fireaus01

ไฟป่ายามกลางคืนในรัฐนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีเมื่อหลายปีก่อน (ภาพ 123rf)

fireaus02

ป้ายเตือนอันตรายจากไฟป่าในเขตเทือกเขาบลูเมาเท่น ในออสเตรเลียมีไฟป่าเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ระยะหลังสังเกตได้ว่าไฟป่าเกิดถี่และรุนแรงขึ้นจนป่าไม้ฟื้นฟูตัวเองไม่ทัน (ภาพ 123rf)

fireaus03

ไฟป่าลุกไหม้ประชิดที่อยู่อาศัยและถนนหลวง (ภาพ 123rf)

 

“มาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ ม.๔ อาศัยอยู่ที่เมืองเมลเบิร์น รัฐวิคตอเรีย ยี่สิบปีที่ผ่านมามีไฟป่าเกิดขึ้นทุกปี หนักสุดก่อนหน้านี้เรียกว่า Black Saturday จำได้ว่าท้องฟ้ากลายเป็นสีส้ม พระอาทิตย์ดวงกลมๆ ก็กลายเป็นสีส้มแสด”
สรรพสิทธิ์ มณีสุวรรณ รำลึกเหตุการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่ของออสเตรเลียเมื่อปี ค.ศ.๒๐๐๙ พื้นเพเขาเป็นคนปักษ์ใต้เดินทางมาอาศัยอยู่กับครอบครัวที่ออสเตรเลียตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๐๑

“Black Saturday” หรือ “The Black Saturday bushfires” ที่เขากล่าวถึงเป็นชื่อเรียกชุดไฟป่าที่เกิดขึ้นในรัฐวิคตอเรียเมื่อช่วงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ – ๑๔ มีนาคม ปี ค.ศ.๒๐๐๙ ไฟไหม้ลุกลามบนพื้นที่ประมาณ ๔๕๐,๐๐๐ เฮกตาร์ หรือ ๒,๘๑๒,๕๐๐ ไร่ มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๑๗๓ คน ผู้ประสบภัยหลายคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ถึงบัดนี้สาเหตุของไฟป่ายังไม่ยืนยันแน่ชัด คาดว่าอาจเกิดจากฟ้าผ่า กระแสไฟฟ้าขัดข้อง เครื่องจักรมีปัญหา หรือลอบวางเพลิง

เหตุผลที่ชาวออสซี่จดจำไฟป่าครั้งนั้นในชื่อ “วันเสาร์สีดำ” เนื่องจากวันเสาร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ เป็นวันที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุดและมีผู้บันทึกภาพความเสียหายไว้ได้จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ในสายตาผู้ที่เดินทางไปตั้งรกรากที่ออสเตรเลียร่วมยี่สิบปี สรรพสิทธิ์ประเมินว่าไฟป่าเมื่อสิบปีก่อนนี้เทียบไม่ได้กับไฟป่าที่กำลังลุกไหม้ผืนป่าออสเตรเลียในปัจจุบัน

“ไฟป่าเมื่อปี ค.ศ.๒๐๐๙ ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องภายในรัฐ แต่ครั้งนี้ไฟไหม้อย่างหนัก อย่างน้อยๆ สองรัฐติดต่อกัน คือ รัฐวิกตอเรีย กับ รัฐนิวเซาท์เวลส์ เรียกว่าเป็นไฟป่าข้ามเขตพรมแดน แล้วยังมีไฟป่าเกิดขึ้นในรัฐอื่นๆ ตามมาอีก”

นอกจากสภาพความแห้งแล้ง คลื่นความร้อนในหลายภูมิภาค มีงานวิชาการยืนยันว่าไฟป่าที่เกิดในพื้นที่หนึ่ง สามารถทำให้เกิดไฟไหม้ได้ในอีกพื้นที่หนึ่งที่อยู่ห่างออกไปและไม่ได้มีอาณาเขตติดต่อกัน โดยควันไฟจากไฟป่าจะลอยตัวขึ้นบนท้องฟ้า เมื่อกระสบกับอากาศเย็นจะทำให้เมฆก่อตัว กลายเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง เมื่อถูกลมพัดกรรโชกไปยังพื้นที่อื่น บางพื้นที่อาจเกิดพายุฝน และฟ้าผ่า หากฟ้าผ่าลงบริเวณที่มีใบไม้ กิ่งไม้แห้งจำนวนมากก็ทำให้เกิดไฟไหม้ ขยายวงต่อไปอีก

สรรพสิทธิ์ วัย ๓๔ ปี พยายามอธิบายให้เห็นสภาพของพื้นที่เกิดไฟป่าของออสเตรเลียโดยเปรียบเทียบกับจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย

“เมืองเมลเบิร์นที่ผมอยู่ไม่ได้เกิดไฟป่า ผมอาศัยอยู่ในละแวกตัวเมือง พื้นที่เกิดเหตุอธิบายง่ายๆ สมมุติว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองเมลเบิร์น พื้นที่เกิดไฟป่าอยู่บ้างจะเป็นปริมณฑลอย่างแถบสมุทรปราการ สมุทรสงคราม จังหวัดที่โดนหนักที่สุดอยู่ประมาณสระบุรี หรือบางส่วนของฉะเชิงเทรา แล้วโดยรอบลงมาข้างล่าง ประมาณชลบุรีก็เริ่มมีไฟป่าเข้า ล่าสุดเมืองที่ชื่อว่า แฟรงค์สตัน ซึ่งเป็นเมืองริมทะเลแต่อยู่ในเขตปริมณฑล มีรถไฟขนส่งมวลชนในเมืองสายที่ยาวที่สุดไปถึงก็เจอไฟป่า รวมทั้งส่วนที่เรียกว่า South GippsLand ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้”

fireaus04

โคอาล่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเฉพาะถิ่นที่ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตบนต้นไม้ เคลื่อนไหวเชื่องช้า เมื่อไฟป่ามาถึงคือหายนะ ขณะที่จิงโจ้ กวาง หรือกระต่ายป่ายังสามารถวิ่งหนีจากเปลวเพลิงได้ (ภาพ 123rf)

fireaus05โคอาล่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเฉพาะถิ่นที่ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตบนต้นไม้ เคลื่อนไหวเชื่องช้า เมื่อไฟป่ามาถึงคือหายนะ ขณะที่จิงโจ้ กวาง หรือกระต่ายป่ายังสามารถวิ่งหนีจากเปลวเพลิงได้ (ภาพ 123rf)

fireaus06

ผลพวงของไฟป่าทำให้เกิดปัญหา PM2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และทำให้ทัศนวิสัยเลวร้าย

กลางปี พ.ศ.๒๕๖๒ หรือ ค.ศ.๒๐๑๙ คงไม่มีใครคาดคิดว่าเหตุการณ์ไฟป่าที่มีจุดเริ่มต้นในรัฐนิวเซาท์เวลส์ทางตะวันออกของออสเตรเลียจะลุกลามบานปลายถึงต้นปี พ.ศ.๒๕๖๓ หรือ ค.ศ.๒๐๒๐ หลังปีใหม่แล้วรัฐบาลออสเตรเลียก็ยังไม่สามารถควบคุมไฟได้ ในทางตรงข้ามดูเหมือนพระเพลิงจะโหมแรงขึ้นทุกขณะ

ตลอดปี พ.ศ.๒๕๖๒ หลายภูมิภาคของโลกเผชิญเหตุการณ์ไฟป่า ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือของประเทศไทย ผืนป่าแอมะซอนในทวีปอเมริกาใต้ ประเทศอินโดนีเซียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่อยไปถึงแถบไซบีเรียของรัสเซีย แต่คงไม่มีพื้นที่ใดจะได้รับความเสียหายมากเท่าออสเตรเลียที่ไฟป่ากินเวลายาวนานข้ามปี

มหันตภัยไฟป่าของออสเตรเลียครั้งนี้เริ่มขึ้นราวเดือนกรกฎาคม สันนิษฐานว่าจุดเริ่มต้นเกิดจากฟ้าฝ่า ประกอบกับความแห้งแล้งรุนแรงที่รัฐนิวเซาต์เวลล์เผชิญมาสองปีติดต่อกัน ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยในหลายพื้นที่เพิ่มสูง สภาพอากาศอันร้อนระอุ ต้นไม้ใบไม้ที่ที่แห้งกรอบ ประกอบกับกระแสลมแรง ทั้งหมดนำมาสู่วิกฤติไฟป่า

อย่างไรก็ตาม สาเหตุของไฟป่าที่ว่าเกิดจากฟ้าผ่ายังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น เนื่องจากไฟป่าเกิดขึ้นด้วย 2 สาเหตุหลัก คือ จากธรรมชาติ และจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นอย่างหลัง

ในช่วงเริ่มต้นของไฟป่าออสเตรเลีย โลกและสังคมไทยเริ่มรับรู้ถึงปัญหาผ่านการนำเสนอข่าวหมีโคอาล่าถูกไฟป่าครอกตาย ช่วงเดือนพฤศจิกายนมีหมีโคอาล่าอาล่าตัวหนึ่งได้รับการช่วยชีวิตไว้ โดย โทนี โดเฮอร์ตี สุภาพสตรีคนหนึ่งขับรถผ่านจุดที่เกิดไฟป่า ได้ยินเสียงร้องโหยหวนจึงเสี่ยงชีวิตฝ่าควันเข้าไปช่วยโคอาล่า ใช้เสื้อห่อตัวมันออก แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล โคอาล่าตัวนี้มีอายุประมาณ ๑๔ ปี ถูกตั้งชื่อว่า “ลูอิส” แต่ไม่นานก็ไม่สามารถทนพิษบาดแผลไฟไหม้รุนแรงที่หน้าอก เท้าและหลายส่วนตามร่างกาย ทีมสัตว์แพทย์ตัดสินใจการุณยฆาตมันเนื่องจากพบว่าบาดแผลไฟไหม้ของมันไม่ดีขึ้น เหตุการณ์คลึงกันนี้ยังเกิดกับพื้นที่อื่นๆ ยกตัวอย่างเกษตรกรที่ตัดสินใจจบชีวิตสัตว์เลี้ยงของตนที่บาดเจ็บเพื่อไม่ให้มันทรมาน

การเดินทางของไฟป่าไม่ต่างอะไรกับมัจจุราช เมื่อมันมาถึงแล้วจากไป สิ่งที่หลงเหลือไว้คือร่องรอยความเสียหายของบ้านเรือน รถยนตร์ที่กลายเป็นซากไหม้ ไฟป่าไม่ใช่ทำลายแค่ทรัพย์สิน แต่ยังกลืนกินชีวิตคนและสัตว์ป่าจำนวนมาก โดยเฉพาะบรรดาสัตว์ที่เชื่องช้า

ผืนป่าออสเตรเลียเป็นที่อาศัยของโคอาล่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเฉพาะถิ่นที่ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตบนต้นไม้ เคลื่อนไหวเชื่องช้า เมื่อไฟป่ามาถึงคือหายนะของพวกมัน ในขณะที่จิงโจ้ กวาง หรือกระต่ายป่ายังสามารถวิ่งหนีจากเปลวเพลิงได้

ต่อมาในช่วงคริสมาสต์ มีข่าวนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการเดินทางไปพักผ่อนที่ฮาวายในช่วงที่สถานการณ์ไฟป่ากำลังเลวร้าย

สรรพสิทธิ์ มณีสุวรรณ ให้ความเห็นว่า “ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ไฟป่าลามมากระดับน่ากลัว เกิดคำถามว่าทำไมเขายังไปเที่ยวอยู่ แล้วมีอยู่วันหนึ่งนายกฯ ลงพื้นที่ จะไปจับมือผู้หญิงคนหนึ่งแต่เธอไม่อยากจับ นายกก็บังคับให้เธอจับมือ หลังจากปล่อยมือนายกฯ ก็หันหลังไป ทั้งๆ ที่ผู้หญิงกำลังพูดถึงปัญหา เรียกร้องความช่วยเหลือ การหันหน้าออกจากประชาชนที่กำลังร้องทุกข์อยู่ในออสเตรเลียหรือในระดับสากลเป็นการไม่ให้เกียรติคนที่กำลังเดือดร้อน

“จากเหตุการณ์นี้มีคนวิจารณ์ว่านักการเมืองหรือนายกฯ เวลารับฟังปัญหาประชาชน บางทีก็ต้องยืนทนให้เขาด่า ต้องยืนประจันหน้า ฝรั่งถือว่าการที่นายกฯ กล้าหันหน้าเข้าหาประชาชนตอนที่ประชาชนกำลังพูดถึงปัญหา เพื่อจะได้เอาปัญหาไปแก้ให้”

สกอตต์ มอริสัน นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียถูกตั้งข้อสังเกตมานานว่าเป็นนักการเมืองที่เพิกเฉยต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม

ในขณะที่ออสเตรเลียเป็นประเทศผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่ของโลก ครองสัดส่วนการค้าถ่านหินประมาณร้อยละ ๓๐ เฉพาะปี พ.ศ.๒๕๖๐ หรือ ค.ศ.๒๐๑๘ มียอดส่งออกถ่านหินสูงถึง ๒๓๘ ล้านตัน อุปสงค์หลักมาจากจีนและอินเดีย เมื่อไม่นานมานี้ ทางการในรัฐควีนส์แลนด์ก็เพิ่งอนุมัติการก่อสร้างเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ เปิดให้มีการเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากแอ่งถ่านหินแห่งใหม่

ในภาพรวมแล้วการส่งออกเชื้อเพลิงพลังงานของออสเตรเลีย ทั้งในรูปแบบของถ่านหินและก๊าซธรรมชาติทำให้ออสเตรเลียเป็นผู้ส่งออกไอเสียอันดับสามของโลก เป็นรองเพียงผู้ส่งออกน้ำมันอย่างรัสเซียและซาอุดิอารเบียเท่านั้น

fireaus08

fireaus07

ควันไฟจากออสเตรเลียลอยข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงประเทศนิวซีแลนด์ที่อยู่ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ (ภาพ : ปิยะมาศ แก้วนนท์)

fireaus09

fireaus10

ผืนป่าออสเตรเลีย ในพื้นที่ South Gippsland รัฐวิตอเรีย เมื่อปี ค.ศ.๒๐๐๙ หลังเกิดเหตุการณ์ไฟป่าครั้งประวัติศาสตร์เรียกว่า Black Friday bushfires (ภาพ 123rf)

ล่าสุดมีรายงานว่าเฉพาะรัฐวิกต่อเรียและรัฐนิวเซาต์เวลล์พื้นที่เสียหายรวมกัน ๔๘,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร หรือกว่า ๓๐ ล้านไร่

มีผู้เสียชีวิตจากไฟป่าแล้ว ๒๓ คน สูญหาย ๖ คน บ้านเรือนมากกว่า ๑,๕๐๐ หลังถูกทำลาย สัตว์ป่าในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก และสัตว์เลื้อยคลานตายไปแล้วประมาณ ๔๘๐ ล้านตัว เฉพาะโคอาล่าคาดว่าตายไปแล้วถึง ๘,๐๐๐ ตัว หรือ ๑ ใน ๓ ของประชากรโคอาล่าทั้งหมด ไม่รวมแมลง กบ ค้างคาว ที่สูญชีวิตอีกมหาศาล

วันที่ ๓ มกราคม กรุงแคนเบอร์ราเมืองหลวงของออสเตรเลียกลายเป็นมหานครของโลกที่มีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับ ๓ ของโลกตามมาตรฐาน AQI มีระดับความอันตรายหรือเป็นพิษขั้นสูงสุด (hazardous) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์ราแจ้งประกาศสถานการณ์เฝ้าระวังในเขต Australian Capital Territory และภาวะภัยพิบัติในรัฐวิกตอเรีย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามช่วงฤดูกาลของออสเตรเลีย ตามปรกติฤดูร้อนจะอยู่ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ฤดูใบไม้ร่วงอยู่ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม จึงเป็นไปได้ว่าไฟป่าเจ้าแม่กาลีแห่งพงไพรอาจลุกไหม้ต่อเนื่องอีกหลายเดือนกว่าจะมอดดับ

ไฟป่าแม้จะมีข้อดีอยู่บ้างตรงช่วยกระตุ้นเมล็ดพันธุ์บางชนิดให้แตกหน่องอกงาม การเผาไหม้ช่วยสลายซากพืชซากสัตว์ให้กลายเป็นธาตุอาหาร ถือเป็นการทำลายล้างเพื่อเริ่มต้นใหม่ แต่วัฏจักรตามธรรมชาตินี้กำลังเปลี่ยนไป เมื่อโลกกำลังมีไฟป่าเกิดถี่และรุนแรงขึ้นจนป่าไม้ฟื้นฟูตัวเองไม่ทัน ต้นไม้ที่ช่วยกักเก็บและกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยายกาศลดลง

อุณภูมิของโลกที่สูงขึ้นกำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติในทุกๆ ทาง ตั้งแต่น้ำท่วม พายุ ไฟป่า น้ำแล้ง มีงานวิจัยบ่งชี้ว่าทุกๆ อุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้น ๑ องศา จะเพิ่มโอกาสเกิดฟ้าผ่าขึ้นร้อยละ ๑๒ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๘ หรือ ค.ศ.๑๙๗๕ เป็นต้นมาจำนวนของฟ้าผ่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ไฟล้างป่าออสเตรเลียเกิดขึ้นยาวนานข้ามปี แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปความเสียหายจากไฟไหม้ครั้งนี้