เรื่อง : วรรณิดา มหากาฬ
ภาพ : จิร อังศุธรรมทัต
กลุ่มแฟนละครโรงเล็กคงไม่มีใครไม่รู้จัก สินีนาฏ เกษประไพ จากพระจันทร์เสี้ยวการละคร โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงงานรูปแบบ Physical Movement ที่สื่อสารเรื่องราว ความรู้สึกนึกคิดผ่านร่างกายของนักแสดง
ล่าสุดเธอได้ส่ง “ผู้หญิงในห้องสีเหลือง Woman and The Yellow Wallpaper” เข้าร่วมในเทศกาลละครกรุงเทพประจำปี 2567 อาจเรียกว่าเป็นการกลับมาทำละครพูดในรอบหลายปีที่ยังคงเอกลักษณ์ด้วยการผสมผสานทั้งบทพูด การเคลื่อนไหว และดนตรีสดในการเล่าเรื่อง
เมื่อนักแสดงหญิงแก่สวมบทบาทตัวละครหญิงสาวที่มีอาการป่วยหลังคลอด ต้องมาพักผ่อนรักษาตัวที่บ้านพักตากอากาศในชนบทห่างไกล ต้องอยู่แต่ในห้องที่ติดลูกกรงกับผนังห้องที่มีวอลเปเปอร์สีเหลือง และถูกสั่งห้ามไม่ให้ทำอะไร เธอเลยต้องอยู่กับวอลเปเปอร์สีเหลืองนั่นทั้งวันทั้งคืน
คือคำโปรยบนหน้างานกิจกรรมในแพลตฟอร์มออนไลน์
จุดเริ่มต้นของการทำละครเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปอย่างน้อย 12 ปี
จากหนังสือที่รักตั้งแต่ได้อ่านเรื่องสั้นเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา กลายมาเป็นบทละครสั้นใน “โปรเจ็คอ่านผู้หญิง” และต่อยอดเป็นบทละครที่ใช้ในวิชาเรียน
“เป็นเรื่องที่ติดอยู่ในใจ”
สินีนาฏเปรยเหตุผลของการนำบทละครสั้นสิบนาทีมาดัดแปลงให้เป็นการแสดงเดี่ยวที่ผสมแบบไม่ประสานดนตรีสด เล่าผ่านตัวละครคนเดียวโดยชูประเด็น “ผู้หญิง” และ “จิตใจ”
ผลงานของสินีนาฏที่ผ่านมาสื่อสารประเด็นเรื่องผู้หญิงมาโดยตลอดและในเรื่องนี้นอกจากเรื่องราวของผู้หญิงที่เธออยากสื่อสารแล้วเรื่องการดูแลจิตใจ ความเจ็บป่วย และความเปราะบางที่มนุษย์คนหนึ่งต้องเผชิญก็เป็นเรื่องสำคัญที่เธอต้องการสื่อสารออกมาด้วยเช่นกัน
“ผู้หญิงมีภาวะที่เสี่ยงกับการถูกกดทับ ซึมเศร้าหลายสภาวะ เกิดเป็นการตั้งคำถามว่าแล้วเขาทำอย่างไร”
เรื่องสั้นซ้อนนัยยะของ Charlotte Perkins Gilman ผู้เขียน เพื่อสื่อสารสภาวะที่เกิดและยังพูดไปถึงเรื่องสิทธิสตรีในหลากแง่มุม
“มันมีสัญลักษณ์เยอะมากที่น่าสนใจ เป็นการเน้นความสำคัญของเสียงของผู้หญิง เป็นการปลดแอก”
“ผู้หญิงในห้องสีเหลือง” โดยสินีนาฏสะท้อนถึงผู้หญิงที่อยู่ในห้องวอลเปเปอร์สีเหลืองในเรื่องสั้นที่เคยอ่าน เธอเห็นลวดลายตามอักษรบรรยายกักขังผู้หญิงเหล่านั้น เห็นสัญญะที่นำมากร่อน เกลา ผ่านมุมมองตัวเอง
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่อาจได้พบกับสภาวะของผู้หญิง 3 คนหรือมากกว่า ในการแสดงครั้งนี้
ฉันได้แต่อยู่ในห้อง ห้องสีเหลืองที่กว้างใหญ่ ซึ่งฉันไม่ชอบเลย
หักเป็นมุมแหลมและทิ่มแทงเข้ามาในใจ สร้างความเจ็บแสบ กวนประสาท ทำให้ใจไม่สงบ
ความเอื้ออาทรที่เราไม่ได้รู้สึกขอบคุณ
เกลียดดวงตาที่ถูกจับจ้อง
ห้องของฉัน จะทำอะไรก็ได้
ผู้หญิงคนหนึ่งคลานออกไปสู่ท้องทุ่งโล่งกว้าง
มีปริศนาให้เริ่มค้นหาชีวิตก็เลยมีชีวิตชีวา
ความอึดอัดของผู้หญิงในห้องสีเหลืองแผ่ซ่านขยายมาถึงขอบเวที การปลดปล่อย ก้าวร้าว เปล่งเสียง เย้ยหยัน จากการถูกกดดันและการต้องจำยอมโดดเดี่ยว
“ภาพที่รุนแรงมากคือการปีนข้าม การคลานข้าม วนอยู่แบบนั้น มาบรรจบเมื่อไหร่ก็ข้าม”
ในฐานะคนดูเราตีความว่าการคลานคือการถูกกดทับ คือการสงบยอม บางทีก็นึกไปถึงการเปรียบเปรยเหมือนสัตว์ที่เดินสี่เท้า ด้วยเหตุนี้จึงอึดอัดใจยิ่งขึ้นในฉากสุดท้ายที่เหมือนจะได้เห็นอิสระ เราเห็นภาพผู้หญิงในห้องสีเหลืองลุกขึ้นยืนในความคิดและก้าวเท้าออกไปจากห้องนั้น
สิ่งที่เกิดขึ้นคือตรงกันข้าม
สินีนาฏสร้าง “ความหวัง” และ “ทางเลือก” ให้กับผู้ชม
“เป็นทางเลือกของผู้หญิงในอดีตที่น้อยมากจะได้เลือก ส่วนใหญ่ก็พ่อ สามี สังคมเลือกให้”
ผู้หญิงในห้องสีเหลืองของสินีนาฏมองว่าการ เลือกคลาน คือการได้เลือกแม้จะถูกจำกัดและกักขัง
“ปัจจุบันยังมีแต่ถูกซ่อนอย่างแนบเนียน”
สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ความรู้สึกอึดอัด คัดค้าน เห็นด้วยบางแง่มุมและปฏิเสธในบางแง่มุมเกิดขึ้นทุกช่วงขณะ เป็นเสน่ห์ของละครเรื่องนี้ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้มีปฏิสัมพันธ์และเล่นสนุกกับความคิดระหว่างรับชม
“ความเป็นผู้หญิง ไม่ใช่ฉันคนเดียว มันมีคนอื่นด้วย”
ไม่เพียงแค่เรื่องของ “ผู้หญิง” แต่ประเด็นนี้ยังพูดถึงผู้คนในสังคมที่หลากหลาย เป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามแบบกลับไปกลับมา ทำให้ผู้คนได้ลงลึกในรายละเอียดและค้นพบความหลากหลายในสังคมที่สลับซับซ้อน
คล้ายกันกับผู้หญิงในห้องสีเหลืองที่เริ่มเห็นคนอื่นนอกเหนือจากตัวเอง