เรื่อง : ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด
ภาพ : วิศรุต วีระโสภณ

ร่มเงาไม้ สบายใจใต้เงาธรรมชาติ

แสงบ่ายส่องกระทบกิ่งไม้ นกนานาชนิดส่งเสียงร้องก้องกังวาน ผมนั่งอยู่บนพื้นหญ้าเขียวขจีใต้ร่มเงาต้นก้ามปูที่แผ่กิ่งก้านกว้างใหญ่จนต้องแหงนมองวงรอบที่มันแผ่คลุม นี่เป็นเพียงหนึ่งในไม้ใหญ่ที่งอกงามอยู่ใน “สวนรถไฟ” เนื้อที่กว่า 375 ไร่

ลงนั่งผ่อนพักร่างกาย แต่ใจผมครุ่นคิดถึงจังหวะชีวิตที่ต้องพบสถานการณ์เลวร้ายอย่างไม่คาดฝัน ตั้งแต่ปัญหาครอบครัว ทะเลาะกับคนรัก จนถึงถูกนายจ้างเลิกจ้าง กระทั่งนกบนกิ่งไม้ส่งเสียงทักทายมานั่นละที่ปลุกให้ผมตื่นจากภวังค์ความคิด การหลุดจากห้วงความคิดนั้นทำให้ฉุกคิดได้ว่า มีโลกอีกโลกหนึ่งอยู่ใกล้ตัวเราและคอยโอบกอดเราอยู่เสมอ นั่นคือโลกของธรรมชาติอันแสนรื่นรมย์ ซึ่งพร้อมส่งมอบความห่วงใยให้เราโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

ปัญหาที่ถาโถมเข้ามาทำให้ผมรู้สึกว่าโลกช่างโหดร้าย ไม่น่าอยู่เหมือนเคย พาให้แทบหมดพลังในการใช้ชีวิต แม้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีรถยนต์ให้ขับไปไหนมาไหนคล่องตัว มีบ้านให้อยู่อาศัย แต่บางเวลาใจเราไม่อาจสร้างความสุขจากสิ่งเหล่านี้ได้

บางครั้งผมรู้สึกไม่สามารถควบคุมจัดการชีวิตได้เหมือนหมดหนทางเดิน อาจเพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาต้องพบเจอการถูกตัดสินจากคนรอบข้างตลอดเวลาว่าเราเป็นคนมีความสามารถหรือไร้ความสามารถอย่างไรบ้าง จนท้ายที่สุดคำตัดสินเหล่านั้นได้ดูดกลืนตัวตนของผมให้จมดิ่งลงไปในก้นเหวแห่งความสิ้นหวัง กระทั่งได้พบกับธรรมชาติ…

ผมห่างหายจากโลกของธรรมชาติไปนาน เหมือนที่ในหนังสือชื่อ “โรคขาดธรรมชาติ” ที่เขียนโดย “ยามาโมโตะ ทัตสึทากะ” กล่าวไว้ว่า ปัญหาความเจ็บป่วยทางใจของมนุษย์ แท้จริงแล้วไม่ได้เกิดเพราะสภาวะโลกร้อน มลภาวะ หรือภัยพิบัติต่างๆ เท่านั้น แต่เกิดขึ้นจากการที่ธรรมชาติเลือนหายไปจากชีวิตอย่างช้าๆ ด้วย การลดหายไปของธรรมชาติ ทำให้มนุษย์โหยหาความหมายของชีวิตมากขึ้น

ดูเป็นเรื่องคาดไม่ถึง ว่าธรรมชาติจะมีผลต่อชีวิตมนุษย์มากถึงเพียงนี้

เบท เคมป์ตัน (Beth Kempton) ผู้เขียนหนังสือ “วะบิ ซะบิ แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต” อธิบายว่า สาเหตุที่มนุษย์ไม่มีความสุขกับชีวิต เพราะเขาเอาแต่โหยหาอดีต และเป็นกังวลกับอนาคตมากเกินไป จนหลงลืมความเป็นจริงของปัจจุบันที่เป็นอยู่

เราเอาแต่คร่ำครวญถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวในอดีตซึ่งไม่อาจจับต้องหรือแก้ไขอะไรได้ ขณะเดียวกันก็กังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึงจนเกินไป ในหนังสือ “วะบิ ซะบิฯ” ให้ข้อคิดว่า เราควรมีความสุขกับความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต และยอมรับความจริงว่าบางสิ่งบางอย่างก็ควรปล่อยมันไป ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถอยู่กับปัจจุบันได้อย่างเพลิดเพลินมีความสุขขึ้น และจงใช้ชีวิตแบบไม่ต้องกังวลมากนัก ประหนึ่งเป็นนกบนกิ่งไม้ที่มีอิสระในการโผบินไปตามวิถีทางของตน

แท้จริงแล้วโลกของธรรมชาติอยู่รอบตัวเราเสมอ เพียงแค่พาตัวเองไปอยู่ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ เราก็จะพบความสุข ความมหัศจรรย์จากธรรมชาติ

ในสวนแห่งธรรมชาติ เราได้เห็นยอดอ่อนของกล้าไม้ที่มันจะค่อยๆ เติบโตเป็นไม้ใหญ่เหมือนหลายๆ ต้นที่เห็นในสวน ช่วงเวลาแห่งการเติบโต มันจะหยั่งรากสร้างฐานยึดแน่นใต้พื้นดินทีละน้อยๆ ทว่ากิ่งก้านสาขาเหนือดินกลับโอนเอนยามลมพัดผ่าน ไม่ต้านทานแข็งขืนจนหักโค่น จึงได้เติบโตจนให้ร่มเงาแก่สัตว์ได้พักพิงอาศัย

บางทีผมอาจป่วยเป็นโรคขาดธรรมชาติอย่างที่ทัตสึทากะเขียนไว้ในหนังสือของเขาก็เป็นได้ เพราะเอาแต่เหม่อลอยหวนคิดถึงสิ่งที่ไม่อาจจับต้องได้จนลืมความเป็นจริงของปัจจุบันที่เป็นอยู่

แต่เมื่อผมนั่งนิ่งๆ อยู่ใต้ต้นก้ามปูสักระยะหนึ่ง เสียงของธรรมชาติเริ่มบำบัดผมราวกับเป็นเวทมนตร์ ธรรมชาติอ้าแขนเปิดรับทุกผู้คนเสมอ ผมสบายใจมากขึ้นกว่าทุกครั้ง และมีความสุขที่ได้เฝ้าดูความเป็นไปของธรรมชาติโดยไม่คาดหวังไม่ตั้งคำถาม ผมไม่ต้องการรู้ว่าทำไมนกถึงบิน แต่เพียงแค่มองดูมันบิน เห็นและรับรู้ว่ามันกำลังบินอยู่

เรื่องราวในอดีตผ่านพ้นไปแล้ว ความรักจบไปแล้ว การงานไปต่อไม่ได้แล้ว เราไม่สามารถเหนี่ยวรั้งหรือเปลี่ยนแปลงอดีตได้ แต่เราปรับจิตใจให้ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และอยู่กับปัจจุบันที่เราเป็นอยู่ได้…ชีวิตของผมอยู่ตรงนี้ ขณะนี้ผมกำลังนั่งมองนกบินขึ้นสู่ท้องฟ้า และเริ่มตระหนักได้ว่าชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ

สิ่งที่ผมควรทำที่สุดคือนำความสุขจากธรรมชาติมารดหัวใจตัวเองให้ชุ่มฉ่ำ สัมผัสความงดงามที่มองเห็น ฟังเสียงอันไพเราะที่หาฟังไม่ได้จากที่อื่น สูดกลิ่นหอมละมุนของมวลดอกไม้ใกล้ตัว

ชีวิตมีทั้งสุขและทุกข์ แต่มันย่อมผ่านไปเฉกเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา ทว่าความสบายใจใต้เงาของธรรมชาติยังคงดำรงอยู่ ไม่ว่าผมหรือใครๆ ก็สามารถผ่อนคลายไปกับสรรพเสียงของธรรมชาติ มีความสุขยามชื่นชมความงามของธรรมชาติ และได้รับการปลอบประโลมจากสรรพชีวิตที่เบิกบานในธรรมชาติอันเรียบง่าย

undershadow08

อ้างอิง

  • ยามาโมโตะ ทัตสึทากะ. (2564). โรคขาดธรรมชาติ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ.
  • Beth Kempton. (2563).วะบิ ซะบิ แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ Being.
  • https://psychcentral.com/blog/how-to-empower-yourself-when-you-feel-powerless-and-helpless

สำหรับผู้ที่สนใจอยากร่วม Park ใจ ในกิจกรรมรูปแบบอื่นหรือแลกเปลี่ยนเรื่องการสัมผัสธรรมชาติด้วยกัน สามารถติดตามกิจกรรมได้ที่เฟซบุ๊กกรุ๊ป Parkใจ

กิจกรรมดำเนินการโดย นิตยสารสารคดี เพจ Sarakadee Magazine และ Nairobroo – นายรอบรู้ นักเดินทาง