ชื่อจริงและชื่อเล่น (๑๘)

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


monkname

คัมภีร์หรือตำราหลักๆ ที่คนไทยนิยมนำมาใช้ตั้ง “ชื่อจริง” คือ “มหาทักษา” ซึ่งแบ่งกลุ่มอักษรตามแบบภาษาบาลี เป็น “วรรค” ต่างๆ แล้วคำนวณอิงกับวันเกิด ได้ออกมาเป็นทักษาต่างๆ คือ บริวาร-อายุ-เดช-ศรี-มูละ-อุตสาหะ-มนตรี และกาลกิณี

วันเกิดในที่นี้คือวันในรอบสัปดาห์ แบบวันจันทร์ วันอังคาร ไม่ใช่วันที่ในแต่ละเดือน

โดยถ้าเป็นผู้ชาย ครูบาอาจารย์หรือผู้ใหญ่ที่ตั้งชื่อให้ มักเลือกให้มีพยัญชนะนำในวรรคเดช หรือวรรคมนตรี เพื่อเป็นมงคลในทางความก้าวหน้าของชีวิต ส่วนถ้าเป็นผู้หญิง ก็มักเลือกวรรคศรี ให้มีความงามอ่อนโยน

เช่นคนเกิดวันจันทร์ เพศชาย ถ้าตั้งชื่อด้วย “วรรคเดช” อาจจะยากสักหน่อย เพราะมีพวกตัว ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ก็สามารถไปเลือก “วรรคมนตรี” คือตัว ศ ส ษ ห ฬ ฮ ได้ แต่ต้องอย่าให้มี “วรรคกาลกินี” ที่ถือว่าเป็นอัปมงคล คือพวกสระทั้งหลาย อะ อา อิ อี อุ อู ฯลฯ

แต่ทีนี้ถ้าจะตั้งชื่อแล้วไม่มีสระเลย ก็ยากที่จะผสมคำออกเสียงได้ โบราณท่านจึงอนุโลมให้ใช้ “ไม้หันอากาศ” ได้ เพราะไม่ใช่ “สระ” แต่เป็น “ไม้” (ช่าง “เลี่ยงบาลี” แบบไทยๆ กันดีเหลือเกิน…) หรือจะมีตัวการันต์ด้วยก็ย่อมได้

ทีนี้เมื่อเป็นนามฉายาของพระภิกษุบ้าง ส่วนใหญ่ก็เปิดตำรา “มหาทักษา” เหมือนกันกับการตั้งชื่อฆราวาส

เคยอ่านพบที่ไหนสักแห่งเมื่อนานมาแล้ว ว่าหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ปราชญ์คนสำคัญของเมืองไทย เขียนแสดงทัศนะไว้ว่า คอมมิวนิสต์นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ใหญ่โต จึงไม่ต้องไปกลัวอะไร เพราะโดยหลักการบางอย่างก็เป็นวิธีเดียวกับที่พระพุทธองค์เคยทรงใช้มาแล้ว เช่นบรรดา “สหาย” ที่เข้าไปร่วมอุดมการณ์กับพรรคใหม่ๆ ต้องมี “ชื่อจัดตั้ง” เป็นการประกาศตัวตนใหม่ เสมือนกับว่าคนเดิมนั้นตายจากไปแล้ว พระภิกษุที่บวชเข้ามาใหม่ในคณะสงฆ์ก็จักได้รับ “ฉายา” เป็น “ชื่อ” ใหม่ คล้ายกับล้างอัตตา คือตัวตนเดิม ออกเสีย ดุจเดียวกัน

อย่างในคณะสงฆ์ไทยปัจจุบัน ภายหลังพิธีอุปสมบทก็จะมีการมอบ “ฉายาบัตร” เป็นเหมือนสูจิบัตร หรือ “ใบตั้งชื่อ” ว่าเมื่อวันที่เท่านั้นเท่านี้ ได้มีการอุปสมบทกุลบุตรชื่อนั้นๆ ณ พัทธสีมาของวัดแห่งใด มีท่านผู้ใดเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระใหม่นั้นมีฉายาว่าอย่างไร

ส่วนใหญ่แล้ว พระอุปัชฌาย์จะเป็นผู้ตั้งฉายาให้ โดยเลือกความหมายที่เป็นมงคลและมีนัยเนื่องด้วยพุทธศาสนา

“ฉายา” ส่วนมากย่อมตั้งให้ตามคัมภีร์มหาทักษา คือตามวันเกิดของกุลบุตรที่มาบวช มักเลือกใช้ “วรรคบริวาร” เป็นหลัก เช่นคนเกิดวันจันทร์ เมื่ออุปสมบทก็มักได้รับ “ฉายา” ในกลุ่มอักษรนำ ก ข ค ฆ ง เช่น กิตฺติปญฺโญ (ผู้มีปัญญาเป็นเกียรติ) ขนฺติพโล (ผู้มีขันติเป็นกำลัง) คุณสํวโร (ผู้สังวรในความดี) โฆสธมฺโม (ผู้มีธรรมกึกก้อง) ฯลฯ

ส่วนในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องจากพระนามของเจ้านายโดยมาก ราชบัณฑิตหรือพระราชาคณะผู้ใหญ่จะคิดผูกขึ้นอย่างประณีตตามหลักมหาทักษาอยู่แล้ว เมื่อทรงผนวช จึงมักอนุโลมตั้งฉายาตามพระนามเดิมไป

หรือแม้แต่สามัญชนที่เคยเป็นคนใหญ่คนโต เมื่อมาอุปสมบทขณะมีวัยวุฒิมาก หรือผ่านตำแหน่งหน้าที่ราชการสูงๆ มาแล้ว ก็มักได้รับฉายาที่ตั้งขึ้นจากชื่อหรือชื่อสกุลเดิมของตัวด้วย

เช่นในช่วงกลางปี ๒๕๑๙ จอมพล ถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี บวชเป็นสามเณรเข้ามาจากต่างประเทศ แล้วมาอุปสมบท ณ พระอารามหลวงในกรุงเทพฯ ได้รับฉายาว่า “สุกิตติขจโรภิกขุ” ตามนามสกุลของท่าน

แต่พระภิกษุบางรูปเลือกฉายาของท่านเองก็มี เช่นพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต พระนักเทศน์นักเขียนผู้มีชื่อเสียงแห่งยุคปัจจุบัน จากวัดสร้อยทอง (พระอารามหลวง) กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีประวัติว่าขออนุญาตพระอุปัชฌาย์ ผูกฉายาของท่านขึ้นเองว่า “ตาลปุตฺโต” คือบุตรแห่งตาล เพื่อแสดงกตัญญูกตเวทีต่อโยมมารดาของท่าน ซึ่งมีนามว่าคุณแม่ตาล

monkname


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี