ผู้เล่าเรื่อง : เล่าผ่านจดหมาย (ถึงใครสักคน)

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


letterteller

ว่ากันว่าการเขียนเรื่องเล่าผ่านรูปแบบจดหมาย เป็นวิธีเก่าแก่โบราณที่สุดวิธีหนึ่ง แต่นักเขียนรุ่นใหม่ๆ ก็ยังหยิบวิธีการเล่าเรื่องที่เรียบง่ายนี้มาใช้ในงานเขียนเรื่องเล่าของตนกันอยู่เสมอจนถึงยุคสมัยนี้

แม้เป็นรูปแบบที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ก็มีเสน่ห์ และหากทำได้ลงตัวรอบด้าน วิธีการเล่าอันโบราณนี้สามารถส่งให้งานเขียนชิ้นหนึ่งไปถึงขั้นไม่ธรรมดาได้

ด้วยวิธีการง่ายๆ แทนการเล่าอย่างผู้รอบรู้ให้ทุกคนฟัง เปลี่ยนเป็นเล่าให้ใครสักคนฟังผ่านทางจดหมาย

น้ำเสียง ท่าที อารมณ์ สำนวน ฯลฯ ของผู้เขียนก็จะเสมือนสื่อสารตรงต่อใครคนนั้น

ส่วนผู้อ่านจะเป็นเสมือนคนที่มาแอบอ่านจดหมายถึงคนอื่น ซึ่งก็ให้รสอีกแบบ หากไม่ใช่ความรู้สึกของการร่วม(สอด)รู้เห็นเรื่องของคนอื่น ก็อ่านเพื่อสาระความรู้ที่สองฝ่ายนั้น (ผู้ส่งกับผู้รับจัดหมาย) สื่อสารกัน

ในค่ายบางจากฯ ที่นิตยสาร สารคดี ร่วมมือกับบริษัทบางจาก ครั้งล่าสุด ผลงานที่ได้รางวัลชนะเลิศในค่าย ก็เล่าเรื่องผ่านรูปแบบจดหมายถึงเพื่อน

ลงพื้นที่ในชุมชนทำน้ำตาลมะพร้าว ที่อัมพวา สมุทรสงคราม “ภารัตน์” นักเขียนเจ้าของรางวัลงานเขียนขวัญใจค่าย เล่าเรื่องนี้ผ่านรูปแบบการเขียนจดหมายถึงเพื่อนรักที่มหาวิทยาลัย เพื่อนรักของเธอคนนั้นชื่อ น้ำตาล ซึ่งผู้เขียนหยิบมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ชื่อเรื่อง

เขียนเรื่องการทำน้ำตาลมะพร้าวถึงเพื่อนรักชื่อน้ำตาล เธอตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า “น้ำตาลหวานใจ”

เปิดเรื่องด้วยคำขึ้นต้นจดหมาย

————–

ถึงน้ำตาลเพื่อนรัก

เพื่อนมีโอกาสมาที่สถานที่แห่งหนึ่ง คิดว่าเพื่อนตาลคงจะตื่นเต้นเหมือนกันแน่ ถ้าได้เห็นสิ่งเดียวกับที่เพื่อนเห็น ที่โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์เขามีโชว์ทำน้ำตาลมะพร้าวให้ดูกันสด ๆ ด้วยแหละเพื่อนตาลเอ๋ย เธอคงจะไม่รู้ล่ะสิว่าน้ำตาลมะพร้าวกับน้ำตาลปี๊ปที่ใส่ในส้มตำของโปรดเธอนั้นแตกต่างกันเช่นไร จ้างให้ก็ไม่บอกหรอก google เอาสิเดี๋ยวเธอก็จะรู้เอง

วันนี้แสงแดดช่างร้อนแรงและแผดเผาผิวฉันเสียหายเหลือเกิน ฉันเดินเลาะเลียบท้องร่องเข้าไปในสวนมะพร้าวของโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ มีพี่คนหนึ่งท่าทางปราดเปรียว คล่องแคล่ว ตัวเบาคล้ายกับลิงลม กำลังปีนขึ้นต้นมะพร้าวต้นหนึ่ง สองมือกอดรัดลำต้นสูงนั้นไว้ สองเท้าคล้องกันไว้ด้วยสายรัดเท้า ทำจากเส้นป่านซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีสีขาวมาก่อน คุณสมบัติเด่นของมันคงเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากความเหนียวและทนทาน นอกจากนี้ยังมีมีดยาวสีสนิมเสียบอยู่ที่กระเป๋าหลังของกางเกงด้วยนะ ดูท่าทางเหมือนจะทื่อ แต่… “ฉับๆ” เสียงมีดที่สับเข้ากับเครือของทลายมะพร้าวก่อนร่วงตุบลงมา ช่างคมซะเหลือเกินเธอจ๋า

บุญเยี่ยม น้อยเกษม คือชื่อของชายที่ฉันกล่าวถึง ฉันเรียกเขาด้วยชื่อเล่นว่า พี่เยี่ยม

พี่เยี่ยมเล่าให้ฟังว่า ปีนต้นมะพร้าวตั้งแต่อายุ ๑๓ ขวบ จนตอนนี้เขาอายุ ๔๖ ปีแล้ว ร่วม ๓๓ ปี ที่พี่เยี่ยมปีนขึ้นลงต้นมะพร้าวมาด้วยจำนวนที่นับไม่ถ้วน แต่แกไม่เคยตกจากต้นมะพร้าวเลยซักครั้งเดียว

“ไม่เคยตกเลย คนที่ตกส่วนใหญ่ก็ไม่อยู่” พี่เยี่ยมหัวเราะร่วนหลังจากพูดจบ

ฉันถามพี่เยี่ยมไปว่ารู้สึกอย่างไรกับอาชีพที่กำลังทำอยู่ แกบอกว่า “อาชีพนี้ดี มีแต่สูงขึ้นๆ ไม่มีวันตกต่ำ” พี่เยี่ยมยังคงพูดติดตลกส่งท้าย ก่อนที่ฉันจะปลีกออกมา

ไม่ไกลกันเท่าไหร่ กลิ่นไหม้จางๆ โชยมาตามสายลม นำฉันไปพบ จำลอง จันทร์สะอาด กำลังเติมเชื้อเพลิงใส่เข้าไปในเตาปล่อง ด้านบนของเตามีกระทะตั้งอยู่สามใบ ใบแรกและใบที่สองมีน้ำใสๆ ถูกเคี่ยวอยู่ในกระทะ

ด้วยความสงสัย ฉันถาม ธนัญชัย สังขพูล หญิงวัยกลางคนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ กัน ได้ความว่า น้ำใสที่ดูหนืดๆ ในกระทะนั้นเรียกว่าน้ำตาลมะพร้าว ได้มาจากการปีนขึ้นไปถึงยอดต้นมะพร้าว เพื่อเอามีดปาดปลายงวงมะพร้าวเอากระบอกครอบไว้ ทิ้งไว้เป็นวันกว่าน้ำตาลจะเต็มกระบอก ใช้เวลาเคี่ยวน้ำตาลราวชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง จากนั้นเอากระทะลงจากเตา ใช้ลวดกระทุ้งตีน้ำตาลเพื่อเพิ่มอากาศเข้าไปในน้ำตาล เมื่อเสร็จแล้วขั้นตอนสุดท้ายก็คือเอาน้ำตาลที่ได้ไปใส่ในภาชนะ

เมื่อเธออ่านถึงตรงนี้แล้ว ที่ฉันบอกให้เธอไป google ดูนั้น เกรงว่าคงจะไม่ต้องแล้ว ฉันจะเป็นคนบอกเธอเอง

ถ้าใส่น้ำตาลลงในปี๊ปก็เรียกว่าน้ำตาลปี๊ป แต่ที่นี่เขาไม่ได้ใส่ในปี๊ปยังไงเล่าหล่อน อ่อ อีกอย่างน้ำตาลมะพร้าวที่นี่เขาไม่ได้ใส่แบะแซ เป็นน้ำตาลมะพร้าวล้วนๆ ไร้สิ่งใดเจือปน

ฉันนั่งพูดคุยกับคุณป้าธนัญชัยถึงการมาทำงานที่โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ป้าเล่าว่าก่อนหน้านี้แกขายส้มตำมาก่อน หนี้สินเยอะ แต่หลังจากได้มาทำงานที่โครงการนี้ ถึงแม้ว่าจะได้เงินเดือนเพียงเก้าพันบาท แต่หนี้สินไม่เพิ่มพูน

“อยู่ที่นี่ก็ค้าขาย เราทำงานอยู่กับตังค์ เราต้องซื่อ – ซื่อสัตย์และพอเพียง” เธอกล่าวพร้อมกับใบหน้าที่เปื้อนยิ้ม

ตอนนี้เป็นเวลาเย็นมากแล้ว ในสวนที่โครงการฯ ร่มรื่นขึ้น ไร้ซึ่งไอแดดที่แผดเผาฉันไปเมื่อยามบ่าย ถึงเวลาแล้วที่ฉันคงจะต้องเดินทางกลับ ฉันได้ความรู้มากมายจากที่นี่ พร้อมกับรูปสวยๆ ที่ฉันอยากให้เธอได้ดู

จริงๆ แล้วฉันมีเรื่องที่อยากเล่าให้เธอฟังเต็มไปหมด แต่การจะให้เขียนเล่าส่งให้เธออ่านคงจะไม่ได้อรรถรสเท่ากับเล่าให้เธอฟังด้วยตัวฉันเอง หวังว่าเราทั้งคู่จะหาเวลาว่างที่เราต่างมีน้อยเหลือเกิน มาพบกันให้หายคิดถึงเสียหน่อย

รักและคิดถึงเธอเสมอ
ภารัตน์

————–

ปิดเรื่องด้วยคำลงท้ายจดหมาย จากใจความที่อ่านในเรื่องจะเห็นว่า แม้โดยรูปแบบจะเป็นเหมือนจดหมายส่วนตัวจากเพื่อนถึงเพื่อน แต่คน(อื่นที่มาร่วม)อ่านก็ได้รับสาระความรู้ไปด้วยแล้วเรื่องน้ำตาลมะพร้าวของชาวอัมพวา ทั้งนี้ก็เพราะผู้เขียนได้ใส่ข้อมูลตามหลักการเขียนสารคดีไว้ครบถ้วน

แม้ดูเหมือนจดหมายแบบสบายๆ ในท่าทีและน้ำเสียงเชิงล้อเล่น แต่ผู้เขียนแทรกข้อมูลที่จริงจังไว้ครบ ชื่อจริงของแหล่งข้อมูล บทสัมภาษณ์ที่ได้จากการพูดคุย

รูปแบบจึงเปรียบเหมือนเปลือกหรือหีบห่อสารที่ต้องการจะสื่อ

อีกชิ้นเป็นสารคดีเรื่องยาว และซับซ้อนยิ่งขึ้นในแง่ประเด็น

นักเขียนใหม่ทั้งค่ายถูกกำหนดให้ทำสารคดีเรื่อง “พ่อ” สุดแท้แต่ใครจะตีความโจทย์ เลือกหัวข้อ หรือวางขอบเขตและกลวิธีในการเล่าเรื่องของตนอย่างไร อรวรี วิสรรคชาติ เลือกใช้รูปแบบจดหมายในการเล่าเรื่อง

ให้พ่อคนหนึ่งเขียนจดหมายถึงลูกชาย เล่าเรื่องราวของพ่อคนหนึ่งที่ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวทางของ “พ่อหลวง”

อรวรี-ผู้เขียน (Author) หยิบวิธีการเล่าเรื่องนี้มาใช้ได้อย่างสอดคล้อง เนื่องด้วยพ่อที่เป็นผู้เขียนจดหมายในเรื่องเป็นพ่อของเธอเองซึ่งลงพื้นที่ด้วยกัน รู้เห็น “ข้อมูล” มาเช่นเดียวกับเธอ เป็น “ผู้เล่าเรื่อง” (Narrator) ของลุงทองเหมาะ แจ่มแจ้ง เกษตรกรดีเด่น ชาวสุพรรณบุรี ที่หากเปรียบกับงานเขียน Fiction ก็คือ Actor น้ำเสียงเล่าเรื่องผ่านจดหมายถึงลูกชายชื่อ ต้า ซึ่งก็คือพี่ชายของตาล-ผู้เขียน ที่กำลังสนใจการทำเกษตรอยู่เช่นกัน ซึ่งทั้งต้า และตาล ก็นับเป็น Actor หรือตัวละครในเรื่องด้วย ผู้เขียนตั้งชื่อเรื่องว่า “ป.ล. พ่ออยากเห็นลูกปลูกแผ่นดิน”

เปิดเรื่องตามรูปแบบจดหมาย สถานที่เขียน-บ้านดอนเมือง วันที่… คำขึ้นต้นถึง-ต้า ลูกรัก

อารัมบทเรื่องฟ้าฝนนิดหน่อย (แต่ไม่น้ำท่วมทุ่ง เพราะฝนที่พ่อพูดถึง เชื่อมโยงถึงความกังวลว่าน้ำจะท่วมสวนของลูกไหม) จากนั้นก็เข้าเรื่องว่า พ่อไปเห็นอะไรมา ที่พ่อถึงกับบอกว่าเป็น “รักแรกพบตอนแก่” ทำให้ต้องเขียนจดหมายอย่างยาวมาเล่าลูกชาย

เข้าสู่ตัวเรื่องเป็นการบอกเส้นทางไปยังจุดหมายเช่นเดียวกับที่ผู้เขียนสารคดีมักบอกให้ผู้อ่านรู้ว่าเหตุการณ์ตามท้องเรื่องนั้นอยู่ที่ไหน แต่ในเรื่อง “ป.ล. พ่ออยากเห็นลูกปลูกแผ่นดิน” เป็นการบอกผ่านจดหมายของพ่อถึงต้า

จากนั้นรายละเอียดที่ว่าด้วยเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ก็ค่อยๆ ถูกเผยผ่านเหตุการณ์ที่ได้พบ ภาพที่เห็นตรงหน้า บทสนทนา คำบอกเล่าจากแหล่งข้อมูล และข้อมูลอ้างอิงอื่นๆ ทั้งหมดนั้นถูกนำมาประมวลอยู่ในจดหมายที่พ่อเขียน ผู้เขียน (ตาล-อรวรี) แม้ปรากฏตัวอยู่ในเรื่องด้วย ก็มีฐานะเป็นตัวละครหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ “ฉัน”-ผู้เล่าเรื่องนี้

ดังตัวอย่างบางตอน

ป้าทวีคู่ทุกข์คู่ยากของลุง จัดสำหรับให้เราเป็นข้าวอินทรีย์หอมมะลิแดง กับน้ำพริกแมงดาพร้อมผักปลอดสารพิษกระจาดใหญ่ เจ้าตาลตื่นเต้นกับข้าวหอมฉุยสีแดงอ่อนเหมือนไม่เคยเห็น ลุงแกยิ้มแล้วอธิบายว่า เพิ่งสีข้าวเองสดๆ ร้อนๆ เกี่ยวข้าวมาจากนาอินทรีย์ชีวภาพ ส่วนผักทั้งหลายก็เพิ่งละทิ้งดินมาไม่กี่ชั่วโมง ป้าทวีเก็บมาจากแปลงผักสวนครัวปลอดสารเคมีเช่นกัน
“กินเยอะๆ เลยลูก ตั้งแต่เกิดมาเคยกินข้าวปลอดสารเคมีหรือเปล่าไม่รู้” ลุงแกพูดกับเจ้าตาลอย่างนั้น

“แล้วคุณลุงล่ะคะ” น้องสาวของต้าย้อนถามลุงทองเหมาะทั้งที่ข้าวเต็มปาก พ่อสอนไม่จำสักที

“สมัยลุงเกิดไม่มีควายเหล็กช่วยไถนาด้วยซ้ำ ใครมาพูดถึงสารเคมี ลุงคงนึกว่าเขาบ้า”

ท่ามกลางความอารีและอร่อยในวงข้าว ลุงทองเหมาะพาเราสองพ่อลูกย้อนกลับไปในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ก่อนพ่อเกิดไม่กี่ปี แต่พ่อเกิดที่วงเวียนใหญ่ ไม่มีท้องนาเขียวๆ สุดลูกหูลูกตาเหมือนหมู่บ้านวัดเกาะ ตำบลวังหว้า อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณฯ เด็กชายทองเหมาะลืมตาดูโลกที่นั่น เป็นลูกคนที่สองของครอบครัวชาวนา ต้าหลับตาแล้วลองนึกภาพฉากละคร “มนต์รักลูกทุ่ง” นะ พอลุงแกเริ่มเรื่องด้วยน้ำเสียงแจ่มใส พ่อก็อยากครวญ “หอมเอย หอมดอกกระถิน…” ขึ้นมาติดหมัดเชียว”

————–

เมื่อจะเล่าถึงส่วนที่เป็นข้อมูล ก็แทรกเข้าไปได้ทันที ไม่มีข้อจำกัดและไม่ต่างจากการเล่าแบบเรื่องเล่าธรรมดาทั่วไป

เด็กชายทองเหมาะแจ่มแจ้ง ทำนาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่

หญิงชาวนาทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่ตั้งท้องไปจนถึงชั่วโมงคลอด แม่ของทองเหมาะเป็นกำลังสำคัญของสามี เธออุ้มท้องลูกน้อยในครรภ์ช่วยงานนา จนไอดินกลิ่นฝนซึมซาบเข้าไปในสายเลือด

————–

กระทั่งความเห็นของผู้เขียน ก็ใส่แบบเนียนๆ ไปในจดหมายของพ่อได้

วันที่แกมีโอกาสเข้าเฝ้าในหลวงใกล้ชิด ในหลวงตรัสถามถึงอาชีพและความเป็นอยู่ พอลุงเล่าว่าเป็นเกษตรกรปลูกอ้อยปลูกมัน พระองค์ก็ตรัสอธิบายถึงแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ นั่นก็คือปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่เราได้ยินจนคุ้นชิ้นนั่นเอง ลุงจำติดหูว่าพระองค์ทรงอธิบายอยู่นานอย่างถ่องแท้

จะมีพระมหากษัตริย์องค์ใดในโลกนี้ไหม ที่มาสอนชาวนาให้ปลูกข้าว สอนชาวไร่ให้ปรับปรุงดิน แต่คืนนั้นในหลวงทำให้ลุงรู้สึกว่าตนเขลาไปถนัดใจ

ความรู้ทางเกษตรดั้งเดิมของลุงไม่เพียงพอที่จะเอาตัวรอดในยุคโลกาพิฆาตอย่างปัจจุบันนี้อีกแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงที่แกไม่เคยใส่ใจต่างหาก คือวิถีรอดของคน “ฉลาด” คนที่มีปัญญาเท่านั้นถึงจะตระหนักได้ว่าเรากำลังเป็นเหยื่อของลัทธิทุนนิยม เราถูกล่อลวงให้ฆ่าผืนดินทำลายธรรมชาติ

————–

เดินเรื่องไปจนจบ ครบประเด็นตามข้อมูลที่จะนำเสนอ ก็ปิดเรื่องด้วยคำลงท้ายตามสไตล์จดหมาย

เรื่องจบยังมีภาพประกอบ ผู้เขียนออกมาแสดงตัว เขียนต่อท้ายจดหมายของพ่อ

————–

ฝากถึง พี่ต้า

วันที่ไปสุพรรณบุรีพ่อสนุกใหญ่ รู้สึกเหมือนพาพ่อไปทัศนศึกษาเลย แกถามโน่นถามนี่จนหนูนึกว่าเป็นสปายจากไร่คู่แข่ง ไร่ของลุงทองเหมาะสวยแล้วก็อากาศดีมากๆ ไว้คราวหน้าเราไปด้วยกันนะ

ครั้งนี้หนูมีรูปถ่าย แล้วก็แอบจำวิทยายุทธ์เล็กๆ น้อยๆ ฝากมากับจดหมายของพ่อด้วย

คิดถึง
ตาล

————–

จากนั้นก็เป็นรูปภาพตามแนวงานสารคดีที่สามารถมีภาพประกอบได้ เป็นส่วนช่วยเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่านได้

แต่ชื่อว่างานเขียนแล้ว ตัวหนังสือต้องทำงานเป็นด้านหลัก ต้องให้คนอ่านมองเห็นภาพและรู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวผ่านทางตัวหนังสือ โดยคนเขียนต้องไม่หวังเผื่อให้ภาพช่วยทำหน้าที่นั้น

ซึ่งสำหรับงานสารคดีเรื่อง “ป.ล. พ่ออยากเห็นลูกปลูกแผ่นดิน” ไม่เพียงให้ภาพ เสียง รส บทสนทนา อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในเรื่องได้ครบหมด ทั้งยังนำผู้อ่านให้ติดตามไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องแบบวางไม่ลง โดยไม่รู้สึกเลยว่านั่นเป็นจดหมายส่วนตัวที่พ่อคนหนึ่งเขียนถึงลูกชาย

ทั้งนี้ก็ด้วยประเด็นที่เป็นสากล ลีลาภาษาที่ใช้เล่าเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ตอบโจทย์คนอ่าน เป็นพลังผนวกกันให้งานชิ้นหนึ่งโดดเด่นขึ้น

เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้นักเขียนรุ่นใหม่ๆ ได้ ในแง่รูปแบบการเล่าเรื่อง


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา