อาจารย์โชติ กัลยาณมิตร นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมผู้ล่วงลับ เคยเสนอทฤษฎีไว้ในหนังสือ “ลักษณะไทย ภูมิหลัง” ถึงความเกี่ยวข้องระหว่างสถูปเจดีย์กับคติจักรวาล

stupa finial

จากความพยายาม “อ่านงานของบุรพาจารย์ทางช่างให้ออก ว่าท่านมีความคิดและมีแนวปรัชญาอย่างไร” นำไปสู่ข้อเสนอของอาจารย์โชติว่า จากการที่องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “ปล้องไฉน” คือส่วนยอดทรงกรวยของเจดีย์ทรงระฆังหรือเจดีย์ทรงลังกาที่ควั่นแบ่งเป็นวงแหวนซ้อนๆ กันขึ้นไป มีจำนวนชั้นที่พบมากคือ ๒๑/๒๗/๒๘ และ ๓๒ ดังนั้น แท้จริงแล้ว นั่นอาจเป็น “จำนวนของชั้นภูมิ” เช่น

๒๑ มาจากผลรวมของชั้นรูปพรหมภูมิ (โสฬสพรหม ๑๖)+อรูปพรหมภูมิ (๔)+นิพพาน (๑)

๒๗ คือการเพิ่มเทวภูมิ (กามาพจร ๖) เข้ามา

๒๘ รวมเอาชั้นมนุษยภูมิ(๑) ด้วย

๓๒ เป็นตัวเลขที่เกิดจากการผนวกด้วยจำนวนชั้นอบายภูมิ (๔) ฯลฯ

ดังนั้น สำหรับอาจารย์โชติแล้ว เจดีย์ก็คือรูปจำลอง หรือ “โมเดล” ของจักรวาลนั่นเอง

wat arun indra

อีกตัวอย่างหนึ่งของสถูปที่สามารถถอดรหัสตีความได้อย่างชัดเจน ว่าเป็นการจำลองจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุก็คือพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานคร

แม้ในรายละเอียดปลีกย่อย นักวิชาการหลายท่านอาจตีความแตกต่างกันไปบ้าง แต่ในภาพรวมแล้ว ทุกท่านล้วนเห็นพ้องต้องกันว่าปรางค์ประธานนั้นสร้างขึ้นเป็นภาพจำลองของเขาพระสุเมรุแน่ๆ

ดังเห็นได้จากซุ้มด้านบนอันมีรูปเทพทรงช้างสามเศียรอยู่ทั้งสี่ทิศ

ช้างสามเศียรในศิลปะไทย แท้จริงแล้วคือ “รูปย่อ” ในการแสดงภาพช้างเอราวัณ เทวพาหนะของพระอินทร์ ซึ่งตามคัมภีร์จะมีถึง ๓๓ เศียร แต่ในเชิงช่างก็มัก “ลดรูป” ด้วยการแสดงไว้ให้เห็นพอ “เป็นเค้า” เพียงสามเศียร อาจเพราะการแสดงภาพ ๓๓ เศียร รุงรังเกินไป ทำให้งามได้ยาก

ดังนั้น ส่วนยอดพระปรางค์จึงหมายถึงตำแหน่งแห่งที่ของพระอินทร์ ซึ่งก็คือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือ “สุทัศนะนคร” บนยอดเขาพระสุเมรุ ดังนั้นจึงตีความต่อเนื่องไปได้อีกว่าฐานซ้อนชั้นจำนวนมากที่สูงลดหลั่นกันขึ้นไปจึงย่อมมีนัยความหมายแทนแท่งเขาพระสุเมรุ

พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามมีประวัติว่าแต่เดิมตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ตรงนี้คือ “วัดแจ้ง” ซึ่งก็มีพระปรางค์องค์หนึ่งเป็นประธานอยู่แล้ว เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดนี้ขึ้นใหม่ พร้อมกับสร้างเสริมพระปรางค์ใหม่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดอรุณราชธาราม” การบูรณะต่อเนื่องมาถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โดยมีเกร็ดว่า ในช่วงปลายรัชสมัย โปรดเกล้าฯ ให้นำมงกุฎที่หล่อขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องทรงของพระพุทธรูปทรงเครื่องที่เป็นประธานในพระอุโบสถ วัดนางนอง มาติดต่อไว้บนยอดนภศูลของพระปรางค์องค์นี้ การบูรณะสำเร็จลงในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งได้พระราชทานนามใหม่แก่วัด เป็น “วัดอรุณราชวราราม”

เมื่อพิจารณาจากการที่มงกุฎบนยอดนภสูลเป็นเครื่องทรงของพระพุทธรูป ก็อาจตีความได้ว่า มงกุฎเหนือพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ควรเป็นสัญลักษณ์ที่สอดคล้องกับการเป็นรูปจำลองเขาพระสุเมรุและสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วย ฉะนั้น มงกุฎนี้จึงน่าจะเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นที่ประดิษฐานพระเมาลีของพระโพธิสัตว์ ซึ่งพระอินทร์ไปอัญเชิญมานั่นเอง