วิทย์คิดไม่ถึง
โดย ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์
ปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่พัวพันสังคม ชีวิต และจิตใจ ในแง่มุมใหม่ ๆ ที่คาดไม่ถึง


คบคนพาลพาลพาไปหาผิด
badguy

ภาพผลสแกนสมองจากมุมต่างๆ (ซ้าย กลาง ขวา) ขณะที่มีความเห็นสอดคล้อง (a) และขัดแย้ง(b) กับคนในกลุ่ม จะเห็นได้ว่าสมองส่วนที่ทำงาน (จุดแดงส้ม) มีตำแหน่งแตกต่างกัน
ที่มา : Neuroscience and Biobehavioral Reviews 72 (2016) 101-111.

คนไทยคุ้นเคยสำนวน “คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล” เป็นอย่างดี แม้บางคนอาจงงว่าถ้าเป็นคนดีแล้วคบคนพาล เราจะเป็นคนพาลแน่หรือ หรือคนพาลจะกลับมาเป็นคนดีตามเรากันแน่ อีกปัญหาหนึ่งคือวิทยาศาสตร์ไม่ได้ให้นิยามคำว่า “คนดี” และไม่แน่ว่าในอนาคตหากมีนิยามแล้วจะตรงกับนิยาม “คนดี” ของคนไทยมากน้อยเพียงใด

แต่อย่างไรก็ตามความรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่าที่มีในวันนี้ยืนยันค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า การคบเพื่อนนิสัยใจคอหรือความคิดอ่านแบบใด เราก็มีโอกาสจะมีความคิดอ่านเหมือนกับบรรดาเพื่อน ๆ ที่แวดล้อมตัวเราด้วย

หากพวกเขาเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เราก็จะมองโลกในแง่ร้ายเช่นกัน

มีนักจิตวิทยาชื่อ โซโลมอน แอสช์ (Solomon Asch) จากวิทยาลัยสวอร์ทมอร์ (Swarthmore College) เคยทำการทดลองแปลก ๆ ไว้เรื่องหนึ่งตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๖ (dx.doi.org/10.1037/h0093718) เขาขีดเส้นตรงในแนวตั้งด้วยหมึกดำบนกระดาษแข็งพื้นสีขาวปราศจากลวดลายเพื่อใช้เป็นเส้นเปรียบเทียบ จากนั้นก็ขีดอีกสามเส้นยาวแตกต่างกัน มีแค่เพียงเส้นเดียวที่เท่ากับเส้นเปรียบเทียบ แล้วก็ให้คนแต่ละคนประมาณความยาวของเส้นสีดำนั้น

ในบรรดานักศึกษาชายอายุตั้งแต่ ๑๗-๒๕ ปี อายุเฉลี่ยอยู่ที่ ๒๐ ปีนั้น เขาสุ่มอยู่หลายกลุ่ม รวมผู้เข้าร่วมทดลองทั้งสิ้น ๑๒๓ คน จุดที่เขาต้องการทดสอบก็คือ ความเห็นเรื่องความยาวเส้นสีดำของแต่ละคนขึ้นกับความเห็นของกลุ่มเทียมหรือหน้าม้าที่เตรียมไว้เพียงใด

ผลก็คือผู้เข้าร่วมทดลองแต่ละคนประมาณความยาวของเส้นแตกต่างกัน “ขึ้นกับ” ว่าคนรอบข้างคิดอย่างไร หากกลุ่มจำแลงที่สร้างขึ้นบอกตัวเลขความยาวมาก ก็จะประมาณเส้นนั้นยาวมากตามด้วย ในทางตรงกันข้ามหากบอกว่าสั้นก็ได้ผลเช่นเดียวกัน

สรุปว่าแต่ละคนแสดงความคิดเห็นคล้อยตามความคิดเห็นของกลุ่ม ไม่ใช่ความคิดเห็นของตัวเองจริง ๆ

ผลการทดลองยืนยันงานเขียนของ กุสตาฟ เลอ บง (Gustave Le Bon) เรื่อง ฝูงชน : การศึกษาความคิดแบบมหาชน (The Crowd : A Study of the Popular Mind) ซึ่งไม่ว่าจะเลนิน มุสโสลินี หรือฮิตเลอร์ ต่างก็ผ่านตามาแล้วทั้งสิ้น เลอบงเขียนว่าสำหรับฝูงชนแล้ว “อารมณ์ความรู้สึกและแนวคิดของคนทุกคนในกลุ่มรวมกันเป็นหนึ่งเดียว และไปในทิศทางเดียวกัน จนราวกับความสำนึกแบบปัจเจกชนสูญหายไป”

เกิดอะไรขึ้นกันแน่ และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

เมื่อเกิดความคิด ความเห็น หรือความต้องการใด ๆ หากไปด้วยกันได้กับผู้คนรอบตัว จะทำให้สมองเข้าสู่วงจรการให้รางวัลของสมอง พูดง่าย ๆ คือถ้าคิดอะไรไม่ขัดแย้งกับพรรคพวกเราก็จะรู้สึกดี แต่ถ้าไม่ สมองส่วนที่เรียกว่าแอนทีเรียร์อินซูลา (anterior insula) รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องความรู้สึกเจ็บปวดจะทำงาน

คราวนี้ก็มีสองทางเลือก

ทางเลือกหนึ่งคือแกล้งทำเป็นเห็นด้วยกับคนอื่น แต่ยังคงเก็บอาการไม่เห็นด้วยไว้ในหัวอย่างลับ ๆ อีกทางก็คือ สมองจะหาทางเปลี่ยนและปรับจนความคิดที่อยู่เบื้องลึกที่สุดเข้ากันได้กับคนรอบ ๆ ตัว

ที่น่าสนใจคือ มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง (Neurosci Biobehav Rev. 2016 Dec ;71 : 101-111) ยืนยันว่า เราเลือกใช้วิธีการแบบหลังบ่อยเป็นอย่างยิ่ง

การทำงานของสมองสองส่วน คือ คอยติดตามตรวจสอบสิ่ง “ผิดแปลก” ไม่เข้ากันกับคนรอบข้าง ส่วนแรกคือแอนทีเรียร์อินซูลาที่กล่าวไปแล้ว อีกส่วนหนึ่งคือมีเดียลฟรอนทัลคอร์เท็กซ์ (medial frontal cortex) ที่ตั้งอยู่ตรงบริเวณตรงกลาง ๆ ของเปลือกสมองส่วนหน้า ทั้งสองจะร่วมกันหาทางลดความไม่ลงรอยดังกล่าว

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งใน ค.ศ. ๒๐๑๐ (doi.org/10.1093/scan/nsq054) ระบุว่าเครือข่ายสมองทำงานอย่างแข็งขันมากเสียจนกระทั่งเราเปลี่ยนใจในเรื่องต่าง ๆ ให้เข้ากับปัจจัยแวดล้อมภายนอก คือความคิดเห็นของเพื่อนฝูง รวดเร็วจนเราเองก็ไม่รู้ตัวเลยทีเดียว

นั่นก็หมายความว่าเราเลือกตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตหลายเรื่องผ่านอิทธิพลจากแรงกดดันของความคิดเห็นของพรรคพวก เพื่อนฝูง คนใกล้ชิดเป็นอย่างมาก การเลือกคบเพื่อนจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ภาษิตที่ว่า “คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล” จึงถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาที่ไม่เกินเลยความเป็นจริง โดยมีผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน 

ภาพผลสแกนสมองจากมุมต่าง ๆ (ซ้าย กลาง ขวา) ขณะที่มีความเห็นสอดคล้อง (a) และขัดแย้ง (b) กับคนในกลุ่ม จะเห็นได้ว่าสมองส่วนที่ทำงาน (จุดแดงส้ม) มีตำแหน่งแตกต่างกัน

ที่มา : Neuroscience and Biobehavioral Reviews 71 (2016) 101-111.