คอลัมน์ small talk – ชีวิตเพื่อหน้าที่ ๑๐๐ ปี นักปราชญ์ ประเสริฐ ณ นคร
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง

ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

ชีวิตเพื่อหน้าที่ ๑๐๐ ปี นักปราชญ์ ประเสริฐ ณ นคร

ชีวิตคนเราที่จะอยู่ยืนถึง ๑๐๐ ปี ถือว่าหาได้ยาก และที่ยากยิ่งกว่าคือคนวัย ๑๐๐ ปีที่ยังทำงานอยู่ทุกวัน

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นหนึ่งในนั้น อาจเป็นหนึ่งในล้านคนที่ยังออกจากบ้านมาทำงานทุกวันราชการเช่นที่เคยเป็นมาหลายสิบปี ท่านกล่าวว่าเป็นการทำงานให้ประเทศชาติ

เดินทางมาที่ทำงานโดยลูกชายขับรถมาส่ง นับตั้งแต่ลูกเกษียณอายุราชการ ก่อนนั้นสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเคยจัดรถไปรับส่ง แต่คนขับมักหาบ้านไม่เจอ เพราะหมู่บ้านไม่เรียงลำดับบ้านเลขที่ เคยใช้บริการแท็กซี่แล้วเกิดหกล้ม คนใกล้ชิดจึงโล่งใจเมื่อลูกชายวัย ๖๗ ปี มาคอยช่วยขับรถรับส่งในช่วงหลัง

เป็นคนอายุ ๑๐๐ ปีที่ยังทำงานและใช้ชีวิตตามปรกติ ตอนโทร.ไปที่บ้านเพื่อขอสัมภาษณ์ รวมทั้งเมื่อยืนยันนัดหมาย อาจารย์ประเสริฐรับโทรศัพท์เองทุกครั้ง

ท่านนัดเจอที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาตอน ๗ โมงเช้า มีเวลาคุยกันก่อนท่านเข้าประชุมตอน ๙ โมง

ชายชราร่างสมส่วน ไม่อ้วน และหลังไม่ค่อม ก้าวลงจากประตูรถเก๋งด้านข้างคนขับ สวมสูทสีเข้ม เนกไทสีเหลืองลาย ผมดกขาวหวีเรียบร้อย ก้าวตามขั้นทางเดินขึ้นอาคาร สามสี่ขั้น พนักงานรักษาความปลอดภัยในป้อมยามวิ่งมาช่วยจับแขนประคอง เขาคงช่วยด้วยใจอยากช่วยแม้รู้ว่าอาจารย์เดินเองได้

อาจารย์เดินไปที่ห้องสมุด หยิบหนังสือพิมพ์รายวันจากราวแขวนหนังสือพิมพ์ที่พาดเรียงลดหลั่นกันอยู่มานั่งที่โต๊ะ พอเข้าไปแนะนำตัวว่าเรามาตามนัดสัมภาษณ์ อาจารย์ก็ลุกจะเอาหนังสือพิมพ์ไปเก็บโดยยังไม่ได้เปิดอ่าน ชายหนุ่มคนหนึ่งที่นั่งอ่านหนังสืออยู่ก่อนเดินมาช่วยรับหนังสือพิมพ์ไปเก็บ อาจารย์เดินนำเราไปอีกห้อง เปิดสวิตช์ไฟสว่าง แล้วบอกให้เราช่วยเปิดแอร์ฯ

เพียงการเคลื่อนไหวที่เนิบช้ากว่าคนหนุ่ม กับการได้ยินที่คู่สนทนาต้องพูดดังกว่าธรรมดาสักหน่อย นอกนั้นไม่ว่าสายตา ความคิด ความจำ น้ำเสียง ล้วนยังแจ่มใส และคำพูดจาของท่านมักมี “ครับ” ต่อท้ายเสมอ

“เนื่องจากคุณแม่ผมเป็นนักร้องส่งประจำวงข้าราชการที่จังหวัดแพร่ ฉะนั้นเมื่อผมอยู่ประถมฯ ๑ ก็รู้จักเพลงไทยเดิมสองชั้นสามชั้น ร้อยสองร้อยเพลงแล้วครับ”

ราชบัณฑิตวัย ๑๐๐ ปี เล่าชีวิตช่วงปฐมวัยในบ้านเกิด

มีลูกศิษย์ไปอยู่ทั่วประเทศราว ๒ หมื่นคน

ณ นคร เป็นสายสกุลทางปักษ์ใต้ แต่ศาสตราจารย์ประเสริฐเกิดที่จังหวัดแพร่ เขาเล่าถึงเรื่องนี้ว่า

“ณ นคร เป็นเชื้อสายจากเจ้าพระยานครน้อย ลูกของพระเจ้าตากสิน อยู่ทางนครศรีธรรมราช เพราะฉะนั้นใครอยู่ทางนครศรีธรรมราชหรือทางพัทลุงก็ต้องใหญ่เพราะว่านามสกุลสืบเชื้อสายมา ทีนี้คุณปู่ผมเสียตอนอายุ ๓๕ พ่อผมเพิ่งอายุ ๓ ขวบก็ยากจน ถ้าอยู่ทางปักษ์ใต้ไม่สามารถรักษาเกียรติ ณ นคร เลยต้องมาอยู่ทางเหนือ ผมก็เลยมาเกิดเป็นชาวเหนือ คุณแม่เป็นลูกคนจีนแต้จิ๋ว คุณตามาจากเมืองจีน แซ่พัว ใช้นามสกุลไทยว่า พัวพันธุ์”

เรียนหนังสือจนจบชั้นมัธยมฯ ๖ ที่โรงเรียนพิริยาลัย จังหวัดแพร่ ไปต่อโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่อีก ๒ ปี แล้วมาเรียนซ้ำชั้นมัธยมฯ ๘ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่กรุงเทพฯ เพื่อให้มีสิทธิ์สอบชิงทุนหลวงเรียนต่อเมืองนอก โดยพักอยู่ที่วัดเลียบห่างจากโรงเรียนราว ๑๐ นาทีเดิน

“จบ ม. ๘ มันต้องเข้ามหาวิทยาลัย ผมไม่มีเงิน เพราะฉะนั้นจะต้องเตรียมสอบชิงทุนให้ได้ ก็มาซ้ำชั้นที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ แต่ก่อนนี้ถ้าใครเรียนหนังสือเก่งก็ต้องเรียนมัธยมฯ ๘ เป็นปีสุดท้ายในโรงเรียนสามัญ ใครไม่เก่งเรียนปีเดียวก็สอบจบไปเลย ใครเก่งต้องเรียน ๒ ปีซ้ำชั้น ปีแรกไม่สอบ พอปีที่ ๒ ก็สอบ เขาไม่ได้ถามว่าเรียนกี่ปี แต่ถ้าสอบได้คะแนนเป็นที่ ๑ ที่ ๒ ในปีนั้นก็ได้ไปเรียนอังกฤษ อเมริกา เป็นทุนนักเรียนหลวง เพราะฉะนั้นถ้าใครเก่งก็เรียนม. ๘ ๒ ปี ถ้าใครไม่เก่งรู้ว่าสู้ไม่ได้ก็สอบไปเลย ทีนี้ผมก็เรียนได้ที่ ๑ มาเรื่อย ๆ”

หมายถึงเป็นที่ ๑ จากโรงเรียนในต่างจังหวัด แต่เมื่อมาที่กรุงเทพฯ เป็นอีกอย่าง

“พอมาเรียนซ้ำชั้นที่สวนกุหลาบฯ ผลสอบรอบแรกได้ที่ ๑๙ จะร้องไห้ตาย คือเคยได้ที่ ๑ มาเรื่อยครับเมื่ออยู่ทางเหนือ พอมาเรียนที่กรุงเทพฯ นี่คือพวกนักเรียนที่เก่งที่สุดในทุกโรงเรียนนะครับจะลาออกแล้วก็มาเรียนซ้ำชั้น ม. ๘ ที่สวนกุหลาบฯ เข้าไปตอนแรกผมสอบได้ที่ ๑๙ เดือนที่ ๒ ได้ที่ ๙ เดือนที่ ๓ มาได้ที่ ๕ แต่ไม่เคยได้ดีกว่าที่ ๕ เลย”

ในปีที่สอบชิงทุนเรียนต่อ มีทุนไปต่างประเทศแปดทุน

“ทุนไปอังกฤษ อเมริกาอย่างละทุน ไปฟิลิปปินส์หกทุน ผมสอบได้ที่ ๙ แต่ว่าเขาสละสิทธิ์ไม่ยอมไปเรียนฟิลิปปินส์ ผมก็เลยได้รับทุน ส่วนเพื่อนที่รออยู่ปีหน้ามีทุนไปเรียนอังกฤษ อเมริกา ๑๘ ทุน ก็ได้ไปกันหมดเลยพวกที่ไม่ยอมไปฟิลิปปินส์ ผมไปเรียนที่ฟิลิปปินส์ใจชอบทางคำนวณ เพราะฉะนั้นก็ศึกษาทางวิศวกรรมการเกษตร เรียนทางแคลคูลัสอะไรพวกนี้ครับ จบจากฟิลิปปินส์ก็มาอยู่ที่บางเขนครับ ตอนนั้นเปิดเป็นวิทยาลัยเกษตร บางเขน มีสี่แขนงวิชา สอนแค่อนุปริญญาครับ และไปสอนวิทยาลัยเกษตรแม่โจ้ ที่เริ่มเปิดเมื่อปี ๒๔๗๗”

ต่อมาเขาสอบทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อปริญญาโทและเอก ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา สำเร็จในปี ๒๕๐๐ นับเป็นคนไทยคนแรกที่จบดอกเตอร์ด้านสถิติ กลับมาสอนวิชานี้ให้กับนิสิตทุกคณะของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และต่อมาเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหิดล และศิลปากรด้วย

“ทั้งห้ามหาวิทยาลัยมีลูกศิษย์อยู่ทั่วประเทศราว ๒ หมื่นคน ซึ่งผมเริ่มสอนมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒”

ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เขาได้แต่งเพลงมาร์ชให้แก่สถาบัน และฉากชีวิตยามรุ่งอรุณย่านทุ่งบางเขนกลายเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ “ใกล้รุ่ง” ในเวลาต่อมาด้วย

ถ้าใครอ่านไม่ได้ ผมจะอ่านให้

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นอาจารย์ด้านวิศวกรรมการเกษตร สถิติ แคลคูลัส อะไรต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเลขและการคำนวณ แต่คนทั่วไปมักรู้จักเขาในฐานะนักอ่านจารึกโบราณมากกว่า

เขาเล่าถึงเรื่องงานทางภาษาศาสตร์ว่า

“ชอบทางคำนวณก็เลยเรียนทางวิศวกรรม จบมาก็สอนทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ อะไรพวกนี้ แต่ที่มาสนใจทางภาษาไทยนี่เริ่มตั้งแต่ โคลงนิราศหริภุญชัย พวกนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่ไม่รู้ขนบธรรมเนียมของทางเหนือและไม่รู้ภาษาเหนือดีพอเวลาตีความอะไรก็ไม่เข้าใจ ตีความผิดไป เช่นที่บอกว่า ‘อารักษ์อาราธน์เรื้อง มังราย ราชแฮ เชิญส่งศรีทิพนาย หนึ่งร้า’ เขาก็ไปแปลว่า ขอให้ส่งนายศรีทิพไปหาแฟน แต่ความจริงศรีทิพเป็นชื่อผู้หญิง ทางเหนือเขาเรียกว่าอี่น้องอี่นาย ศรีทิพอี่นาย เขาขอให้ส่งนางศรีทิพมาให้ข้าพเจ้าผู้แต่งหน่อย แต่ว่านักปราชญ์ไปแปลว่าขอให้ส่งนายศรีทิพคือผู้แต่งไปหานางหน่อย มันผิดใจความไปอย่างนั้นผมถึงได้มาศึกษา คนที่รู้ภาษาเหนือและรู้จักขนบธรรมเนียมของเขาดีจะเข้าใจข้อความได้ดีกว่าคนที่ไม่รู้ขนบธรรมเนียม ผมจึงทำเรื่อง โคลงนิราศหริภุญชัย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๗ นะครับ ต่อมาก็ทำ มังทราตีเชียงใหม่ อะไรต่ออะไรไล่มาอีกเรื่อย คือเกิดในทางเหนือ ภาษาเหนือ ศัพท์ทั้งหลายทางเหนือก็สามารถที่จะแปลได้ถูกต้อง เข้าใจได้ดีกว่าคนที่อยู่ทางกรุงเทพฯ เพราะเขาไม่รู้ศัพท์ เพราะเหตุนั้นก็เลยมาสนใจทางวรรณคดีภาคเหนือ ในที่สุดก็ศึกษาวรรณกรรมทางภาคเหนือ ก็เลยไปสอนในมหาวิทยาลัยด้วย จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ มหิดล ศิลปากร”

และเล่าย้อนถึงการถอดความอักษรไทยในศิลาจารึกตั้งแต่ยุคเริ่มต้น

“คืออย่างนี้ครับ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักวิชาการชาวฝรั่งเศสผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาอ่านจารึกให้กับกรมศิลปากร พออ่านได้ ๒ ปีทางฝรั่งเศสขอให้ไปอ่านจารึกภาษาเขมรที่ไซ่ง่อน ก็เลยเข้าไปหาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์ก็บอกว่า ‘เมื่อชาติต้องการ เราต้องไป’ ช่วงที่เซเดส์มาอ่านอยู่ ๒ ปีนี้ก็ทำให้คนไทยสามารถอ่านจารึกได้บ้าง แต่ผมก็เห็นว่าพอมีจารึกอักษรไทยก็ต้องส่งไปให้เซเดส์อ่าน แล้วถ้าเซเดส์ตายจะเป็นยังไง หมายความว่าได้จารึกภาษาไทยมาก็จะไม่มีใครอ่านได้อย่างนั้นหรือ ถ้าใครอ่านไม่ได้ผมจะอ่านให้ ผมก็เลยมาศึกษาศิลาจารึก”

“อาจารย์อ่านได้อย่างไรในเมื่อไม่ได้เรียนมาโดยตรงเลยใช่ไหมครับ”

“ครับ ก็มาอ่านจากที่เขาอ่านไว้แล้วครับ ขึ้นต้นก็เริ่มอ่านศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงก่อน แล้วก็อ่านจารึกสุโขทัยทุกหลัก อ่านจารึกทางภาคเหนืออะไรอย่างนี้ เรารู้ขนบธรรมเนียมประเพณีและศัพท์ทางภาคเหนือก็สามารถที่จะอธิบายโคลงนิราศ จารึกของภาคเหนือ ก็เลยเข้ามาอยู่ในวงของการอ่านศิลาจารึก ทีนี้หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ให้ผมไปสอนตั้งแต่ปี ๒๕๑๒”

นักอ่านจารึกโบราณเล่าถึงวงการอ่านจารึกอักษรไทยในยุคบุกเบิกว่า

“มหาฉ่ำ ทองคำวรรณ อ่านจารึกมาจนเกษียณ พอเกษียณแล้วไปสอนหนังสืออยู่ในสามมหาวิทยาลัย สอนอ่านจารึก แต่ว่ามีสตางค์พอที่จะกินข้าวกลางวัน ข้าวเย็นข้าวเช้าไม่ได้กินเพราะต้องเอาเงินไปเลี้ยงลูกเมีย ผมบอกว่าคนที่สละชีวิตให้กับการอ่านจารึกข้นแค้นอย่างนี้ ตอนที่มหาฉ่ำเกษียณก็ยังขอให้ไปอ่านศิลาจารึกเป็นชั้นจัตวา ผมก็ไปหาอธิบดีกรมศิลปากร บอกว่ามหาฉ่ำอ่านศิลาจารึกอยู่จนตาจะบอดก็ไม่มีใครดูดำดูดี คนอื่นเขาไม่ไปอ่านให้ตาบอดหรอก อธิบดีก็รับรองว่าจะให้เป็นชั้นตรีภายใน ๑ ปี ผมไม่ไปแย่งเขาหรอก เขาบอกว่าชั้นปี ๓ ยังไม่มีคนสอน เพราะฉะนั้นให้ผมไปสอน ผมเลยไปสอนในปี ๒๕๑๒ และก็เลยสอนเรื่อยมาจนกระทั่ง ๒ ปีที่แล้วนั่นเองที่เลิกสอนเพราะว่าอายุมากแล้วก็เลยตั้งคนอื่นสอนแทน”

ผลงานการอ่านจารึกส่วนใหญ่กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ ต่อมามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชพิมพ์ การอธิบายศิลาจารึกสมัยสุโขทัย ที่เขาอ่านไว้เป็นตำราของมหาวิทยาลัย

งานศึกษาวิจัยเป็นที่ยอมรับและอ้างอิงในวงวิชาการประวัติศาสตร์และโบราณคดี เช่น การชำระประวัติศาสตร์สุโขทัย ถิ่นเดิมและตระกูลภาษาไทย หลักการสอบค้นเมืองสมัยสุโขทัย การแบ่งกลุ่มไทยตามตัวหนังสือ พจนานุกรมไทยอาหม-ไทย ตัวอักษรไทยในล้านนา ที่มาของอักษรไทยล้านนาและไทยลื้อ เป็นต้น มีผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งในวารสารภายในและต่างประเทศนับร้อยเรื่อง และผลงานเขียนอีกหลายเล่มจัดพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้างโดยสำนักพิมพ์ชั้นนำ เช่น สารัตถคดี ประเสริฐ ณ นคร (๒๕๒๗) ตำนานมูลศาสนา เชียงใหม่ เชียงตุง (๒๕๓๗) การอธิบายศิลาจารึกสมัยสุโขทัย (๒๕๔๗) ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด (๒๕๔๙) อักษร ภาษา จารึก วรรณกรรม (๒๕๔๙) เป็นต้น

prasert04

บลูส์ของผู้หิวโหย

นกน้อยคล้อยบินมาเดียวดาย คิดคิดมิวายกังวลให้หม่นฤทัยนัก…

เมื่อเล่าถึงการเขียนเพลง ศาสตราจารย์วัย ๑๐๐ ปีก็ร้องออกมาเป็นทำนองเพลงด้วย

บทเพลงพระราชนิพนธ์ “ชะตาชีวิต” ที่คนไทยคุ้นหู หลายคนร้องได้ติดปาก แต่อาจมีน้อยคนรู้ว่าศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้แต่งเนื้อภาคภาษาไทย เช่นเดียวกับอีก ๓ เพลง ใน ๔๘ บทเพลงพระราชนิพนธ์

“พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริได้เพลงพระราชนิพนธ์จากในหลวงรัชกาลที่ ๙ มา แต่มีมากแต่งไม่ทัน ก็เลยมอบหมายให้ผมแต่ง เพลงแรกคือ ‘ใกล้รุ่ง’ เพลงที่ ๒ คือ ‘ชะตาชีวิต’ เพลงนี้มีชื่อเดิมว่า H.M. Blues ที่สวิตเซอร์แลนด์ในหลวงรับสั่งถามข้าราชบริพารว่า H.M. Blues แปลว่าอะไร ใครทายถูกจะได้รางวัลอย่างงาม แต่ว่าจะต้องเสียค่ากระดาษเขียนคำทาย ๑ ฟรังก์ ไม่มีคนทายถูกเลย ถ้าเป็นผมก็ทายว่า His Majesty’s Blues คือเพลงบลูส์ของในหลวง ท่านบอกไม่ใช่ คือว่าข้าราชบริพารของพระองค์เวลาเขาเต้นรำกันก็กินและก็เต้นรำกันไป แต่ว่าข้าราชบริพารของพระองค์ที่เล่นเพลงไม่ได้กินอะไรเลย ก็แปลว่า Hungry Men’s Blues เป็นบลูส์ของผู้หิวโหย”

แต่เนื่องจากในเวลานั้นคำร้องภาษาอังกฤษไม่ได้พระราชทานลงมา อาจารย์ประเสริฐจึงใส่คำร้องภาษาไทยในความหมายอีกแบบ

“พอดีมีเพื่อนจากฟิลิปปินส์ส่งจดหมายมาบอกว่าเขาเกลียดยามพลบค่ำเสียเหลือเกิน เพราะพลบค่ำนี่จะมืด คล้ายชีวิตเขาตอนนี้ที่เหมือนกับโรงละครหมดเรื่องเเล้วรอแต่จะปิดม่าน ผมก็เลยเอาไปใส่เป็นวรรคแรกว่า ท้องฟ้าสายัณห์ตะวันเลือน แสงลับนับวันจะเตือนให้เทียบเปรียบชีวิต…”

ร้องเป็นทำนองเพลงและลากเสียงยาวท้ายวรรค

“ชีวิต… เอาคำตายไปใส่ เสียงขึ้นแบบนี้ท่านบอกคำตายคนไทยรับไม่ได้ ต้องแก้เป็น แสงลับนับวันจะเตือนให้ใจต้องขื่นขม ก็เปลี่ยนคำตายทั้งหมดให้เป็นคำเป็น และผมก็มาแก้ คิดคิดมิวายกังวลให้หม่นฤทัยนัก เป็น คิดคิดมิวายกังวลให้หม่นฤทัยหมอง เสร็จหมดทุกตอนแล้วก็เลยใส่ นกน้อยคล้อยบินมาเดียวดาย ใส่ง่ายเลยใส่ เพราะฉะนั้นเพลงนี้วรรคขึ้นต้นแต่งสุดท้ายนะ”

“เนื้อหาไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อภาษาอังกฤษเลยใช่ไหมครับ”

“ไม่เกี่ยวเลย ไม่มีส่งมา ตอนนั้นเราไม่รู้เลย ถ้ารู้ก็ต้องแปลแล้ว เหมือนในเพลงที่ ๓ ‘Still on My Mind’ ในหลวงพระราชนิพนธ์ทำนองและเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษ ผมแปลแบบวรรคต่อวรรค ชื่อเพลงว่า ‘ในดวงใจนิรันดร์’ อีกเพลงหนึ่งก็คือ ‘เเว่ว’ หรือ ‘Echo’

“ตอนแต่งในหลวงก็ไม่ได้ติดต่อมาถึงผมนะ ท่านเป็นผู้แนะนำทีหลัง” อาจารย์ประเสริฐเล่าเบื้องหลังของบางบทเพลง

“อันแรกสุดท่านมีมาถามว่า เพลง ‘ใกล้รุ่ง’ ใช้เวลาแต่งเท่าไร ผมก็บอกว่าประมาณชั่วโมงครึ่ง และหนที่ ๒ ก็ถามเรื่องเพลง ‘ในดวงใจนิรันดร์’ ท่านถามว่า คำว่า ‘เนา’ แปลว่าอะไร ที่ในเพลงบอกว่า รักนั้นจะเนาแน่นแฟ้นในดวงใจนิรันดร์ ผมบอกว่าเนาเป็นภาษาเขมร ในเพลงไทยโบราณก็มีว่า หยาดน้ำค้างยังเนาคงใบบงกช น้ำค้างอยู่บนใบบัว จนมาอีก ๓ ปีผมถึงคิดได้ว่าท่านมาบอกว่า คำว่า ‘เนา’ คนไทยทั่วไปไม่รู้จัก แต่ท่านไม่ได้บอก ท่านถามว่าเนาแปลว่าอะไร ตั้ง ๓ ปีครับถึงมานึกได้ แต่ว่ามันก็ติดไปแล้วผมก็เลยไม่ได้แก้”

“ใกล้รุ่ง” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔ แต่ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช และเป็นเพลงแรกที่อาจารย์ประเสริฐประพันธ์คำร้องภาษาไทย

“เพลง ‘ใกล้รุ่ง’ มีเรื่องเสียงดนตรีสากล โด เร มี ฟา ซอล ลา ที มีเจ็ดเสียงและมีครึ่งเสียง เพลงไทยเรายังไม่มีครึ่งเสียง จากสมัยอยุธยามาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเพลงไทยมีห้าเสียงเท่านั้น ในหลวงนำสมัยไป ๑๐ กว่าปี ทรงนำครึ่งเสียงมาใช้”

“ก่อนนั้นยังไม่เคยมี ?”

“ยังไม่มีครับ ทีนี้ก็ไม่รู้จะใส่อะไร ผมเนี่ยเมื่ออยู่ประถมฯ ๑ ก็รู้จักเพลงไทยเดิมสองชั้นสามชั้นตั้ง ๑๐๐-๒๐๐ เพลง เพราะฉะนั้นเวลาแต่งก็นึกถึงแต่เพลงไทยเดิม มันมีเพลงที่เกี่ยวกับไก่ขันก็เลยแต่ง… ได้ยินเสียงแว่วดังแผ่วมาแต่ไกลไกล เอาเป็นความ ชุ่มชื่นฤทัย กับ ฟังไก่ประสานเสียงกัน แสงทองส่องงาม เป็น… ใกล้ยามเมื่อแสงทองส่อง คือเอามาจากเพลงโบราณ เพราะผมติดเพลงไทยเดิมอยู่”

“ใกล้รุ่งในกรุงเทพฯ สมัยนั้นยังได้ยินเสียงไก่ขันจริง ๆ ใช่ไหมครับ”

“หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจท่านทำเรื่องเลี้ยงไก่เป็นอาชีพ ทำกรงเล็ก ๆ ให้มันขยับตัวไปมาไม่ได้มาก จะได้ไม่เสียพลังงาน จะได้เอาพลังงานไปผลิตไข่ พอตี ๔ ตี ๕ ก็จะได้ยินเสียงไก่ขันตั้งแต่สถานีรถไฟบางเขนไปเป็นกิโล ฟังไก่ประสานเสียงกัน ได้มาจากนี่”

“เพลงนี้ใช้โน้ตครึ่งเสียง ?”

“มีครึ่งเสียง ได้ยินเสียงแว่วดังแผ่วมาแต่ไกลไกล ชุ่มชื่นฤทัยหวานใดจะปาน ฟังเสียงบรรเลงขับเพลงประสาน จากทิพย์วิมานประทานกล่อมใจ…”

อาจารย์ร้องให้ฟังเป็นทำนองอีกครั้ง ก่อนเล่าถึงยุคสุนทราภรณ์

“แล้วต่อมาเอื้อ (เอื้อ สุนทรสนาน) ก็มาขอแก้เพลง ‘ยามเย็น’ บอกว่าเพลงครึ่งเสียงนี่คนไทยรับไม่ได้ แต่ก่อนเคยคลอเคลียกัน ทุกวันคืนรื่นอุรา มันมีโน้ตครึ่งเสียง เอื้อก็ไปขอในหลวงแก้ ต่อมาอีก ๑๖ ปี เอื้อบอกว่าเวลานี้คนไทยรับเพลงครึ่งเสียงได้แล้ว และที่ในหลวงพระราช-นิพนธ์ไว้เดิมดีมาก ก็เลยขอกลับไปใช้”

“นอกจากแต่งเพลง อาจารย์เล่นดนตรีด้วยไหมครับ”

“ผมมีแต่ร้องส่ง ส่วนดนตรีนั้นตอนที่ ดร. อุทิศ นาค-สวัสดิ์ ตั้งวงหนุ่มน้อย ผมก็มาร่วมเล่นเพลง เป็นเพลงสามชั้นสองชั้น เล่นให้วงหนุ่มน้อย ๒-๓ ปี มีผมคนเดียวที่เป็นข้าราชการชั้นตรีอยู่ นอกนั้นเกษียณแล้วเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นวงหนุ่มน้อย แก่มาก”

นักเพลงอาวุโสล้อตัวเองแล้วหัวเราะเสียงดัง ฉายประกายความสุขเมื่อเล่าถึงวันเวลาในวัยหนุ่ม

มีสมาธิ หัดจำสิ่งของ

ชีวิตในปีที่ ๑๐๐ ดำเนินไปเช่นในหลายปีที่ผ่านมา
ในบ้านย่านงามวงศ์วานกับลูกสาว ลูกเขย หลานวัยเรียนมหาวิทยาลัยอีกสองคน กับที่ทำงานสำนักงานราชบัณฑิตย-สภา สนามเสือป่า

“นอน ๓ ทุ่ม ตื่นเช้าตี ๕ ครึ่ง ทานมื้อเช้าก่อนออกจากบ้าน หกโมงครึ่งลูกชายที่อยู่ย่านประดิพัทธ์จะมารับไปส่งที่ราชบัณฑิตยสภาวันจันทร์ถึงศุกร์ครับ บางวันก็ประชุมอย่างเดียว บางวันสี่อย่าง ๘ โมงครึ่งถึง ๑๐ โมง ๑๐ ถึง ๑๒ บ่ายโมงถึงบ่าย ๓ โมง บ่าย ๓ โมงถึง ๕ โมง รวม ๘ ชั่วโมง อาหารมื้อกลางวันเขาเตรียมให้ที่ราชบัณฑิตฯ ครับ พอเที่ยงก็ขึ้นไปทาน”

“อาจารย์รับประทานอะไรเป็นประจำครับ”

“อะไรก็ได้ครับที่ไม่เผ็ดมาก แต่ส่วนใหญ่ลูกศิษย์ผมที่อยู่ทั่วประเทศไปเจอเขาก็จะเอาเป๊ปซี่หรือโค้กมาให้ เขาเข้าใจว่าผมชอบ แต่ความจริงสมัยก่อนเราออกนอกบ้านมาน้ำอาจไม่สะอาด ถ้ากินน้ำโคล่าขวดละ ๕-๖ สตางค์ น้ำสะอาด ๑๐ สตางค์ เลยกินน้ำโคล่าดีกว่า เขาเลยเข้าใจว่าผมชอบ ไปที่ไหนก็จะคอยเอาให้ กับอีกอย่างผมชอบกิน
ถั่วลิสงต้ม”

“แอลกอฮอล์ดื่มไหมครับ”

“มันไม่ชอบครับ ตอนอยู่แม่โจ้ เมื่อปี ๒๔๘๒ อาจารย์จะพบกันในวันพุธ เขาก็จะรินเหล้าให้มา มันขม พอย้อนกลับเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็ไม่กินเพราะว่าไม่ชอบ ไม่ถูกเส้น บุหรี่ก็ไม่สูบ เวลาสูบมันก็ไอแค็ก ๆ ร่างกายไม่ยอมรับครับ ก็เลยเลือกไม่สูบ”

“คนอายุ ๑๐๐ ปี ดูแลสุขภาพกันอย่างไรครับ”

“เมื่อก่อนนี้เดินนะครับ วันละ ๒ กิโล ก็ครึ่งชั่วโมง พวกฝรั่งเวลาวัดระยะเขาจะเดินก้าว ๑ เมตร ๒ เมตร ๓ เมตร ๔ เมตร แต่ผมมันเตี้ย สามก้าว ๒ เมตร ศูนย์ศูนย์สอง ศูนย์ศูนย์สี่ ศูนย์ศูนย์หก ศูนย์ศูนย์แปด และก็วนกลับไปใหม่อย่างนี้ เหมือนกับท่องยุบหนอพองหนอ แต่ก่อนนี้ก็เอาไปใช้ในการวัด เพราะฉะนั้นเวลาเดินจากบ้านไปถึงถนนงามวงศ์วาน ๖๖๐ เมตร บ้านไปถนนวิภาวดีฯ ๑,๓๐๐ เมตร เดินไปนับก้าวไปมันก็ไม่เหนื่อย เมื่ออายุผม ๙๐ กว่าปีไปขึ้นเขากบที่นครสวรรค์ ๑๒๐ ขั้น ก็ไม่เหนื่อย เราก้าวเรื่อย ๆ ใจมันอยู่ที่ก้าว ไม่ได้อยู่ที่เขา”

“สุขภาพใจล่ะครับ ความจำอาจารย์ยังดีมาก ฝึกหรือดูแลตัวเองอย่างไรครับ”

“เราต้องมีสมาธิ อย่างตอนที่เตรียมจะไปสอบชิงทุน ต้องหัดจำสิ่งของ เข้าไปในห้อง ของมีอยู่ ๑๖ อย่าง มีอะไรบ้าง บนโต๊ะมีอะไรบ้าง สมาธิดีความจำก็ดีขึ้น และอ่านหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการสามเล่ม คือ มันสมอง มหาบุรุษ วิชชาแปดประการ ใน มหาบุรุษ ก็จะมีวิธีการปฏิบัติตน ๔๐ ประการ เราก็ท่อง ‘มีอนามัย ไม่ตื่นเต้น เบิกบาน เป็นมุ่งหมาย ไม่ลดหวัง ไม่หวาดหวั่น หัวใจเข้มแข็ง ตรงต่อเวลา ขยัน… กล้าหาญ… เชื่อตัวเอง ฯลฯ’ นี่ที่เขาว่าไว้ ก็ท่องแล้วนำไปใช้”

วันนี้ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติบ้าง

ปี ๒๔๓๒ รัชกาลที่ ๕ ทรงเปลี่ยนปฏิทินสยามจากจันทรคติมาเป็นสุริยคติ ชื่อเดือนได้รับการคิดขึ้นแทนเดือนอ้าย เดือนยี่ วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่แทนวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕

ต่อมาในปี ๒๔๘๔ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ มกราคม ทำให้ปี ๒๔๘๓ มีเพียง ๙ เดือน (เมษายน-ธันวาคม)

การคำนวณ พ.ศ. เป็น ค.ศ. ของเหตุการณ์ในช่วงปี ๒๔๓๒-๒๔๘๓ และบุคคลที่เกิดช่วงมกราคม-มีนาคม ต้องนับเพิ่มอีกปี

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เกิดวันศุกร์ที่ ๒๑ มีนาคม ปี ๒๔๖๑ ตรงกับ ค.ศ. ๑๙๑๙ อายุจะครบ ๑๐๐ ปีเต็มในวันที่ ๒๑ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๑๙ หรือ ปี ๒๕๖๒

ท่านเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นปลัดทบวงมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ จนเกษียณอายุราชการ เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๓๑ เป็นนักประพันธ์เพลงรางวัลแผ่นเสียงทองคำ เป็นนายกราชบัณฑิตยสถาน เมื่อ
ปี ๒๕๔๒

ทุกวันนี้เป็นราชบัณฑิตที่ยังเข้ามาทำงานทุกวันราชการ

“พยายามที่จะฝึกความจำให้ดีและก่อนจะนอนก็ต้องคิดว่าวันนี้ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติบ้าง ทำให้ดีที่สุด วันนี้ดีที่สุด พรุ่งนี้ดีที่สุด ต่อเนื่องกันไปอย่างนั้น วันพรุ่งนี้วันนี้มันก็จะเป็นอดีตไป วันนี้จะเป็นอดีตของพรุ่งนี้ อดีตดี ปัจจุบันดี อนาคตก็ดี เพราะฉะนั้นทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต มันก็จะดีที่สุด ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็มีความสบายใจ ภาคภูมิใจว่าวันนี้ได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติมากที่สุดแล้ว”

เจตนารมณ์และอุดมคติของลูกผู้ชายวัย ๑๐๐ ปีคนหนึ่ง ซึ่ง “ใจ” คง “เกินร้อย” มานานแล้ว