ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


laughing buddha

ครั้งหนึ่งเคยหยิบแผ่นพับโฆษณาวัตถุมงคลที่วางในร้านสะดวกซื้อขึ้นมาอ่าน พบว่ามีผู้จัดสร้างรูปท้าวกุเวร หรือชมภล (อ่านว่า ชัม-พะ-ละ) เจ้าแห่งขุมทรัพย์ ตามตำราฝ่ายแขก ขึ้นให้ “เช่า” โดยมีการขนานนามเสียใหม่ว่าเป็นรูป “ไฉ่ซิ่งเอี้ย” เทพเจ้าแห่งความมั่งคั่งร่ำรวย

คงเพื่ออธิบายให้ “ลูกค้า” คนไทยเชี้อสายจีนเข้าใจได้ง่ายขึ้น

ที่จริงแล้ว คติความเชื่อของอินเดียที่เข้าไปสู่เมืองจีนพร้อมกับพุทธศาสนามีเยอะแยะมาก แต่มักไปถูกดัดแปลงต่อเติมตามความนิยมของท้องถิ่น เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรของฝ่ายพุทธมหายาน ถูกแปลงจากเพศชายให้เป็น “เจ้าแม่กวนอิม” เคยเห็นว่าแม้แต่ครุฑ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ครึ่งคนครึ่งนกของอินเดีย ก็ยังไปกลายร่างเป็นอาแปะพุงยื่นปากแบะและมีปีก อยู่ตามยอดซุ้มในศิลปะจีนด้วย

แต่ท้าวกุเวรกับไฉ่ซิ่งเอี้ย น่าจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันมาแต่เดิม เพราะไฉ่ซิ่งเอี้ย (Caishen) เป็นเทพเจ้าพื้นเมืองตามลัทธิเต๋าของจีน เชื่อกันว่ามีต้นเค้ามาจากบุคคลที่เคยมีตัวตนจริงๆ และประกอบคุณงามความดีจนเป็นที่นับถือเลื่อมใส เมื่อตายไปแล้วจึงกลายเป็น “เทพ” ให้เซ่นไหว้กันสืบมา

ขณะที่กุเวรหรือชมภล เป็นเทพเจ้านำเข้าจากอินเดีย ซึ่งแปลงโฉมมาเป็นหนึ่งในสี่แห่งจตุโลกบาล อย่างที่มักสร้างเป็นตัวโตๆ ทำหน้าทำตาถมึงทึงอยู่หน้าทางเข้าวัดจีน โดยเป็นองค์ที่ถือ “ถะ” หรือเจดีย์แบบจีนในมือ

การที่รูปประติมาของลัทธิศาสนาหนึ่งจะข้าม “พรมแดนแห่งความไม่รู้” แล้วกลับกลายเป็นที่เคารพนับถือในอีกสถานะหนึ่ง คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะบ่อยครั้งที่ “วัตถุ”ถูกเคลื่อนย้ายโดยลำพัง มิได้เดินทางไปพร้อมกับความเข้าใจหรือความเชื่อที่เคยกำกับ จึงกลายเป็น “ช่องว่าง” หรือ “สุญญากาศ” ที่อาจถูกนิยามตามความคุ้นชิน หรือให้ความหมายใหม่ในอีกวัฒนธรรมได้ง่ายๆ

ในคติฝ่ายจีนและญี่ปุ่น มีรูปประติมาองค์หนึ่งทำเป็นพระสงฆ์อ้วนพุงพลุ้ย นั่งหัวเราะ อ้าปากกว้าง ฝรั่งมักเรียกกันว่า “พระพุทธเจ้าแย้มสรวล” (Laughing Buddha)

กล่าวกันว่าสร้างขึ้นตามภิกษุรูปหนึ่งสมัยพันปีก่อน ท่านเป็นหลวงจีนในนิกายเซ็นหรือฌาน ชื่อปู้ไต้ (Budai หรือ Pu-Tai แต่บางคนก็ว่าชื่อ “ชีฉื่อ” หรือ “ฉิ้วฉื่อ”)

ถ้ามองด้วยสายตาอย่างไทยๆ รูปหลวงจีนปู้ไต้ย่อมดูเหมือนพระสังกัจจายน์มาก หลายคนก็ต้องนึกว่าเป็นอย่างเดียวกัน แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

อย่างหนึ่งคือการครองจีวร ซึ่งรูปพระสังกัจจายน์มักครองจีวรอย่างเดียวกับพระสงฆ์ไทย คือเหมือนพระพุทธรูป นุ่งห่มเรียบร้อย มีผ้าสังฆาฏิพาดบ่า แต่รูปหลวงจีนปู้ไต้จะครองจีวรแบบจีนที่เปิดพุงหรา อีกอย่างหนึ่งคือสีหน้าท่าทาง ซึ่งรูปหลวงจีนจะหัวเราะอ้าปากกว้าง ส่วนพระสังกัจจายน์ อย่างมากก็แค่อมยิ้มอยู่ในหน้า แบบเดียวกับพระพุทธรูปเท่านั้น

บางสายเชื่อกันว่าหลวงจีนปู้ไต้เป็น “กายหยาบ” หรือ “นิรมานกาย” ของพระศรีอริยเมตไตรย์โพธิสัตว์ ผู้จะมาตรัสรู้เป็นพุทธะในอนาคตกาลด้วยซ้ำ

คนไทยบางคนที่พอรู้อยู่บ้างว่านี่ไม่ใช่รูปพระสังกัจจายน์มหาเถระ หนึ่งในพระอสีติมหาสาวกผู้เป็นอรหันต์ครั้งพุทธกาล เลยเลี่ยงไปเรียกเสียใหม่ว่าเป็น “พระสังกัจจายน์จีน” แต่โดยรวมๆ ก็นับถือบูชาเพื่อโชคลาภเงินทองเหมือนกัน

บางตำราบอกว่าเวลาขอโชคขอลาภ ให้ถูที่พุงของรูปหลวงจีน หรือหลายที่ก็ถึงกับทำสะดือท่านเป็นช่องโบ๋ๆ เข้าไป ข้างในเป็นตู้บริจาค ให้โยนเหรียญสตางค์ใส่เข้าไปเพื่อทำบุญ

หลังๆ มานี้ เวลาไปอินเดีย หลายที่มักเห็นรูปหลวงจีนปู้ไต้ ปางที่นั่งอยู่บนกองเหรียญอีแปะ หรือปางยืนแบกทองก้อนอย่างจีนโบราณ ตั้งไว้เป็นเครื่องรางตามเคาน์เตอร์โรงแรม และแคชเชียร์ในร้านซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหาร

เคยลองถามดูว่านั่นรูปใครกันหรือ ?

“กุเวร เทพเจ้าแห่งความร่ำรวยไง!” แขกตอบ

laughing buddha


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี