ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


ธงแดง ตอนที่ 5 - กำเนิดธงช้าง

จากธงแดงที่ว่าใช้ชักเป็นสัญลักษณ์ของเรือค้าขายจากกรุงสยามมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตำนานเล่าต่อมาว่าในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อรัชกาลที่ ๒ ทรงส่งเรือสำเภาของหลวงไปซื้อสินค้าที่เกาะสิงคโปร์ เรือนั้นยังคงชักธงแดงตามประเพณีที่เคยมีมา ปรากฏว่าเจ้าเมืองสิงคโปร์ฝากความผ่านกัปตันมาแจ้งว่า เรือสินค้าของชวาหรือมลายูล้วนชักธงแดงเหมือนๆ กันทั้งนั้น จึงอยากขอให้มี “สัญลักษณ์” พิเศษบางอย่างเพื่อบ่งชี้ว่าเป็นเรือของรัฐบาลสยาม จะได้จัดรับรองอย่างเป็นทางการ

บังเอิญว่าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีช้างเผือกเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารหลายเชือก ถือเป็นเกียรติยศยิ่งใหญ่สำคัญ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปช้างเผือกอยู่กลางวงจักรสีขาว ลงไปบนธงพื้นแดง เพื่อประกาศว่าเรือลำนี้เป็นของ “พระเจ้าช้างเผือก” แห่งกรุงสยาม แต่ธงแบบนี้ก็ใช้ชักขึ้นเสาเรือสินค้าของหลวงที่ไปค้าขายยังต่างประเทศเท่านั้น

ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชดำริว่ารูปจักรถือเป็น “ของหลวง” และ “ของสูง” คือเป็นเครื่องราชูปโภค (รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ส่วนหนึ่งของพระนามราชวงศ์ “จักรี”) จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกออกเสีย เหลือไว้เพียงช้างเผือกบนพื้นแดง ทั้งนี้เพื่อให้เรือสินค้าของราษฎรสามารถชักได้ด้วย

ในรัชสมัยนี้ยังมีตัวอย่างอื่นที่แสดงให้เห็นความพยายามรักษา “ความศักดิ์สิทธิ์” ของพระมหากษัตริย์ โดยไม่ยินยอมให้ใครๆ ได้ครอบครอง “สัญลักษณ์” บางอย่างไว้ เช่นมีประกาศในปี ๒๓๙๗ ห้ามนำเสนอ “ช้างเผือก” และ “ช้างสีประหลาด” (คือช้างที่มีลักษณะมงคล แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นช้างเผือก) ในการแสดงโขนละคร เพราะช้างเผือกอย่างที่เป็นตัวๆ คู่ควรเป็นเครื่องประดับพระบารมีเท่านั้น ผู้ฝ่าฝืนจะได้รับโทษสถานหนัก

“ห้ามมิให้พระองค์เจ้ามีกรม ยังไม่ได้ตั้งกรม แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย แลราษฎรที่บรรดาเล่นโขนเล่นลครหากินอยู่ทั้งปวงให้รู้ทั่วกันว่า ห้ามมิให้เขียนเปนหัวช้างสีเผือก สีปลาด ให้ใช้ได้แต่หัวช้างดำ ถ้าจะเล่นโขนจะใช้เอราวรรณอย่างเดียวนั้นได้ นอกนั้นห้ามมิให้ใช้หัวช้างสีเผือก สีปลาด เลยเปนอันขาด ถ้ามิฟังขืนเล่น ผู้รับสั่งจับได้จะปรับไหมมีโทษให้จงหนัก…”

เมื่อปี ๒๔๐๐ คณะราชทูตสยามชุดที่มีหม่อมราโชทัยเป็นล่าม เดินทางไปเฝ้าควีนวิกตอเรียที่อังกฤษ มีบันทึกว่ารถม้าที่ทางการอังกฤษจัดมารับราชทูต ที่ประตูรถเขียนเป็นรูปธงช้างเผือก และต่อมาในปี ๒๔๑๐ เมื่อราชอาณาจักรสยามจัดส่งสิ่งของไปร่วมออกร้านในงานแสดงศิลปหัตถกรรมที่ประเทศฝรั่งเศส ห้องนิทรรศการของสยามก็ประดับประดาด้วยธงช้างเผือกพื้นแดงทั่วไป ดังนั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง ที่ “ธงช้างเผือก” ได้เริ่มปรากฏตัวออกสู่สายตาชาวโลก ในฐานะ “ธงชาติสยาม” เคียงบ่าเคียงไหล่กับบรรดานานาอารยประเทศ

เช่นเดียวกับจิตรกรรมฝาผนังตามอุโบสถวัดต่างๆ ในยุครัชกาลที่ ๔ และ ๕ ก็มักนำเสนอเสาธงชักธงช้างเผือก ในฐานะตัวแทนของ “พระนคร” แสดงความเป็นบ้านเมืองที่มีอารยธรรม

ในโลกยุคเดียวกันนั้นเอง เมื่อรัฐโบราณอื่นๆ ในเอเชียจำต้องมี “ธงชาติ” แบบฝรั่ง หลายแห่งก็ใช้วิธีการทำนองเดียวกันกับสยาม โดยนำเอาภาพสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มาเป็นสัญลักษณ์บนผืนธง เช่นจักรวรรดิจีนใช้ธงสามเหลี่ยมรูปมังกรผงาดบนพื้นเหลือง ส่วนพม่า รัฐเพื่อนบ้านของสยาม เลือกใช้ธงรูปนกยูงรำแพนสีแดงบนพื้นขาว

white elephant01