รสแผ่นดิน - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 78

ในที่สุด เมื่อไฟประลัยกัลป์แผดเผาจักรวาลจนมอดมลายสิ้นแล้วจึงเหลือเพียงความว่างเปล่า

“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” บรรยายว่า

“อากาศเบื้องต่ำแลอากาศเบื้องบนนั้นตลอดโล่งเป็นลานอันเดียวกัน มืดมหันธการนั้นนักหนา…มืดอยู่นานถึงอสงไขยกัปหนึ่ง”

แล้วจากนั้นฝนก็ตก

ทีแรกก็โปรยปรายเป็นละอองฝน ก่อนที่เม็ดฝนจะหนาเม็ดขึ้นเรื่อยๆ

“ไตรภูมิพระร่วง” ลำดับขนาดไว้ว่าเริ่มจากฝนเม็ดเท่าดินธุลี (ฝุ่น) แล้วใหญ่ขึ้นเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด เมล็ดถั่ว ลูกมะขามป้อม ลูกมะขวิด แล้วโดดไปเป็นเม็ดฝนไซส์เท่าควาย เท่าช้าง เท่าบ้าน ขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆ จนถึง ๑ อุสุภ (๓๕ วา) ไปจนถึง ๒,๐๐๐ วา จากนั้นกลายเป็น ๑ โยชน์ (๘,๐๐๐ วา) ๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙-๑๐-๑๐๐-๑,๐๐๐-๑๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ โยชน์

ฝนตกไม่หยุดไม่หย่อนกระทั่งน้ำท่วมซากจักรวาลเดิมให้กลายเป็นทะเลผืนเดียว ตรงที่ไฟไหม้ทั้งหมดถูกน้ำท่วมจนเต็มตลอดจนถึงชั้นพรหมโลก ลมพัดอุ้มน้ำนั้นไว้จนเป็นก้อนกลมเหมือนหยาดน้ำบนใบบัว

เวิ้งว้างมืดมิดไปทุกหนแห่ง

“อัคคัญสูตร” ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค กล่าวถึงความเป็นไปในวิวัฒนาการขั้นต่อมาของโลกไว้ว่า เมื่อพื้นที่ทั้งหมดในจักรวาลกลายเป็นทะเลใหญ่ท่วมถึงกันหมดแล้ว ในที่สุด ลมที่พัดไปมาก็ทำให้น้ำค่อยๆ แห้งงวดลงไป สิ่งที่ก่อนหน้านี้ถูกทำลายล้างไปโดยไฟประลัยกัลป์ก็ค่อยๆ ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้ง ไล่ตั้งแต่สวรรค์ชั้นพรหมลงมา

แล้วจึงเกิดมี “รสแผ่นดิน” ลอยขึ้นมาเป็นแผ่นเหนือผิวน้ำ ท่านว่าเหมือน “ฝ้าน้ำนม” ที่ลอยอยู่บนน้ำนมที่เคี่ยวในกระทะให้งวดแล้วทิ้งไว้ให้เย็น รสแผ่นดินนี้มีสีงาม กลิ่นหอม รสดี เหมือนกับเนยใส เนยข้น หรือน้ำผึ้งอย่างดี

เวลานั้นมี “สัตว์” เผ่าพันธุ์หนึ่งจุติลงมาจากอาภัสสรพรหมซึ่งยังเหลืออยู่ เพราะไฟประลัยกัลป์ไหม้ขึ้นไปไม่ถึง

สัตว์เหล่านี้มาจากสวรรค์ชั้นพรหมจึงปราศจากเพศ และไม่ต้องการอาหารเพราะอยู่ได้ด้วยปีติ มีรัศมีแผ่ซ่านรอบกาย สัญจรไปมาด้วยการเหาะเหินเดินอากาศ จึงสามารถอาศัยอยู่ในจักรวาลที่มืดมิดและมีแต่เวิ้งน้ำปกคลุมได้ (ฟังดูคล้ายๆ หิ่งห้อย!)

บังเอิญเหลือเกินว่ามีสัตว์ตนหนึ่งเหาะผ่านมาพบ “รสแผ่นดิน” เข้า เกิดอยากรู้อยากเห็น เพราะกลิ่นช่างหอมหวนยวนใจเหลือเกิน จึงลองร่อนลงมาเอานิ้วจิ้มแล้วเข้าปากชิมดู เกิดความรู้สึกซาบซ่าน ว่าสิ่งนี้อร่อยดี อยากกินอีกๆๆ

พอเห็นตัวอย่าง สัตว์ตนอื่นๆ จึงลองทำตาม พอติดใจในรสชาติแล้วบ้างถึงขนาดพยายามเอามือกอบ “รสแผ่นดิน” มากินให้ได้ทีละมากๆ โดยขยำปั้นกินเป็นคำๆ

ยิ่งกินเข้าไปมากเท่าใด รัศมีในกายก็ค่อยๆ หรุบหรู่ลงไปเท่านั้น

สุดท้ายรัศมีก็ดับสนิทหมดสิ้น โลกตกอยู่ในความมืดมิด สัตว์นั้นร้องขอแสงสว่าง จึงบังเกิดพระอาทิตย์พระจันทร์และดวงดาวขึ้น

เมื่อบริโภคกันมากเข้าๆ รสแผ่นดินก็หมดไป มี “ง้วนดิน” มาแทน ท่านว่าง้วนดินนั้นมีรูปร่างเหมือนเห็ด มีสีกลิ่นรสเหมือนเนยหรือน้ำผึ้งอีก

“ง้วน” คำนี้ ไม่แน่ใจว่าเป็นภาษาอะไรแน่ พจนานุกรมปัจจุบันเก็บไว้ในหลายความหมาย เป็นชื่อต้นไม้ก็มี แปลว่ายาพิษก็ได้ แต่เฉพาะความหมายที่ตรงกับที่ใช้ในคำว่า “ง้วนดิน” ก็คือ “เรียกโอชะของบางสิ่ง เช่น ง้วนดิน คือโอชะของดิน ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉัยว่ามีรสหวาน”

สรุปก็คือพจนานุกรมไม่ช่วยให้รู้อะไรเพิ่มขึ้นเลย (ฮา)