storyline

ปัญหาหนึ่งที่ถูกถามบ่อยจากนักเขียนสารคดีมือใหม่ มีเรื่องที่จะเขียนอยู่ในใจแล้ว แต่เขียนออกมาไม่ได้ จะทำอย่างไรช่วยให้คำแนะนำหน่อย

เมื่อมีเรื่องที่จะเขียนก็ถือว่ามีประเด็นแล้ว ถ้ายังไม่รู้จะเล่าอย่างไร ก็ลองวางโครงเรื่องก่อนลงมือเขียน

ถามว่าโครงเรื่องจำเป็นไหมสำหรับงานสารคดี ตอบง่ายๆ ว่า มีไว้ดีกว่า จะช่วยให้คนเขียนเดินต่อได้ง่ายและไม่หลุดลอยออกนอกตัวเรื่องที่ตั้งใจจะสื่อสาร

โครงเรื่องเป็นสิ่งควรต้องมี มืออาชีพอาจแค่วาดไว้ในหัว แต่มือใหม่ลองเขียนออกมาเลยเป็นข้อๆ ในหน้ากระดาษ


ตอนทำสารคดีเรื่อง “จิตร ภูมิศักดิ์ คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” ซึ่งเป็นงานลำดับต้นๆ ที่ผมเขียนในนิตยสาร สารคดี เมื่อศึกษาค้นคว้าข้อมูลและลงพื้นที่แล้วพบว่าเรื่องของจิตร ภูมิศักดิ์ มีคนเขียนเล่าในรูปแบบสารคดีไว้เกิน ๑๐ ครั้งแล้ว คนเขียนทีหลังเลี่ยงยากที่จะไม่เล่าซ้ำ ก็คิดว่าหากเลี่ยงไม่ได้ที่จะซ้ำในแง่เนื้อหา ก็ให้ต่างในแง่กลวิธีการเล่า

กล่าวกันว่าชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ นั้นมีการเกิดสองครั้ง ครั้งแรกเป็นชีวิตของชายผู้มีความรอบรู้หลากหลายด้าน มีแนวคิดจิตใจเพื่อผู้เสียเปรียบในสังคม มีอุดมการณ์แรงกล้า กระทั่งสิ้นชีวิตลงในวัย ๓๖ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ กระทั่งยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ ชื่อของจิตร ภูมิศักดิ์ ก็เกิดใหม่อีกครั้งในฐานะตำนานปัญญาชนนักต่อสู้ ผลงานของเขาได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาจัดพิมพ์เผยแพร่ ชีวิตเขาเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้นักต่อสู้รุ่นหลัง ทุกกลุ่มทุกฝ่ายต่างพากันยกย่องเชิดชูเขา ผลงานที่เขาเขียนไว้ทั้งวิชาการและงานวรรณศิลป์ยังเป็นอมตะมาจนทุกวันนี้

จากข้อมูลนี้นำมาวางเป็นโครงเรื่องในแบบที่คาดหวังว่าจะเป็นการเล่าเรื่องแบบใหม่ที่ไม่ซ้ำกับที่มีผู้เคยนำเสนอแล้ว ด้วยการเอาแต่ละภาคของชีวิตมาแบ่งเป็นตอนย่อย เป็นโครงเรื่องได้ดังนี้

ภาคชีวิต (พ.ศ.๒๔๗๓-๒๕๐๙)

๑.เกิด (๒๔๗๓) / วันเด็กที่พระตะบอง / อพยพกลับไทย เรียนมัธยมวัดเบญฯ เข้าเรียนจุฬาฯ (๒๔๙๒)ทำหนังสือ มหาวิทยาลัย

๒.“แดง” / โดน “โยนบก” / รายละเอียดและการสอบสวน / ผลสืบเนื่อง ถูกป้ายสีคอมมิวนิสต์ / เรียนจบ
๓.ช่วงปี ๒๕๐๐ ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเชิงสะพานเสาวณีย์ ใช้ชีวิตปรกติ เป็นอาจารย์ มศว. ม.ศิลปากร / เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์
๔.หลังรัฐประหาร ๒๕๐๑ ถูกจับติดคุก / แปลงาน แต่งเพลง ตั้งคอมมูนในเรือนจำ
๕.เดินทางเข้าป่า (๒๕๐๘) / ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๕ พ.ค. ๒๕๐๙

ภาคตำนาน (๒๕๑๖-ปัจจุบัน /๒๕๔๒)

๑.หนังสือเล่มแรกในชีวิตที่ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๐๐ ถูกนำมาตีพิมพ์อีกครั้ง หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และงานเล่มอื่น ๆ ที่ถูกขุดค้นขึ้นมาพิมพ์ใหม่ช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน (๒๕๑๖-๒๕๑๙)
๒.ปี ๒๕๑๗ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นวีรบุรุษในใจคนหนุ่มสาว / เช่นเดียวกับที่จิตรถือ หลู่ซิ่น เป็นวีรบุรุษ
๓.ปี ๒๕๑๘ พรรคคอมมิวนิสต์ ทางการ นักศึกษา ต่างยกย่องจิตร ป่าแตก กลางทศวรรษที่ ๒๕๒๐
๔.ปี ๒๕๔๒ งานจิตร ๓ เล่ม อยู่ใน ๑๐๐ เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน
๕.จบด้วยเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา

แล้วเขียนเล่าที่ละหัวข้อย่อย ร้อยเรียงเป็นเรื่องราวต่อเนื่อง ตัดสลับกันไประหว่างหัวข้อเลขไทยกับเลขอารบิก ก็จะเป็นเรื่องเล่าแบบที่ไม่เรียบเรื่อยและไม่ซ้ำกับที่คนอื่นเขียนไว้ก่อนแล้ว

ส่วนโครงเรื่องแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่คิดที่จะเขียนสารคดีสักเรื่อง มีรายละเอียดแยกย่อยให้เห็นเป็นหัวข้อ เพื่อให้ผู้เขียนใช้เป็นแนวทางการทำงานของตัวองได้อย่างแม่นยำ ไม่หลุดลอยออกนอกประเด็น ดังนี้

๑.หัวข้อเรื่อง คือเรื่องที่จะทำ
๒.แนวคิด เป็นคำอธิบายที่มาที่ไป ว่าเรื่องนั้นๆ น่าสนใจอย่างไร ทำไมเราจึงต้องทำสารคดีเรื่องนี้ การตอบตัวเองได้ชัดจะทำให้เราทำงานได้อย่างมีเป้าหมาย และเป็นแรงบันดาลใจที่จะมุ่งไปให้ถึง
๓.ประเด็นหลัก คือ จุดเน้น เนื้อหาหลัก ที่จะนำเสนอในเรื่อง
๔.ประเด็นรอง ประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ ที่คาบเกี่ยวอยู่ในบริบทเดียวกันในหัวเรื่อง แต่ให้ความสำคัญและพื้นที่นำเสนอน้อยกว่าประเด็นหลักที่เป็นใจความสำคัญของเรื่อง ประเด็นรองมีได้หลายประเด็น เพื่อช่วยขับเน้นและหนุนให้ทั้งเรื่องมีความครอบคลุมรอบด้าน
๕.ขั้นการทำงาน เขียนไว้บอกตัวเองเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่และวางตารางการทำงาน

มีตัวอย่างที่อยู่ในข่ายนี้จากสารคดีเรื่อง “หัวเราะและน้ำตา ในทุ่งกำลาร้องไห้” ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๕๒ เมื่อคิดจะทำสารคดีเรื่องทุ่งกุลา ผมเขียนโครงเรื่องออกมาก่อนดังนี้

๑.หัวข้อเรื่อง : ทุ่งกุลาร้องไห้
๒.แนวคิด :

เมื่อได้ยินชื่อ ทุ่งกุลาร้องไห้ คนส่วนใหญ่นึกถึงแต่ความแห้ง ซึ่งคงไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะมีหลักฐานว่ามีชุมชนอารยธรรมโบราณตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่แถบนั้นมานับ ๔ พันปี สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ที่กำลังมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในฐานะแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิดีที่สุดในโลก

ยังมีอะไรอื่นอีกบ้างอยู่ในทุ่งกุลา นอกจากภาพท้องทุ่งเวิ้งว้างกับความแห้งแล้ง

๓.ประเด็นหลัก :
ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา และแหล่งอารยธรรมโบราณ

๔.ประเด็นรอง :
-สภาพภูมิเทศ พื้นที่ ขอบเขตของทุ่งกุลา
-ชีวิตผู้คนในทุ่งกุลา
-ตำนานพื้นบ้าน ที่มาของชื่อทุ่งกุลาร้องไห้
-ข้อมูลวิชาการทางธรณีวิทยา
-ความเป็นมาและความเปลี่ยนแปลงของทุ่งกุลา
-การเลี้ยงสัตว์ และชีวิตนายฮ้อย
-ความเป็นแหล่งปลาน้ำจืด
-แหล่งต้มเกลือโบราณ
-ไม้ยูคาลิปตัส

๕.ขั้นการทำงาน :

-ค้นข้อมูลอ้างอิง จากงานเขียนที่มีคนเขียนถึงทุ่งกุลา วิดีโอ เพลง บทกวี หนัง ที่เกี่ยวกับทุ่งกุลา
-ลงพื้นที่ในทุ่งกุลาร้องไห้ใน ๕ จังหวัด พื้นที่ ๒ ล้านไร่ เจาะจุดเด่น เช่น บ่อพันขัน บ้านเมืองบัว แหล่งโบราณคดี นาข้าวหอมมะลิ
-ชมพิพิธภัณฑ์โบราณคดีในทุ่งกุลา
-ลองกินข้าวหอมมะลิ
-สัมภาษณ์ นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องทุ่งกุลา เอ็นจีโอที่ทำงานในทุ่งกุลา เจ้าหน้าที่ราชการรับผิดชอบพื้นที่ นายฮ้อย ปราชญ์พื้นบ้าน นักโบราณคดี ชาวนา เจ้าของโรงสี คนต้มเกลือ ใครและใคร ฯลฯ

จนเต็มอิ่มกับการเก็บข้อมูล จึงลงมือเขียนไล่ไปทีละหัวข้อ แต่ในการร้องเรียงเรื่องราวก็สามารถออกแบบการเล่าเรื่องอย่างไรก็ได้ สุดแล้วแต่ผู้เขียนจะสร้างสรรค์กลวิธีการเล่าเรื่อง

โครงเรื่อง หรือ Story line เป็นงานเบื้องหลัง ไม่มีผลต่อการให้คะแนนของคนอ่าน แต่มีส่วนอย่างสำคัญในการหนุนส่งให้ได้ผลงานที่ดี เหมือนบ้านหลังหนึ่งที่ปรากฏโฉมโดดเด่นติดตรึงตาตน ก็ย่อมมีที่มาจากแบบแปลนที่ลงตัวสมบูรณ์แบบอยู่เบื้องหลัง