เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


 

พิธีสืบชะตาแม่น้ำสาละวิน เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๒ จัดขึ้น ณ จุดที่แม่น้ำเมยไหลมาสบแม่น้ำสาละวิน บ้านสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

วันที่ ๑๔ มีนาคมของทุกปีตรงกับวัน “International Day of Action for Rivers” หรือ “วันหยุดเขื่อนโลก”

ในปีนี้ตลอดแนวลำน้ำสาละวิน แม่น้ำสายใหญ่สายสุดท้ายของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไม่ถูกเขื่อนปิดกั้น กลุ่มชาติพันธุ์ ชนพื้นเมือง ผู้ที่อาศัยอยู่ในรัฐกะเหรี่ยงและจังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทย พากันจัดกิจกรรมอันเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก

ณ ชายแดนไทย-พม่า ริมหาดที่แม่น้ำเมยไหลมาสบกับแม่น้ำสาละวิน ก่อเกิดเป็น “แม่น้ำสองสี” – “แม่น้ำสองอุณหภูมิ” ชาวบ้านสบเมย ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมจัดงาน สืบชะตาแม่น้ำสาละวิน เลี้ยงผีและขอขมาแม่น้ำ  ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ คริสต์ และพิธีดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ มีผู้ร่วมกิจกรรมมากกว่าร้อยคน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและผลกระทบจาการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำอย่างไม่คำนึงถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ริมสองฟากฝั่ง

เสียงจากริมฝั่งเมยสบสาละวิน ๑๔ มีนา วันหยุดเขื่อนโลก

พฤ โอโดเชา
ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคเหนือ

“ไม่มีน้ำ เราอยู่ได้ไหม ไม่มีดิน เราอยู่ได้ไหม เราอยู่ไม่ได้

“วันนี้พี่น้องยืนหยัดในสิทธิที่จะอยู่กับป่ากับดอยกับแม่น้ำ ผมเองก็ยืนหยัดสิทธิคนอยู่กับป่า เพราะเราไม่มีผืนดินที่จะไปอยู่ที่อื่นแล้ว
“ผักทุกต้นริมแม่น้ำ เราดึงเราเด็ด ไม่รู้กี่หมื่นกี่พันต้น หินทุกก้อนเวลาเราออกไปหาปลา เราพลิก เราดักปลา เราคลุกคลีมาหลายชั่วอายุคน หญ้าทุกเส้นที่ควายวัวเล็มกินมีความหมายต่อชีวิตเราทั้งหมด

“ไม้ ปลา พืชผัก แมลง สัตว์ ยาสมุนไพร ผืนแผ่นดินที่พวกเราอยู่อาศัย รวมถึงแม่น้ำ ถ้าเขากั้นเขื่อนแล้วเอาผืนดินเหล่านี้ไป ชีวิตเราก็จะเหมือนกับถูกฆ่าตาย ยิ่งกว่าสงครามหรือระเบิดยิงลงมาใส่เรา
“เราอยากจะบอกว่าไม่ควรที่รัฐบาลหรือต่างชาติจะมาทำลายสิ่งเหล่านี้ ถ้าจะพัฒนาอะไรต่อไปอีกรัฐไทยก็ไม่ควรจะออกกฎหมายมาริดรอนสิทธิของคนที่อยู่ในป่าแถบนี้มาก่อนที่จะเกิดประเทศไทย ก่อนที่จะมีประเทศพม่า ถ้าเขาเห็นแค่งบประมาณ เงิน ความอยู่รอดของบริษัทแล้วอ้างว่าเพื่อประเทศชาติ ผมคิดว่าไม่ใช่การพัฒนา มันคือการถอยหลัง”

damday03

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว
ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จังหวัดเชียงราย

“แม่น้ำสาละวินเป็นแม่ของพวกเขา แม่น้ำโขงเป็นแม่ของพวกเรา ตอนนี้แม่ของเราเจ็บปวดจากการสร้างเขื่อน พี่น้องหาอยู่หากินลำบาก ปลาคงที่สาละวินผมเจอตัวละ ๑๐ กว่ากิโลกรัม แม่น้ำโขงเคยมีเรียกว่าปลากระ เดี๋ยวนี้ไม่มี ปลาบางชนิดหายไป
“แม่น้ำสาละวินเป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนสาละวิน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อยู่มาดั้งเดิม คนสาละวินกับคนแม่น้ำโขงเราเหมือนกันคือเป็นคนชายขอบ เป็นคนที่อยู่ตามแนวชายแดน ปัญหาที่เกิดมันก็เลยเหมือนๆ กัน ไม่ว่าสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา การรักษาพสุขภาพ รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

“เราอยู่กับป่า เราอยู่กับน้ำ เรามีสิทธิมั๊ยที่จะช่วยกันดูแลรักษาป่ารักษาแม่น้ำ เรามีสิทธิมั๊ยที่จะใช้ป่าใช้แม่น้ำ เรามีสิทธิในการมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินมั๊ย นี่คือเรื่องสำคัญของคนชายขอบทั้งหลาย ไม่ว่าคนสาละวินหรือคนลุ่มน้ำโขง ใครคิดจะสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินขอให้ดูแม่น้ำโขงเป็นบทเรียนก่อน มันไม่น่าจะเสียแม่น้ำสายนี้ไปอีก”

damday04

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ
ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำสาละวิน

“ชาวบ้านอยู่ได้เพราะอาศัยแม่น้ำขึ้นลง เวลาน้ำลดเขาทำเกษตร ปลูกผัก ปลูกพืชสวนครัวริมฝั่ง นอกจากอุปโภคบริโภคประทังชีวิตแล้วก็ขาย ปลูกยาสูบเป็นเศรษฐกิจชุมชนได้ ไม่จำเป็นต้องออกไปรับจ้างข้างนอก

“พอถึงหน้าฝน ดินริมฝั่งจะไหลออก ดินใหม่ก็ทดแทนเข้ามา อุดมสมบูรณ์มาก ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยใช้ยา หลายคนงงทำไมทรายปลูกต้นไม้ได้ ดูไกลๆ จะเป็นสีขาว พอโดนน้ำจะกลายเป็นสีดำนิดๆ ลองสังเกตมันจะเป็นทรายปนดิน

“เวลาน้ำขึ้นก็จะเป็นช่วงที่ชาวบ้านทำนาทำไร่ วิถีชีวิตจะหมุนไป ถ้าสมมุติว่ามีเขื่อนกั้น น้ำนิ่ง พื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ริมน้ำจะหายไป ไม่มีหาด ไม่มีทราย ไม่มีดินตะกอน

“ตลอดทั้งแถบเลยมีชาวบ้านอยู่ริมน้ำ นอกจากวิถีชีวิตเกษตรริมฝั่งอีกส่วนหนึ่งก็เป็นประมง ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง มันจะคุ้มค่ากับสิ่งที่จะได้มามั๊ย มันไม่ใช่แค่วิถีของพี่น้องที่อยู่ฝั่งไทย แต่ยังรวมถึงพี่น้องกะเหรี่ยงทางฝั่งพม่า

“เขื่อนที่จะส่งผลกระทบกับบ้านสบเมยมากที่สุดคือเขื่อนฮัตจี ห่างจากที่นี่ไปแค่ ๔๐ กว่ากิโลเมตร ชัดเจนว่าขอบเขตอ่างเก็บน้ำจะล้ำเข้ามาในเขตประเทศไทย พูดง่ายๆ ว่าสันเขื่อนอยู่ในเขตพม่า แต่อ่างอยู่ในพื้นที่เรา”

damday05

เยบือ ษมาจิตผล
ผู้อาวุโสประจำชุมชนบ้านสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

“เราเป็นหมู่บ้านชายแดน สุดเขตประเทศไทย อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเมยกับแม่น้ำสาละวินคือรัฐกะเหรี่ยงในเขตพม่า ทุกปีชาวบ้านจะจัดงานตามความเชื่อดั้งเดิมด้วยการเลี้ยงผีและขอขมาแม่น้ำ ปีนี้ร่องน้ำในแม่น้ำเมยช่วงที่จะไหลมาบรรจบกับแม่น้ำสาละวินเปลี่ยนทางมาอยู่ใกล้ชิดฝั่งไทย จากเดิมจะไหลชิดฝั่งพม่า แม่น้ำเมยไม่ได้เปลี่ยนทางน้ำแบบนี้มานับสิบปีทำให้ชาวบ้านรู้สึกกังวลใจว่าอาจเป็นลางบอกเหตุในสิ่งไม่ดี

“แม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำสายสำคัญ เป็นเส้นเลือดใหญ่ นอกจากหล่อเลี้ยงให้ทุกคนมีอยู่มีกิน ประกอบอาชีพบริเวณริมตลิ่ง และทำประมงในลำน้ำสาละวินและสาขา ยังเป็นเส้นทางเชื่อมโยงกับพี่น้องปกาเกอะญอในรัฐกะเหรี่ยง ใช้เป็นเส้นทางไปมาหาสู่กันไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหน เราไม่เห็นด้วยที่จะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินเพราะจะทำลายวิถีชีวิตของเรา”