สารคดีท่องเที่ยวเชิง unique ชวนแบกเป้ไปเปิดมุมมองนอกขวานไทย ติดตามคอลัมน์ Passport ทุกวันศุกร์-สุขหรรษา
ได้ยินชื่อเสียง “บ้านซ่างไห” ว่ามีทีเด็ดที่ “เหล้าต้ม” มานาน
เพิ่งได้สัมผัสรูป รส กลิ่น ก็เมื่อเยือนเมืองมรดกโลกครั้งที่ ๕
ออกจากตัวเมืองหลวงพระบางราว ๓๐ กิโลเมตร มุ่งไปทางถ้ำติ่ง จะเจอบ้านซ่างไห เมืองปากอู หมู่บ้านกะทัดรัดที่แต่ละหลังคาตั้งเกาะกลุ่มอย่างน่ารักเรียงรายริมฝั่งขวาของลำน้ำโขง
วันแรกของกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เมืองระหว่างหุบเขาเริ่มหนาว ลมแม่น้ำโบยเต็มวัน หมอกบางคลุมหมู่บ้านยามเช้าเรียกชาวบ้านออกมาผิงไฟรับอุ่นไอ หญิงสูงวัยเข้าวัดทำบุญ หญิงวัยกลางนั่งทอผ้าใต้ถุนเรือน บ้างทออยู่หน้าร้านขายผ้าตน ส่วนหนุ่มๆ อาจเตรียมต้มเหล้าจำหน่ายตามวิถีปรกติ
สมัยหนึ่งบ้านซ่างไหเป็นชุมชนของชาวจีนฮ่อผู้มีอาชีพปั้นไห ตามหลักฐานที่มีนักโบราณคดีขุดพบเตาเผาจากใต้ดินนับร้อยเตา ต่อมาลูกหลานจีนฮ่อหันมาต้มเหล้าและทอผ้าเป็นอาชีพเสริม บ้างตีเครื่องเงิน กระทั่งได้รับยกย่องจากรัฐบาล สปป.ลาว ให้เป็น “ບ້ານວັດທະນະທໍາ” หมู่บ้านซ่างไหจึงได้รับการระบุเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ผู้มาเยือนเมืองมรดกโลกไม่ควรพลาด
จึงไม่แปลกที่จะเห็นชาวบ้านทอผ้า เข้าวัดวา แล้วกลับบ้านมาต้มเหล้า
ที่นี่ ใครก็ผลิตเหล้าดื่ม-ขายได้เพราะ สปป.ลาว เปิดเสรี ลูกแป้งใช้ทำเชื้อเหล้าก็หาซื้อง่ายในตลาด ด้วยถือเป็นวิถีสุจริต สารพัดเหล้าพื้นบ้านจึงได้รับการสืบทอด-ผลิตเป็นทางเลือกแก่นักท่องเที่ยว
“นี่คือหัวเหล้าขาว ทำจากข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วนำมาหมักไว้หนึ่งอาทิตย์”
นักต้มเหล้าอาชีพอธิบายลักษณะของหัวเชื้อ ที่มาของน้ำขุ่นในขวดใส
ยังชวนสังเกตตามขวดที่แช่สัตว์มีพิษในน้ำสีเหลือง บางขวดเข้มจนออกสีน้ำตาล พร้อมอธิบายสรรพคุณทางยาของสัตว์แต่ละชนิด บางชนิดก็พอเดาได้ไม่ยากเพราะในไทยก็มีผู้นิยมไม่น้อย
“แม่นแล้ว อย่างแมงป่องนี่ทำให้มีพลัง ตุ๊กแกช่วยเรื่องหอบหืดหายใจฝืด งูเป็นยาชูกำลังให้ผู้ชาย”
เจ้าของแผงขายเหล้าพื้นถิ่นตอบ แล้วชวนไปหลังร้านดูกรรมวิธีต้มเหล้าอย่างใกล้ชิด
บางกระบวนการเขาสาธิตให้เห็น บางขั้นตอนอาศัยเล่าให้เกิดจินตภาพ ซึ่งไม่มีอะไรยุ่งยาก
ขณะคนหนึ่งยกฟืนสุมไฟใส่เตาที่มีหม้อใหญ่ตั้ง โดยแปลงประโยชน์จากถังน้ำมันขนาด ๒๐๐ ลิตร อีกคนจะออกแรงยกถังเหล้าที่ผ่านขั้นตอนหมักแล้วเทลงไป การผลิตเหล้าลาวเพียงผสมข้าวกับน้ำหมักในไหขนาดใหญ่ บ้างใช้โอ่งดินเผาเป็นถังหมัก เมื่อได้ระยะตามกำหนดจึงนำมากลั่นโดยใช้หม้อต้มกลั่นแบบง่ายๆ แล้วนำกระทะใบเขื่องวางปิดปากถังอีกทีสำหรับรองน้ำที่ทำหน้าที่รักษาอุณหภูมิการกลั่นตัวของไอน้ำ ระหว่างนั้นไฟในเตาขนาดใหญ่จะถูกเร่งขึ้นให้เปลวไฟจากดุ้นฟืนลุกโชนอาบก้นหม้ออย่างพอเหมาะโดยมีคนคอยซุกไม้ฟืนเข้าเตาสม่ำเสมอ สักครึ่งชั่วโมงหม้อใบเขื่องที่จุเหล้าข้างในจะเริ่มเดือด ส่งไอน้ำลอยขึ้นปะทะความเย็นเกาะก้นกระทะที่ตั้งปิดปากหม้อไว้ กลายเป็นหยดน้ำไหลลงภาชนะที่ต่อด้วยท่อไม้ไผ่จากหม้อผ่านรูที่พอดีกับท่อ เมื่อนั้นน้ำเหล้ากลั่นใสบริสุทธิ์ก็จะรินไหลลงสู่ไห
นอกจากชาวบ้านจะกลั่นเหล้าดื่มเองได้ ยังเป็นผู้ขายน้ำเหล้ากลั่นให้โรงงานที่ผลิตเหล้าด้วย โรงงานอาจรับซื้อไปปรุงสีแต่งกลิ่นรสผลไม้หรือสมุนไพรต่างๆ เพิ่มโดยเน้นสรรพคุณบำรุงกำลัง
ผู้ผลิตเหล้าพื้นถิ่นรินเหล้าขาวและเหล้าข้าวก่ำจากข้าวเหนียวดำของดีเลื่องชื่อของหมู่บ้านใส่จอกเล็กคะยั้นคะยอให้ลิ้มรส ก่อนหยิบใบไม้ขนาดใหญ่ส่งให้ดูว่าคือหนึ่งในวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการทำแป้ง ช่วยให้ดื่มเหล้าได้โดยไม่รู้สึกเมาค้างหรือตื่นมาปวดหัวตอนเช้า
“คนไทยเรียกอะไรไม่รู้แต่หมู่เฮาเรียก ‘ใบซ่างโมง’ เป็นไม้ยืนต้น”
เวลานี้เหล้าลาวจากบ้านซ่างไหกลายเป็นของฝากสร้างรายได้แก่ชุมชน มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามโดยสวมทับขวดด้วยปลอกสานไม้ไผ่ลวดลายหลากหลาย สานเป็นชื่อหมู่บ้านก็มี
ไปถึงถิ่นทั้งทีจะไม่อุดหนุนกลับมาจิบยังที่พักต่อก็เกรงจะเข้าไม่ถึงมรดกภูมิปัญญา
ครั้นแอลกอฮอล์ ๑๕ ดีกรี ผ่านลงคอ นอกจากระลึกรู้ถึงรสหวานเข้มอมกลิ่นฉุนอันรุ่มร้อนของเครื่องดื่ม ยังสัมผัสได้ถึงวิถีผูกพันของธรรมชาติกับคนริมน้ำ
ก็แหล่งน้ำที่ชาวซ่างไหใช้ผลิตเหล้าพื้นบ้านนับตั้งแต่ล้างข้าวสาร แช่ข้าวเหนียว ซาวข้าวนึ่ง หมัก-ต้มเหล้า นวดแป้งเหล้า ไปจนทำความสะอาดอุปกรณ์หลังผลิตล้วนได้จากลำน้ำโขง
เหล้าต้มทุกหยดจากบ้านซ่างไห จึงอบอุ่นเจือกลิ่นไอแม่น้ำสายสำคัญของลาว