เรื่องและภาพ : ทีม Born to be nurse ค่ายนักเล่าความสุข

ส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ เทศกาลแห่งการส่งความสุข พวกเรายิ้มให้แก่กันอย่างอิ่มเอมใจ

กลิ่นหอมของขนมฟักทองแกงบวดลอยมาเตะจมูกชวนชิม

รอยยิ้มของคุณยาย เสียงหัวเราะของนักศึกษาทำให้เราสุขใจ งานบ่มเพาะ ปลูกฝังและสร้างแรงบันดาลใจในวิชาชีพพยาบาล การสร้างคนในวิชาชีพเพื่อดูแลสุขภาพด้วยความเข้าใจมนุษย์

ภาพรอยยิ้มของคุณยายชัดเจนในความทรงจำ

หญิงชราวัย ๙๐ ปี “คุณยายกู้” นอนอยู่บนเตียงไม้ขนาดใหญ่ มีผ้าห่ม หมอน ที่นอนพับไว้ วิทยุทรานซิสเตอร์เครื่องเล็กๆ วางใกล้ๆ

“ชีวิตติดเตียงนอนของคุณยาย กินอยู่และขับถ่ายบนเตียง”

คุณยายกู้เอ่ยปากว่าขนมฟักทองแกงบวดที่ทำกับหลานๆ วันนี้อร่อยมาก และย้ำว่า “อย่าลืมมาทำขนมกับยายอีกนะ”

คุณยายกู้เอ่ยปากว่าขนมฟักทองแกงบวดที่ทำกับหลานๆ วันนี้อร่อยมาก และย้ำว่า “อย่าลืมมาทำขนมกับยายอีกนะ”

วิทยาลัยพยาบาลฯ ชัยนาท

ธันวาคมเดือนสุดท้ายของปี อากาศหนาวมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ลมหนาวโชยมาผสมกลิ่นดอกปีบหอมเย็นชื่นใจ เสียงนกกระแตแต้แว้ดดังแว่วมาไกลๆ แต้แว้ด แต้แว้ด เสียงไก่ขันเจื้อยแจ้วปลุกให้ตื่นจากราตรีอันเหน็บหนาว

นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ กำลังประชุมกลุ่มเพื่อเตรียมตัวไปเยี่ยมกรณีศึกษาในชุมชน

ทุกคนที่ได้เข้าเรียนในสถาบันการศึกษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข จะได้รับทุนการศึกษา และเมื่อก้าวเข้าสู่วิชาชีพพยาบาลต้องเรียนทั้งวิชาชีพและวิชาชีวิต เพื่อกลับไปทำงานในโรงพยาบาลต้นสังกัดที่บ้านเกิดตอบแทนคุณแผ่นดิน พ่อแม่ และประชาชนทุกคนด้วยจิตเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์

ครูฝน – สายฝน อำพันกาญจน์ จะบอกนักศึกษาเสมอว่า “วันนี้เธอเป็นผู้รับและวันหน้าเธอจะกลับมาเป็นผู้ให้”

ครูฝน ผู้รับผิดชอบงานแนะแนวให้คำปรึกษา ขอพบนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ “ติ๋ว” ประธานชมรมจิตอาสา และ “ฐิติโกมล” หัวหน้าชั้น เพื่อสอบถามว่า

“ช่วงเทศกาลปีใหม่และคริสต์มาสนี้เราจะทำกิจกรรมอะไรกันดี”

ติ๋วเสนอกิจกรรมเพื่อสร้างความสุขส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กับนักเรียนโรงเรียนการศึกษาพิเศษที่อยู่ใกล้วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชัยนาท ในวันคริสต์มาส และจะช่วยดูแลผู้สูงอายุติดเตียงในชุมชนที่นักศึกษาเคยดูแลระหว่างเรียนวิชาการศึกษาทั่วไปเพื่อการพัฒนามนุษย์

จิตอาสามีความสำคัญอย่างไร

“คือความสำนึกของบุคคลที่มีต่อส่วนรวม จิตอาสาที่อยากจะช่วยเหลือผู้อื่นหรือสังคมให้เกิดประโยชน์มากขึ้น” จิตอาสาเป็นคุณลักษณะบัณฑิตอันพึงประสงค์อย่างหนึ่งที่ต้องปลูกฝังนักศึกษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

ตำบลชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท มีผู้ป่วยติดเตียงจำนวน ๑๐ คน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชัยนาท จัดกิจกรรมบริการวิชาการให้แก่ชุมชน มีอาจารย์ นักศึกษาร่วมกิจกรรมกับชมรมผู้สูงอายุ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อบรมความรู้ การดูแลผู้ป่วยติดเตียงเบื้องต้นให้ผู้ดูแลผู้ป่วย

แผนงานจิตอาสาครั้งนี้เริ่มขึ้นเมื่อครูฝนและนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ จำนวน ๑๒ คน ประชุมกลุ่มเพื่อวางแผนเยี่ยมบ้านกรณีศึกษา “คุณยายกู้” ผู้ป่วยติดเตียง นัดหมายเวลาและเตรียมตัว

จิตอาสาเป็นคุณลักษณะบัณฑิตอันพึงประสงค์อย่างหนึ่งที่ต้องปลูกฝังนักศึกษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

จิตอาสาเป็นคุณลักษณะบัณฑิตอันพึงประสงค์อย่างหนึ่งที่ต้องปลูกฝังนักศึกษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

บ้านใกล้แม่น้ำ

ชุมชนตำบลชัยนาท ช่วงเวลา ๑๓. ๓๐ น.

แดดยามบ่ายร้อนระอุ พวกเราใส่หมวกสวมเสื้อคลุมบรรเทาความร้อน ปั่นจักรยานไปด้วยกันประมาน ๕๐๐ เมตร เข้าเขตบ้านคุณยายซึ่งอยู่ด้านหลังวิทยาลัยฯ ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา

บริเวณบ้านคุณยายกว้างขวาง ต้นไม้ร่มรื่น มีบ้านปลูกอยู่สามหลัง

เราร้องถาม “สวัสดีค่ะ มีใครอยู่มั้ยคะ”

ผู้หญิงวัยกลางคนเดินออกมา เราแนะนำตัวว่าเป็นอาจารย์และนักศึกษา ขออนุญาตมาเยี่ยมคุณยาย “ป้าจิต” ลูกสาวของคุณยายจึงพาเราเดินเข้ามาในบ้าน แล้วขอกลับไปทำงานบ้านต่อ

พวกเราเข้าไปสวัสดีคุณยายและแนะนำตัวด้วยการบอกชื่อเล่นและจังหวัดบ้านเกิดจนครบทั้ง ๑๓ คน

คุณยายนอนอยู่บนเตียงไม้ขนาดใหญ่ เตียงนี้เจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมไว้สำหรับขับถ่าย ด้านล่างมีถังรองรับ ด้านขวาของเตียงมีถาดใส่อาหารที่ลูกเอามาส่ง พอคุณยายกินเสร็จลูกก็เก็บไป ถาดใส่ยาวางใกล้มือให้หยิบกินสะดวกหลังมื้ออาหาร คุณยายไม่ใช้พัดลม ชอบใช้ “พัดมือ” พัดโบกเวลาร้อน

กลิ่นปัสสาวะคละคลุ้งในห้องขณะพวกเรานั่งพูดคุยกับคุณยาย สอบถามประวัติชีวิต การทำมาหากิน สุขภาพ ก่อนกลับเราถามคุณยายว่า

“อยากให้ช่วยอาบน้ำและทำความสะอาดห้องนอนไหมคะ”

คำตอบคือ “ไม่ต้อง เดี๋ยวป้าจิตจะพาไปอาบน้ำบนรถเข็นที่หน้าบ้าน”

เราถามคุณยายว่า “อยากกินอะไรเป็นพิเศษและอยากได้อะไรไหมคะ”

คุณยายปฏิเสธว่า “ไม่อยากได้อะไร อยู่ไปวันๆ เดี๋ยวก็ตาย”

แต่ครั้นพวกเราบอกว่าจะมาเยี่ยมคุณยายอีก คุณยายยิ้มกว้าง

“มากันอีกนะ นอนที่นี่ก็ได้ มาทำอะไรกินกันก็ได้”

คุณยายกู้ต้องการความมีคุณค่า ต้องการความรักเอาใจใส่จากลูกหลาน ไม่ใช่แค่ได้กิน นอน และพาไปหาหมอเท่านั้น (ภาพ3 อาจารย์นักศึกษายิ้ม นั่งในบ้านคุณยาย)

คุณยายกู้ต้องการความมีคุณค่า ต้องการความรักเอาใจใส่จากลูกหลาน ไม่ใช่แค่ได้กิน นอน และพาไปหาหมอเท่านั้น (ภาพ3 อาจารย์นักศึกษายิ้ม นั่งในบ้านคุณยาย)

ที่ห้องประชุมกลุ่มนักศึกษา

เสียงกุลธิดาเอ่ยขึ้นว่า “ครูคะ หนูขอนำเสนอประวัติคุณยายที่พวกหนูสังเกตและสัมภาษณ์ค่ะ”

ข้อมูลที่นักศึกษาลงพื้นที่สรุปได้ว่า คุณยายกู้ อายุ ๙๐ ปี บ้านเกิดอยู่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี แต่งงานแล้วย้ายมาอยู่ชัยนาทช่วงประมาณอายุยี่สิบกว่าๆ สมัยยังสาวมีอาชีพปลูกผัก ทำขนมขาย แบกข้าวสาร ชอบกินหมากแต่เลิกมาได้ ๒-๓ ปีแล้ว มีบุตรทั้งหมด ๖ คน เป็นบุตรสาว ๔ คน บุตรชาย ๒ คน ปัจจุบันอาศัยอยู่กับบุตรสาวคนที่๔ อายุ ๖๐ ปี

โรคประจำตัวของคุณยาย คือความดันโลหิตสูง โรคไตระยะเริ่มต้น ไทรอยด์ ปวดหลัง อาการที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ปวดตามเมื่อยตามร่างกาย หลงลืม

ประวัติการรักษาโรคมีอยู่ว่าเคยเข้ารับการผ่าตัดไทรอยด์เมื่อประมาณปี ๒๕๓๐ และเข้ารับการผ่าตัดหลังประมาณปี ๒๕๕๐ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ จนถึงปัจจุบันผู้ป่วยไม่สามารถเดินได้ ขาไม่ค่อยมีแรงก้าวเดิน จอประสาทตาเสื่อม ตาข้างซ้ายมองไม่เห็น ส่วนข้างขวามองเห็นรางๆ

ด้านสภาพแวดล้อมนั้น คุณยายอยู่บ้านเดิมของตนเอง ส่วนลูกสาวปลูกบ้านใหม่ใกล้ๆ กันเพื่อความสะดวกในการดูแล

บ้านคุณยายเป็นบ้านชั้นเดียว มีห้องน้ำในตัว มีห้องครัวอยู่ด้านหลัง บริเวณห้องนอนเป็นห้องกว้าง โล่งโปร่ง มีเตียงนอนไม้ขนาดใหญ่ วิทยุ พัดลม มีโต๊ะสำหรับวางกับข้าว ขนม ของกินเป็นสัดส่วน สะดวกต่อการหยิบใช้

ลูกสาวจะเป็นคนดูแลเรื่องเสื้อผ้า อาหาร การไปรับยาแทนที่โรงพยาบาล ทำให้คุณยายได้รับประทานยาอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ และยังทำความสะอาดร่างกายด้วยการอาบน้ำให้วันละหนึ่งครั้งช่วงเย็น

แต่ก่อนคุณยายช่วยเหลือตัวเองได้ ใช้ไม้ค้ำยันช่วยเดิน แต่ช่วง ๓ ปีมานี้เดินไม่ได้เลยเนื่องจากขาไม่มีแรงก้าวเดิน ไม่มีแรงพยุงตัวเองขึ้น กลัวจะล้มลงไปแล้วอาการจะแย่กว่าเดิม

คุณยายชอบออกมานั่งเล่นนอกบ้าน แต่หลังจากที่เดินไม่ได้จึงไม่ได้ทำสิ่งที่ชอบอีก เพราะลูกสาวอุ้มคุณยายไม่ไหว

ปัจจุบันคุณยายมีอาการหลงๆ ลืมๆ นอนไม่หลับ พูดเพ้อถึงเรื่องเก่าๆ คนเก่าๆ มีการพูดถึงเรื่องอายุที่มากขึ้นใกล้ตาย คุณยายเข้าใจว่าตนเคยผ่าตัดหลายครั้ง ทั้งที่จริงเคยผ่าตัดแค่สองครั้ง เข้าใจเองว่าการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่หายได้จากการผ่าตัด สังเกตได้ว่าคุณยายดูเหงาๆ และชอบให้มีคนมาคุยด้วย

กุลลดาสารภาพกับครูฝนว่า

“หนูรู้สึกผิดที่ถามคำถามหนึ่งแล้วคุณยายน้ำตาไหล ทำให้หนูสงสารคุณยายมาก”

นั่นคือคำถามที่ว่า “ความสัมพันธ์ของคุณยายกับลูกๆ เป็นอย่างไรบ้าง”

ทุกคนจำได้ว่าตอนนั้นคุณยายนิ่ง ก่อนพึมพำเบาๆ

“ลูกไม่ให้ยายทำขนม ไม่ได้ออกไปขายขนม ไปไหนไม่ได้ เมื่อก่อนตอนยายเป็นเด็กเคยช่วยเตี่ยขายผัก พอแต่งงานก็หัดทำขนมขาย สูตรขนมได้มาจากครูพักลักจำ ยายทำขนมหลายชนิดและหาบไปขายที่ตลาดวัดบรมธาตุ

“ตอนนี้ลูกไม่ให้ทำขนมขายแล้ว และลูกก็ต้องทำมาหากิน มีเวลาแค่เอาข้าวมาส่ง มาเก็บ เอาถังรองเยี่ยวไปทิ้ง พายายอาบน้ำ พาไปหาหมอ”

ครูฝนจึงถามทุกคนว่า “พวกหนูวิเคราะห์ปัญหาคุณยายได้หรือยัง”

กุลลดาที่คงมีบางสิ่งติดค้างใจตอบทันทีว่า

“หนูคิดว่าคุณยายต้องการความมีคุณค่า ต้องการความรักเอาใจใส่จากลูกหลาน ไม่ใช่แค่ได้กิน นอน หรือพาไปหาหมอเท่านั้น”

ครูฝนจึงบอกว่า “มาช่วยกันคิดวิเคราะห์ต่อไปว่า เราจะสร้างคุณค่าและความสุขให้คุณยายอย่างไร”

เสียงเดิมดังขึ้นอีกครั้ง “หนูขอรายงานสรุปผลการเยี่ยมคุณยายค่ะ

“การลงชุมชนเพื่อไปศึกษาเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุติดเตียงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ นักศึกษาได้เข้าไปศึกษา ดูแล สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคุณยายและญาติ”

ครูฝนสังเกตว่าจากการสัมภาษณ์ พูดคุย เก็บรวบรวมข้อมูล ทำให้นักศึกษาเข้าใจพื้นฐานทางสังคม วิถีชีวิต วิธีคิด ตลอดจนปัญหาเรื่องสุขภาพโรคประจำตัวของคุณยายในเชิงลึก นอกจากโรคประจำตัวแล้วคุณยายยังมีเรื่องสมองเสื่อมและภาวะซึมเศร้า อาการเหล่านี้ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ สมอง และการมองเห็นได้ไม่ชัดเจน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ผู้สูงอายุหรือผู้ดูแลจะรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้

ด้วยพื้นฐานครอบครัวคุณยายมีฐานะ มีบุตรหลานหลายคน เรื่องการดูแลความเป็นอยู่ การรับประทานอาหาร การเข้าถึงการรักษาจึงไม่ใช่ปัญหาสำคัญ

“แต่ในเรื่องของสภาพจิตใจกลับเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่า จากคนเคยมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เดินได้ ทำงานมีรายได้ ได้พูดคุยพบเจอผู้คนมากมายในสถานที่ต่างๆ แต่พอหลังจากป่วยกลับต้องอยู่บนเตียงนอนในห้องสี่เหลี่ยม ไปไหนมาไหนไม่ได้ สิ่งที่เคยทำได้ก็ทำไม่ได้ จากคนที่เคยเป็นที่พึ่งให้กับบุตรหลานมาวันนี้กลับต้องให้บุตรหลานมาดูแล จึงเป็นเรื่องยากที่คุณยายจะสามารถรับได้ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นภาระ ขาดความมั่นใจ ชีวิตไม่มีคุณค่า ไร้ความหมาย รอวันหมดอายุขัย”

นักศึกษาจึงมีแนวคิดจะฟื้นฟูสภาพจิตใจของคุณยายมากกว่าสภาพร่างกาย เนื่องจากคุณยายมีอายุมากพอสมควรจึงไม่สามารถฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กลับมาใช้งานได้ปรกติ จึงให้การดูแลรักษาแบบประคับประคองตามสภาพอาการ แต่ถ้าเราสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจให้ดีขึ้นอาจส่งผลให้สุขภาพร่างกายดีขึ้นได้ด้วย

เรื่องน่ายินดีก็คือ จากการที่นักศึกษาลงพื้นที่และปฏิบัติตามแบบแผนแล้ว ผลที่ได้ทำให้คุณยายกลับมามีรอยยิ้มและพูดคุยได้มากขึ้น

ถึงแม้จะกลับมาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เหมือนคนปรกติ แต่ก็ทำให้คุณยายรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น

ในการประชุมกลุ่มนักศึกษา ทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็นสิ่งที่ได้เรียนรู้กรณีศึกษาคุณยาย มีข้อสรุปหนึ่งว่า

“พบว่าปัญหาของคุณยายไม่ใช่แค่ด้านร่างกายที่เคยผ่าตัดหลัง โรคความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ การมองไม่เห็น การนอนอยู่บนเตียงตลอดวัน การกินอยู่การขับถ่ายบนเตียง”

และแล้วนักศึกษาคนหนึ่งก็พูดขึ้นพลางมีรอยยิ้มแบบ “ปิ๊งแว้บ” บนใบหน้า ซึ่งเป็นท่าทางของคนที่อยู่ดีๆ ก็คิดขึ้นมาได้เอง

“พวกหนูสามารถวิเคราะห์ปัญหาและวางแผนกิจกรรมที่จะทำร่วมกับคุณยายได้แล้วค่ะครู รอบหน้าหนูจะขออนุญาตคุณยายถ่ายรูปและถ่ายวิดีโอด้วยค่ะ”

หลักทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ กระบวนการคิดบนรากฐานของ “การเข้าใจมนุษย์” ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมจากความเข้าใจ ศึกษาผู้คนด้วยการสังเกตและใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ตามหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นำมาเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพประชาชนในวิชาชีพพยาบาล

หลักทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ กระบวนการคิดบนรากฐานของ “การเข้าใจมนุษย์” ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมจากความเข้าใจ ศึกษาผู้คนด้วยการสังเกตและใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ตามหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นำมาเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพประชาชนในวิชาชีพพยาบาล

บ้านใกล้แม่น้ำ อีกครั้ง

๕ มกราคม ๒๕๖๓ ครูฝนและนักศึกษาช่วยกันเตรียมอุปกรณ์ทำขนมฟักทองแกงบวดพร้อมสำหรับการนัดหมายกันไปบ้านคุณยาย และวันนี้คุณยายก็ตื่นเต้นจริงๆ คอยบอกคอยแนะทุกขั้นตอนตั้งแต่ปอกเปลือกฟักทอง

“ไม่ต้องปอกเกลี้ยงนะ ติดเปลือกไว้บ้าง ฟักทองจะได้ไม่เละ หั่นชิ้นเท่าๆ กัน ไม่เล็กใหญ่จนเกินไปจะได้สุกพร้อมๆ กัน
“ใช้หัวกะทิ (คั้นน้ำแรกๆ จากเนื้อมะพร้าวแก่) ตั้งไฟพอเดือด ไม่ให้แตกมัน ใช้ไฟปานกลาง
“พอเคี่ยวจนกะทิเข้าเนื้อฟักทองแล้ว จึงค่อยใส่น้ำตาลห้วยกรด (น้ำตาลปึกจากตาลโตนดที่ขึ้นชื่อของตำบลห้วยกรด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท) ทีละน้อย”
ฯลฯ

นักศึกษาให้คุณยายเป็นคนชิม ค่อยๆ เติมน้ำตาลจนความหวานพอดี จากนั้นตักแบ่งใส่ถ้วยกินกัน

ครูฝนและนักศึกษาหันมายิ้มให้แก่กัน ครูถามเบาๆ “หนูรู้สึกอย่างไรบ้าง ได้เรียนรู้อะไร”

นักศึกษาต่างบอกเล่าความรู้สึกของตนเอง

“หนูเห็นคุณยายมีความสุข รอยยิ้มคุณยายทำให้เรามีความสุขไปด้วย”
“ภูมิใจและมีความสุขมากๆ เลยค่ะ ขนมฟักทองบวดที่พวกเราทำกับคุณยายอร่อยมากเลย ‘ขนมแห่งความสุข’ ”
“ความสุขของคุณยายที่ได้ทำในสิ่งที่คุณยายประทับใจคือ ‘การทำขนม’ ”
“หนูคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่ช่วยให้ชีวิตคุณยายดำเนินต่อไปคือกำลังใจค่ะ”
“หนูเข้าใจความเป็นอยู่ของคุณยาย เปิดใจรับฟังคุณยายและเพื่อนในกลุ่ม การคิดอย่างเป็นระบบ เห็นรอยยิ้มที่มีความสุขของคุณยาย”
“ได้ฝึกทักษะการสังเกต การคิดวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีม มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคุณยาย และรู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นรอยยิ้มคุณยาย”
“ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานเป็นทีม ความสามัคคีการแก้ไขปัญหา กล้าแสดงออก มีความรับผิดชอบ และเข้าใจเข้าถึงความรู้สึกของผู้สูงอายุ”
“หนูจำสูตรขนมและเคล็ดลับการทำขนมฟักทองบวดได้แล้วค่ะ”
“เข้าใจตัวตนคุณยายมากขึ้นและสามารถทำให้ผู้อื่นรู้สึกมีคุณค่าได้ด้วยกิจกรรมค่ะ”
ฯลฯ

ครูฝนจึงเสริมว่า “สูตรขนมของคุณยาย ฟักทองหนึ่งลูกใหญ่คือความรัก ‘ความเข้าใจ’ มะพร้าวคั้นหัวกะทิหางกะทิเคี่ยวจน ‘เข้าถึง’ เนื้อในฟักทอง ‘พัฒนา’ เสริมเติมแต่งความอร่อยด้วยน้ำตาลห้วยกรด เหยาะด้วยเกลือนิดหน่อย เคี่ยวไฟปานกลาง ก็จะได้ ‘ขนมแห่งความสุข’ ”

เราสามารถนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางการปฏิบัติงานในวิชาชีพพยาบาลเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างไร? “ศาสตร์พระราชา” หลักการทรงงานตามแนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

กุลลดาคลายสิ่งค้างใจว่า

“หนูเข้าใจแล้วค่ะ หลักทรงงานของในหลวง กระบวนการคิดบนรากฐานของ ‘การเข้าใจมนุษย์’ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมจากความเข้าใจ ศึกษาผู้คนด้วยการสังเกตและใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ตามหลักการ ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ นำมาเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพประชาชนในวิชาชีพพยาบาลแบบนี้เอง”

พวกเราทุกคนรู้สึกมีความสุข ไม่ใช่แค่ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แต่มีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำงานในวิชาชีพ ทำกิจกรรมจิตอาสา

เมื่อสำเร็จการศึกษา พร้อมจะกลับไปทำงานในบ้านเกิด ดูแลเพื่อนมนุษย์ด้วยความรักเมตตา และจะไม่มีวันลืม

“ขนมแห่งความสุข” “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และจิตอาสา สร้างคุณค่าพยาบาลคืนถิ่นกำเนิด”

“ขนมแห่งความสุข” เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และจิตอาสาสร้างคุณค่าพยาบาลคืนถิ่นกำเนิด

“ขนมแห่งความสุข” เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และจิตอาสาสร้างคุณค่าพยาบาลคืนถิ่นกำเนิด

ระหว่างทางแห่งความสุข

เมื่อครูฝนและนักศึกษาช่วยกันเก็บของและทำความสะอาดบนเตียงคุณยายเสร็จเรียบร้อย จึงกล่าวลา

“หนูกลับก่อนนะคุณยาย นอนพักก่อนนะคะ”

เรามองสบตา คุณยายมีน้ำตารื้น กุลธิดาแอบปาดน้ำตาเบาๆ

ช่วงเวลา ๑๗. ๓๐ น. แดดร่มลมตก สายลมพลิ้วแผ่ว ลมหนาวพัดโบกจนใบไม้ไหว ดอกปีบร่วงหล่นตามแรงลม สายน้ำเจ้าพระยาดูงดงามในยามเย็น นกกาเริ่มบินกลับรัง พวกเรากระชับเสื้อกันหนาวปั่นจักรยานกลับเข้าวิทยาลัย

ตลอดทางภาพคุณยายมองส่งหลานๆ และเหม่อมองช่อดอกปีบที่ส่งกลิ่นหอมเย็นชื่นใจยังลอยติดมาในความคิดคำนึง

เรานึกถึงคำพูดแกล้ม “น้ำตาแห่งความปลื้มปีติในใจ” ที่ค่อยๆ รินไหลผ่านร่องแก้มอันเหี่ยวย่นของหญิงชราวัย ๙๐ ปี

“ขนมฟักทองแกงบวดที่ทำกับหลานๆ วันนี้อร่อยมาก”

เมื่อได้ยินเสียงหัวเราะ เห็นรอยยิ้มที่เหลือแต่เหงือกของคุณยาย ทำให้พวกเราอดที่จะอมยิ้มตามไม่ได้

เป็นความสุขที่เราส่งให้คุณยาย

และคุณยายมอบให้แก่พวกเราในเทศกาลแห่งการส่งความสุข ส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่

เสียงคุณยายยังแว่วมา “อย่าลืมมาทำขนมกับยายอีกนะ”

เป็นความสุขที่ปลูกฝังและสร้างแรงบันดาลใจในวิชาชีพพยาบาล ที่ทำให้เราต่างสุขใจ