เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


Dangerous Chiangmai  - ประมวลสถานการณ์อันตรายเมื่อเชียงใหม่เผชิญค่า PM2.5 สูงสุดของโลก
ภาพถ่ายจากชุมชนช่างเคี่ยน หลังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เปรียบเทียบดอยอินทนนท์วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๒ กับ ๒๖ กันยายน ปีก่อนหน้า (ภาพ : ทิพย์สุดา เกษตร)

วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๒ ก่อนหน้าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ ๑ วัน เป็นวันที่ “ดอยสุเทพหายไป”

ความจริงภูเขาศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพของชาวเชียงใหม่ไม่ได้หายไปไหน แต่ด้วยทัศนวิสัยอันเลวร้ายจึงทำให้ดอยสุเทพเลือนลางจางหายไปจากการมองเห็น

วันเดียวกันนั้นเองค่า “ดัชนีคุณภาพอากาศ” (AQI : Air Quality Index) ตัวเลขที่ใช้รายงานคุณภาพอากาศว่าอากาศสะอาดหรือสกปรกของเชียงใหม่พุ่งขึ้นไปติดอันดับสูงสุดของโลก

เว็บไซด์ AirVisual ซึ่งรายงานค่า PM2.5 เมืองใหญ่ทั่วโลกระบุว่าเมื่อเวลา ๑๓.๐๔ น. ค่า PM2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน ของ “Chiangmai, Thailand” เท่ากับ ๔๗๐ US AQI

ทิ้งห่างอันดับสอง คือ กาฐมาณฑุของเนปาล “Kathmandu, Nepal” ๑๗๕ US AQI , อันดับสาม คือ ธากาของบังคลาเทศ “Dhaka, Bangladesh” ๑๖๑ US AQI รวมถึงอันดับสิบ คือ กรุงเทพฯ “Bangkok, Thailand” ๑๔๔ US AQI หลายช่วงตัว

แม้ทิ้งห่างอันดับรองลงมาชนิด “ไม่เห็นฝุ่น” แต่ทุกคนตระหนักดีว่าอากาศในตัวเมืองเชียงใหม่เต็มไปด้วยฝุ่นอันตราย

ละอองฝุ่นที่ล่องลอยอยู่ในอากาศนอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพยังทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นอยู่ในระดับเลวร้าย

เมื่อเวลา ๑๔.๐๖ น. ทิพย์สุดา เกษตร ชาวน่านที่ทำงานอยู่ในเชียงใหม่ อาศัยอยู่ชุมชนช่างเคี่ยน หลังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาโพสต์ภาพและข้อความเปรียบเทียบดอยสุเทพปีนี้กับปีก่อนว่า

“วิวหลังห้องตอนนี้คือดอยสุเทพหายไปแล้วจริงๆ”

dangerouschiangmai02
จังหวัดเชียงใหม่ขึ้นอันดับหนึ่งเมืองใหญ่ที่มีค่า PM2.5 สูงสุดของโลกนานติดต่อกันหลายวัน (ภาพ : เฟสบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit)

หลังสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่กรุงเทพฯ คลี่คลายลงเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ค่า PM2.5 ในหลายจังหวัดแถบภาคอีสานและภาคเหนือก็สูงขึ้น ทั้งที่ขอนแก่น ชัยภูมิ ลำปาง แพร่ ฯลฯ
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าปัญหาฝุ่นควันเกิดจากการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ตอซังข้าว และไร่อ้อย ขณะที่ทางภาคเหนือมีสาเหตุสำคัญคือไฟป่า ทั้งที่ไหม้เองตามธรรมชาติและมีคนเจตนาเผาหาของป่า

จากขอนแก่น ลำปาง ลำดับต่อมาจึงเป็นจังหวัดเชียงใหม่ที่ดูเหมือนจะเข้ามารับช่วงต่อ

แม้เชียงใหม่และหลายจังหวัดภาคเหนือจะประสบปัญหาหมอกควันมานับสิบปี แต่ปีนี้มาเร็วและรุนแรงกว่าที่คิด

วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๒ อธิบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๕ และ ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๕๑ ประกาศงดการเรียนการสอน ๒ วัน คือวันที่ ๑๔-๑๕ มีนาคม งดให้บริการสถานที่โล่งแจ้งสุ่มเสี่ยงต่อหมอกควันเช่นสนามกีฬา รณรงค์ให้นักศึกษาและบุคคลากรป้องกันตนเองโดยใช้หน้ากากอนามัยที่เหมาะสม

วันนั้นสถานการณ์หมอกควันในเชียงใหม่ยังไม่ได้รับความสนใจในระดับชาติ

ชนฐิตา ไกรศรีกุล นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าถึงการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปว่า “จริงๆ เราไม่ชินกับการใส่หน้ากาก แต่ก็ต้องบังคับตัวเองให้ทำ เพราะอากาศแย่มาก ช่วงนี้แม่ซื้อหน้ากากมาตุนไว้ที่บ้านหลายอัน อันละห้าสิบหกสิบบาท ชิ้นหนึ่งใช้ได้ ๓-๕ วัน รวมๆ ตกประมาณห้าร้อยบาทเพื่อประทังสุขภาพคนในบ้าน นึกแล้วก็เศร้า ทำไมเราต้องซื้ออากาศหายใจด้วย”

นักศึกษาคณะการสื่อสารมวลชนเกิดและโตที่เชียงใหม่ ปีนี้เป็นปีแรกที่ทุกคนในครอบครัวต้องใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นอันตราย

“ปีนี้เป็นปีแรกที่คนเชียงใหม่ตื่นตัวกันเยอะ ทั้งเรื่องแอปพลิเคชั่นวัดค่าฝุ่น ทั้งหน้ากาก เราไม่มีข้อมูลเรื่องตัวเลขปีก่อนหน้า แต่ที่ผ่านมาไม่เคยนอนแล้วตื่นมาได้กลิ่นควันไฟในบ้านแบบปีนี้ ไม่เคยเห็นคนบ่นว่าเลือดออกจมูกเพราะฝุ่น ถ้าดูจากความมัวของท้องฟ้า เราว่าปีนี้หนักกว่าที่ผ่านมา”

วันที่หน้ากากอนามัยและเครื่องกรองอากาศกลายเป็นสินค้าหายากและราคาแพง เวลานั่งรถม่วงผ่านเขตก่อสร้างในมหาวิทยาลัย สังเกตเห็นคนงานก่อสร้างไม่ได้ใส่หน้ากาก ยังภาวนาให้เป็นเพราะเขาไม่เคยชินที่จะใส่ ไม่ใช่เพราะค่าแรงขั้นต่ำที่ได้ไม่พอซื้ออากาศดีๆ ให้ตัวเอง

เว็บไซด์ AirVisual รายงานว่าค่า PM2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่อยู่อันดับสูงสุดของโลกติดต่อกันหลายวัน นานเข้าผู้คนก็เริ่มตั้งคำถามถึงการแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐ

เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่รองจากกรุงเทพฯ ผู้บริหารจังหวัดมีงบประมาณและทรัพยากรมากมาย แต่เริ่มถูกตั้งข้อสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา

มีการคำถามถึงการแจกหน้ากากอนามัยจำนวนมากที่ไม่มีคุณภาพคือไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ เหมือนกับการแจกหน้ากากอนามัยเป็นไปเพื่อ “พีอาร์” คนแจกเท่านั้น

คนเมืองเชียงใหม่ยังถามหามาตรการฉุกเฉินของจังหวัด ตั้งคำถามว่าทำไมผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ถึงไม่ประกาศเขตภัยพิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันสาธารณะภัย อย่างน้อยๆ ก็สร้างความตระหนักให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นที่จะนำไปสู่ผลกระทบต่อสุขภาพ หรืออาจสั่งเปิดโรงยิมเนเซียมที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี ติดตั้งเครื่องกรองอากาศให้กลุ่มเสี่ยงเข้าไปพัก

ถึงวันนี้จะยังแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไม่ได้ แต่อย่างน้อยควรออกประกาศเตือนภัยเพื่อให้ประชาชนรับรู้ถึงอันตรายจากฝุ่น PM2.5 มิใช่หรือ

dangerouschiangmai03
ประชาชนชาวเชียงใหม่เขียนข้อความเรียกร้องให้ทางจังหวัดประกาศพื้นที่สาธารณภัยจากไฟป่าและหมอกควัน เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา และสร้างความตระหนักให้นักท่องเที่ยว, ผู้คน หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นที่จะนำไปสู่ผลกระทบต่อสุขภาพ (ภาพ : เฟสบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit)

ราววันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๒ โลกโซเชียลมีการประกาศ “ตามหา คนหาย” หมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ที่ยังไม่ประกาศเขตภัยพิบัติตามที่สังคมเรียกร้อง ระหว่างวันมีข่าวลือต่างนานาว่าทางกระทรวงสาธารณสุขต้องการประกาศเขตภัยพิบัติพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควัน แต่ฝ่ายมหาดไทยไม่ยอมเพราะกลัวเสียภาพพจน์ด้านการท่องเที่ยว

ช่วงเย็นนายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ติดตามการแก้ไขปัญหามานาน โพสต์เฟสบุ๊กข้อความ “ประกาศเองก็ได้” พร้อมภาพแผ่นกระดาษมีข้อความ “ด้วยอำนาจของประชาชน ขอประกาศให้เชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงเป็นพื้นที่เขตภัยพิบัติ พื้นที่ประสบสาธารณะภัย ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๓ มี.ค.2562 (วันที่จะหายใจไม่ออกตายอยู่แล้ว) ลงชื่อ ประชาชนผู้เสียภาษี”

ต่อมายังเสนอของที่ระลึก “Chiangmai Souvenir” สำหรับนักท่องเที่ยวที่น่าจะขายดีในช่วงนี้ เป็นเสื้อยืด มีข้อความ “I survived the deadly SMOG in Chiangmai !” หรือ ฉันรอดชีวิตจากหมอกควันที่อันตรายถึงชีวิตในเชียงใหม่

วันที่ ๒๖ มีนาคม หลังเริ่มมีกระแสเรียกร้องให้ปลดผู้ว่าราชการจังหวัด

ศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เรียกประชุมส่วนราชการ เอกชน นักวิชาการ ภาคประชาชน ระดมความคิดในการแก้ปัญหาที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่นานกว่า ๓ ชั่วโมง

ผลการประชุมเบื้องต้นตกลงว่าจะตั้งกลุ่มคณะทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน

ระยะสั้นวางแผนว่าจะกำหนดสถานที่เฉพาะให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก คนชรา คนยากจน เข้ามาหลบพักในช่วงที่ฝุ่น PM2.5 มีค่าสูงระดับ unhealthy ในเขตเมืองคาดว่าจะใช้ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ ในต่างอำเภอหรือระดับตำบลอาจใช้ห้องภายในโรงเรียน โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จะอนุญาตให้พักค้างคืนหรือไม่ยังไม่สรุป ภาคประชาชนยังเสนอให้ผู้ว่าฯ และทางจังหวัดจัดประชุมเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศข้ามพรมแดนในระดับภูมิภาค เนื่องจากฝุ่นควันจำนวนมากเกิดจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่าและลาว

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนยืนยันถึงเหตุผลที่ไม่ประกาศให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติว่าเนื่องจากติดขัดระเบียบบางประการ

“การประกาศเขตภาวะภัยพิบัติจะเป็นกรณีเช่นจำเป็นต้องใช้งบประมาณแล้วไม่สามารถใช้ได้ ต้องมีระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการใช้งบประมาณเร่งด่วนในกรณีภัยพิบัติ ขณะนี้ทางจังหวัดได้สั่งการไปยังท้องถิ่นทุกแห่งแล้วให้ใช้งบประมาณของท้องถิ่นในการที่จะดูแลแก้ไขปัญหาป้องกันไฟป่า”

dangerouschiangmai04
ตัวอย่างเสื้อยืดที่น่าจะขายดีในช่วงนี้ (ภาพ : เฟสบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit)

วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๒ เป็นอีกวันที่สภาพอากาศของเชียงใหม่เข้าขั้นวิกฤติ ทัศนวิสัยในการบินอยู่ที่ระยะ ๑,๒๐๐ เมตร เท่านั้น

เมื่อใกล้ถึงเวลา ๑๑.๐๐ น. ที่สายการบิน Spring Air เที่ยวบิน 9C8511 เส้นทางบินเซี่ยงไฮ้-เชียงใหม่ จะต้องลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ตามตารางบิน ด้วยทัศนวิสัยที่ไม่ดีทำให้นักบินขอย้ายไปลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากตลอดเดือนมีนาคมมีนักบินขอย้ายไปลงจอดที่อื่นแล้ว ๔ เที่ยวบิน

วันเดียวกันนั้นเอง อิทธิกร ศรีกุลวงศ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความเห็นว่า “วันนี้ฝุ่น PM2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่รุ่นแรงกว่าทุกครั้ง น่าจะเป็นวันที่ฝุ่นโหมหนักที่สุดเท่าที่เคยมีมา หลายๆ พื้นที่มีค่า AQI สี่ร้อยหรือห้าร้อยกว่า สาเหตุที่ฝุ่นโหมหนักขึ้นได้ขนาดนี้น่าจะเป็นเพราะไฟป่าเมื่อคืน”

และกล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นอันตรายที่เรื้อรังจนเข้าขั้นสุกงอมว่า

“เราเองก็อยู่เชียงใหม่มา ๔ ปีแล้ว เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย มีเพื่อนก็เยอะ มีสังคมที่นี่ แต่เราว่าในปีหรือสองปีต่อจากนี้ เราคงต้องคิดใหม่ดีๆ แล้วล่ะ ว่าจะอยู่กับคุณต่อไปไหวรึเปล่า คุณจังหวัดเชียงใหม่”

dangerous chiangmai07
ไฟไหม้ป่าเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ปลายเดือนมีนาคมต่อต้นเมษายน ๒๕๖๒

โรงเรียนประถมและมัธยมขนาดใหญ่หลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ทยอยติดตั้งเครื่องกรองอากาศ ขณะที่โรงเรียนเล็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลไม่มีงบประมาณมากพอที่จะติดตั้งเครื่องปรับอากาศและเครื่องกรองอากาศให้กับเด็กๆ

ความไม่เท่าเทียมกันทางด้านการเข้าถึงสุขภาพยังคงดำเนินต่อไป

ขณะเดียวกันเว็บไซด์ www.cmaqhi.org ย่อมาจาก Chiangmai Air Quality Health Index รายงานดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพชาวเชียงใหม่ ระบุว่าเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม บางชั่วโมง คุณภาพอากาศหลายพื้นที่ในอำเภอสะเมิง เช่น ตำบลยั้งเมิน, ตำบลสะเมิงใต้, ตำบลสะเมิงเหนือ สูงขึ้นจนมากกว่า ๕๐๐ AQHI หรือระดับ “มิดเกจ์” ตัวเลข ๕๐๐ เป็นตัวเลขสูงสุดที่สามารถปรากฏอยู่บนหน้าปัด

หากสภาพอากาศย่ำแย่กว่า ๕๐๐ ระบบจะใช้คำว่า “Beyond AQI” หรือหมายถึง “เกินค่า AQI”

Beyond AQI จึงเป็นคำศัพท์ใหม่ที่คนเชียงใหม่และคนไทยเพิ่งได้เรียนรู้

รับสภาพว่าช่วงหนึ่งของชีวิต

สภาพอากาศจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในระดับมลพิษทางอากาศเลวร้ายถึงขั้นไม่ต้องระบุตัวเลขแล้ว

dangerouschiangmai06
เว็บไซด์ www.cmaqhi.org รายงานดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพชาวเชียงใหม่ ระบุว่าเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม คุณภาพอากาศสถานีตรวจวัด อบต.ยั้งเมิน บางชั่วโมงสูงมากกว่า ๕๐๐ AQHI อันเป็นค่าสูงสุดที่รายงานได้ ระบบจะใช้คำว่า “Beyond AQI” (ภาพ : เฟสบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit)