ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


สุเมรุจักรวาล #๓ เขาพระสุเมรุ VS ยอดเอเวอเรสต์

ความรู้ว่าด้วย “สุเมรุจักรวาล” ถือเป็น “ความรู้พื้นฐาน” ในหมู่ “ผู้มีการศึกษา” ของสังคนไทยภาคกลางแต่โบราณ อย่างใน “บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน” เมื่อขุนแผนลอบขึ้นเรือนขุนช้าง แล้วบุกเข้าไปในห้องนอน พบม่านปักฝีมือนางวันทองที่แขวนกั้นห้องอยู่ถึงสามชั้น ขุนแผนชมม่านแล้วเอาดาบฟันขาดไปทีละชั้นๆ ด้วยความแค้นใจจนล่วงเข้าไปถึงที่นอนของขุนช้างกับนางวันทอง

ในบทเสภาพรรณนาม่านชั้นแรกไว้ว่าปักเป็นรูปเขาพระสุเมรุและสัตตบริภัณฑ์

“……………………………..        อร่ามรูปพระสุเมรุภูผา               
วินันตกหัศกันเป็นหลั่นมา การวิกอิสินธรยุคุนธร”

ด้วยคำกลอนแค่สองวรรค กวีสามารถออกนามสัตตบริภัณฑ์ คือทิวเขาวงแหวนที่โอบล้อมรอบเขาพระสุเมรุได้ถึงห้าชั้นจากจำนวนทั้งหมดเจ็ดชั้น ได้แก่ เขายุคนธร อิสินธร กรวิก สุทัส เนมินธร วินตกะ และอัสกรรณ

แต่เพียงอาจใช้ตาม “ภาษาปาก” จึงต่างไปจากชื่อในคัมภีร์บ้าง เช่น หัศกัน (อัสกรรณ) หรือการวิก (กรวิก)

คัมภีร์โลกศาสตร์ทุกฉบับบรรยายไว้ตรงกันว่า เขาพระสุเมรุสูงขึ้นไปในอากาศ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ และหยั่งลึกลงในมหาสมุทรอีก ๘๔,๐๐๐ โยชน์เท่ากัน

ส่วนเขาสัตตบริภัณฑ์ที่ล้อมรอบอยู่แต่ละชั้น มีความสูงลดหลั่นลงไปครึ่งหนึ่งของชั้นก่อนหน้า

เขายุคนธร ภูเขาวงแหวนชั้นแรก จึงสูง ๔๒,๐๐๐ โยชน์ หรือครึ่งหนึ่งของเขาพระสุเมรุ

ถัดมาคือเขาอิสินธร สูงครึ่งหนึ่งของยุคลธร คือ ๒๑,๐๐๐ โยชน์

ส่วนเขากรวิก สุทัสสนะ เนมินธร วินันตกะ แต่ละชั้นก็เป็นครึ่งหนึ่งของชั้นก่อนหน้าตามลำดับลงมา จนถึงทิวเขาสัตตบริภัณฑ์ชั้นสุดท้าย คือเขาอัสสกรรณ สูง ๖๕๖ โยชน์กับอีก ๒,๐๐๐ วา

ความสูงหรือขนาดของสิ่งต่างๆ ตามที่ระบุในคัมภีร์โลกศาสตร์ ล้วนมีขนาดใหญ่โตมโหฬารอย่างยิ่ง อันเป็นเครื่องแสดงระบบความคิดและจินตนาการสุดขีดของคนโบราณ ซึ่งหากคนสมัยใหม่ไปคิดคำนวณเอาจริงเอาจังนักก็อาจหงุดหงิดใจโดยไม่จำเป็น

เช่นถ้าคิดตามมาตราชั่งตวงวัดแบบไทย ๒ คืบเป็น ๑ ศอก ๔ ศอกเป็น ๑ วา ๒๐ วาเป็น ๑ เส้น ๔๐๐ เส้น เป็น ๑ โยชน์ แล้วเทียบตามที่ระบุไว้ใน พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ ว่า ๑ ศอก เท่ากับ ๕๐ เซนติเมตร ๑ วา คิดเป็น ๒ เมตร ๑ เส้นเป็น ๔๐ เมตร และ ๑ โยชน์เป็นระยะทาง ๑๖ กิโลเมตรแล้ว ถึงหากว่าเขาพระสุเมรุเป็น “อุปมา” ของยอดเขาเอเวอเรสต์ที่ตั้งอยู่ทางเหนือของชมพูทวีป หรืออนุทวีปอินเดียจริง แต่เมื่อคำนวณออกมา ความสูง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ของเขาพระสุเมรุ เทียบเท่ากับ ๑,๓๔๔,๐๐๐ กิโลเมตร หรือคิดเป็นกว่า ๑ แสน ๕ หมื่นเท่าของเอเวอเรสต์ ซึ่งสูง ๘,๘๘๔ เมตร เลยทีเดียว

ในงานช่างโบราณของไทย เช่นจิตรกรรมฝาผนัง หรือลายรดน้ำบนตู้พระธรรม นิยมแสดงภาพเขาพระสุเมรุและเขาสัตตบริภัณฑ์ ในลักษณะภาพตัดขวาง คือแสดงเขาพระสุเมรุตรงกลางเป็นแท่งที่สูงที่สุด โดยมีภูเขาบริวารคือสัตตบริภัณฑ์ สูงลดหลั่นกันลงมาขนาบสองข้างตามจังหวะที่เห็นงาม โดยช่างหมายเอาว่า แท่งเขาด้านซ้ายขวาที่สูงเท่ากันนั้น หมายถึงภูเขาลูกเดียวกันที่อ้อมวนโอบอยู่โดยรอบ แต่ถูกตัดผ่าให้เห็นพอเป็นไอเดีย ซึ่งอาจไม่เคร่งครัดนัก บางที่ใส่ครบทั้งเจ็ดชั้น แต่อีกหลายแห่งก็ขาดๆ เกินๆ ไปบ้าง

วิธีแสดงภาพทำนองนี้อาจเริ่มขึ้นในงานพุทธศิลป์ของรัฐโบราณในประเทศพม่า ก่อนจะแพร่หลายมาสู่เมืองไทย

เนื่องจากเสภา “ขุนช้างขุนแผน” แต่เดิม ไม่ได้มาพร้อมภาพวาดประกอบ จึงไม่รู้ว่ากวีนึกถึงภาพลวดลายบนม่านแบบไหนกันแน่ แต่ถ้าให้เดาก็คิดว่าม่านปักฝีมือนางวันทอง ควรแสดงภาพสุเมรุจักรวาลในลักษณะเดียวกับภาพจิตรกรรมนั่นเอง

mount meru