ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


wannakadee01

นิทานพื้นบ้านเรื่องหนึ่งที่รู้จักกันแพร่หลายในเมืองไทยมาตั้งแต่โบราณคือ “สังข์ทอง” อันมีต้นเค้าจาก “สุวรรณสังข์ชาดก” ในชุดปัญญาสชาดก หรือที่เรียกกันว่า “ชาดกนอกนิบาต” คือเป็นเรื่องอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก แต่พระเถระในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นพม่าและล้านนา ได้จับเอานิทานพื้นบ้านดั้งเดิมมา “บวช” ให้กลายเป็นเรื่องราวในพุทธศาสนา

เรื่อง “สังข์ทอง” ฉบับที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดคือบทละครนอก “สังข์ทอง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ มีการนำไปเล่นเป็นละครกันมาช้านาน จนถึงยุคโทรทัศน์ก็ยังถูกหยิบยกไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์มาหลายยุคหลายสมัย และยังออกอากาศอยู่จนถึงเดี๋ยวนี้

ส่วนในระดับชาวบ้านทั่วไป เรื่อง “สังข์ทอง” ก็ซึมซาบจนถูกนำไปผูกโยงกลายเป็น “ภูมินาม” ชื่อสถานที่ในท้องถิ่นของตัว อย่างเช่นเขานางพันธุรัตน์ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ที่ดูคล้ายรูปคนนอน ซึ่งมีตำนานเล่าว่านั่นแหละคือนางยักษ์พันธุรัตน์ที่ตายแล้วกลายเป็นหิน

เมื่อราว ๑๐ กว่าปีมาแล้ว ผู้เขียนเคยพบเห็นครั้งแรกที่วัดแห่งหนึ่งแถวสมุทรสาครว่ามีการสร้างเครื่องรางพระสังข์ทอง และปั้นรูปพระสังข์ทองตัวเท่าคน โผล่ออกมาจากหอยสังข์ ไว้ให้ญาติโยมบูชา

ประเด็นสำคัญก็คือพระสังข์ทองมีคาถาวิเศษที่เรียนมาจากนางยักษ์พันธุรัตน์ผู้เป็นแม่เลี้ยง คือมนต์มหาจินดา ซึ่งใช้เสกเป่าเรียกเนื้อ (หมายถึงสัตว์จำพวกเก้งกวาง) เรียกปลา ซึ่ง “ถึงที่ตาย” ให้มาหาได้ เมื่อเป็นดังนั้น เวลาจะสร้างเป็นวัตถุมงคล มนต์มหาจินดา หรือ “จินดามณี” (แก้วสารพัดนึก) จึงถูกให้ความหมายใหม่ ว่าเป็นมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ “เรียกลูกค้า” หรือ “เรียกทรัพย์”

นึกดูอีกทีก็อาจมีความเชื่อมโยงกับคติที่ถือเสมือนว่า “ลูกค้า” เปรียบเสมือน “ปลา” อย่างที่ตั้ง “ไซดักทรัพย์” ไว้ตามหน้าร้าน

แต่ที่ดูหนาตาในระยะหลังมานี้ แพร่หลายอยู่ตามหน้าร้านค้าร้านก๋วยเตี๋ยว คือรูปเจ้าเงาะ (หรือพระสังข์ทอง-ซึ่งก็เป็นตัวละครเดียวกัน แต่เวลาพรางตัวจะสวมหัวเป็นเงาะป่า)

รูปเจ้าเงาะที่เห็นส่วนใหญ่ทำด้วยปูนระบายสี เป็นรูปเด็กอ้วนๆ ตัวดำปี๋ หัวหยิก ไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าแดง และมักมีการลงยันต์กำกับไว้ด้วย สังเกตว่าบางสำนักยังสร้างให้แบกปลาอย่างที่เล่าไว้ในต้นเรื่อง แต่ก็เห็นมีบ่อยๆ ที่เจ้าเงาะ “เรียกทรัพย์” แบกถุงเงินถุงทอง ทำนองเดียวกันกับพระสังกัจจายน์หรือนางกวัก ที่ถูกจับให้ถือถุงเงินถุงทองเป็นอุปกรณ์ประจำตัวกันไปหมด

นอกจากนั้นแล้วยังเคยเห็นมีทั้งเจ้าเงาะที่เป็นเด็กผู้ชาย และเจ้าเงาะเด็กผู้หญิงด้วย ซึ่งอันหลังนี้ยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่ามายังไง ?

ยิ่งไปกว่านั้น บางอาจารย์ท่านอาจรู้สึกว่า เมื่อกลับไปอ่านในเรื่อง “สังข์ทอง” แล้ว พระสังข์หรือเจ้าเงาะ ว่าที่จริงก็เป็นแค่ “ลูกศิษย์” ที่เรียนวิชามนต์มหาจินดามาจากนางยักษ์พันธุรัตน์ ถ้าอย่างนั้นแล้ว ไหนๆ จะบูชาเรื่องคาถาเรียกทรัพย์กันทั้งที ก็ควรต้องย้อนกลับไปหา “ตัวแม่” กันเลยดีกว่า จึงมีการสร้างเครื่องรางรูปแบบเดียวกับนางกวัก แต่ทำเป็นนางยักษ์ร่างอ้วนล่ำ นั่งยกมือขึ้นกวักเหมือนนางกวัก แล้วขนานนามให้ใหม่ว่าเป็น รูป “นางพันธุรัตน์”

สุดแท้แต่จะมีจินตนาการกันไป…

wannakadee01


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี