วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


เครื่องหมายสื่อสาร การตรวจแก้ต้นฉบับ

บันไดสำคัญขั้นหนึ่งของการก้าวไปสู่การเป็นนักเขียนตัวจริง คือการฝึกทำซ้ำๆ

นักฝันหลายคนยังไม่ได้เป็นนักเขียนเสียทีก็เพราะมัวแต่ตั้งท่า นามปากกาก็ตั้งไว้อย่างดิบดีแล้ว เหลือแต่ลงมือเขียนงานออกมาเท่านั้นที่ยังไม่ได้ทำ นั่นก็ถือว่ายังไม่เป็นนักเขียน

เมื่อเขียนออกมาแล้ว จะดียิ่งหากมีกัลยาณมิตรคอยช่วยอ่านอย่างใส่ใจ และให้คำวิจารณ์ติชมด้วยความปรารถนาดี ใครคนนั้นอาจจะเรียกว่าเป็นครูของผู้เขียน เป็นที่ปรึกษา พี่เลี้ยง เมนเทอร์ โค๊ช หรืออะไรก็แล้วแต่ บทบาทคือช่วยดูแลอ่านงานอย่างใส่ใจ ให้คำแนะนำ ชี้แนวทางการพัฒนาปรับปรุงงาน และยุยงส่งเสริมให้ทำต่อ

หรือไม่เช่นนั้นนักเขียนก็ต้องฝึกเป็นบรรณาธิการให้ตัวเอง อ่านขัดเกลาผลงานเอง

editorsign03

หลักเบื้องต้นง่ายๆ ที่มือใหม่จะใช้ในการตรวจทานต้นฉบับงานเขียนของตัวเอง โดยลองพิจารณาจากข้อต่อไปนี้

๑.การเล่าเรื่องด้วยภาษาเขียนต้องกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ เลี่ยงการใช้คำเชื่อมจำพวก และ ที่ ซึ่ง อัน ดังนั้น โดยที่ เพราะ ฯลฯ ที่ทำให้เรื่องยืดยาวอยู่ในย่อหน้าเดียว ขึ้นประเด็นใหม่ไม่ได้
๒.ใส่ใจเรื่อง ย่อหน้า วรรคตอน งานเขียนวรรณศิลป์ควรย่อหน้าบ่อยๆ ตามการดำเนินไปของเรื่อง หรือเมื่อเป็นประเด็นใหม่ เว้นวรรคเล็ก (๑ เคาะ) เมื่อจบประโยค วรรคใหญ่ (๒ เคาะ) เมื่อจบความ บางทีการจัดย่อหน้า-วรรคตอนใหม่อย่างเหมาะสม จะทำให้งานเขียนชิ้นนั้นดีขึ้นทันที โดยยังไม่ต้องแก้ไขถ้อยคำใดๆ
๓.ใช้สรรพบ้าง อย่าเพียงแต่กล่าวชื่อใครซ้ำๆ ลองใช้ เขา เธอ หล่อน นาง หญิงคนนั้น หญิงสาวผู้เป็น…
แทนที่จะเรียกชื่อแหล่งข้อมูลซ้ำๆ ทุกครั้งที่กล่าวถึง

editorsign02

จากปลายปากกาของนักเขียน กว่าตัวหนังสือจะเดินทางสู่สายตาตาผู้อ่าน ต้องผ่านมือใครอีกหลายคน

เริ่มจากตัวผู้เขียนที่แก้แล้วแก้อีกหลายร่าง กว่าจะได้ต้นฉบับสุดท้ายส่งบรรณาธิการ

บรรณาธิการตรวจแก้กับผู้เขียนจนลงตัวพอใจ จึงส่งจัดรูปเล่ม พิสูจน์อักษร แล้วจึงส่งพิมพ์เป็นเล่ม ส่งสู่ร้านหนังสือ

ในช่วงการจัดรูปเล่มก่อนส่งโรงพิมพ์ การตรวจแก้ระหว่างผู้เขียนกับทีมผลิตรูปเล่ม สื่อสารกันผ่านหน้ากระดาษ ด้วยการทำรหัสเครื่องหมายลงบนตัวหนังที่ต้องการปรับแก้

เครื่องหมายการตรวจแก้ต้นฉบับที่ใช้กันทั่วไป และนักเขียนควรรู้จัก ได้แก่

P – ขึ้นย่อหน้าใหม่
/ – วรรคเล็ก 1 เคาะ
// – วรรคใหญ่ 2 เคาะ
ˆˇ – ชิดข้อความ
วงข้อความ ขีดกากบาทตัดปลายเส้น – ตัดข้อความที่วง
วงข้อความ เขียนคำใหม่ไว้ที่ปลายเส้น – เปลี่ยนคำใหม่ตามที่เขียนไว้