี้มีถนนลาดยาง ถ้ายังเป็นลูกรังแบบสมัยก่อนคงได้ประเมินร่างกายตัวเองก่อนจะได้ประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว

ทิศตะวันตกของจังหวัดสุพรรณบุรี คือแนวทิวเขาทำเทียมของอำเภออู่ทอง เป็นที่ตั้งของ “สวนหินธรรมชาติพุหางนาค” แหล่งป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ราบเชิงเขาเหมาะแก่การเพาะปลูก ทำไร่ ปศุสัตว์ ไม่กี่ปีนี้เองที่เพิ่งเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้นักท่องเที่ยวชื่นชมความงามของธรรมชาติและค้นหาปริศนาเมืองโบราณอู่ทอง อีกนัยก็เป็นการป้องกันการบุกรุกป่าของผู้ไม่หวังดีด้วยพลังของภาคประชาชน

puhangnak03

puhangnak04 puhangnak05

เข้าป่าเดินเขาหน้าฝนต้องมีสติในทุกย่างก้าว ทั้งระวังลื่นจากมอสส์เขียวเข้มแย้มแซมดิน และระวังเหยียบเจ้าถิ่น “กิ้งกือหลังแบน” (Flat-backed millipedes) หรือที่ชาวบ้านเรียก “ตะเข็บวาเลนไทน์” เพราะมีลำตัวสีชมพูหวานจ๋า ซึ่งชอบมาเดินป้วนเปี้ยนอวดความเป็นเจ้าถิ่น ถึงอย่างนั้นก็ยังมีใครบางคนถลาล้มพรืดไม่เป็นท่า เพราะมัวแต่เก้ๆ กังๆ ลังเลว่าจะหลบมอสส์หรือหลบตะเข็บวาเลนไทน์ ยังโชคดีที่ฝนขาดเม็ดไปตั้งแต่ช่วงค่ำวาน ทำให้ภารกิจเดินป่าสำรวจศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวของเราไม่ลำบากจนเกินไป

“หินตรงนี้ ถ้าเดินเฉี่ยว ไม่โอ๊ย! ก็อุ๊ย! มันจะร้องทันที”

สมพงษ์ แตงทัพ นักสื่อความหมายชุมชนแสดงอารมณ์ขัน เมื่อพวกเราพากันมาถึงจุดที่ปรากฏโขดหินขนาดใหญ่มีโพรงให้ลอดผ่าน ชวนอนุมานว่าคล้ายประตูเมืองลับแล

“หินตรงนี้ พูดได้เหรอ”

ใครบางคนในทีมถามเย้า

“เปล่าหรอก แต่ถ้าไม่ก้มหัวหลบคานหินข้างบน หัวก็ชนจนร้องโอ๊ย! กันมาหลายคนแล้ว”

การเบรกความเหนื่อยล้าด้วยบทสนทนาสนุกสนานเป็นลีลาเฉพาะตัวของเขา หลายครั้งมุกขำทำให้พวกเราเดินจนลืมเหนื่อยไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ สมพงษ์ไม่เพียงเป็นนักสื่อความหมายชุมชนที่ซ่อนองค์ความรู้เรื่องธรรมชาติไว้เต็มเปี่ยม เขายังเป็นคนพื้นที่เมืองโบราณอู่ทองที่ร่วมผลักดันให้สวนหินพุหางนาคกลับคืนเป็นป่าชุมชน รอดพ้นจากระเบิดของอุตสาหกรรมโรงโม่หิน

ว่ากันตามประวัติ สวนหินพุหางนาคมีอายุเกือบ ๕๐๐ ล้านปี เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกที่ยกตัวจากใต้ท้องทะเลเป็นภูผา ผ่านกระบวนการกัดเซาะและแปรสภาพเป็นหินผุกร่อน จากเม็ดฝน ลม พายุ การชอนไชของรากไม้ กลายเป็นแหล่งหินขนาดใหญ่ทีมีลักษณะแปลกตา ท้าทายจินตนาการของผู้มาเยือน ยังมีกลุ่ม “หินตั้ง” ที่นักวิชาการโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่ามนุษย์ยุคโบราณเป็นผู้นำหินมาวางซ้อนกันเพื่อประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เมื่อ ๒,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา ชาวอู่ทองจึงนำต้นทุนทรัพยากรประเด็นนี้ มาอวดโฉมและผลักดันให้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางท่องเที่ยวในเมืองโบราณอู่ทอง

เราเลือกใช้เส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะ ๘๐๐ เมตร ที่ไม่ต้องไต่ระดับมากนัก ใช้เวลาสัก ๒ ชั่วโมง ตลอดเส้นทางนอกจากได้ตื่นใจกับหินรูปร่างแปลกตาแทรกพรรณไม้ป่าและรากไม้ลักษณะงาม ยังจะได้ซึมซับเรื่องราวธรณีวิทยา ความรู้เกี่ยวกับชั้นหิน ดอกไม้และสมุนไพรหลากชนิด รวมถึงพันธุ์พืชอนุรักษ์หายากอย่าง “จันผา” ซึ่งมีลำต้นขนาดใหญ่และเป็นสัญลักษณ์ของพุหางนาค ปลายทางเป็นจุดพักที่สามารถชมวิวจากมุมสูงได้ทั่วเมืองและเห็นพื้นที่เกษตรกรรมเขียวขจี

“ที่มาทำตรงนี้ไม่ได้หวังค่าตอบแทน แต่หวังว่าจะได้เพิ่มจำนวนคนรักป่ามากขึ้น ซึ่งเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของแนวกันชนให้ผืนป่าอีกที”

นักสื่อความหมายเชื่อว่าหากสวนหินธรรมชาติแห่งนี้มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และคนในชุมชนได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการท่องเที่ยว ผู้ไม่หวังดีจะไม่กล้าเข้ามาหาประโยชน์จากพื้นที่ และวันหนึ่งผืนป่า-บ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาก็จะกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

สำหรับเรา หากให้ประเมินศักยภาพการท่องเที่ยวพื้นที่แห่งนี้

พุหางนาค-ภูเขาภาคกลางที่เกิดจากการพัฒนาและฟื้นฟูป่าโดยชุมชน อาจสู้ความงามของภูเขาแถบภาคเหนือไม่ได้ แต่สิ่งที่โดดเด่นเป็นเสน่ห์ยากที่ใครจะปฏิเสธคือความงามที่เกิดจากศรัทธา

ศรัทธาว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์หลายร้อยล้านปีของเมืองโบราณ

และศรัทธานั้นก็นำมาสู่การร่วมมือกันปกปักษ์รักษามรดกล้ำค่า

จนเกิดเป็นสถานท่องเที่ยวที่ได้อวดศักยภาพโดยฝีมือชาวชุมชน


oruma writerอรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล
อดีตนักเขียนและนักข่าว ที่หลงรักวิถีชีวิต ความแตกต่างทางวัฒนธรรม และอาหารพื้นบ้าน จึงผันตัวมาเป็นนักพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนร่วมกับ อพท. บ่อยครั้งที่ยังหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยการขีดเขียนเรื่องราวที่ได้สัมผัสขณะลงพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศไทย พร้อมหล่อเลี้ยงจิตใจจากการสะสมผ้าทอทุกชนิด

…….

nadoi02สุชาดา ลิมป์ – บรรณาธิการคัดสรรเรื่องเล่าคอลัมน์ ณ ดอย
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน