ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


wat rakhang

ประวัติของมฆะมาณพ หรือ “นายมฆะ” แต่เมื่อยังเป็นมนุษย์นั้น อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านอจลคาม (อะ-จะ-ละ-คาม) เขาเป็นคนดี ชอบทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น คอยเอาจอบไปถากพื้นที่ให้ราบเรียบให้เพื่อนบ้านอาศัยทำงานต่างๆ พอถึงหน้าหนาวก็ก่อกองไฟให้คนทั่วไปได้อาศัยผิงไฟ ถึงหน้าร้อนก็หาน้ำหาท่ามาตั้งไว้ ให้คนที่ผ่านทางได้อาบกิน

ต่อมาเมื่อมฆะมาณพทำโครงการปรับปรุงถนนในหมู่บ้านไว้ให้คนสัญจรไปมาสะดวก ก็เลยได้พรรคพวกเพื่อนฝูงผู้ชายในหมู่บ้านนั้นมาร่วมแรงอีก ๓๒ คน นับรวมตัวเขาเองเป็น ๓๓ อันเป็นสมาชิกก่อตั้งของ “คณะสามสิบสาม” หรือที่ต่อไปจะเรียกว่า คสส.

เมื่อผู้ใหญ่บ้านเห็นคนกลุ่มนี้มีกำลังแรงงานชายฉกรรจ์ในมือ จึง “ขอแรง” ให้ไปออกล่าสัตว์จับปลาเอามาให้ตนกินบ้าง แต่แก๊งของมฆะมาณพปฏิเสธ ผู้ใหญ่บ้านจึงกลั่นแกล้งไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน ว่าคนเหล่านี้ซ่องสุมกำลังเป็นโจรผู้ร้าย เป็นเสี้ยนหนามแก่แผ่นดิน กษัตริย์จึงให้ทหารหลวงมาจับตัวเอาไปประหารด้วยการให้ช้างเหยียบ

ด้วยอำนาจแห่งเมตตาบารมี ไม่ว่าจะทำอย่างไร ช้างเพชรฆาตก็ไม่กล้าเดินเข้าใกล้ สุดท้ายพระเจ้าแผ่นดินเกิดอัศจรรย์พระทัย จึงให้เรียกทั้ง ๓๓ คนไปสอบถาม เมื่อได้ความจริงจึงให้ คสส. ร่วมกันปกครองหมู่บ้านนั้นแทน พร้อมกับยกช้างเชือกนั้นแถมให้ด้วย

คสส. จึงคิดอ่าน “บุญใหญ่” ยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการสร้างศาลาขึ้นที่สี่แยกกลางหมู่บ้านให้เป็นที่พักแก่คนเดินทางและคนไร้ที่พึ่ง โดยแบ่งพื้นที่เป็นสามโซน มีทั้งสำหรับคนทั่วไป คนยากไร้เข็ญใจ กับผู้เจ็บป่วย โดยพื้นศาลานั้นมีไม้กระดานเรียบ ๓๓ แผ่น ครบตามจำนวนคนของ คสส. ช้างแสนรู้ที่ได้รับพระราชทานจะคอยเฝ้าดูไว้ หากมีใครมาลงนั่งที่พื้นกระดานของผู้ใด ก็จะเป็นธุระนำพาคนผู้นั้นไปยังบ้านของผู้รับผิดชอบกระดานแผ่นนั้น ให้จัดหาข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงดู

มฆะมาณพยังปลูกต้นทองหลางไว้ใกล้ศาลาอีกต้นหนึ่ง พร้อมตั้งแผ่นหินเป็นแท่นที่นั่งไว้ใต้ต้นทองหลาง ให้คนที่ผ่านทางได้อาศัยร่มไม้พักผ่อนหย่อนใจ

ด้วยกุศลกรรมที่ได้กระทำมาทั้งหมดนี้ เมื่อล่วงลับไปแล้ว ทั้งมฆะมาณพกับผองเพื่อนทุกคนใน คสส. จึงได้ไปเกิด ณ สวรรค์บนยอดเขาพระสุเมรุ

เพื่อนที่เป็นนายช่างสร้างศาลาก็ไปเกิดเป็นพระวิสสุกรรม หรือพระวิษณุกรรม เทพเจ้าแห่งการช่าง

แม้แต่ช้างพระราชทานที่ได้ร่วมในกิจกุศลก็ขึ้นสวรรค์ไปเกิดเป็นเอราวัณเทพบุตร

ที่วัดระฆังโฆษิตาราม ฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังของกรุงเทพฯ ข้างๆ พระอุโบสถ มีหอพระไตรปิฎกของเก่า เป็นเรือนไม้ฝากระดานสองหลังแฝด มีชานแล่นกลาง เชื่อว่าเป็นพระนิเวศเดิม คือบ้านเดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เมื่อครั้งยังเป็นขุนนางในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อได้ขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงให้รื้อมาปลูกสร้างถวายเป็นหอพระไตรปิฎกของวัดระฆังฯ

บนฝาผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมเขียนไว้ ซึ่งย่อมมาเขียนเอาเมื่อรื้อมาสร้างเป็นหอไตรฯ แล้ว เขียนเรื่องมฆะมาณพไว้ด้วย ยังมีภาพเล่าเรื่องตอนมฆะมาณพสร้างศาลาอย่างที่เล่ามานี้ให้เห็นชัดเจน ว่ากันว่าเป็นฝีมือ “พระอาจารย์นาค” พระภิกษุช่างเขียนผู้มีชื่อเสียงยุคต้นกรุงเทพฯ

นักวิชาการสันนิษฐานว่า ภาพเรื่องนี้ที่นี่จึงเป็นเหมือนอุปมาถึงกุศลกรรมที่รัชกาลที่ ๑ ทรงบำเพ็ญมาแต่เดิม อันส่งผลให้ได้ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินในเวลาต่อมา