งานเขียนดีเด่นจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14
เรื่อง : เกษมะณี วรรณพัฒน์
ภาพ : จิรเมธ ศรีพรรณ

บ้านนอกเมนู ตู้กับข้าวชุมชน

ฉันเป็นเด็กบ้านนอก เกิดในอำเภอเล็กๆ ทางอีสานที่ความเจริญยังไม่งอกงามมากนัก ทุกวันนี้สภาพก็ถือได้ว่าไม่เปลี่ยนไปจากภาพที่เคยเห็นในวัยเด็กสักเท่าใด แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลยนอกจากคนกับถนนซีเมนต์ที่ตัดผ่านแทนดินลูกรัง ชาวบ้านหลายชายคายังปรุงกับข้าวด้วยเตาถ่านกันอยู่ ซึ่งบ้านฉันเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แม่จะยอมใช้เตาแก๊สเฉพาะเวลาเร่งด่วน เช่นการทำกับข้าวไปวัดในตอนเช้า นอกนั้นน่ะหรือ พึ่งพาพลังงานจากถ่านล้วนๆ

แกไม่ได้ขี้งกแต่อย่างใดดอก เคยถามอยู่เหมือนกัน แกว่าไม่ได้มีเรื่องรีบร้อนอะไรสักหน่อย ค่อยๆ ทำเล่นไปเพลินดี ส่วนอาหารการกินบ้านเรามาจากสามที่หลักๆ คือ ปลูกเลี้ยงเอง ตลาด และจากป่า

แน่นอนว่าพ่อชอบอาหารที่มาจากป่ามากๆ อย่างพวกน้ำหวานจากรังมิ้ม สัตว์ตระกูลเดียวกับผึ้งเพียงแต่ตัวเล็กกว่า หรือการเผารังต่อแล้วเอาตัวอ่อนมันมากิน เคยลองชิมอยู่ รสชาติมันๆ เหมือนน้ำซาวข้าวเหนียว แม่เองจะผิดกับพ่อตรงที่ชอบผลิตและซื้อรับประทาน ผักในตู้เย็นแทบไม่ต้องซื้อ เพราะนำเข้าจากสวนฝีมือแม่เป็นส่วนใหญ่ ปลูกเป็นฤดูกาลด้วยนะ หน้าหนาวต้องผักชี หน้านี้ต้องผักกาด ถ้าซื้อจากตลาดมักเป็นประเภทเนื้อ หมู ไก่ อาหารทะเล อะไรทำนองนั้น แกไม่ชอบของจากป่าเพราะยึดติดกับความเชื่อที่ว่า ในเมื่อตลาดมันมีขายจะไปเบียดเบียนของป่าทำไม แต่พอพ่อหามานางก็ทำให้กิน

bannokmenu02 bannokmenu01

ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในป่าเขามีของกิน

บ้านชัยชนะ ตำบลท่าศิลา อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร บ้านเกิดเมืองนอนที่ฉันอารัมภบทไว้ตอนต้นเรื่อง ประชากรในหมู่บ้านมีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นคนแก่ วัยรุ่น และเด็กน้อย คนรุ่นหนุ่มสาวจะพบมากช่วงเทศกาลวันหยุดยาวอย่างปีใหม่หรือสงกรานต์ คนหนุ่มสาวไปไหนกันน่ะหรือ “ทำงานและเรียนหนังสือกันน่ะสิ” แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนหรอก คนที่ยังหากินอยู่กับรากก็มี

พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ของที่นี่เป็นป่าโคกหรือป่าเต็งรัง เป็นป่าโปร่ง ดินร่วนปนทราย กรวด และลูกรัง ดูแห้งแล้ง ตามพื้นป่าจะมีต้นแปรง หญ้าเพ็กขึ้น ชาวบ้านทำเกษตรกรกันเป็นหลัก ซึ่งเวียนเป็นวัฏจักรดังนี้ ในเดือนเมษายนปลูกถั่วดินและแตงโม พอเข้าพฤษภาหน้าฝนจะเริ่มหว่านข้าว คนนิยมทำนาปี เพราะด้วยสภาพของพื้นที่จำกัดให้มีน้ำขังในทุ่งนาแค่ปีละครั้ง
บ้านฉันมีนา 6 ไร่ เราไม่ได้ทำไว้ขาย เราทำไว้กิน อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าดินเป็นดินร่วนปนทราย กรวด และลูกรัง ในฤดูกาลหว่านข้าวนั้นไม่เป็นปัญหาดอก เนื่องจากใช้รถไถไถดินแล้วให้คนลงไปหว่านข้าวเปลือกครู่เดียว แต่ฤดูกาลดำนาในช่วงเดือนกรกฎาคมสำหรับฉันแล้ว “นรกชัดๆ”

ด้วยเหตุว่าดินมันมีกรวดและลูกรังปนอยู่ เวลาปักต้นกล้าหรือต้นอ่อนของต้นข้าวลงไปในดิน เล็บแตก หลังมือลายกันไปเป็นแถว เพราะถูกหินบาดเอา ไม่ใช่แค่มือหรอก เท้าก็มีสภาพไม่ต่างกัน ขนาดสวมถุงมือถุงเท้าป้องกันไว้ยังช่วยได้ไม่มาก มีแผลเหมือนเดิม ที่นา 6 ไร่อาจฟังดูน้อย แต่ด้วยสภาพของดินแล้ว กว่าจะเสร็จ แสบสันซี้ดซ้าดกันสนุกดี

กรกฎาคมคือช่วงที่ชาวบ้านชื่นชอบกันเป็นที่สุด เพราะนอกจากจะได้ดำนาในดินที่มีหินปนแล้ว ช่วงนี้ยังถือเป็นฤดูกาลเก็บเห็ดอีกด้วย บางคนเก็บไปกิน บางคนเก็บไปขาย จานหนึ่งเจ็ดแปดดอกมูลค่า 200 บาท พันธุ์เห็ดที่พบได้ส่วนใหญ่มักเป็นเห็ดระโงกขาว ระโงกเหลือง เห็ดเผาะ เห็นหำฟาน เห็ดไค เห็ดผึ้ง เห็ดดิน เป็นต้น แต่เห็ดที่หลายคนปรารถนาคือเห็ดปลวกหรือเห็ดโคน

ลักษณะหมวกของเห็ดโคนเมื่อยังอ่อนมีรูปร่างเหมือนชามคว่ำ ยอดนูนทู่หรือแหลม ซึ่งอาจเห็นได้ชัดหรือไม่เด่นชัด เมื่อดอกแก่หมวกเห็ดจะค่อยๆ บานออกจนเกือบแบนราบ แต่ยอดนูนตรงกลางยังคงอยู่ ฉันเคยถามผู้เก็บเห็ดหลายคนว่าทำไมถึงต้องการเห็ดปลวกมากนัก คำตอบที่ได้คือ อร่อยและขายได้ราคาดี

เห็ดจะขึ้นมากในเดือนที่มีฝนชุก หลายคนอาจจะเคยได้เห็นข่าวชาวบ้านเหมารถไปเก็บเห็ด หรือชาวบ้านเก็บเห็ดขายได้วันละ 1,000-2,000 บาท เป็นเรื่องจริง แห่แหนไปเก็บกันเต็มป่า ฉันเคยติดรถไปเก็บเห็ดกับลูกพี่ลูกน้องหลายครั้ง ด้วยความอยากรู้อยากลอง ไม่เจอหรอกเห็ด เจอแต่คน ในป่าเหมือนมีงานอะไรสักอย่างแล้วคนแห่กันไปดู โดยเฉพาะบริเวณเชิงเขา แทนที่จะมีแต่ต้นไม้และก้อนหิน มอเตอร์ไซค์จอดเรียงกันเหมือนงานวัดเลย ฉันยังเคยคิดเล่นๆ กับลูกพี่ลูกน้องว่า “ไม่เจอหรอกเห็ด ไม่ได้หรอกเงิน ขโมยมอเตอร์ไซค์ไปขายน่าจะรวยเร็วกว่า”

พอหมดกรกฎาฯ ย่างเข้าสิงหาฯ คนจะเริ่มเก็บถั่วดินที่เคยปลูกไว้ไปขาย บิดถั่วใส่ถุงพลาสติก ล้างน้ำให้สะอาด ขายกิโลกรัมละ 30 บาท ถ้าใครขับรถผ่านหมู่บ้านที่ฉันอยู่ในช่วงเดือนสิงหาฯ นั้น จะเห็นผู้คนตั้งโต๊ะขายตั้งแต่หน้าจนถึงท้ายหมู่บ้าน ขายกันทุกเรือนจริงๆ หลังไหนโชคดีหน่อยมีที่ทางปลูกติดถนน ก็เก็บ บิด ล้าง ขาย กันตรงนั้นเลย ราวกับเพิ่มจุดแข็งทางการค้าว่าของเขาสดใหม่กว่าเจ้าอื่น ส่วนผลผลิตจากป่าในเดือนสิงหาคมเป็นหน่อไม้ ซึ่งมนุษย์ไม่ได้ให้ความสนใจนัก เนื่องจากหาซื้อตามท้องตลาดได้ตลอด แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีคนเก็บเลย บ้านหลังใดที่อยู่ได้เพราะของจากป่า เขาก็ยังคงเก็บทุกอย่างไม่ใช่แค่เห็ด

โชคยังดีแค่ไหนที่ชุมชนเรามีป่าให้พึ่งพิง เห็นใจแต่คนอีสานในบางพื้นที่ ป่าไม้ของชุมชนถูกประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จะเยื้องย่างเข้าไปก็ถูกกล่าวหาว่าบุกรุก กล่าวถึงเรื่องนี้แล้วนึกถึงคราหนึ่ง ฉันมีโอกาสได้ฟัง อ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พูดถึงปัญหาการทับซ้อนกันของที่ดินคนกับป่าไว้น่าฟังเลยทีเดียว

อ.ดร.ไชยณรงค์ว่า “แท้จริงมนุษย์อยู่กับป่ามานานแล้ว คนอีสานเองก็เช่นกัน ส่วนปัญหาใหญ่ระหว่างที่ดินคนกับป่าทับซ้อนกันเกิดจากในยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศให้พื้นที่ป่าในประเทศไทย 60 เปอร์เซ็นต์เป็นป่าสงวนแห่งชาติ แล้วใน 60 เปอร์เซ็นต์นั้นก็มีคนอาศัยอยู่ด้วย ความขัดแย้งที่เกิดจากการบุกรุกจึงตามมา นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังมองป่าไม้แบบประโยชน์นิยม คือมองป่าเป็นต้นไม้ เป็นเนื้อไม้ แต่ไม่ได้คำนึงว่าคนตัวเล็กตัวน้อยต้องพึ่งพาทรัพยากรเหล่านี้ด้วย เมื่อรัฐบาลมองคนกับป่าแยกออกจากกัน ชาวบ้านที่เข้าไปเก็บเห็ดจึงกลายเป็นขัดต่อกฎหมาย ซึ่งความจริงต้องยอมรับว่า มนุษย์ต้องอยู่ ต้องทำมาหากิน ชาวบ้านต้องพึ่งพาทรัพยากรที่หลากหลายทางธรรมชาติ การใช้ประโยชน์จากป่าไม้ มิใช่ไม้ซุง การเก็บเห็ดเก็บหน่อไม้เป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริม แต่รัฐบาลไทยผูกขาด ป่าก็คือป่า ห้ามมีคน วิธีคิดแบบนี้อันตราย เพราะจริงๆ แล้วป่ามันหายไปจากกรมป่าไม้ให้เอกชนสัมปทาน อีกอย่างคือการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจ เช่น ปอ มันสำปะหลัง ข้าวโพด เป็นส่วนหนึ่งของการถางป่าเพื่อบุกเบิกที่ทำกิน”

ในอดีตสมัยฉันยังอยู่ประถมศึกษา จำได้ดีว่าแต่ก่อนไร่นาที่ครอบครัวเราทำกินกันอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่สามารถนำรถยนต์เข้าไปได้ สองข้างทางเป็นแมกไม้มีถนนดินทรายเส้นเล็กๆ พอให้มอเตอร์ไซค์ผ่านเท่านั้น กินเวลามาแล้ว 15 ปี ทุกวันนี้สองข้างทางเต็มไปด้วยที่ทางปลูกมันสำปะหลังและอ้อย ซึ่งชาวบ้านที่นี่จะเริ่มปลูกในเดือนตุลาคม พอเกี่ยวข้าวในเดือนพฤศจิกายนแล้วเสร็จ ช่วงมกราคมถึงมีนาคมก็เป็นการตัดอ้อยและเก็บมันขาย

bannokmenu04bannokmenu03

อีเสือไม่สิ้นลาย

คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่เวลาออกเรือนหรือสร้างบ้านมักจะปลูกไว้ข้างเคียงกับญาติสนิทมิตรสหายของตนเพื่อความอุ่นใจในหลายๆ ด้าน เช่นช่วยเป็นหูเป็นตาระวังขโมย อย่างบ้านฉันก็อยู่เรียงเคียงคู่กับบ้านของอาซึ่งเป็นน้องสาวของพ่อ แกชื่อแหล่ มีผัวชื่อพราน สามีของอาเลื่องลือในหมู่ผู้ที่รู้จักว่ามีความฉกาจฉกรรจ์ด้านการหาของป่า สหายแกต่างขาน “พรานสมชื่อ”

พราน หรือ สมพาน แวงวรรณ ไม่เคยเดินเข้าป่าแล้วกลับออกมามือเปล่า เสมือนแกรู้แหล่งอู่ข้าวอู่น้ำทางธรรมชาติ แต่เชื่อเถิด บางศึกแม่ทัพใหญ่ก็ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้หากปราศจากสหายร่วมรบ

บางครั้งบางคราสมพานมิได้เดินเข้าป่าไปเพียงลำพัง แกจะพาสหายคู่ใจอย่างอีเสือไปด้วย อีเสือเป็นหมาไทยหลังอานเพศเมีย ชื่อมันได้มาจากลายสีส้มสลับดำบนตัวที่พาดกันเหมือนลายเสือ ยามขานชื่อเราจะเรียกเสือเล็กเสือใหญ่เพื่อชี้ว่าตัวไหนเป็นตัวไหน เนื่องจากอีเสือของสมพานไม่ได้มีแค่รุ่นเดียว แต่ตกทอดมาแล้วถึงสามรุ่น โดยแต่ละตัวจะเป็นหมาเพศเมีย มีลักษณะและชื่อที่เหมือนกันอีกต่างหาก เป็นเสือหนึ่ง เสือสอง เสือสาม ซึ่งปัจจุบันตัวแรกกับตัวที่ 2 ตายแล้ว
เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องของอีเสือรุ่นแรก สมพานชอบหมาพันธุ์นี้เพราะสัญชาตญาณความเป็นนักล่ามันดี ส่วนลายนั้นเลือกจากความชอบส่วนตัวและขี้เกียจหาชื่อมาตั้งใหม่

สุนัขพันธุ์ไทยหลังอานหรือ “หมาพราน” ตามที่คนชนบทใช้เรียก มีความสามารถพิเศษจำเพาะในการล่าและต่อสู้กับสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ โดยลักษณะโดดเด่นที่นับเป็นเสน่ห์ของหมาพันธุ์นี้คือ ลิ้นของมันจะมีปานสีดำขึ้นเป็นด่างดวง ภาษาอีสานเรียกลิ้นก่าน ซึ่งลิ้นของอีเสือเองก็มีปานขึ้นเช่นกัน ส่วนความสามารถพิเศษในการล่าและต่อสู้กับสัตว์นั้นไม่ต้องพูดถึง เป็นหมาพรานสมชื่อเหมือนเจ้าของมัน ฉันเห็นมาแล้วกับตา

สุนัขเป็นสัตว์บก เลี้ยงลูกด้วยนม อุ้งตีนของมันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับการปีนป่าย แต่ไม่ใช่สำหรับหมาอย่างอีเสือ เกิดมาก็เพิ่งเคยได้เห็นประจักษ์กับตา สำคัญคือต้นไม้ที่มันปีนไม่ได้แผ่กิ่งก้านสาขา หากแต่เป็นต้นไผ่ “หมาปีนกอไผ่” นึกถึงทีไรก็ยังชวนให้แปลกใจอยู่มิวาย เรื่องมันมีอยู่ว่า ในฤดูเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ฉันมีโอกาสได้ออกไปช่วยที่บ้านอาเขาทำ เพราะบ้านฉันไม่ได้ปลูก เรามีที่ดินไม่เพียงพอ แดดอ่อนในช่วงห้าโมงเย็นของวันนั้น ขณะที่มนุษย์ทุกคนกำลังล้างหน้าล้างตาให้คลายเหนื่อยจากความตรากตรำกับการทำงานสู้แดดมาครึ่งค่อนวัน หนูนาตัวเขื่องๆ วิ่งออกมาจากไร่อ้อยก่อนจะหายเข้าไปในกอไผ่ขนาดห้าคนโอบ พวกเราทุกคนเห็นเหมือนกัน ไวกว่าความรู้สึกของมนุษย์ อีเสือบุกเข้ากอไผ่กอเดียวกับหนูนาตัวนั้นไปแล้ว ไม่มีใครดูทันว่ามันเข้าไปทางไหน

ไผ่เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ลำต้นมีลักษณะเป็นปล้อง ใบเรียวรี ขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อ เกิดเป็นหมู่รวมๆ กันหลายต้นจึงเรียกว่ากอ ฉันว่าคนทั่วไปไม่มีใครคิดมุดเข้ากอไผ่เป็นแน่ เพราะต้นไผ่ที่เกิดนั้นจะขึ้นเบียดกันจนไม่สามารถแทรกตัวเข้าไปได้ สังเกตเวลาลมพัด เสียงเอี๊ยดอ๊าดที่เกิดจากการเสียดสีจะคำรามออกมาอยู่ทุกขณะ ทั้งยังมีหนามของมันอีกที่ต้องระวัง อย่างหนูนามันเข้าไปได้เพราะขนาดตัวไม่ใหญ่ หรือสุนัขขนาดเล็กเช่นชิวาวาก็ดูมีแวว แต่ถ้าเป็นขนาดกลางและขนาดใหญ่คงมองหาความเป็นไปได้ยาก

โฮ่งๆ เสียงเห่าของอีเสือดังออกมาจากกอไผ่ไม่ขาด ตาทั้ง 10 คู่ของมนุษย์ก็สอดส่องเข้าไปภายในกอไม่วางวาย เพื่อหาตำแหน่งที่มาของเสียง สักพักสัญญาณจากอีเสือได้หายไป ไร้การขานตอบมนุษย์ที่กำลังเรียกชื่อ ได้ยินเพียงเสียงก๊อกแก๊กอยู่ในกอ ฉันเผลอหลุดคำอุทานออกมา “ไม่ใช่ตายแล้วหรอ” ทุกคนเงียบ ระหว่างนั้นเอง

โฮ่งๆ

โอ้…อีเสืออยู่บนปลายไผ่ยอดเดียวกับหนูนาชะตาขาดตัวนั้น ระดับความสูงที่สัตว์ทั้งคู่อยู่จากพื้นสู่ยอดไผ่คงสัก 2 เมตรเห็นจะได้ ขาหน้าของหมาทั้งสองข้างกอดลำไผ่พาดกันเป็นตัวเอ็กซ์ ขาหลังก็เช่นกัน ช่วงท้องนาบไปกับต้น ลำไผ่โน้มเอียงไปตามน้ำหนักของหมา มันค่อยๆ ใช้แรงกระเถิบตัวไปหาเป้าหมาย มนุษย์ด้านล่างเงยหน้ามองดูราวกับเห็นมหรสพชวนพิศวงอะไรเทือกนั้น หนูนาศิโรราบให้งับโดยดี เมื่ออีเสือได้สิ่งที่ต้องการ มันดันตัวถอยหลังแล้วปล่อยไหลลงไปติดอยู่กลางกอซึ่งเป็นช่องว่างขนาดพอดีกับตัวมัน ก่อนจะกระโดดนำหนูนาในปากออกมามอบให้เจ้านายอย่างรู้ความ แต่สภาพนี่เลือดซิบไปทั้งตัว

ตกเย็นวันนั้นสมพานและครอบครัวได้เมนูเถื่อนอย่างอ่อมหนูนาเป็นอาหาร เช้าวันต่อมาวีรกรรมเกินหมาของอีเสือแพร่กระจายไปทั่ว คนที่ได้ฟังถกเถียงกันอย่างสนุกปาก และแน่นอนย่อมมีทั้งคนที่เชื่อและไม่เชื่อ

เสือเป็นหมานอบน้อม เวลาได้เจอมนุษย์ที่เคยมีปฏิสัมพันธ์ด้วยมันจะกระดิกหางแล้วหมอบลงกับพื้น ไม่มีการกระโดดใส่หรือเข้ามาเลียทักทาย ชอบนอนนิ่งๆ ไม่ส่งเสียงเห่าโดยใช่เหตุ ยามไปตามป่าหรือตามทุ่งเช่นกัน มันจะส่งเสียงตอนเจออะไรเข้าสักอย่างเท่านั้น ถ้ากัดตายแล้วจะคาบมาให้ ไม่มียึดเก็บไว้กินเอง

bannokmenu05 bannokmenu06 bannokmenu07 bannokmenu08 bannokmenu09

ปลายทางคือดอกกระเจียว

ในฤดูกาลดำนาหรือช่วงกรกฎาคม นอกจากเห็ดจะออกแล้ว ยังมีผลผลิตจากป่าที่งอกงามในเดือนนี้เช่นเดียวกัน เป็นพืชล้มลุก ลำต้นตั้งตรง ความสูงอยู่ที่ 15-50 เซนติเมตร ลักษณะใบยาวรีคล้ายหอก ออกดอกเป็นช่อ กลีบดอกมีสีขาวหรือสีแดงตามชื่อเรียก นิยมรับประทานเฉพาะหน่อและดอกอ่อนเท่านั้น นำไปลวกกินกับน้ำพริกหรือลาบ รสชาติออกเผ็ดร้อน นามของมัน “ดอกกระเจียว”

ปัจจุบันดอกกระเจียวไม่ค่อยมีคนถามหามากนัก อารมณ์ประมาณว่าถ้าเจอในป่าก็เลือกที่จะเดินผ่านไปเสีย เช่นเดียวกับหน่อไม้ที่หาซื้อได้ตามตลาด เพราะมันเป็นพืชที่สามารถนำมาเพาะปลูกเองได้

ในชีวิตฉันมีประสบการณ์เก็บดอกกระเจียวอยู่หนึ่งครั้ง เรื่องราวเกิดขึ้นในสมัยที่ยังเรียนอยู่ราวๆ ม.1 ถ้าจำไม่ผิด เด็กทั้งสี่คนท่องไปในไพรโดยปราศจากผู้ปกครอง ด้วยระยะทาง 6 กิโลเมตร เพื่อดอกกระเจียวขาวสามดอกที่เกิดคาบเส้นระหว่างที่สาธารณประโยชน์กับป่าสงวน

ช่วงอายุรุ่นราวคราวนั้น เราไม่รู้หรอกว่าขื่อแปบ้านเมืองเขาวางเรื่องป่าไว้อย่างไร พ่อกับแม่บอกเราแค่ถ้าเก็บอะไรออกมาจากป่าสงวนถูกจับแน่

ย้อนกลับไปในวันนั้น เด็กหญิงสามและเด็กชายหนึ่ง นัดแนะเตรียมการกันไว้เป็นอย่างดีแล้วว่าจะโดดงานดำนาในช่วงบ่ายไปเก็บเห็ดบนภูเขา ซึ่งคนอีสานจะเรียกแค่สั้นๆ ว่า “ภู” เขาไหนลูกใหญ่ก็เรียกกันภูใหญ่ เขาไหนลูกเล็กก็เรียกภูน้อย ผู้ใหญ่ไม่มีใครขัดข้องหรือห้ามปราม กลับสนับสนุนด้วยซ้ำ เราถืออุปกรณ์ติดมือกันไปคนละอย่าง ฉันสะพายย่ามกระสอบที่ใส่ขวดน้ำไว้ภายใน เก๋สะพายย่ามกระสอบเช่นกัน ผิดแค่ข้างในไม่ใช่ขวดน้ำ แต่เป็นมีดพร้า จาโบ้ถือลำไม้ไผ่ขนาดเล็กมีความยาวสามารถใช้สอยของที่อยู่สูงไม่มากได้ ส่วนต้องผู้เป็นเด็กชายคนเดียวภายในกลุ่มถือเสียม สิ่งของเหล่านี้ถูกตระเตรียมให้โดย สมพาน แวงวรรณ ผู้เป็นพ่อของเก๋ แกว่า “เผื่อไว้”

พวกเราเดินลัดไปตามทุ่งนาก่อนขึ้นเขา ยอดหญ้าบนคันนาที่พร่างพรมด้วยหยาดฝนจากฟ้าลูบไล้หลังเท้าพอให้เหนอะหนะ เก๋ เป็นคนนำทางเพราะมีความชำนาญพื้นที่มากที่สุด ตามประสาเด็กเราก็คุยสัพเพเหระกันสนุกปาก มีแค่สี่คน แต่เสียงหัวเราะดังจากเขาลงไปถึงผู้ใหญ่ที่ดำนาอยู่เบื้องล่าง ที่รู้ได้ก็เพราะขากลับไปถึงถูกเอ็ดเอาหลายที

ระหว่างทางเดินในป่าก่อนไปถึงเขตสงวน อุปกรณ์ที่เตรียมมาได้ใช้อยู่สองอย่าง คือ น้ำสำหรับดื่ม และลำไม้ไผ่ ลำไม้ไผ่นี่ไม่ได้ใช้สอยอะไรหรอกนะ เราเอามาเล่นเป็นดรัมเมเยอร์กัน ไอ้จาโบ้แกว่งไม้ไปโดนรังมิ้มหรือรังผึ้งป่าเข้าทีหนึ่ง ถูกต่อยเอาคนละปูดสองปูด แต่ไม่มีใครเป็นอะไรเพราะพิษมันไม่แรง เจอผลไม้ชนิดหนึ่งที่กินแล้วเวลาถ่ายอุจจาระจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม พวกฉันลองมาแล้ว เป็นสีเข้มจริงๆ มันคือหมักม่อ หรือที่ภาษาอีสานเรียกบักม่อ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ตามกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ใบอ่อนมีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ใบค่อนข้างนิ่ม มีขนาดใหญ่ ปลายและโคนใบแหลม ผลทรงกลม ขนาด 3-4 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จะมีสีดำ รสชาติหวานเล็กน้อย

เราทดลองกินจากคำแนะนำของเก๋ หล่อนรู้จักพืชพรรณภายในป่าแทบทุกชนิดจากคำบอกต่อของผู้เป็นพ่อและแม่ ฉันลองกินเพราะอยากรู้ว่าตอนถ่ายอุจจาระจะออกมาเป็นสีน้ำตาลอย่างที่ไอ้เก๋ว่าจริงไหม หลังหยุดพักกันอยู่บริเวณที่พบต้นหมักม่อ ในครึ่งหลังเราเดินเร่งฝีเท้ากันเร็วขึ้นด้วยกลัวจะออกจากป่าค่ำ ตอนนั้นไม่มีใครคิดเรื่องเก็บเห็ดแล้ว แต่ที่ยังไปต่อเพราะอยากข้ามเขาไปเล่นน้ำอีกฟากหนึ่ง

สิ้นสุดการเดินทาง พวกเราปะทะเข้ากับป้ายไม้สภาพผุพังตั้งอยู่ เขียนด้วยสีขาวบอกกล่าวไว้ “เขตป่าสงวน ห้ามบุกรุก” ที่สำคัญกว่านั้นคือ ดอกกระเจียวขึ้นเป็นแถวหกดอกเรียงรายถัดไปด้านข้างของป้ายผุพังอันนั้น ไอ้เก๋ว่าเห็นแล้วอยากกินจึงทำท่าเดินเข้าไปดู แต่ถูกจาโบ้ห้ามไว้เพราะมันกลัวจะถูกจับ ต้องกับฉันเห็นพ้องกันคือ ถ้าเก็บไปก็ไม่มีใครเห็นหรอก เราอยู่ในป่า ส่วนไอ้จาโบ้ก็ยังมิวายเตือนห้าม จำได้ดี ตอนนั้นเราคุยกันจริงจังมากว่าจะเก็บหรือไม่เก็บ แน่นอนจาโบ้ไม่อยากให้เก็บ เก๋ยืนยันจะเก็บด้วยเหตุผลว่ามันอยู่ตรงป้ายพอดี ยังไม่เข้าเขตสงวน ถ้าถัดจากหลังป้ายไปถึงจะเป็นป่าสวน ต้องจึงเสนอให้เก็บแค่สามดอก คนละครึ่งกับป่าสงวน ฉันกับเก๋เห็นด้วย

กลับไปถึง สมพานพ่อของเก๋ว่า “เก็บมาให้ใครกิน ดอกแก่ขนาดนี้”

bannokmenu10

ฝากปูนามาทางไปรษณีย์

ฉันคิดนะ คนเราถ้าเติบโตมากับสิ่งไหนเราก็จะคุ้นเคยกับสิ่งนั้น อาหารการกินเองก็เช่นกัน สมัยที่พ่อกับแม่ฉันยังทำงานอยู่กรุงเทพฯ คราใดเมื่อเรามีโอกาสได้กลับไปยังถิ่นฐานบ้านเกิด ทุกครั้งพ่อจะเฟ้นหาสิ่งที่แกอยากกินหอบกลับไปกรุงเทพฯ ด้วย มิได้ไปค้นหาจากที่ใดไกลดอก ก็เหล่าบรรดาเครือญาติทั้งนั้นที่ตระเตรียมไว้ให้ ยามสนทนาถามไถ่ทางโทรศัพท์มือถือ คำถามสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ “เมื่อไรจะได้กลับมาบ้าน” ถ้าได้วันเวลาชัดเจนแล้ว คำถามถัดมามักเป็น “อยากกินอะไรไหม” เท่านั้นแหละ ได้ครบทุกอย่าง

ครั้งหนึ่งพ่อแกอยากกินเห็ดปลวกหรือเห็ดโคน แต่ช่วงที่ครอบครัวฉันจะเดินทางกลับวันเวลาไม่ตรงกับฤดูกาลเห็ดออก อาของฉันซึ่งเป็นน้องสาวของพ่อแกก็เก็บเห็ดใส่ช่องแช่แข็งของตู้เย็นไว้อย่างดี ไม่ใช่เพียงเห็ดดอก อะไรที่เป็นของนอกฤดูกาลแกจะมีวิธีรักษาไว้ให้จนกว่าเราจะไปถึง ครอบครัวอาเคยเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับบ้านฉัน อยู่ได้ไม่นานก็กลับ คงคิดถึงบ้าน ที่ว่าอย่างนี้เพราะฉันเองได้ยินพ่อพร่ำเพ้อออกบ่อยครั้งว่าอยากกลับบ้าน กลับไปทำไร่ไถนา เช่นนี้เอง คนที่เคยอยู่กินกับสิ่งไหน เมื่อมีเหตุให้พลัดพรากจากมันไป เขาจะเข้าใจดีว่ารสชาติของความอยากมันเร่งเร้าให้โหยหาเพียงใด ซึ่งอาฉันแกคงเข้าใจหัวอกผู้เป็นพี่

และเพราะความเข้าใจหัวอกกันนี่แหละที่ทำให้คนผู้อยู่ทางบ้านยอมแหกกฎเพื่อให้คนทางฝั่งเมืองกรุงได้กินของจากรากเหง้าตน

ในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม เป็นช่วงปูนาลงรูหรือที่เรียกว่าการจำศีลนั่นเอง ระยะนี้ปูจะไม่กินอาหารและไม่เคลื่อนไหว เป็นการประหยัดพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งโดยส่วนใหญ่ปูจะชอบขุดรูตามทุ่งนา คันนาหรือคันคลองบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึง เพื่อความสะดวกในการเข้าออกของตัวมันเอง เมื่อปูลงรู แน่นอนว่าชาวบ้านทางอีสานอย่างชาวเราจะทำคือไปขุดมันขึ้นมากิน ต้องยอมรับว่ากิจกรรมการขุดปูนาเป็นสิ่งที่ฉันชื่นชอบมากอย่างหนึ่ง เสียเลือดไปกับการทำสิ่งนี้ก็เยอะ ทั้งเสียมเพื่อนสับเข้าปลายนิ้วโป้งเท้า แต่ไม่โดนเล็บ เนื้อเปิดอย่างเดียว โดนด้ามเสียมไอ้เพื่อนคนเดิมฟาดเข้าที่หน้าจนปากกับหางคิ้วแตก นี่ยังไม่นับรวมบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ นะ

จากประสบการณ์เกี่ยวกับปูนาที่มีอยู่ในตัว ฉันว่าปูเป็นสัตว์ฉลาดเอาตัวรอดนะ สังเกตจากเวลาไปขุด รูที่เป็นทางเข้าหลักจะมีอยู่รูเดียว แต่พอขุดลงไปเรื่อยๆ จะเริ่มงง เพราะรูมันจะแตกแขนงออกไปหลายทางเหลือเกิน ทีนี้เป็นตาของมนุษย์ต้องสุ่มเอาว่าจะเลือกขุดตามมันไปทางรูไหน
เคยเจอจังๆ กับพลพรรคเก็บดอกกระเจียวสองทาง เราเลือกรูทางซ้ายตามความเชื่อเรื่องโชคชะตาที่ว่า ขวาร้ายซ้ายดี ซึ่งคราวนี้ซ้ายไม่ดีเลย ไอ้เก๋ขุดไปได้สองฉับ โอ้โฮ… ตะขาบตัวเกือบ 3 นิ้ววิ่งออกมาโดยมิได้นัดหมาย ไม่รู้เท้าใครเป็นเท้าใครหมายกระทืบเอาชีวิตตะขาบกันชุลมุน เหยียบเท้ากันเองก็มีฉันนี่เองละที่โดน

ยามกล่าวถึงเรื่องปูนา เราสามารถขุดหาเรื่องราวในอดีตมาเสวนากันได้ไม่จบสิ้น และเรื่องล่าสุดก็คงหนีไม่พ้นการฝากปูนามาทางไปรษณีย์ เรื่องนี้มิได้ตลกขบขัน แต่มันคือความสุ่มเสี่ยงเพื่อพี่ชาย เป็นเรื่องของไอ้เก๋ สหายแต่วัยเยาว์ของฉันเอง เก๋มีพี่ชายชื่อเท่ ทำงานอยู่กรุงเทพฯ คราวหนึ่งหล่อนคุยโทรศัพท์กับพี่ชายเรื่องปูนา แล้วพี่แกก็เลยอยากกิน จึงสั่งให้น้องสาวส่งมาให้ทางไปรษณีย์ แต่ไปรษณีย์นั้นมีสิ่งของต้องห้ามฝากส่งอยู่หกข้อ ได้แก่ สิ่งมีชีวิต สิ่งเสพติด วัตถุลามกอนาจาร วัตถุระเบิด/วัตถุไวไฟ วัตถุมีคม และธนบัตร เห็นได้ชัดว่าปูนาอยู่ในข่ายข้อแรก แล้วไอ้เก๋ทำอย่างไรน่ะหรือถึงส่งปูนาไปถึงกรุงเทพฯ ได้ในสภาพเป็นๆ

อุปกรณ์มีอยู่แค่หนึ่งอย่างคือ ขวดน้ำขนาด 600 มิลลิลิตร หรือขนาดขวด 7 บาท เจาะเป็นรูด้วยตะปูไว้หลายๆ ที่ ยัดปูนาตัวไม่ใหญ่เข้าไปทางปากขวด ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นมีประมาณเกือบ 20 ตัว ใส่พวกเศษผักเข้าไปเป็นอาหารให้มันด้วย ส่งเป็นอีเอ็มเอสแค่ 3 วันก็ถึง แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือขาปู ซึ่งปลายมันจะเรียวแหลมเหมือนเล็บ สนุกละทีนี้ ปูนามีแปดขา แล้วจำนวนเกือบ 20 ตัว ขูดผิวขวดน้ำดังครืดๆ พอยัดขวดน้ำบรรจุปูใส่กล่องกระดาษ ระหว่างเดินทางไปไปรษณีย์นั้น ไอ้เก๋ใช้มือตีกระทบกล่องอยู่เป็นระยะๆ ลุ้นสุดก็ตอนเอากล่องขึ้นชั่งน้ำหนักนี่แหละ เกรงเสียงมันจะดังออกมา แต่ผิดคาด ไม่มีเสียงใดๆ ลอดออกมาเลย เหมือนปูรู้ความ

“อะไรอยู่ในกล่อง” พนักงานไปรษณีย์ถาม
“ถั่วดินค่า ฮ่าๆ” ไอ้เก๋เพื่อนฉันตอบ
เป็นอันว่าปูนาถึงผู้รับโดยดี

ยังมีเรื่องราวอีกมากที่ชีวิตเด็กบ้านนอกอย่างฉันได้ประสบพบเจอกับตัว วิถีชนบทอย่างคนในหมู่บ้านเราเมื่ออดีตไม่มีอะไรมากหรอก ส่วนใหญ่ก็วนเวียนเกี่ยวพันอยู่กับปากกับท้องนี่แหละ เมื่อไรที่ว่างเว้นจากการทำไร่ทำนาก็เข้าป่าหาของกิน ไม่ได้เร่งร้อนหรือแข่งขันกับใคร ยกเว้นเรื่องเก็บเห็ด (ฮา) แต่ทุกวันนี้จะให้ภาพปัจจุบันมันสวยงามอย่างอดีตที่ฉันเองรำพึงถึงก็คงเป็นไปได้ยาก เมื่อสังคมและกระแสโลกมันเปลี่ยนครรลองการหาอยู่หากินของคนไปเกือบหมด คนที่เกิดทันก็คงทำได้แค่โหยหา

…เป็นเสียงเพรียก เรียกหา จากป่าทุ่ง
ที่เคยมุ่ง พุ่งไป ในเก่าก่อน
ใต้แมกไม้ ร่มเงา เขาดงดอน
เคยตะลอน กับสหาย ครั้งวัยเยาว์

…ในชายคา คงเรือนชาน ที่บ้านเดิม
ไม่มีเติม ไม่มีต่อ ก่อเพิ่มเสา
หมอนห้องหับ ยังเป็นหมอน เคยนอนเนา
กรุ่นไอข้าว ยังคลุกเคล้า กลิ่นเตาไฟ

…เอ้ก เอ้ก เอ้ก ขานเร่งเร้า ยามเช้าตรู่
วิหคกู่ เจื้อยสำเนียง เปล่งเสียงใส
จิ๊บจิ๊บจิ๊บ จิ๊บจิ๊บจิ๊บ อยู่ร่ำไร
คล้ายบทเพลง ปลุกใจ ให้สร่างตา

…วิถีใคร ใกล้ย่ำรุ่ง จึงลุกตื่น
ก่อไฟฟืน จุดเตา เฝ้าหุงหา
ข้าวเหนียวนึ่ง พืชพันธุ์ผัก หมากนานา
ล้วนสรรพา จากพงไพร จึ่งได้กิน