410fb

จะมีสถานที่ไหนน่ากลัวที่สุด ไม่น่าไปที่สุด  
คำตอบหนึ่งน่าจะเป็นคุก หรือไม่ก็ป่าช้า

สถานที่หนึ่งคือคนเป็นที่ถูกขัง อีกสถานที่หนึ่งคือคนตายที่ถูกฝัง

หลายคนกลัวป่าช้าเพราะจินตนาการว่าเป็นชุมทางของวิญญาณที่ยังไม่สงบ  แต่เรื่องนี้คิดไปเองหรือเปล่ายังน่าสงสัย

ส่วนภาพน่ากลัวของคุก คือแหล่งชุมนุมโจรผู้ร้าย ฆาตกร ขาใหญ่ และผู้คุมโหด

ไม่ค่อยมีใครคิดหรอกว่าในคุกจะมีอะไรดี 

แต่หากถามว่าเรามีคุกไว้ทำไม  คำตอบทางการก็คงว่า เอาไว้ลงโทษผู้กระทำผิดให้รับความทุกข์ทรมานตอบแทน โดยยึดเอาอิสรภาพอันเป็นสมบัติพื้นฐานของมนุษย์มาเสียจากพวกเขา 

และยังแอบหวังว่า คุกจะทำให้พวกเขาเข็ด ไม่กล้าทำผิดซ้ำหรือคุกจะทำให้คนไม่คิดทำผิดเพราะกลัวติดคุก

เรื่องมันก็เลยย้อนแย้ง เพราะถ้าคุกทำให้คนเข็ดหลาบเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง เราจะกลัวคนในคุก หรือกลัวคนที่พ้นโทษจากคุกทำไม และทำไมทุกวันนี้นักโทษจึงเพิ่มขึ้น ๆ จนล้นคุก

การศึกษานักโทษในสหรัฐอเมริกาพบว่าครึ่งหนึ่งของนักโทษหรือผู้ทำความผิดทั้งหมด ซึ่งเท่ากับประมาณ ๑ ล้านคน เป็นผู้ที่
มีปัญหาทางจิตใจและอารมณ์ (mental disorder) และอัตราการทำผิดซ้ำซากสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางจิตรุนแรงกว่าก็สูงกว่าด้วย

ขณะที่การลงโทษกักขังได้สร้างความเครียดที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองและจิตใจของนักโทษ และยังต้องอยู่ในสังคมที่มีปฏิสัมพันธ์เฉพาะกับผู้กระทำผิดอื่น ๆ นานหลายปีก่อนจะปล่อยพวกเขาคืนสู่สังคมโดยไม่มีงาน ไม่มีการฟื้นฟู ทั้งหมดนี้จึงยิ่งซ้ำเติมปัญหา ชักนำให้พวกเขากระทำผิดซ้ำเมื่อออกจากคุก

แต่อีกด้านหนึ่งจากการศึกษานักโทษซึ่งได้รับการช่วยเหลือบำบัดฟื้นฟูจิตใจจะมีอัตราการทำผิดซ้ำต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ในแง่นี้การลงโทษไม่ได้ช่วยให้เราได้ “พลเมือง” คืนกลับเข้าสังคม มีแต่จะได้เหตุร้ายรุนแรงเพิ่มขึ้น และสุดท้ายคุกก็ได้ “นักโทษ” คืนกลับไป…และออกมาใหม่

แม้จะมีอิสรภาพ แต่จิตใจกลับถูกขังอยู่ในวังวนของความคิดและอารมณ์ที่ไม่พบทางสันติ

สำหรับคนไทย เรามักมองว่าเป็นสันดานแต่กำเนิด และบทลงโทษที่สาสมก็คือการขังคุกให้ยาว ๆ ลงโทษให้หนัก ๆ หรือถึงขั้นเกลียดชังไม่อยากต้อนรับกลับสู่สังคม

เนลสัน แมนเดลา รัฐบุรุษแห่งประเทศแอฟริกาใต้ ผู้เคยเป็นนักโทษการเมืองที่ถูกขังคุกนาน ๒๗ ปี ก่อนจะกลายเป็นผู้สร้างความสมานฉันท์ปรองดองให้แก่ประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างสิทธิของคนผิวดำพื้นเมืองกับผู้ปกครองคนผิวขาว เขียนไว้ในหนังสือ Long Walk to Freedom (หนทางไกลสู่เสรีภาพ แปลโดย สมาพร แลคโซ สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์) ว่า

“คนที่พรากเสรีภาพไปจากคนอื่นก็คือนักโทษของความเกลียดชัง เขาถูกขังอยู่หลังลูกกรงแห่งอคติและความใจแคบ ผมจะไม่มีอิสระอย่างแท้จริงถ้าหากว่าผมพรากเสรีภาพของคนอื่นไป…ทั้งผู้ถูกกดขี่และผู้กดขี่ต่างก็เหมือนกัน คือได้ถูกปล้นความเป็นมนุษย์ไป”

ความคิดเห็นของพวกเราส่วนใหญ่ต่อผู้กระทำผิดถูก “ขัง” อยู่ในมุมของการลงโทษ มากกว่าการให้อภัย

ไม่ต่างจากอีกหลายความคิด ทั้งความคิดเห็นที่ผูกอยู่กับความเชื่อ การเมือง เพศสภาพ อำนาจ ผลประโยชน์ ที่ “ขัง” เราไว้จากความเห็นต่าง การแสวงหาเหตุผล และการมองผู้อื่นในฐานะ “มนุษย์”

ยิ่งทุกฝ่ายสร้างความเกลียดชัง ก็ยิ่งสร้างกรงขังทุกคนไว้จากความเป็นมนุษย์

สันติภาพยังคงอยู่ห่างไปอีกไกล…

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com

สมัครสมาชิกวันนี้ต่อชีวิตนิตยสารไปยาวๆ