More Media

เก็บตกสาระ แนะนำสื่อภาพยนตร์ และสื่อแขนงอื่นๆ จากที่เห็นและเป็นไป ในและนอกกระแส


“เลือดข้นคนจาง” (In Family We Trust) 

“เลือดข้นคนจาง” ( In Family We Trust ) ละครโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ONE ผลิตโดยเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ นาดาวบางกอกและโฟร์โนล็อค ที่เริ่มออกอากาศเมื่อวันที่ ๑๔ กันยานยน ๒๕๖๑ แม้จะมีจุดเริ่มต้นในฐานะละครที่ป้อนให้กับกลุ่มไอดอล 9by9(ไนน์บายไนน์) นักแสดงรุ่นใหม่ ๙ คนของทางบริษัท โฟร์โนล็อค และผลลัพธ์อาจไม่ได้มียอดผู้ชมทางโทรทัศน์ที่เป็นไปตามคาดหวังของผู้ผลิตนัก หากกลับได้ความสนใจจากผู้ชมจนเป็นกระแสในโลกออนไลน์อย่างมาก เราจึงมาชวนย้อนดูจุดเด่น สิ่งที่สร้างความแปลกใหม่ของงานชิ้นนี้กัน

In Family We Trust

๑. ปมชีวิตลูกคนจีน

ละครว่าด้วยเรื่องราวในยุคปัจจุบันของครอบครัว ตระกูลจิระอนันต์ ที่ทำธุรกิจแบบกงสีช่วยกันบริหารในพี่น้องตระกูลเดียวกัน จนกลายเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมชั้นนำของไทย จนมีซอยที่เป็นชื่อของตระกูล พี่น้องในตระกูลล้วนอาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงกันหมด ชีวิตของแต่ละคนผิดแผกแตกต่าง บ้างเป็นเสาหลักคอยบริหารกิจการของตระกูล บ้างติดเหล้าไม่ทำงาน บ้างแอบไปสร้างครอบครัวใหม่ ส่วนรุ่นหลานบางคนช่วยงานจนกลายเป็นกำลังสำคัญ บางคนแยกตัวออกทำกิจการส่วนตัว หรือเข้าวงการบันเทิง บางคนยังเรียนต่อใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ แต่ทั้งหมดดูจะไม่มีปัญหาอะไรที่ชวนหนักอกหนักใจแต่อย่างใดเพราะพวกเขาร่ำรวย จนวันที่อากงเสียชีวิตและมีการเปิดพินัยกรรมนั่นเอง การแบ่งสรรมรดกที่ไม่เท่ากันได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของชนวนปัญหาของตระกูลนี้และไม่อาจหาทางรอมชอมกันได้จากการที่คนในตระกูลเลือกจะยึดตามขนบธรรมเนียมอย่างเคร่งครัดของวงศ์ตระกูลมากกว่าจะใส่ใจความรู้สึกของลูกหลานแต่ละคน

ปมดังกล่าวจึงสะท้อนให้คนดูผูกพันได้ไม่ยากแม้ผู้ชมอาจจะไม่ได้มีสินทรัพย์เฉียดใกล้ตัวละครในเรื่องเลยก็ตาม ยิ่งเมื่อมันเป็นปัญหาที่สัมผัสรับรู้ได้ทั่วไปว่ามักเกิดขึ้นในคนเชื้อสายจีน ไมว่าจะเป็นการรักลูกชายมากว่าลูกสาว การให้ความสำคัญกับลำดับเครือญาติมากกว่าความทุ่มเท หรือมีความรักให้กับคนในครอบครัว

เพราะอย่างไรเสียละครเรื่องนี้ก็นำเสนอประเด็นที่มักสอดแทรกเสมอในละครไทยนั่นคือเรื่องครอบครัว ที่ไม่ว่าคุณจะร่ำรวยเพียงใด หากเลี้ยงดูให้ความรักที่ไม่เท่าเทียมกันภายในตระกูล และการไม่สะสางปัญหาปล่อยให้ค้างคา ปมดังกล่าวก็จะย้อนกลับมาส่งผลสั่นคลอนพวกเขา และคนรุ่นต่อไป ไม่ต่างจากคนธรรมดาอย่างเราท่าน

infamiywetrust02

๒. ปมปริศนาใครฆ่า ?

มีไม่บ่อยนักที่ละครโทรทัศน์ไทยจะเป็นแนวสืบสวนฆาตกรรม ส่วนใหญ่วนเวียนอยู่กับตระกูลเมโลดราม่า ชิงรักหักสวาท หรือเน้นไปที่แนวตลกโรแมนติค หรือเป็นละครแอ๊คชั่น ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ “เลือดข้นคนจาง” เป็นละครสืบสวนฆาตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยพล็อตประเภท “ใครฆ่า ?”(Whodunit) ซึ่งปรากฎน้อยมากในละครไทย หรือหากมีก็มักเฉลยภายในวันที่ฉายเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยละครเองยังเลือกใช้เวลาในการกว่าจะเฉลยว่าใครเป็นผู้ทำการฆาตกรรมคนในตระกูลจนล่วงเข้าตอนที่ ๗-๘ จนกลายเป็นปมปริศนาของทั้งตำรวจ และคนในตระกูลเองที่ตามสืบสวนคดีนี้

ไม่ใช่เพียงการตามผลลัพธ์ว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ หากแต่ละตอนเมื่อยิ่งสืบสวนก็ทำให้เห็นปมต่างๆ ในชีวิตของคนในตระกูลแต่หนหลัง การปกปิดอำพรางรูปคดี ไปจนถึงข้อถกเถียงด้านกฎหมายต่างๆ และแน่นอนว่ารวมถึงการหักมุมเหตุการณ์ในแต่ละตอน จนสร้างความสนใจให้กับผู้ชมจนมีการตั้งประเด็นใหม่ทางโลกออนไลน์ทุกตอน แต่แน่นอนว่ากลวิธีการนี้ก็สร้างความเสี่ยงให้คนดูอีกกลุ่มหนึ่งไม่อาจอดทนรอชมการเฉลยดังกล่าวได้เช่นกัน

infamiywetrust03

๓. ขายทีมนักแสดงทั้งชุด

อีกจุดเด่นที่ปรากฎตั้งแต่โปสเตอร์ละครเรื่องนี้คือการเป็นละครขายนักแสดงทั้งชุด ด้วยการจัดวางตัวละครที่ไม่ได้เน้นว่าใครมีตำแหน่งของภาพเด่นกว่าใคร ดังที่ ทรงยศ สุขมากอนันต์ เปิดเผยกับมติชนออนไลน์ว่า ละครเรื่องนี้ไม่มีตัวละครหลัก ไม่มีพระเอก นางเอก ทุกตัวละครสำคัญเท่าๆ กันหมด แม้โดยปกติ ละครโทรทัศน์ไทยนั้นก็มักมีดึงดูดผู้ชมจากนักแสดงหลายๆ คนที่มาสร้างสีสันอยู่แล้ว ไม่ใช่เพียงจุดขายจากพระเอก นางเอก หรือผู้ร้ายเพียงอย่างเดียว แต่ก็ไม่ได้มีการสร้างจุดขายด้วยกลวิธีนี้มากนัก

จึงกลายเป็นการเปิดโอกาสให้นักแสดงหลายคนได้แสดงฝีมือลายมือ ไม่ว่าจะเป็น ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี, ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง, คัทลียา แมคอินทอช, อาภาศิริ นิติพน, ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ รวมถึงนักแสดงรุ่นใหม่อย่าง ธนภพ ลีรัตนขจร, กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม, ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ และ ศวรรยา ไพศาลพยัคฆ์ ซึ่งแน่นอนว่านักแสดงหลายคนก็อาจไม่ได้แสดงศักยภาพเทียบเท่าคนอื่นๆ ตามสัดส่วนของบทที่ไม่เท่ากัน แต่ด้วยกลวิธีดังกล่าวทำให้สร้างความน่าสนใจว่าใครที่เป็นผู้ก่อเหตุ ใครจะมีบทบาทเกี่ยวข้องอย่างไร หรือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมดกันแน่ ? เนื่องจากการเฉลี่ยบทให้เท่าๆ กันไม่มีฝั่งคนดี คนร้ายทำให้คนดูคาดเดาได้ยากขึ้น

infamiywetrust04

๔. งานสร้างที่มาพร้อมความแปลกใหม่

เวลานึกถึงละครโทรทัศน์ที่มีงานสร้างโดดเด่น ละครย้อนยุค หรือละครที่มีฉากย้อนยุคปรากฎมักเป็นละครประเภทแรกๆ ที่คนนึกถึงก่อนเป็นลำดับแรก เนื่องจากเป็นการสร้างฉาก และเครื่องแต่งกายผิดแผกจากยุคสมัยปัจจุบัน แต่ใน เลือดข้นคนจาง ที่แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ตัวผู้สร้างเองก็แสดงให้เห็นความพิถีพิถันต่างๆ จนโดดเด่นและเป็นที่กล่าวถึง

นอกเหนือจากความโดดเด่นในการเลือกผู้แสดง และการเขียนบทภาพยนตร์ดั้งเดิมโดย ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ และผู้เขียนบทรวม ๖ คน ที่เผยว่าได้รับอิทธิพลจากซีรี่ส์ฮ่องกงยุค 80s ดังที่กล่าวไป “เลือดข้นคนจาง” ยังเลือกทีมงานที่มาจากสายภาพยนตร์ ตั้งผู้กำกับ ทรงยศ สุขมากอนันต์(เด็กหอ), ผู้กำกับภาพ ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช(มะลิลา และอนธการ) และ ภิไธย สมิตสุต(สยามสแควร์) โดยเฉพาะจุดเด่นด้านดนตรีประกอบละครโดย เทิดศักดิ์ จันปาน ผู้คร่ำหวอดในการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์มานานอย่าง เด็กหอ, บอดี้ศพ19, ขุนพันธ์ 2, และ Secret (ภาพยนตร์ไต้หวัน) ซึ่งแสดงให้เห็นความแตกต่างจากละครโทรทัศน์เรื่องอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัดนั่นคือเพลง In Family We Trust นั้นเป็นเพลงบรรเลงที่เน้นการสร้างอารมณ์ขรึมขลัง ให้บรรยากาศความเป็นจีน และผ่านการบันทึกเสียงด้วยวงออเครสตร้าเต็มวงอีกด้วย โดยผ่านการควบคุมวงโดยวาทยากรชื่อดังอย่าง ทฤษฎี ณ พัทลุง

ตามปกติดนตรีประกอบในละครโทรทัศน์ไทยมักได้รับการใส่ใจน้อย และเรามักคุ้นชินว่าหลายเรื่องเป็นการนำเพลงประกอบละครที่เป็นเพลงร้องมาประกอบเท่านั้น บางเรื่องหยิบยืมดนตรีประกอบภาพยนตร์จากต่างประเทศมาใส่เพื่อสร้างความตื่นเต้น เพลงบรรเลงในละครเรื่องนี้จึงแสดงให้เห็นทั้งความใส่ใจรายละเอียดที่คนอาจมองข้ามได้เป็นอย่างดี

infamiywetrust05

๕. เรตติ้งโทรทัศน์ไม่รุ่ง แต่พุ่งที่ออนไลน์

แม้ผลลัพธ์ด้านเรตติ้งโทรทัศน์ของ “เลือดข้นคนจาง” จะไม่น่าประทับใจ โดยเรตติ้ง ๑๒ ตอนแรกที่ออกอากาศ เฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ ๑.๒๑๑ เท่านั้น (โดยในเขตกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีเรตติ้งเฉลี่ยสูงสุดถึง ๓.๔๔๗)

แต่ในอีกด้านละครเรื่องนี้กลับมีการรับชมผ่านออนไลน์ด้วยช่องทาง LINE TV ซึ่งเป็นช่องทางที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงรองจาก Facebook และ Youtube ด้วยสัดส่วนที่สูงถึง ๗๘% ซึ่งตรงกับการประกาศสถิติยอดวิวของ Nadao Series ที่ประกาศยอดวิวรวมของละครเรื่องนี้ว่าผ่านการชมถึง ๑๐๐ ล้านวิว ตั้งแต่ตอนที่ ๑๐ นอกจากนี้ในแง่ความเป็นไวรัลทางโซเชียลมีเดีย ละครเรื่องนี้นับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง ทุกสัปดาห์จะมีการทำคลิปคาดเดาในตอนต่อไป หรือการสร้างมีมจากเหตุการณ์ในเรื่องโดยตลอด

ผลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของผู้ชมรายการต่างๆ ผ่านออนไลน์ที่มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ชวนให้ตั้งคำถามถึงวิธีการวัดเรตติ้งของรายการโทรทัศน์ปัจจุบันที่ควรวัดผลจากหลากสื่อมากขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมที่แท้จริงของผู้ชมชาวไทยมากขึ้นเช่นกัน