ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


chandra

งานช่างไทย มักแสดงรูปพระจันทร์คู่กับพระอาทิตย์ โดยอยู่ตรงข้ามกัน เช่นที่หน้าบัน (หรือที่บางท่านก็สะกดว่า หน้าบรรพ) ของพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ ด้านตะวันออกทำเป็นรูปพระอาทิตย์ ด้านตรงกันข้ามคือด้านตะวันตกก็ทำเป็นรูปพระจันทร์

ช่างไทยมักนิยมแสดงภาพพระจันทร์ด้วยวงกลมสีเหลืองหรือสีขาว ข้างในมีราชรถเทียมม้า มีพระจันทร์ประทับอยู่ในมณฑปบนราชรถ บางทีก็อาจมีกระต่ายนั่งมาท้ายรถด้วย เพื่อยืนยันอีกชั้นหนึ่งว่าเป็นรูปพระจันทร์ เพราะอินเดียโบราณ แลเห็นว่าบนดวงจันทร์มีรูปกระต่ายอยู่

ในอารยธรรมตะวันออกทั้งอินเดีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ต่างตีความเงาดำที่เห็นบนดวงจันทร์ ซึ่งที่จริงก็คือหลุมอุกาบาตตะปุ่มตะป่ำ ว่ามองเป็นเป็นดวงจันทร์ ทางจีนนั้น บางตำนานว่าเป็นรูปกระต่ายตำข้าวหรือโขลกบดยาอายุวัฒนะ เข้ามาคล้ายกับทางไทยเราเองแต่โบราณ ที่บางคนก็ว่ามองเห็นยายกะตาช่วยกันตำข้าวบนดวงจันทร์

แล้วทำไมดวงจันทร์ถึงมีกระต่าย ?

ในฝั่งจีนเขาว่ากระต่ายบนนั้นเป็น “กระต่ายทรงเลี้ยง” ของเทพีฉางเอ๋อ เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ ส่วนทางฝั่งอินเดียมีนิทานชาดก คือเรื่องเล่าอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ที่เล่าเรื่องว่าเหตุใดจึงมีกระต่ายอยู่บนดวงจันทร์ไว้ด้วย

นั่นคือเรื่องสสชาดก (สะ-สะ-ชา-ดก) เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกระต่าย

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังมีกระต่ายโพธิสัตว์อาศัยอยู่ในป่า มีมิตรสามตัว ได้แก่ ลิง สุนัขจิ้งจอก และนาก ทั้งสี่เป็นสัตว์มีศีลมีธรรม วันหนึ่งกระต่ายมองดูดวงจันทร์ก็รู้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นวันอุโบสถ จึงชักชวนสหายสัตว์มารักษาศีล และเตรียมอาหารไว้แจกจ่ายเป็นทาน สัตว์อื่นๆ ต่างหาอาหารมาได้ เว้นแต่กระต่ายซึ่งตั้งจิตว่าจะอุทิศเลือดเนื้อเป็นทาน พระอินทร์หยั่งรู้ในกุศลจิตจึงลงมาทดสอบดูด้วยการปลอมเป็นพราหมณ์ เดินภิกขาจารขออาหารจากนาก สุนัขจิ้งจอก และลิง ก็ได้สมดังคำขอ จนเมื่อไปขอจากกระต่ายบ้าง กระต่ายได้ยินดังนั้นก็ดีใจ ประกาศว่าจะอุทิศร่างกายเป็นอาหาร ขอให้ท่านพราหมณ์ก่อกองไฟขึ้นเถิด แล้วจึงกระโดดลงในไฟ แต่แล้วพบว่าไฟนั้นกลับมีแต่ความเยือกเย็น พร้อมกับที่พระอินทร์คืนสู่ร่างเดิมพร้อมกล่าวอนุโมทนาว่าตนเองมาลองใจดูเท่านั้น และว่าโลกจะได้รับรู้คุณงามความดีของกระต่ายสืบไป โดยไปทำรูปกระต่ายไว้บนดวงจันทร์ให้ทุกคนได้เห็น

บนดวงจันทร์จึงมีรูปกระต่ายนับแต่นั้นมา

คำว่ากระต่าย ในภาษาบาลี คือ สส หรือ ศศ ในรูปของสันสกฤต จึงเป็นที่มาของคำเรียกพระจันทร์ เช่น ศศิธร คือ ผู้ทรงไว้ซึ่ง “กระต่าย” นั่นเอง