๏ สั่งให้เลือกสรรค์กัลยา
สิบห้าโสภา
พร้อมหน้ากันโรงพิธี
๏ สุวกำนำกัลยาณี
ถวายอัญชุลี
ดุษฎีมั่วสุมชุมกัน
๏ ปางพระสี่องค์ทรงธรรม์
อ่านมนต์จักรผัน
นางนั้นก็เป็นผงคลี

“เฉลิมไตรภพกลอนสวด” ของพระยาราชภักดี (ช้าง)

มหาทักษา ๘ พระจันทร์
(ในภาพคือปูนปั้นรูปพระจันทร์ทรงม้า ฝีมือช่างเมืองเพชรฯ ยอดซุ้มประตูโถงชั้นโลกมนุษย์ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ จังหวัดสมุทรปราการ)

ตามความในคัมภีร์เฉลิมไตรภพและมหาทักษา พระอิศวรทรงสร้างพระจันทร์จากนางฟ้า ๑๕ องค์ บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีขาวนวล พรมด้วยน้ำอมฤต ได้เทพบุรุษ ผิวกายสีขาวนวล ทรงอาชา (ม้า) เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออก สัญลักษณ์เลข ๒ มีกำลังพระเคราะห์เป็น ๑๕

ส่วน “สุวกำ” ที่ออกนามอยู่ใน “เฉลิมไตรภพกลอนสวด” คือเทพบริวารองค์หนึ่งที่เป็นผู้จัดแจงกิจการสถาปนาเทวดานพเคราะห์ให้แก่มหาเทพทั้งสี่ ชื่อ “สุวกำ” ในที่นี้ คงเป็นคำภาษาปากของ “พระวิสสุกรรม” นายช่างในหมู่เทวดา อย่างที่ช่างไทยแต่ก่อนนับถือกันเป็นครูบาอาจารย์วิชาช่างโดยมีนามที่เป็นภาษาปากอีกชื่อหนึ่งคือ “ครูเพชรฉลูกัณฑ์”

“เฉลิมไตรภพกลอนสวด” เล่าด้วยว่าเมื่อเสร็จการชุบเหล่าเทวดานพเคราะห์ขึ้นแล้ว พระมหาเทพยังได้ประทานคำทำนายชะตาชีวิตของหญิงชายที่เกิดในแต่ละวันไว้ให้ด้วย ผู้เกิดวันจันทร์ มีคำทำนายดังนี้

๏ แม้นคลอดถูกวันจันทรา
ร่างกายโสภา
ทั้งหญิงทั้งชายหลายขวัญ
๏ ยังเยาว์หัวเน่าเปื่อยครัน
โตขึ้นหายพลัน
มีจนฝูงคนเมตตา
๏ อยู่ไหนมิได้อยู่ช้า
มักโกรธโกรธา
สามวันเจ็ดวันพลันหาย
๏ มิได้อาฆาตมาดหมาย
ทำอันตราย
ด้วยกายจิตต์ไม่คิดพาล