วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


sarakadeeschool01

เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าสายศิลป์ ม.ปลาย มักเป็นห้องเรียนของเด็กไม่เก่ง โรงเรียนปลูกปัญญา กลางเมืองภูเก็ต ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น แต่ครูภาษาไทยชื่อกาญจนา ปราบปัญจะ ทำให้แผนกศิลป์ของโรงเรียนนี้ไม่ธรรมดาขึ้นมาได้ ด้วยการเปิดรายวิชาการเขียน เป็นวิชาเสริมให้กับลูกศิษย์ของเธอสัปดาห์ละคาบ และจัดค่ายเรียนรู้จากนักเขียนมืออาชีพปีละครั้ง

นักเรียน ม.ปลาย ห้องศิลป์ของโรงเรียนปลูกปัญญา จึงได้อ่านหนังสือวรรณกรรมนอกตำราเรียนกันมาไม่น้อย รู้จักนักเขียนและรู้ว่ามีอาชีพนักเขียนอยู่ในโลกนี้ด้วย

ตอนอยู่ ม.๔ พวกเขาเคยผ่านค่ายการเขียนเรื่องสั้นกันมาแล้ว ทั้งครูกาญจนายังหาทุนจัดพิมพ์ผลงานรวมเล่มของรุ่นให้ด้วย

ปีนี้ครูอยากให้พวกเขาเรียนรู้การเขียนสารคดี จึงชักชวนผมไปช่วยแบ่งปันประสบการณ์ปลุกใจเด็กๆ

จัดค่ายง่ายๆ ๒ วัน ที่โรงเรียน และฝึกการลงพื้นที่เก็บข้อมูลแบบไม่ต้องใช้งบประมาณ โดยการแยกย้ายกันออกไปสำรวจชุมชนข้างๆ โรงเรียน เก็บเรื่องราวมาสร้างสรรค์งานสารคดี

ถนนถลาง กลางย่านเมืองเก่าภูเก็ต มีจุดเด่นที่ตึกสไตล์ชิโนโปตุกีส เคยเป็นชุมชนที่รวมผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ที่หลั่งไหลมายังภูเก็ตด้วยแรงดึงดูดของเหมืองแร่ดีบุกเมื่อเกือบศตวรรษที่ล่วงแล้ว ซึ่งยังคงสืบสานร่องรอยทางวัฒนธรรมต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

เด็กๆ อาจรู้จักชุมชนข้างโรงเรียนของเขาดีอยู่แล้ว แต่การลงชุมชนในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเขียนสารคดี ทุกคนจึงต้องเก็บข้อมูลแบบเจาะลึกจริงจัง ตั้งใจ ให้เวลา ซึมซับบรรยากาศ ความรู้สึก และโดยเฉพาะการซักถามสัมภาษณ์ผู้เป็นแหล่งข้อมูลอย่างละเอียด ตามยุทธวิธีที่ติวกันมาในค่าย

ด้วยกระบวนการนี้นอกเหนือจากได้ข้อมูลมาเขียนงาน ยังเป็นเงื่อนไขให้เด็กๆ ได้ทำความรู้จัก “บ้าน” ของตัวเองดีขึ้น และได้เขียนเล่าให้คนอื่นรู้จักด้วย

มองในแง่การศึกษาเชิงบูรณาการ นักเรียนห้องศิลป์ไม่เพียงได้ความรู้รายวิชาการเขียน แต่ยังเชื่อมโยงถึงกระบวนวิชาอื่นๆ ด้วยแทบทุกมิติ

ว่าเฉพาะผลสัมฤทธิ์ด้านงานเขียนสารคดี ประเมินได้จากผลงานซึ่งจะมีการพิมพ์รวมเล่มเผยแพร่ นับเป็นผลงานนักเขียนเยาวชนในท้องถิ่นที่จะทำให้คนอ่านในวงกว้างได้รู้จักภูเก็ตในแง่มุมที่อาจไม่เคยรู้

ขอยกตัวอย่างบางชิ้นมาชวนชิมลอง ก่อนผลงานฉบับเต็มจะตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มตอนปลายปีการศึกษานี้

sarakadeeschool02

บ่ายวันอากาศร้อนระอุ ฉันกับเพื่อนสาวอีก 2 คน ถกเถียงกันเรื่องสถานที่จะไปในวันนี้

“นี่พวกแกเราจะไปทางซ้ายหรือขวาดี”
“ทางขวาสิ ไม่ร้อน”
“ทางซ้ายย่ะ ฉันหิวแล้วนะ กองทัพต้องเดินด้วยท้องรู้จักไหม”
“งั้นพวกแกเป่ายิงฉุบกันนะ ใครชนะก็ไปทางนั้นแหละ”

ไม่นานนักเราก็ได้เป้าหมายที่จะไปนั่นคือทางซ้ายเมื่อเราเพิ่มพลังกันเสร็จแล้วเราก็เดินไปหยุดอยู่ตรงหน้า “ร้านขายยาแผนโบราณฝุ่ยชุนถ่อง” ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 14 ถ.เยาวราช ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต

มองเผินๆ ร้านดูขลังและดูน่ากลัวไม่น้อย ด้านในมีของวางเต็มไปหมดบวกกับความมืดสลัวๆ เพื่อนๆ ของฉันท่าทางกระอักกระอวนเมื่อรู้ว่าฉันจะพาเจ้าหล่อนแวะชมและซื้อของฝากที่นี่

แต่เมื่อเดินเข้าไปภายในร้านฉันก็พบกับตู้เล็กๆ เรียงซ้อนกันมากมายคุณยายเจ้าของร้านยิ้มแย้มและเป็นกันเองกับพวกเรามาก คุณยายวัยราว 90 ปีแล้ว แต่ดูต่างจากคนชราที่รุ่นราวคราวเดียวกันที่ฉันเคยพบเจอจากที่ต่างๆ มาก เพราะท่านดูแข็งแรงและมีสุขภาพดี

คุณยายเล่าเรื่องราวของร้านให้พวกเราฟังว่า “ร้านฝุ่ยชุนถ่องเปิดมา 65 ปีแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่นชาว ต่างชาติพอมีบ้าง ยาก็ขายได้เรื่อยๆ ไม่ดีไม่แย่”

จู่ๆ เพื่อนของฉันก็ถามสิ่งที่หล่อนสงสัยออกมาว่า “คุณยายคะทำไมคุณยายถึงทำกิจการร้านยาคะ”

“ก็เพราะว่ายายต้องการจะสานต่อกิจการของครอบครัว ร้านยานี้พี่น้องช่วยกันสร้างแต่ทำไม่ไหวแล้ว เลยให้ลูกหลานรับกิจการต่อ ตอนนี้ก็เข้ารุ่นเหลนแล้ว เมื่อก่อนนี้นะร้านยายมีผู้จัดการคือ สมบูรณ์ ลูกคนโต แต่ตอนนี้เขาลาออกไปแล้ว”

สีหน้าของคุณยายยิ้มแย้มแต่มันกลับสวนทางกับนัยน์ตาที่ดูเศร้าหมองคู่ลง ทำให้บรรยากาศที่ครึกครื้นเมื่อสักครู่หม่นหมองลงไปชั่วขณะ

คุณยายเล่าต่อว่า “ร้านฝุ่ยชุนถ่องเป็นร้านพี่น้องกับร้านหงวนชวนต๋อง ร้านนั้นอากงของยายเป็นคนเริ่มกิจการพอทำได้สักพักยายกับพี่น้องคนอื่นๆ ก็ช่วยกันเปิดเป็นสาขาที่สอง ตอนเริ่มเปิดกิจการก็ขายดีอยู่ ตอนนี้ก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ ร้านเปิดแปดโมงเช้าปิดเกือบทุ่มถ้าวันไหนไม่ค่อยมีคนก็จะปิดเร็วหน่อย รายได้ต่อเดือนไม่แน่ไม่นอน”

เมื่อคุณยายบอกเล่าประวัติความเป็นมาให้พวกเราฟังฉันก็ยิ่งอยากที่จะถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกและซื้อยาฝากคนทางบ้านด้วย

ในแต่ละวันมีทั้งเรื่องดีและเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นมากมายผ่านเข้ามาเป็นประสบการณ์ให้ชีวิต เรื่องราววันนี้เป็นเรื่องดีๆ อีกเรื่องหนึ่งที่ฉันได้รับจากคุณยาย

ความเข้มแข็งของคุณยายคือแบบอย่างที่ดีให้แก่ฉัน

ฉันรู้สึกดีมากที่ได้รู้จักคุณยาย

(ผลงานเรื่อง “คุณยายขายยาจีน” โดย เมธาวี บุญศรีรัมย์)

sarakadeeschool03

บางตอนจากเรื่อง รอยเวลาเพอรานากันนิทัศน์ โดย นภัสนันท์ สมใจ โชว์การเก็บข้อมูลมาแสดงได้อย่างละเอียด

… เจ้าหน้าที่ดูแลสถานที่เล่าว่า พิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์เปิดเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวในตัวเมืองภูเก็ต ตัวอาคาร 2 ชั้น มีห้องจัดแสดงที่ให้ความรู้เรื่องความเป็นมาของชาวเพอรานากันในจังหวัดภูเก็ต มีห้องจัดแสดงจำนวนทั้งหมด 6 ห้องได้แก่ พลัดพราก รากใหม่ ฉิมแจ้ ผ้า อาหาร มั่นคง

  • ห้องพลัดพราก (straying) นำเสนอเรื่องราวของกลุ่มชาวจีนที่อพยพเข้ามาในไทยรับจ้างหาบหามและก้าวขึ้นมาเป็นนายเหมืองที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ
  • ห้องรากใหม่ (Reborn) บอกที่มาของเพอรานากันหรือ“บาบ๋า”และตึกที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมอย่างปีนังที่พบทั่วไปตามย่านเมืองเก่าภูเก็ต
  • ห้องฉิมแจ้ (Chim Jae )เป็นห้องที่นำเสนอให้เห็นภาพ “ฉิมแจ้”ที่คนพื้นเมืองภูเก็ตส่วนใหญ่จะใช้สอยน้ำจากบ่อ และมีการเจาะช่องอากาศกลางตัวบ้านเพื่อให้อากาศถ่ายเทคนภูเก็ตมีความเชื่อว่าหากฝนตกแล้วมีน้ำไหลผ่านเข้ามาตรงช่องอากาศจะทำให้โชคดี
  • ห้องผ้า (Clothes) นำเสนอเอกลักษณ์การแต่งกายกลุ่มลูกครึ่งมลายู-จีนที่ผสมผสานและสร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่ขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “เพอรานากัน” ที่มีความหมายว่า“เกิดที่นี่”
  • ห้องอาหาร (Foods) แสดงอาหารของชาวเพอรานากันในภูเก็ต7อย่างที่ได้รับรางวัลเป็นเมืองสร้างสรรค์อาหารโลกจากยูเนสโกได้แก่หมูฮ้องโอวต้าวปอเปี๊ยะสดแกงตูมี้หมี่ฮกเกี้ยนปลาเจี๋ยนตะไคร้และผัดบังก๊วนเป็นอาหารที่เกิดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมของชาวจีนฮกเกี้ยนมลายูและถิ่นใต้
  • ห้องมั่นคง (Steady) นำเสนอเครื่องประดับของชาวเพอรานากันเป็นสิ่งที่แสดงถึงฐานะสำหรับใช้ในงานสำคัญเช่นงานแต่งงานหรืองานเลี้ยงสังสรรค์โดยเครื่องประดับแต่ละชิ้นจะใช้เฉพาะกับเสื้อผ้าแต่ละชนิด

พิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์แห่งนี้น่าจะเป็นที่เดียวในจังหวัดภูเก็ตที่มีการนำเสนอในรูปแบบที่แปลกใหม่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้นำเสนอประวัติศาสตร์ภูเก็ตให้ดูน่าสนใจและเข้าถึงวัยรุ่นยุคใหม่ได้อย่างโดนใจ

sarakadeeschool04

ครึ่งหลังของเรื่อง “โอ้เอ๋ว in ‘CAFÉ INN’ ” โดย วาสุกรี ขุนทอง สะท้อนการให้เวลาในการเก็บข้อมูลทั้งการสัมผัสและสัมภาษณ์ รวมถึงสะท้อนมุมมองและฝีมือเมื่อนำมาเล่าด้วยภาษาเขียน

… หลังจากดื่มด่ำกับบรรยากาศของร้านได้สักพัก พนักงานตากลม คิ้วเข้ม ผิวคล้ำ สูงประมาณ 170 เซนติเมตร เดินเข้ามาหาผมด้วยรอยยิ้มที่เป็นมิตรสุดๆ พร้อมกับยื่นเมนูมาให้

ผมรู้สึกประหลาดใจ เพราะเมนูเเนะนำของที่นี่คือโอเอ๋ว มันทำให้ผมอยากรู้ว่าทำไม ร้านคาเฟ่ถึงมีโอ้เอ๋วขาย? เเล้วมันเกี่ยวข้องกับรูปภาพฝาผนังหน้าร้านหรือป่าว?

“เอ่อ.. พี่ครับทำไมร้านนี้ถึงขายโอ๋เอ๋วด้วยล่ะครับ”
“น้องสั่งของร้านพี่ก่อนสิเดี๋ยวพี่จะบอก”

พี่เขาพูดพร้อมเเสดงสีหน้าอมยิ้ม

“งั้นผมเอา โอ้เอ๋วฮันนี่เลม่อนที่หนึ่งครับ “

พี่พนักงานเดินไปหลังเเคชเชีย ทิ้งไว้เเต่ความสงสัยของผมที่เพิ่มขึ้น เพราะคำว่า “สั่งของร้านพี่ก่อน” หรือพี่เขาจะไม่ใช่พนักงาน

ประมาณ 20 นาที พนักงานเดินมาพร้อมกับโอเอ๋วในมือ

“ได้เเล้วครับน้อง”
“เอ่อ… พี่ครับ พี่เป็นเจ้าของร้านหรือป่าวครับ”
“ใช่ครับ”

สำหรับคนอื่นคำว่า “ใช่ครับ” อาจจะฟังดูเป็นคำธรรมดาเเต่สำหรับผมมันเป็นการเริ่มต้น

เมื่อได้คุยกันไปสักพักก็ได้รู้ว่าเขาชื่อพงศ์ ตันติวัฒนกิจ เปิดร้านนี้มา 5 ปีเเล้ว และข้อมูลที่ทำให้ผมทึ่ง คือ ความเกี่ยวข้องของรูปภาพฝาผนังข้างหน้าร้าน ซึ่งมาจากเหตุผลที่พี่พงศ์อยากจะสร้างจุดขายในร้านตัวเอง จึงนำความดั้งเดิมของชาวภูเก็ตมาผสมผสานกับความเป็นคาเฟ่ในยุคปัจจุบัน จึงนำโอ้เอ๋วมาขายในร้าน
พี่พงศ์ยังบอกอีกว่าสิ่งของรอบตัวของเราสามารถนำมาประยุกต์ ใหม่ได้ทั้งนั้น ตัวอย่างเช่นร้าน CAFE’IN ของพี่พงศ์ ที่นำสิ่งรอบตัวมาประยุกต์ให้เป็นจุดขายของร้านได้นั่นก็คือการนำโอ้เอ๋วที่เป็นอาหารพื้นเมืองมาขาย ในร้านคาเฟ่
ร้านCAFE’IN นี้ตั้งอยู่บนถนนกระบี่ ติดกับพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว บริเวณที่รายล้อมไปด้วยตึกรามบ้านช่องที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นชิโน -โปรตุกีส

“กินก่อนสิ เดี๋ยวโอ้เอ๋วก็ละลายหมดหรอก”

พี่พงศ์ทิ้งท้ายก่อนเดินไปรับออเดอร์โต๊ะอื่น

ผมหันไปมองโอ้เอ๋วบนโต๊ะ เป็นโอ้เอ๋วที่น่ากินมาก เเค่ดูก็รู้สึกถึงความสดชื่น น้ำเเข็งสีเเวววาวราดด้วยไซรัปน้ำผึ้งด้านบน เเละมีเลม่อนหั่นข้างๆ ถ้วย กลิ่นของเลม่อนโชยขึ้นมาเสมือนอยู่ท่ามกลางสวนเลม่อน

รสชาติความเปรี้ยวของไซรัปเลม่อน ผสมผสานกับรสชาติความหวานของน้ำผึ้งได้รวมกันเป็นรสชาติที่กลมกล่อม

หลังจากอิ่มทั้งรสชาติและบรรยากาศรอบๆ กาย ผมเดินไปจ่ายเงินค่าโอ้เอ๋วในราคา 79 บาท ขณะก้าวออกจากร้าน ได้ยินเสียงพี่พงศ์แว่วตามหลังมา
“ไว้มาใหม่อีกนะ”


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา