เรื่อง : สุชาดา ลิมป์ ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

Special Scene พิธีผู่-โอบกอดผู้หญิงม้งเมื่อชีวิตคู่ล้มเหลว

เมื่อชีวิตคู่ไม่ใช่เรื่องของสองคน แต่เป็นเรื่องของตระกูล

วัฒนธรรมม้งจึงกำหนดให้ลูกสาวที่แต่งงานสิ้นสุดสถานภาพจากครอบครัวเดิม เพื่อไปเป็นลูกสาวคนใหม่ของตระกูลแซ่ฝั่งสามี ตั้งใจทำมาหากินช่วยสร้างฐานะครอบครัวใหม่ให้เจริญ

ในวันวิวาห์ พ่อแม่ต่างมอบ “คำอวยพร” ให้ลูกสาวมีครอบครัวที่ดี แต่งแล้วแต่งเลย ครองคู่รักกันจนแก่เฒ่า และอย่าหวนคืนบ้านอีก เพราะนั่นหมายถึงชีวิตที่ล้มเหลว เป็นอัปมงคล

คนโบราณจึงกำหนดจารีตต่างๆ ขึ้นเป็นกุศโลบายป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งไม่ดีงาม

ครั้นยุคสมัยเปลี่ยน สังคมม้งกว้างไกลกว่าถิ่นของบรรพชนบนภูเขา ความมั่นคงที่เคยผูกร้อยด้วยพิธีแต่งงานก็แปรเปลี่ยน ทว่าลูกหลานยังรับส่งความเชื่ออย่างเคร่งครัดจนเป็น “คำสาปร้าย” ทำลายผู้หญิง

แม้ในวันแต่งงานผู้หญิงจะมีวุฒิภาวะพร้อม ชีวิตก็อาจต้องเผชิญเรื่องเกินคาด

ที่ขมขื่นคือไม่ว่าเป็นตายร้ายดีหรือร้างสามี ไม่เคยมีสิทธิ์กลับคืนบ้านพ่อแม่ตน

:: สหัสวรรษม่านหมอกปกจารีต ::

จะอยู่ทน หรือทนอยู่ ผู้หญิงม้งโบราณมีสิทธิ์เลือกความเป็นไปในชีวิตคู่แค่นั้น

“ทุกวันนี้ก็ยังมีผู้หญิงจำนวนมากที่ถูกผู้ใหญ่บังคับหรือถูกฉุดมาแต่งงาน เกือบทั้งสิ้นเป็นเด็กสาวที่ถูกกระทำโดยชายอายุมากกว่า ๔๐ ปี ถ้าไม่แต่งงานสังคมจะถือว่าหญิงนั้นเป็นหม้าย มีสถานะเท่าคนเคยแต่งงาน เพราะการถูกจับตัวไปถือเป็นมลทิน ยิ่งถ้าตั้งครรภ์โดยผู้ชายไม่รับผิดชอบผู้หญิงจะถูกประณาม ผู้ชายเพียงเสียค่าปรับให้กรรมการหมู่บ้านที่มาไกล่เกลี่ยซึ่งผู้หญิงแทบไม่ได้ค่าปรับนั้นและต้องเลี้ยงลูกลำพังเพราะฝ่ายชายจะถือว่าตนจ่ายค่าปรับแล้ว เด็กเกิดมาก็จะไม่มีตระกูลแซ่เช่นเดียวกับแม่ผู้เป็นหม้าย”

หมิ ท่อ (รัศมี ทอศิริชูชัย) กรรมการเครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย ย้อนปัญหาของจารีตโบราณอีกมากที่ยังกระทบต่อกาย-ใจผู้หญิงยุคปัจจุบัน อย่างการกำหนดว่าภรรยาต้องยอมให้สามีเที่ยวสาวและมีเมียใหม่ได้หลายคนเพื่อให้มาช่วยทำมาหากิน โดยทุกคนอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน แค่แยกห้อง

pu ceremony03

“แม้อยู่ด้วยกันแต่เอาเข้าจริงเขาไม่ได้ดูแลทุกคน รักคนเดียวและเลือกดูแลแค่คนที่กำลังรัก ภรรยาที่เหลือถูกทิ้งให้ต้องต่อสู้ลำพัง จำยอมอยู่ในสถานะที่ตนไม่ต้องการทั้งเมียหลวงและเมียน้อยอย่างไม่มีสิทธิ์เลือกหากจะอาศัยในบ้านสามี เพราะจารีตกำหนดให้ต้องรับความคุ้มครองจากผู้ชายเสมอ เมื่อยังเล็กก็อยู่ในความปกครองของพ่อ หลังแต่งงานต้องอยู่ใต้อำนาจสามี และหากสิ้นสามีก็ต้องอยู่ในความดูแลของลูกชายต่อ เด็กสาวบางคนเคยมีพลังความสามารถ หลังแต่งงานกลับถูกกรอบวัฒนธรรมกดขี่ให้อยู่ใต้อำนาจสามีและอดทนอย่างไม่มีสิ้นสุด บางคนอดทนมากจนคิดว่าที่ตนเผชิญไม่ใช่ปัญหา บางคนถูกสามีทำร้ายร่างกายสาหัสก็ยังทน ฟันร่วงหมดปากพ่อแม่ถึงยอมให้ลูกสาวกลับบ้าน”

ถึงอย่างนั้นก็อาจช่วยเพียงปลูกบ้านอีกหลัง แต่ไม่ให้อยู่ด้วยกันในบ้านเดิม

เพราะวันแต่งงานพ่อแม่ฝ่ายชายทำ “พิธีรับขวัญ” ลูกสะใภ้เข้าตระกูลต่อผีบรรพชนแล้ว พ่อแม่ฝ่ายหญิงก็ทำ “พิธีตัดผี” แจ้งบรรพบุรุษเพื่อย้ายลูกสาวออกจากตระกูลเช่นกันจึงไม่นับเป็นคนแซ่เดียวกันอีก หากเลิกกับสามีหรือสามีตายผู้หญิงจึงไม่มีที่อยู่เพราะกลายเป็นคนอื่นของทั้งสองครอบครัว ไม่มีใครยินดีให้ร่วมชายคาเพราะเกรงจะถูกอำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติลงโทษ พ่อแม่ที่รักลูกมากจึงช่วยหาที่อยู่ให้แต่ไม่อนุญาตให้ร่วมประกอบพิธีกรรมประจำตระกูลอีก และห้ามเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตในบ้านพ่อแม่เด็ดขาด

สถานภาพ “โสดหลังแต่งงาน” หรือ “แม่เลี้ยงเดี่ยว” จึงนับเป็นเรื่องโหดร้ายในสังคมม้ง

ไม่เพียงถูกมองว่าไม่มีเจ้าของ ยังถูกปฏิบัติไม่ต่างจากผู้หญิงสาธารณะ และมีโอกาสถูกข่มเหงจากผู้ชายซ้ำแล้วซ้ำเล่าท่ามกลางความเพิกเฉยของสังคม จึงไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากเป็นหม้าย

“หลายรายพยายามหาที่พึ่งโดยเป็นเมียน้อยหรือแต่งงานใหม่ ซึ่งอาจไม่ได้โชคดีกว่าเดิม หากสามีใหม่เสียชีวิตหรือไม่สามารถประคองชีวิตคู่อีก คราวนี้จะกลับไปอยู่กับลูกชายที่เกิดจากสามีเดิมก็ไม่ได้ หากมีลูกสาวจากสามีเก่าแต่ออกเรือนแล้วก็ถือเป็นคนละตระกูล ไม่สามารถรับแม่ไปอยู่ร่วมบ้านสามี ครั้นจะกลับบ้านไปหาพ่อแม่ตนก็ไม่ได้อีก หนีไม่พ้นต้องเร่ร่อน มีชะตาวนเวียนอยู่ในแบบเดิมๆ อย่างน่าสงสาร”

จารีตเช่นนี้ฝังจิตวิญญาณของชาวม้งสืบเนื่องหลายสหัสวรรษ นับแต่ม้งกลุ่มแรกอพยพจากแถบแม่น้ำแยงซีสู่ไทยราวช่วงปี ๒๓๘๗-๒๔๑๗

ห้วงเวลาอพยพชาวม้งทั่วโลกยึดถือวัฒนธรรมติดตัวและปฏิบัติมาหลายพันปี

หลากพิธีกรรมตกหล่นขณะที่หลายจารีตแม้ล้าสมัยแต่ยังคงแช่แข็งวัฒนธรรม

:: ฟ้าหลังฝนเริ่มสดใส ::

เพราะเป็นสังคมปิตาธิปไตยที่นับการสืบทอดสายตระกูลทางผู้ชาย

จึงเกิดสภาพของเด็ก ผู้หญิง และแม่ที่ไม่มีลูกชายต้องเผชิญปัญหากีดกันจากครอบครัว

เลวร้ายขีดสุดเมื่อผู้หญิงถูกบีบคั้นหนัก ต้องกระเตงลูกเล็กเผชิญยถากรรมในกาดหลวงเชียงใหม่ (ตลาดวโรรส) หรือตามไนท์บาซาร์ ไร้บ้านและที่ทำกินเพราะมรดกที่ดินของพ่อแม่ตกเป็นของลูกชายเท่านั้น หากจะกลับชุมชนต้องหาเงินซื้อที่ดินของตนเองซึ่งเป็นเรื่องยาก บางคนจึงเข้าร่วมองค์กรคริสต์เตียนเปลี่ยนศาสนา วันอาทิตย์จะได้ไปโบสถ์ระบายความทุกข์ให้หัวใจมีช่องทางเยียวยา วันธรรมดาก็หากินต่อ บ้างปักผ้าขาย บ้างจำใจให้บริการทางเพศ จำนวนไม่น้อยถูกโชคชะตาซ้ำเติมให้ติดโรค ล้มป่วย และเสียชีวิต

“ปี ๒๕๓๘ กลุ่มนักศึกษาม้งรวมตัวจัดตั้ง ‘สมาคมม้งในประเทศไทย’ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรค เอช.ไอ.วี ที่รุนแรงตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ และมุ่งพัฒนาชาวม้งตามภูเขาในไทยให้มีชีวิตดีขึ้น”

หมิ ท่อ เป็นหนึ่งในหญิงม้งที่โชคดี เกิดในครอบครัวที่พ่อมีความคิดสมัยใหม่ เมื่อมีเด็กหญิงคนแรกของหมู่บ้านไปเรียนในเมือง เธอจึงได้เป็นรุ่นสองที่ออกจากหมู่บ้านเล็กๆ บนภูเขาในอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ไปเรียนหนังสือตั้งแต่เด็ก และได้เรียนต่อระดับสูงขึ้นกระทั่งจบปริญญาตรี

การศึกษากลายเป็นของขวัญล้ำค่าจากพ่อ ทำให้ชีวิตลูกสาวก้าวสู่อนาคตที่ดี

แต่ไม่ใช่เด็กหญิงทุกคนจะได้รับโอกาสหากพ่อไม่ยินดี แม้เกือบมีวาสนาก็ตาม

รัชดา คือหนึ่งในนั้น และความเจ็บปวดในวัยเยาว์ก็ยังกรีดหัวใจมาตลอดชีวิต

“ตอนเป็นเด็กฉันอยากเรียนหนังสือมาก สอบได้ที่ ๑ ของห้องตั้งแต่ ป.๑ ถึง ป.๓ จนกระทั่งแม่ป่วยหนักพ่อจึงให้ออกมาดูแลแม่ วันหนึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์มาตรวจเยี่ยมโรงเรียน ผู้อำนวยการเล่าให้ผู้ว่าฯ ฟังว่าฉันเรียนหนังสือเก่งมากแต่เพราะเป็นลูกสาวคนแรกและเป็นลูกคนโตจึงต้องรับหน้าที่ดูแลแม่ ผู้ว่าฯ จึงส่งเลขาฯ ไปรับฉันที่บ้านเพื่อจะอุปการะเป็นลูกบุญธรรมและส่งให้เรียน แต่พ่อบอกว่าผู้หญิงเรียนหนังสือสูงแค่ไหนก็ต้องแต่งงานไปอยู่กับคนอื่น และถ้าฉันไปน้องที่เหลือคงอดตาย อย่างไรก็ไม่อนุญาต ถ้าจะมีใครได้เรียนต้องเป็นลูกชายเท่านั้น ฉันร้องไห้เสียใจมาก แต่ละวันที่ทำงานในไร่ได้แต่มองเพื่อนไปเรียนหนังสือ ทำให้ฉันมีชีวิตในแบบลูกชาวบ้านชาวนาที่โตมาก็ต้องแต่งงานและมีลูกเท่านั้น ฉันเคยเล่าเรื่องนี้ให้ครูฟัง เขาปลอบว่า ‘รัชดาอย่าเสียใจที่เรามีชาติกำเนิดเป็นม้ง’ แต่มาถึงยุคนี้แล้วเลิกกีดกันลูกสาวเถอะ ให้เขาได้เรียนเพื่อเติบโตไปมีงานที่ดีทำและเลี้ยงดูเราได้ไม่แพ้ลูกชาย อย่าให้เขาต้องร้องไห้ทั้งชีวิตเหมือนฉัน”

เมื่อสิบปีก่อน ยงยุทธ สืบทายาท ผู้อำนวยการสมาคมม้งในประเทศไทย จึงริเริ่มประเด็นเกี่ยวกับสัญชาติของพี่น้องชาติพันธุ์ตามชายแดนควบคู่กับเรื่องสิทธิสตรีให้สตรีชนเผ่าต่างๆ แล้วผลักดันให้ผู้หญิงรวมตัวจัดตั้งเป็นเครือข่ายเพื่อสร้างความเข้มแข็ง โดยนำร่องกิจกรรมให้หญิงม้ง ๗๐ กว่าคน ได้แลกเปลี่ยนความในใจที่พวกเขาถูกกดทับมาทั้งชีวิต โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงในครอบครัวที่ถูกทำเหมือนไม่ใช่คน

หนึ่งในรูปธรรมคือ แน่งน้อย แซ่เซ่ง หญิงลูกครึ่งม้ง-จีน ผู้เคยตกเป็นภรรยาน้อยอย่างไม่ยินยอม

“ทำไมเกิดเป็นผู้หญิงต้องมีชีวิตยากลำบากอย่างนี้ ปัญหาของผู้หญิงมีมากหนักฟ้าและแผ่นดิน จะทำอะไรก็ต้องอยู่ในสายตาคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการทำมาหากิน แต่งงานมีครอบครัว หรือเป็นหม้ายโดยที่ไม่ตั้งใจก็เป็นขี้ปากชาวบ้าน อยู่ในชุมชนก็มีแต่คนนินทา อยู่ในเมืองก็มีแต่คนว่าเป็นผู้หญิงไร้ค่า พ่อแม่ไม่ต้องการให้กลับบ้าน อยากถามเหลือเกินว่าฉันมีฐานะเป็นอะไรของครอบครัว ไม่ว่าอย่างไรแม่ก็คลอดฉันออกมา แต่ทำไมวิธีจัดการปัญหาของลูกสาวสำหรับพ่อแม่ถึงง่ายกว่าจัดการเสบียงในบ้าน เลือดเนื้อฉันมาจากพ่อแม่แต่กลับปฏิบัติเหมือนฉันเป็นคนอื่น เพราะฉันเกิดมาอยู่ในครอบครัวแค่ชั่วคราวใช่ไหม”

โดยตัวตนแน่งน้อยเป็นผู้หญิงเก่งและสู้ชีวิต แต่เธอก็ร้องไห้จนพูดต่อไม่ได้ในเรื่องที่อ่อนแอ

สารพันความทุกข์ผู้หญิงทำให้สมาคมฯ เปิดรับคณะกรรมการสานต่อแนวคิด ปี ๒๕๔๗ “เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย” จึงกำเนิดโดยแน่งน้อยขับเคลื่อนร่วมกับหมิ ท่อ ขณะเดียวกันหมิ ท่อ ก็ควบบทบาทหัวหน้า “โครงการวิจัยเครือข่ายผู้หญิงม้ง” โดยแผนสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เธอจึงเสนอประเด็นสิทธิผู้หญิง โดยเฉพาะการยอมรับลูกสาวที่แต่งงานแล้วไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ให้คืนกลับครอบครัวพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดตามเดิม

ภายใต้ชื่อโครงการ “รับลูกสาวกลับบ้าน” เพื่อเปลี่ยนชะตากรรมทางเพศ

และเป็นจุดเริ่มต้นการรื้อฟื้น “พิธีผู่” ที่บรรพบุรุษทำตกหล่นระหว่างอพยพ

pu ceremony02

:: ถึงคราใบไม้เปลี่ยนสี ::

แปลกตรงที่แม้จะเป็นการเรียกร้องปกป้องสิทธิให้ผู้หญิง

แต่กลุ่มที่ลุกขึ้นมาทัดทานไม่ให้เรียกร้องสิทธิก็คือผู้หญิง

“เพราะที่ผ่านมาผู้หญิงม้งถูกโครงสร้างทางวัฒนธรรมครอบความคิด เราจึงต้องรบรากับผู้หญิงด้วยกันที่อายุมากกว่า ๔๕ ปี เลวร้ายที่สุดคือเป็นแม่ของหญิงเคราะห์ร้ายที่ไม่รับการขับเคลื่อนพิธีผู่เพราะตนถูกปฏิบัติอย่างนั้นมานานจึงยึดถือสืบทอด และเกรงกลัวว่าหากเกิดความผิดพลาดจะต้องรับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย อย่างเรื่องลูกสาวที่แต่งออกไปแล้วเมื่อเกิดปัญหาอยากกลับบ้านจึงเป็นผู้หญิงเองที่เสนอว่าอย่าให้กลับมาเป็นกาลกิณีของบ้านเลย ทั้งที่ความทุกข์ของลูกสาวก็คือสิ่งที่คนเป็นแม่เคยผ่าน แต่ถึงเขาจะมีความเชื่ออย่างลึกซึ้งยากจะเปลี่ยนความคิด เราก็ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้เพื่อจะได้เปลี่ยนแปลงในอนาคต”

หมิ ท่อ สตรีม้งผู้พยายามขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศเผยกระบวนการทำงานว่าต้องพยายามสร้างความรู้และเสริมพลังจิตใจแก่ผู้หญิงไปพร้อมกัน

“เดิมทีเราคิดว่าความทุกข์ของผู้หญิงจะเกิดกับคนที่ตกเป็นภรรยาคนที่สอง ที่สาม ผู้หญิงหม้าย หรือผู้หญิงนอกสมรส เราหลงลืมความทุกข์ในแบบภรรยาคนแรก ไปจนถึงผู้หญิงที่แม้ไม่มีปัญหาในชีวิตคู่ของตนแต่ก็ต้องทุกข์หากแม่ของเธอประสบปัญหาเหล่านั้นโดยที่ตนไม่สามารถช่วยเหลือได้ หรือในวันที่แม่ผู้ให้กำเนิดเสียชีวิตก็ไม่อาจร่วมพิธีศพเพราะตนเองถูกตัดขาดจากตระกูลแซ่เดิมแล้ว ยังมีความทุกข์ของเด็กๆ ที่เกิดจากหญิงเคราะห์ร้ายเหล่านั้น จำนวนไม่น้อยเป็นพี่น้องเกิดจากพ่อหลายแซ่แต่มีแม่คนเดียวกัน บางรายเป็นลูกของเมียน้อยและพ่อไม่ได้ส่งเสียให้เรียนเพราะเลือกรักเฉพาะลูกที่พ่ออยู่ด้วย บางรายถูกพรากจากพ่อแม่ด้วยเหตุจากแม่มีลูกหลายคน หากผู้ชายไม่ต้องการเลี้ยงดูภรรยาก็ยกแต่ลูกสาวให้ ส่วนลูกชายต้องอยู่กับพ่อ การกีดกันให้ต้องแยกจากแม่และพี่น้องทำให้เด็กๆ เป็นทุกข์มาก แต่ต้องรับสภาพ”

หัวหน้าโครงการวิจัยเครือข่ายผู้หญิงม้งเริ่มต้นเก็บข้อมูลจากชาวม้งในชุมชนแม่สาใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และขอความร่วมมือเครือข่ายตระกูลแซ่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มศาสนา นักวิชาการ ตลอดจนเพื่อนชาวม้งในต่างประเทศทั้งลาว เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา

จนได้ทางออกว่าหนทางที่จะแก้ไขคือการทำ “พิธีผู่” เพื่อ “รับลูกสาวกลับบ้าน”

เป็นพิธีกรรมที่มีอยู่แล้วในจารีต ในไทยเองก็เคยใช้เช่นเดียวกับม้งทั่วโลก แต่เพราะวิถีม้งเป็นสังคมเกษตรกรรม ทุ่มเทกับการหากินเวลากลางวัน หากมีปัญหาค่อยไกล่เกลี่ยตอนกลางคืนผ่านคนกลางที่พ่อแม่แต่ละฝ่ายจัดหาที่บ้านของผู้นำชุมชนโดยเจ้าของปัญหาไม่จำเป็นต้องอยู่รับรู้ ครั้นต่างฝ่ายทำงานมาทั้งวันตกดึกก็อ่อนแรงอยากพักมากกว่า บางครั้งผู้ไกล่เกลี่ยทำหน้าที่แล้วแต่ละเลยแจ้งให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงรับรู้ก็มี เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำพิธีรับลูกสาวกลับบ้านพ่อแม่จึงไม่ได้อยู่รอ นานวันพิธีกรรมอันสำคัญจึงตกหาย

สำหรับชาวม้งตระกูลเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ได้นับแค่พ่อแม่ แต่หมายรวมถึงผีบรรพชนต้นตระกูลแซ่ลงมา สิ่งต่างๆ ที่เกิดจึงไม่อาจตัดสินใจได้โดยพ่อแม่เท่านั้น จำเป็นต้องรับรู้กันทั้งตระกูล

“สมัยโบราณชาติพันธุ์ม้งไม่มีบันทึกอักษร บรรพบุรุษสืบทอดโดยจดจำ บอกต่อ และปฏิบัติ สิ่งไหนตกหล่นก็ปล่อยไป พิธีผู่จึงหายระหว่างทางอพยพของบรรพชน เหลือผู้รับรู้พิธีกรรมนี้น้อยมาก แต่เราก็ยังโชคดีที่พบผู้อาวุโสท่านหนึ่งยังรักษาประเพณีนี้โดยปฏิบัติกับลูกหลานตนเอง”

อันที่จริง “พิธีผู่” ประกอบขึ้นง่ายมาก เพียงแต่คนส่วนใหญ่กลัวจะทำให้ผีโกรธจึงไม่กล้าปฏิบัติ

“ตัวพิธีกรรมจริงๆ แค่ย้อนกลับไปจุดเริ่มวันที่ผู้หญิงแต่งงานจะย้ายไปอยู่บ้านผู้ชาย เมื่อถึงประตูบ้านฝ่ายชาย พ่อแม่ฝ่ายชายจะนำไก่ตัวผู้วนรอบหัวสะใภ้ บอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านให้รู้ว่าวันนี้ตระกูลจะมีลูกสาวคนใหม่ร่วมอาศัย ให้ผีปู่ผีย่า ผีบ้านผีเรือน ผีเตาไฟ ปกป้องคุ้มครอง จากนั้นจึงให้สะใภ้ก้าวเท้าเข้าบ้านและทำพิธีสู่ขวัญให้ขวัญของผู้หญิงมาอยู่ที่บ้านของฝ่ายชาย ทีนี้เมื่อชีวิตคู่เกิดปัญหาไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้อีก หากฝ่ายหญิงต้องการกลับบ้าน พ่อแม่ฝ่ายหญิงก็เพียงทำพิธีลักษณะเดียวกัน คือเมื่อลูกสาวถึงบ้านก็นำไก่ตัวผู้วนรอบหัวลูกและบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านให้รับรู้ว่าวันนี้ลูกเลิกกับสามีแล้วจะกลับมาอยู่บ้านเป็นลูกสาวของเราเหมือนเดิม แล้วพ่อแม่ก็จูงลูกสาวเข้าบ้าน เท่านี้ก็เสร็จสิ้นพิธีผู่แล้ว”

pu ceremony04

ช่วงรื้อฟื้นพิธี แม้จะมีผู้อาวุโสหลายท่านต่างตระกูลแซ่ซึ่งเป็นที่ยอมรับระดับผู้นำชุมชนขันอาสาเป็นผู้เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงความกลัวแห่งจารีต โดยรับมาปฏิบัติกับลูกสาวตนและช่วยเป็นผู้นำประกอบพิธีให้แก่สมาชิกในชุมชนต่อ แต่ก็ยังมีกลุ่มแม่บ้านอาวุโสที่ยืนกรานว่าหากจะทำพิธีนี้ให้รอพวกเธอตายก่อน

“ต้องเคารพความจริงข้อหนึ่งว่าหลายจารีตนั้นคนโบราณคิดเพื่อเป็นกุศโลบายป้องกันประพฤติตนไม่ดีงาม เพียงแต่มันไม่มีการชำระให้เหมาะสม มาถึงยุคนี้จึงเป็นเรื่องที่หาเหตุผลรองรับไม่ได้ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่เข้าถึงการศึกษาแล้วจึงมีความคิดท้าทายความเชื่อที่ไม่มีคำอธิบาย ขณะเดียวกันก็ไม่เคยรู้ปัญหาพ่อแม่จึงไม่เห็นเป็นสาระสำคัญที่ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไร ฉะนั้นคนที่ประสบปัญหาต้องกล้าลุกขึ้นปลดทุกข์ลงจากบ่าตน ภาระที่ยิ่งใหญ่นั้นถ้าทำเองไม่ไหวก็ต้องกล้าขอแรงให้ชุมชนช่วย อย่ากลัวที่จะเปลี่ยนแปลง”

พ่อหลวงยิ่งยศเล่าว่าครั้งหนึ่งพี่ชายตนก็เคยพาคนแซ่อื่นมาจัดงานศพในบ้านซึ่งผิดจารีต แต่ครั้งนั้นกลับได้พิสูจน์ว่าไม่ได้ทำให้มีอันเป็นไปอย่างที่เชื่อต่อกันมา ยังได้ช่วยเหลือผู้อื่นแม้จะอยู่นอกแซ่ตน

“คำว่าเสนียดจัญไรไม่ได้เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามจารีตเป็นแค่การถือปฏิบัติ มีพืชพรรณบางอย่างที่สมัยก่อนเคยถือว่าอัปมงคล ห้ามปลูกในบ้านเด็ดขาด แต่สุดท้ายเราก็นำมาปลูกได้เพราะทุกวันนี้ไม่มีใครถือ เพราะความหมายในเหตุการณ์หรือข้อยึดถือบางอย่างย่อมเปลี่ยนตามยุคสมัย เรื่องของจารีตที่เราต่างเกรงกลัวมานานผมจึงคิดว่าสามารถปรับเปลี่ยนได้เช่นเดียวกับเรื่องของดอกไม้”

ท่ามกลางเสียงกังขาของผู้ไม่ยอมรับการฝืนจารีตว่าหากทำพิธีผู่ไปสัก ๒ ปี คงได้เห็นหม้ายเกิดขึ้นเต็มชุมชน เขาต้องพยายามอธิบายให้เห็นความสำคัญของพิธีกรรมว่าไม่ได้สนับสนุนให้ภรรยาเลิกกับสามีอย่างง่ายดาย เพียงช่วยสร้างแนวทางปฏิบัติที่ยุติธรรมกับผู้หญิงในสังคม

“เราพิจารณาสาเหตุการกลับมาของลูกด้วย ถ้าประพฤติตนไม่ดีจะตักเตือนด้วยวิธีอื่นที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกสาวขอกลับบ้านอย่างไร้เหตุผล ถ้าเราไม่ช่วยเหลือจะปล่อยให้เขาผูกคอตายหรือ อย่างนั้นก็เท่ากับว่าเราฆ่าลูกตัวเอง เรายังรับคนชาติพันธุ์อื่นหรือต่างแซ่มาเป็นลูกสะใภ้ในตระกูลได้ นี่เป็นลูกของเราเองทำไมจึงกีดกันว่าเขาไม่ใช่คนในครอบครัวล่ะ”

ถึงวันนี้ความเป็นธรรมด้านกฎจารีตจากพ่อแม่ยังเพิ่งเริ่มต้น ขยับปรับเปลี่ยนช้าๆ

แต่เมื่อผู้ชายในสังคมม้งยอมรับก็เป็นนิมิตหมายอันดีว่าในอนาคตจะเปลี่ยนแปลง

:: ฤดูหนาวอันอบอุ่น ::

ในที่สุดนับแต่ปลายปี ๒๕๕๖ เป็นต้นมาจนถึงมีนาคม ๒๕๕๘

เรื่องราวกล้าหาญของกลุ่มคนที่ร่วมขจัดจารีตไม่เป็นธรรมก็ได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง

เมื่อ “เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย” โดยการรวมตัวของผู้หญิงม้งจาก ๑๘ ตระกูลแซ่ในประเทศไทยจัดสัมมนาเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนกฎจารีตที่กระทบต่อผู้หญิงและครอบครัว ที่โรงเรียนมัธยมป่ากลาง ตำบลป่ากลาง อำเภอปัว จังหวัดน่าน ท่ามกลางสักขีพยานชาวม้งจากทั่วประเทศราว ๔๐๐ คน รวมถึงมีหญิงม้งจากสหรัฐอเมริกา เวียดนาม และลาวเดินทางมาร่วมสังเกตการณ์

ทุกคนได้เห็นผลสำเร็จของ “พิธีผู่” ตามชุมชนนำร่องบ้านแม่สาน้อยและแม่สาใหม่ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลง-บรรเทาทุกข์ยากแก่ผู้หญิงม้งที่ประสบเคราะห์ร้ายหลังแต่งงาน ทำให้ผู้หญิงที่ผ่านพิธีกรรมกลับไปใช้ชีวิตในครอบครัวเดิมอย่างมีศักดิ์ศรี เป็นที่ยอมรับของเครือญาติและคนในชุมชน พิธีกรรมนั้นได้รับการบันทึกภาพเหตุการณ์และเผยแพร่สู่ชุมชนชาวม้งในจังหวัดอื่นๆ ด้วยทำให้เสียงที่เคยคัดค้านจากผู้นำชาวม้งหัวอนุรักษ์นิยมเริ่มแผ่วจาง

ผลดีตามมาคือพ่อแม่ที่ไม่มีลูกชายสามารถมาอยู่อาศัยและตายที่บ้านลูกสาว-ลูกเขยได้โดยไม่ถือเป็นหน้าที่เฉพาะลูกชาย-ลูกสะใภ้เท่านั้น เพราะแม่บางคนมีแต่ลูกสาวไม่มีลูกชายเลี้ยงดูเมื่อเสียชีวิตจึงไม่มีใครทำพิธีให้ หรือแม่ที่จำเป็นต้องแต่งงานใหม่แล้วมีเหตุให้ร้างสามีอีกก็กลับมาอาศัยและตายที่บ้านของลูกสาวที่เกิดจากสามีคนแรกได้ รวมไปถึงปัญหาสถานะของเด็กไร้ตระกูลแซ่ที่เป็นลูกของหญิงเคราะห์ร้ายทุกกรณีก็ได้การยอมรับให้ใช้นามสกุลของตายายและมีพื้นที่ทางสังคมในชุมชนชาวม้ง

“หลังประสบผลสำเร็จกับการฟื้นพิธีผู่ ได้เห็นบรรดาพ่อทั้งหลายร้องไห้ พวกเขาเปิดใจว่ารักลูกมาก เมื่อรู้ว่าลูกเลิกกับสามีก็อยากพากลับบ้านใจจะขาดแต่ต้านทานตระกูลไม่ไหว สำหรับวัฒนธรรมม้งการเป็นแซ่เดียวกันและความสัมพันธ์ในชุมชนถือเป็นเรื่องใหญ่ ต่อให้รักลูกเพียงใดที่สุดแล้วก็ต้องเลือกเครือญาติ เพราะการมีชีวิตอยู่ในสังคมม้งมีสิ่งประกอบหลายอย่าง เมื่อรู้ว่ามีพิธีผู่พ่อแม่ที่รักลูกมากจึงยินดีทำทันที”

หมิ ท่อ เสริมว่าหลังเรื่องราวกระจายไป มีคนติดต่อขอให้ทางเครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทยช่วยทำพิธีผู่ให้ แต่เธอเห็นว่าไม่จำเป็น เพราะหัวใจของพิธีกรรมคือการสื่อสารระหว่างคนในครอบครัว

ฤดูหนาวธันวาคม ๒๕๖๑ เรากลับไปติดตามความคืบหน้าของพิธีผู่อีกครั้ง

น่ายินดีที่ได้รู้ว่าพิธีกรรมนี้กำลังขยายขอบเขตออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

“สองปีก่อนมีชาวม้งจากหลวงพระบางมาสัมมนาเกี่ยวกับพิธีรับลูกสาวกลับบ้านกับเราที่เชียงใหม่ และชวนให้เราไปนำเสนอโครงการนี้ที่ชุมชนเขา ตัวพิธีกรรมน่ะเขาพอรู้เพราะในหมู่ชาติพันธุ์ม้งทั่วโลกแม้มีภาษาพูดต่างกันบ้างตามถิ่นแต่ยังมีธรรมเนียมปฏิบัติและพิธีกรรมต่างๆ เหมือนกัน สิ่งที่ชาวม้งหลวงพระบางอยากรู้จึงเป็นเรื่องกระบวนการก่อนจะมีพิธีผู่ว่าเป็นมาอย่างไร มีอุปสรรคอะไรบ้างระหว่างดำเนินการ”

ไกลกว่าเรื่องพิธีกรรมที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยว เธอชวนตระหนักว่าสิ่งสำคัญคือหัวใจ

ผู้หญิงจะเข้มแข็งขึ้นจากภายใน และถ้าหัวใจเข้มแข็งเราจะพึ่งพาตนได้มากขึ้น

“ยุคของคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ โตแล้วต้องแต่งงานมีลูก หรือเคยมีงานทำกลับต้องลาออกไปเป็นลูกสะใภ้และเลี้ยงลูกจะค่อยๆ หมดไป เปลี่ยนเป็นยุคของคนจบการศึกษา มีงานมั่นคง มีเงินเดือนเลี้ยงดูพ่อแม่ ผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถเขาจะไม่เลือกหนุ่มม้ง และนิยมแต่งงานข้ามเผ่ามากขึ้น เป็นอาข่า ลีซอ คนไทย ชาวต่างชาติก็มี หรือเลือกที่ไม่ได้มีอาชีพเกษตรกรรม ไม่อย่างนั้นชีวิตก็คงไม่แคล้วต้องออกจากงานไปทำไร่และตกอยู่ในกรอบวัฒนธรรมเดียวกับแม่ คงเหลือแต่คนหัวโบราณที่แต่งงานด้วยกัน”

เธอว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องความเปลี่ยนแปลงจะทำให้สายเลือดเข้มข้นของชาติพันธุ์ม้งจางหาย

“การแช่แข็งวัฒนธรรมให้อำนาจเป็นของผู้ชายฝ่ายเดียวต่างหากที่จะทำให้สังคมไม่ก้าวหน้า ผู้หญิงม้งที่มีความคิดเป็นของตนเองจะออกจากชุมชนไปเรื่อยๆ ผู้ชายที่มีความรู้ความสามารถก็คงไม่เลือกแต่งงานกับหญิงชาวบ้านเพราะไม่ช่วยพัฒนาชีวิตเขา มันจึงถึงเวลาที่หญิง-ชายต้องร่วมมือกัน วัฒนธรรมที่ดีก็อนุรักษ์ไว้ จารีตที่ไม่เหมาะกับยุคสมัยแล้วก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย”

๘ มีนาคม ๒๕๖๒ สังคมม้งได้ยิ้มกว้างอีกครั้ง

เมื่อผลการขับเคลื่อนพิธีผู่อย่างต่อเนื่องจนเกิดรูปธรรมมากมาย ส่งให้ “เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย” ได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติ “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องในวันสตรีสากลประจำปี ๒๕๖๒

นั่นหมายถึงไม่เพียงพิธีผู่-ผลงานของพวกเธอเป็นที่ยอมรับกว้างไกลจากสังคมม้งบนภูเขา อาจคือหลักประกันหนึ่งว่า แม้ยังมีพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการตัดขาดลูกสาวที่แต่งงานออกจากการเป็นสมาชิกของครอบครัวและตระกูลแซ่เดิม แต่หัวใจของเจ้าสาวจะไม่ต้องเหน็บหนาวในวันมงคลอีก

ด้วยอุ่นใจว่า หากชีวิตคู่ไม่เป็นดั่งหวัง ต้องล้มเหลวกลับมา

ที่บ้านจะยังมี “ความรักของพ่อแม่พี่น้องยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใด”