ทีมป๊ะป๊าแม๊ว
เรื่อง : กฤติยา จักรสาร
ภาพ : กนกวรรณ มีพรหม

ยลมรรคาธาราคีรี แลวิถีปกาเกอะญอ

“บ้านผมยังไม่มีไฟฟ้าใช้เลยครับแม่”

เบื้องหลังคำบอกเล่าบนใบหน้าเปื้อนยิ้มของ “เต้” – ณรงค์ชัย เตโม หนุ่มปกาเกอะญอ วัย ๓๐ เศษ สะท้อนข้อเท็จจริงตรงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ว่า

“หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำ น้ำบริโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้”

บ้านของเต้และพ่อ หรือพะตีเกษม เตโม ในหย่อมบ้านตีนตกที่แยกย่อยออกมาจากบ้านขุนยะ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เหมือนพื้นที่ใกล้เคียงอื่น

พวกเขาอาศัยบนดอยสูงนี้มาแต่ครั้งปู่ย่า ด้วยความเป็นอยู่ในวิถีชนเผ่าที่ได้อาศัยทำกินและเก็บเกี่ยวผลิตผลจากผืนป่าอันอุดม ซึ่งมีธารน้ำหล่อเลี้ยงไม่เคยแห้งหาย

“ไฟป่ามาก็พวกเราชาวบ้านนี่แหละช่วยกันดับ ช่วยดูแล”

เมื่อพาเราเดินผ่านไหล่เขาที่ยอดหญ้ากำลังระบัดบนกอยังคงคราบไหม้เกรียม พะตีเกษมหันมาบอกด้วยน้ำเสียงราบเรียบ แต่ใบหน้าและแววตาเปี่ยมรอยยิ้ม

“ออ ที เก่อ ตอ ที เอาะ ก่อ เก่อ ตอ ก่อ — ได้กินจากป่า จงดูแลป่า ได้กินจากน้ำ ให้รักษาน้ำ”

เป็นถ้อยคำสอนของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ฝากฝังอยู่ในบทกลอนซึ่งคนปกาเกอะญอเรียกว่า “ธา”

เมื่อดอยอินทนนท์กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ผืนป่าและสายน้ำจึงถูกแบ่งปันให้นักเดินทางเข้ามาเยี่ยมยล ความสมบูรณ์ของธรรมชาติบนดอยจึงมีความสำคัญต่อเจ้าของพื้นที่เช่นเต้และพ่อมาก ไม่เพียงในแง่การทำกินในวิถีเดิม แต่ยังได้รับโอกาสเพิ่มพูนรายได้ด้วยการเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยว

เบื้องหลังคำบอกเล่าบนใบหน้าเปื้อนยิ้มของ “เต้” - ณรงค์ชัย เตโม หนุ่มปกาเกอะญอ วัย ๓๐ เศษ สะท้อนข้อเท็จจริงตรงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
tarakeree03

๑.

“Traveling tends to magnify all human emotions.”

ถ้อยคำจากนวนิยาย Smilla’s Sense of Snow ของ Peter Høeg ถูกนำมากล่าวอ้างบ่อยครั้งในแวดวงท่องเที่ยว นัยนั้นขยายต่อว่า

“the latent feelings of love, friendship, and animosity would all explode.”

การเดินทางก่อให้เกิดการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนต่อสิ่งที่เห็น เชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่ผ่านพบ ท่าทางแสดงความรู้สึกขณะเดินทางมีมากมายถูกบันทึกจากภาพที่ฉาบอยู่เบื้องหน้า แต่หากได้สัมผัสลึกลงไป เราอาจรับรู้สิ่งที่ซ่อนอยู่ ไม่ว่าภูมิหลัง แนวคิด หรือแรงผลักดัน เช่นที่เราสัมผัสได้จากเต้และพะตี

ความสุขของคนเดินทางที่มีเต้และพะตีนำทาง นอกจากได้สัมผัสธรรมชาติรอบตัวแล้ว เรื่องราวของพวกเขาที่ได้ยิน ได้ฟังกับการใช้ชีวิตด้วยปรัชญาของคนปกาเกอะญอนั้น ทำให้เราเข้าใจพวกเขามากขึ้น

พะตีพาเราเดินผ่านเส้นทางที่โอบอุ้มด้วยแมกไม้ร่มรื่น ชี้ชวนให้ชมธารน้ำตกที่โถมถั่งมวลน้ำขนาดใหญ่ลงสู่โตรกหินดังซู่ๆ

“ที่นี่คือน้ำตกรักจัง”

ชั้น ๗ ของน้ำตกผาดอกเสี้ยวเป็นชั้นใหญ่ที่สุดของธารน้ำตกนี้ มวลน้ำมหึมาขาวสะอาดไหลหลั่งลงมาไม่ขาดสาย เหมือนภาพที่เคยเห็นในหนังเรื่องหนึ่งที่ออกฉายในปี ๒๕๔๙

อิทธิพลของภาพยนตร์ทำให้ชื่อน้ำตกถูกขานตามชื่อหนังโดยปริยาย

ม่านน้ำเมื่อถูกซัดกระเซ็นได้พาละอองฝอยฉ่ำเย็น ฟุ้งกระจายทั่วพื้นดิน พืชเล็กๆ สีเขียวอย่างมอสเนื้อนุ่มจึงออกมายืนยันความสมบูรณ์แห่งแดนดอย การพึ่งพาระหว่างป่ากับน้ำหมุนวนอยู่เช่นนั้น ขณะสำเนียงโถมถั่งของน้ำตกดุจเสียงดนตรีขับกล่อมป่า เมื่อคราสายน้ำเสียดล้อลม เคล้าเสียงกระแทกหิน ผสานเสียงมวลน้ำไหลในโตรกธาร

สายน้ำใสสะอาดไหลรินจากขุนเขา หลอมรวมเป็นสายธารใหญ่ หล่อเลี้ยงเพื่อนมนุษย์ทั้งใกล้ไกล โดยเราผู้อยู่ปลายน้ำไม่รู้เลยว่าต้นน้ำนั้นมี “กะจ่าก่อกะจ่า” เป็นผู้เฝ้ารักษาดูแล

เต้เล่าว่า คนปกาเกอะญอเชื่อว่าผืนป่าสายน้ำล้วนมีเจ้าของ หรือ “กะจ่าก่อกะจ่า” หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสำหรับคนที่นับถือศาสนาคริสต์เช่นเต้เชื่อว่า คือพระเจ้านั่นเอง

tarakeree04

๒.

จากน้ำตกผาดอกเสี้ยว ธารน้ำตกส่วนหนึ่งถูกจัดการให้ไหลในลำราง ซึ่งพื้นดินเลียบเชิงเขาถูกขุดเป็นคลองส่งน้ำสายจิ๋วให้ไหลลงสู่ผืนนาใกล้หมู่บ้าน

ทำไมจึงเป็นนาขั้นบันได?

นาขั้นบันไดไม่ใช่รูปแบบการทำนาดั้งเดิม แต่เป็นการปรับตัวของคนบนดอย…หลังประกาศเขตอุทยานฯ พื้นที่ทำไร่ลดลง จึงต้องปลูกข้าวตามไหล่เขา เต้บอกเราอย่างนั้น

ส่วนเมล็ดพันธุ์ข้าว มีเรื่องเล่าในนิทานของคนปกาเกอะญอว่า ได้จากความมีเมตตาของมนุษย์ โดย “โถ่บีฃ่า” คือนกสวรรค์ผู้มอบเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เด็กกำพร้า ในคราช่วยนกจำแลงที่แปลงกายเป็นคุณยาย “พีหมื่อแม” ซึ่งติดอยู่ในพงหนาม แม้จะเป็นนิทานพื้นบ้าน แต่คงเป็นความเชื่อที่ส่งต่อผ่านพิธีกรรมในบางพื้นที่

ปัจจุบันพิธีกรรมด้านความเชื่อและการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของคนปกาเกอะญอบนดอยอินทนนท์ที่เคยทำกันมาถูกงดเว้นบ้างตามหลักศาสนาที่นับถือ แต่พิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวได้รับการสืบสาน พร้อมปรับให้เหมาะสม เช่นตาแหลว เครื่องรางที่ทำจากการสานตอกไม้ไผ่เส้นบางๆ ทบเป็นแฉกแทนตาอันแหลมคมของเหยี่ยว แขวนไว้เพื่อเฝ้าระวังสิ่งไม่ดีไม่ให้เข้ามาในอาณาเขต ก็ถูกแทนที่ด้วยไม้กางเขนในการประกอบพิธีก่อนหว่านดำนา

เต้อธิบายพิธีกรรมในวิถีการเพาะปลูกข้าวของชาวปกาเกอะญอ ที่สะท้อนความสัมพันธ์ของญาติมิตรและครอบครัว ข้าวคืออาหารสำคัญที่สุด ในฤดูเพาะปลูก ชาวปกาเกอะญอจะมีการสังสรรค์ระหว่างญาติมิตร หลังเสร็จสิ้นการหว่าน หรือปักดำ เมล็ดพันธุ์ข้าวเก่าที่เหลือจากการเพาะปลูกจะนำไปต้มเหล้า “บือแช้ะคลี” ซึ่งผู้ต้มจะต้องเป็นผู้หญิง

เมื่อฤดูเก็บเกี่ยวสิ้นสุด ข้าวที่ได้จะนำมาต้มเป็นข้าวหม้อแรกของฤดูกาล เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว พิธีกินข้าวใหม่นี้เรียกว่า “ออบือโข่”

ความสำคัญของข้าวยังสะท้อนให้เห็นจากเมนูอาหารของชาวปกาเกอะญอ โดยเฉพาะช่วงระหว่างปีที่อาหารอาจหาได้น้อย “ต่าพอเพาะ” จึงเป็นเมนูอาหารภูมิปัญญาที่รู้จักกันดี เพราะจะนำข้าวมาต้มกับวัตถุดิบอื่นๆ ที่พอหาได้เพื่อเพิ่มปริมาณมื้ออาหารให้เต็มอิ่ม

tarakeree05
tarakeree06
tarakeree07

๓.

เสียงทักทายภาษาปกาเกอะญอระหว่างเต้ พะตี และเพื่อนพ้อง ดังแทรกเป็นระยะๆ แข่งกับเสียงพูดคุยของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งอังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส และเสียงอธิบายความภาษาต่างประเทศ ของมัคคุเทศก์ผู้นำทาง ทำให้เห็นว่าคนในชุมชนปกาเกอะญอ ตำบลบ้านหลวง ล้วนพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเช่นเดียวกับเต้และพะตี

เส้นทางเดินจากน้ำตกผาดอกเสี้ยวมาสิ้นสุดลงที่บ้านแม่กลางหลวง เจ้าบ้านเตรียมกาแฟอะราบิกาที่ปลูกในสวนมาต้มบนเตาฟืน แม้จะหยุดพักการใช้งานมาหลายปีจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด ๑๙ แต่กาต้มกาแฟเก่าสองใบที่ไอน้ำกำลังเดือดพวยพุ่งนั้น บ่งบอกว่าผ่านการรับแขกบ้านแขกเมืองมานานแล้ว อะราบิกาหอมกรุ่นที่นี่ มีไว้ต้อนรับผู้มาเยือนฟรีๆ ก่อนมื้ออาหารกลางวัน

เต้และพะตีเกษมพาเราเดินชมรอบหมู่บ้าน มีพืชผักหลายชนิดขึ้นรายล้อมบ้านชาวบ้าน ทั้งต้นพริก มะเขือ มะเขือพวง มะละกอ กะเพรา ขิง ข่า มะนาว มะม่วง ฝรั่ง ขนุน รวมถึงพืชที่ทำค้างให้ไต่ยอดอย่างฟักแม้ว บวบ เสาวรส ลำพังภายในหมู่บ้านก็มีพืชอาหารนับสิบชนิด แล้วในไร่หมุนเวียนที่เคยได้ยินมานั้นมีข้อเท็จจริงเช่นไร

เต้เล่าว่า สมัยก่อนหนึ่งรอบที่ชาวปกาเกอะญอทำไร่หมุนเวียนมีเวลาทั้งหมด ๗ ปี พื้นที่ที่ผ่านการแผ้วถางในช่วงปีที่ ๒-3ช๓ เรียก “ป่าเหล่า.” ลักษณะเป็นป่าละเมาะ มีสุมทุมพุ่มไม้ ต้นไม้ต้นเล็ก พืชสวนหลากหลาย เช่น เผือก มัน แตงกวา ถั่ว งา ข้าวโพด พริก มะเขือ ที่เมล็ดพันธุ์ถูกคลุกเคล้าหว่านรวมกัน และพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติโดยเฉพาะ “ห่อวอ” ซึ่งแม้จะอยู่ในวงศ์ Lamiaceae ตระกูลเดียวกับลาเวนเดอร์ เครือญาติของสะระแหน่ กะเพรา และโหระพา แต่ห่อวอจะเติบโตเฉพาะในป่าเหล่าที่ดินอุดมสมบูรณ์ จึงถือเป็นราชินีของไร่หมุนเวียน

ลำต้น ช่อใบ ของห่อวอที่เคยเห็นอาจคล้ายลูกผสมระหว่างสะระแหน่ กะเพรา และโหระพา แต่มีกลิ่นเฉพาะเหมือนส่วนผสมของตะไคร้ ใบมะกรูดในต้มยำ เป็นสมุนไพรที่ใช้ได้กับทุกเมนูของคนปกาเกอะญอ และเป็นพืชในห้วงคำนึงของหนุ่มสาว ดังปรากฏใน “ธา” บทหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงถ้อยรำพึงของหนุ่มปกาเกอะญอที่คิดถึงหญิงคนรักยามอยู่เดียวดายในไร่ข้าว

“แล เลอ ฆึ ถี่ ห่อ วอ พอ

หน่อ บะ นา เยอ เหม่ ที ลอ”

“ท่ามกลางไร่ข้าวป่าเหล่า คราวห่อวอผลิดอกงดงาม หวนนึกถึงเธอ น้ำตาฉันเอ่อริน”

พืชผัก พันธุ์ไม้ในป่าเหล่า นอกจากเป็นอาหารให้คนแล้ว ยังเป็นพื้นที่หากินและแหล่งพักพิงแก่สัตว์ต่างๆ เช่น นก หนู กระต่าย หมูป่า เก้ง กวาง เป็นต้น ซึ่งจะถูกคนล่าไปเป็นอาหารอีกต่อหนึ่ง อาหารในไร่หมุนเวียนเรียกว่า “ต่ะ เอาะ เลอะ ฆึ” ที่เต้พูดด้วยรอยยิ้มว่า นี่คือซูเปอร์มาร์เกตของคนปกาเกอะญอ

tarakeree08

๔.

“ห่อโข่” คือคำเรียกดาวโลกของคนปกาเกอะญอ เมื่อห่อโข่หมุนไปพร้อมการเปลี่ยนแปลง การเป็นอุทยานแห่งชาติของดอยอินทนนท์ทำให้ไม่มีพื้นที่เอื้อต่อไร่หมุนเวียนสำหรับคนปกาเกอะญอ แต่วันนี้ เรายังเห็นผืนป่าและสายน้ำหมุนวนในกระแสชีวิตพวกเขา ที่ได้เก็บเกี่ยวความสุขทั้งจากวิถีเกษตรดั้งเดิมและผลพลอยได้จากการท่องเที่ยว

คำเก่าของผู้เฒ่าผู้แก่ปกาเกอะญอที่ฝากฝัง “ห่อโข่” ไว้กับคนรุ่นหลัง อาจช่วยให้พวกเขารักษาธรรมชาติรอบตัว และหากเรานำมาใช้บ้างอาจนำทางให้เรารักษาสิ่งสวยงามในโลกใบนี้ และไม่ทำลายด้วยมือของเราเอง

“ปอ แมะ ส่า ลอ ออ บะ เม

ปอ แมะ ว่า ลอ กา บะ เซ

โอ แพ แล่ ปอ บะ เกอ ตอ ออ”

“ถ้าเราอยากมีข้าวกิน มีเสื้อใส่คลุมกาย ถิ่นดินแคว้นใดเราอยู่ให้ดูแล”

ปกาเกอะญอ #ดอยอินทนนท์ #ท่องเที่ยว #สุขหมุนรอบตัวเรา #ค่ายนักเล่าความสุข #มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์ #นิตยสารสารคดี #เพจความสุขประเทศไทย #สสส