ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก


เรื่อง / ภาพ พญ. ศรัณยา ศรีวราสาสน์

หมอตีนเปล่า เดินเท้าเข้าหาประชาชน

ฉันหอบสัมภาระมุ่งหน้าขึ้นเหนือกว่า ๔๐๐ กิโลเมตร

เพื่อรายงานตัวเป็นแพทย์ประจำจังหวัดตาก ตามหน้าที่ของนักศึกษาแพทย์จบใหม่ทุกคนที่ต้องออกปฏิบัติงานตามโรงพยาบาลโดยมีหมอเฉพาะทางรุ่นพี่คอยกำกับเพื่อเพิ่มพูนทักษะ ก่อนที่ปีต่อไปจะออกโรงพยาบาลชุมชนหรืออยู่ในเวชปฏิบัติอื่นๆ ตามหนทางของตน

ฉันเลือกเป็นหมอทั่วไปในต่างจังหวัดก่อนใน ๓ ปีแรกของการทำงาน หนทางของฉันต้องวัดดวงเลือกพื้นที่ปฏิบัติงานด้วยการจับฉลาก

และโชคชะตาก็พาฉันมาที่นี่…

หมอรุ่นพี่นำทางไปรู้จักโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดตาก จำนวน ๗ แห่ง สามแห่งแรกอยู่ฝั่งตะวันออกของจังหวัดตาก อีกสี่แห่งที่เหลือต้องข้ามภูเขา “ตาก-แม่สอด” เพื่อมุ่งสู่ชายแดนไทย-พม่า

ยังไม่ทันหายใจทั่วท้อง ภารกิจแรกของแพทย์ใช้ทุนปีหนึ่งก็เริ่ม

ต้องเลือกโรงพยาบาลประจำอำเภอเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานซึ่งส่วนใหญ่มีแพทย์ทั่วไปประจำการอยู่เพื่อดูแลผู้ป่วยในชุมชนและหากเกินศักยภาพจะช่วยประสานงานส่งต่อเข้าโรงพยาบาลจังหวัด

ฉันสนใจโรงพยาบาลชุมชนฝั่งตะเข็บชายแดนที่ร่ำลือเรื่องสารพัดโรคติดเชื้อ ซึ่งสามารถปัดเป่าให้หายขาดหากได้รับการรักษาทันท่วงที แต่เพราะสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน หมู่บ้านตั้งกระจายอยู่บนดอยซึ่งบางแห่งยังไม่มีทางถนนสัญจร เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลชุมชนนั้นๆ จึงจำเป็นต้องทำหน้าที่เป็น “หมอตีนเปล่า” เดินเท้าเข้าหาประชาชน

๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ พี่จิ-นายแพทย์จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาด พาออกเยี่ยมคนไข้ในพระราชานุเคราะห์ของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในกลุ่ม “ป๊อก” บ้านของชาวไทย-ปกาเกอะญอ ในเขตตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด และอาสาขับรถโฟร์วีลให้ฉันและเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นล่ามในโรงพยาบาลได้ลุยทางดินลูกรังบนดอยเพื่อไปยังหมู่บ้านของคนไข้

เมื่อสิ้นสุดทางรถยนต์จะเข้าถึงก็เป็นหน้าที่ของสองเท้ามุ่งสู่บางบ้านที่อยู่ห่างไกล

“ตรงนั้นเป็นยอดเขาเปเปอร์ เดี๋ยวเราขับรถขึ้นไปดูกัน”

barefootdoc01
barefootdoc02
barefootdoc03
barefootdoc04
barefootdoc05
barefootdoc06

ระหว่างขับรถข้ามแต่ละป๊อกของชาวบ้าน พี่จิชี้ยอดดอยเปเปอร์ที่มีกลุ่มกระต๊อบประกอบจากมัดฟางสร้างเป็นอาศรมของฤาษี ตามศรัทธาที่ชาวไทย-ปกาเกอะญอในหมู่บ้านจ่อคียังคงนับถือตามความเชื่อของบรรพบุรุษ หลังแวะพักชมทิวทัศน์พอหายเหนื่อยพวกเราก็ลุยเขาต่อไปยังบ้านผู้ป่วยรายอื่นๆ

คนไข้พระราชทานรายสุดท้ายเป็นคุณยายอายุราวแปดสิบปี แม้จะอยู่ในฐานะผู้ป่วยติดเตียงเนื่องจากเคยประสบอุบัติเหตุกระดูกสะโพกหัก แต่ภาพที่เห็นท่านก็ยังง่วนอยู่กับการฝัดพริกอย่างขะมักเขม้น จัดแจงปัดข้าวของบนแคร่ให้พวกเรานั่งก่อนยื่นบัตรประชาชนของตนให้ดู

ยายจำวันที่บัตรหมดอายุได้อย่างแม่นยำแต่ไม่มีเรี่ยวแรงจะลงดอยไปต่ออายุ พี่จิทราบเรื่องจึงจดชื่อคนไข้พร้อมเลขสิบสามหลักไว้เตรียมช่วยประสานงานกับที่ว่าการอำเภอให้

คุณยายรีบยกมือไหว้ขอบคุณด้วยความยินดี

แค่นั้นก็เป็นภาพอิ่มใจของพวกเราทีมแพทย์

เล่าถึงตรงนี้ อาจมีใครกำลังสงสัยว่าภารกิจแรกของแพทย์ใช้ทุนไม่เห็นมีเรื่องของการรักษา

ก็ใช่, เพราะการมาเยี่ยมเยียนคนไข้พระราชทานครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อรักษา เพียงมาถามไถ่ทุกข์สุข

บ่อยครั้งทีมแพทย์ชุมชนได้เรียนรู้ว่าหน้าที่ของพวกเราไม่ใช่เพียงรักษาโรคด้วยยาเคมี

แต่รวมไปถึงการบำรุง “กำลังใจ” เป็นยาวิเศษสำหรับผู้ป่วยให้พวกเขาต่อสู้กับโรคภัย


sarunyaแพทย์หญิงศรัณยา ศรีวราสาสน์
หลังจบการศึกษาจากแพทยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับสอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากสวมเสื้อกาวน์ประกอบอาชีพที่รักในโรงพยาบาลทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ยังสนุกกับการเขียนหนังสือ เคยมีผลงาน “โอ้วเอ๋ว…อดีต ปัจจุบัน อนาคต” เผยแพร่กับนิตยสาร สารคดี เมื่อปี ๒๕๕๙ และบทความ “เสียงเพรียกแห่งพงไพร” เคยได้รับรางวัลกำลังใจ จากแพทยสภา ในปี ๒๕๖๑

…….

nadoi02สุชาดา ลิมป์
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน