passport02Passport  

สารคดีท่องเที่ยวเชิง unique ชวนแบกเป้ไปเปิดมุมมองนอกขวานไทย ติดตามคอลัมน์ Passport ทุกวันศุกร์-สุขหรรษา


Passport : บิด “กาชาปอง” ปุบ! รับวัฒนธรรมญี่ปุ่นปับ!

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์

Welcome to Deep Japanese Culture!

คือข้อความบนป้ายใหญ่บริเวณเครื่องเล่น “กาชาปอง” ที่สนามบินนานาชาตินาริตะ

ชื่อจากคำเลียนเสียงธรรมชาติของ “gacha” หรือ “gasha” ที่เมื่อบิดเครื่องหยอดเหรียญแล้วเกิดเสียง “กาช่ะๆ” พอผสมกับคำว่า “pon” เสียงแคปซูลทรงกลมที่เก็บของจิ๋วไว้ข้างในยามกลิ้งหลุนกระทบตู้ก่อนหล่นออกมา ก็กลายเป็น “gachapon” (ガチャポン) หรือ “gashapon” (ガシャポン)

(ถ้าให้คนไทยตั้งชื่ออาจได้ “กรุกกรักๆ” ผสมกับ “โป๊ง” เป็น “กรุกกรักโป๊ง” ก็ได้)

ทั้งสองเป็นคำที่ใช้ทั่วไป เพียงแต่ gachapon เป็นชื่อเรียกเครื่องเล่นประเภทนี้ ขณะที่ gashapon เป็นชื่อที่บริษัท Bandai ผู้ผลิตของเล่นและวิดีโอเกมของญี่ปุ่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้

แต่ต้นกำเนิดจริงๆ รู้กันว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ของชาวอเมริกันที่ผลิตในญี่ปุ่น

ถ้ายืมไทม์แมชชีนโดราเอมอนย้อนไปปี ๑๙๐๗ จะพบว่าบริษัท Adams Gum ผู้ผลิตตู้หมากฝรั่งหยอดเหรียญได้เปลี่ยนจากหมากฝรั่งเป็นกาชาปอง แล้วปี ๑๙๖๕ กาชาปองตู้แรกจึงกำเนิดที่อาซากูซะ (ย่านสำคัญของแขวงไทโตในกรุงโตเกียว) โดยการนำเข้าของบริษัท PENNY เวลานั้นกาชาปองมีราคา ๑๐ เยน กลายเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเพราะทำให้เด็กๆ สนุกคึกคักที่ได้หยอดเหรียญ-ลุ้นของเล่น

ปี ๑๙๗๗ บริษัท Bandai จึงเข้ามาขยายตลาดให้กว้างพร้อมพัฒนาสินค้าตั้งแต่การขึ้นรูปให้ได้รายละเอียดคมชัด ทาสีอย่างประณีต และผลิตจากพลาสติก PVC คุณภาพดีจนครองใจชาวอาทิตย์อุทัยทุกวัย เดี๋ยวนี้มีหลายบริษัทร่วมสร้างสีสันทางเลือกให้ลูกค้าและสามารถพบตู้กาชาปองได้ง่ายมากตามร้านรวงต่างๆ ทั่วประเทศ สนนราคาอยู่ที่ ๑๐๐-๕๐๐ เยน ขึ้นกับสินค้าในแคปซูล

เสน่ห์ของกาชาปองคือเกือบทั้งหมดจะผลิตเป็นชุด ในแคปซูลจึงมีคู่มือระบุสินค้าทั้งชุดไว้เพื่อการสะสม ความบันเทิงเริ่มตั้งแต่ผู้หยอดเหรียญต้อง “เสี่ยงดวง” บ่อยครั้งที่หยอดกี่เหรียญบิดกี่รอบก็ได้แต่ของซ้ำให้ช้ำใจ นักสะสมที่มุ่งครอบครองชุดหายากจึงอาจใช้วิธีแลกเปลี่ยนหรือซื้อหาในตลาดมือสอง

ยิ่งไปกว่านั้นของเล่นบางชุดยังสร้างความเร้าใจเพิ่มโดยผลิต-ขายจำนวนจำกัด

บ้างขายเฉพาะในฤดูกาล อย่างฤดูร้อนอาจมีคาแรคเตอร์การ์ตูนเซ็กซี่ให้โอตะคุของมังงะหรืออะนิเมะเรื่องนั้นมาลุ้น หมดฤดูกาลก็กลายเป็นสินค้าประทับตรา “Limited Edition” เพิ่มมูลค่าในหมู่นักสะสม

หลายคนชอบตรงที่ของเล่นในกาชาปองมีทั้งสำเร็จรูปและแบบให้ชิ้นส่วนมาประกอบเอง ซึ่งไม่ยากเพราะมีคู่มือแผ่นจิ๋วแนบมาพร้อมตัวเลขกำกับ ของหลายอย่างนำไปใช้งานได้จริงอย่างพวงกุญแจ กระเป๋าสตางค์ ปลอกดินสอ สายชาร์จมือถือ ผ้าโพกหัวแมว ผ้าพันคอหมา ฯลฯ

หนึ่งในซีรีส์ยอดนิยมที่สะท้อนความขี้เล่นอย่างสร้างสรรค์ของชาวญี่ปุ่นคือ “กางเกงชั้นในอัจฉริยะ” บ้างออกแบบมาให้สวมสมาร์ตโฟน เว้นรูด้านล่างไว้เสียบสายชาร์จโทรศัพท์โดยไม่ต้องถอดกางเกงใน บ้างออกแบบให้สวมไว้กับฐานขวดน้ำป้องกันไอน้ำเปียกชื้นแฉะ! ใครอายที่จะถือขวดน้ำสวมกางเกงในตัวจิ๋วก็อาจเลือกเป็นเสื้อกันหนาวผูกขวดไว้เก๋ๆ ฟังก์ชั่นการใช้งานอาจไม่เต็มที่เท่ากางเกงในแต่น่ารักชนะใจ

กาชาปองยังเป็นตัวเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากเก็บความทรงจำกับสถานที่โปรดหรือสิ่งที่บ่งชี้เอกลักษณ์ประจำเมืองไว้ในราคาย่อมเยา อย่างภูเขาไฟฟูจิ รถไฟฟ้าชิงกันเซ็ง ไข่ดำจากหุบเขาโอวาคุดานิแห่งเมืองฮาโกเน่ อิคคิวซัง ชินจัง ซูเปอร์มาริโอ บอนไซ หมาชิบะ ซูชิ ขนมโมจิ รองเท้าเกี๊ยะ ฯลฯ

แน่ล่ะ ระดับมันสมองนักออกแบบของเล่นญี่ปุ่นทั้งทีย่อมไม่มีแต่คาแร็กเตอร์ธรรมดา

บางตู้เราจึงเห็นซูโม่-นักกีฬามวยปล้ำรูปร่างอ้วนใหญ่ดุดันมาในกิริยาซุกซนนอกสนามแข่งขัน ในท่าโยคะน่ารัก นอนเซ็กซี่ หรือเอกเขนกอ่านหนังสือสบายอารมณ์ ชวนให้ตามสะสมไว้ถ่ายรูปเล่น

ทุกครั้งที่หมุนกาชาปองจึงเหมือนได้เก็บวัฒนธรรมร่วมสมัยที่สะท้อนรากเหง้าของญี่ปุ่นผ่านวิธีคิดสรรเรื่องราว-ย่อส่วนเป็นโมเดลจิ๋ว และคุณค่าก็เริ่มตั้งแต่มองหากาชาปองตู้ที่ใช่ หยอดเหรียญเยน แล้วบิด

Gacha gacha gacha gacha gacha…pon!

ยินดีต้อนรับสู่วัฒนธรรมอันลุ่มลึกของชาวญี่ปุ่น!

gashapon16
ภาพ : สุชาดา ลิมป์
กาชาปอง
ภาพ : สุชาดา ลิมป์
gashapon18
ภาพ : สุชาดา ลิมป์