Chiang Mai Skate Space ขอพื้นที่ให้สเกตไปถึงฝัน
เรื่อง : เสาวลักษณ์ เชื้อคำ
ภาพ : พบธรรม ยิ่งไพบูลย์สุข
“แม่ ๆ แม่มาดูนี่ ข้าวหอมลงแรมป์ได้แล้ว”
เด็กหญิงในชุดนักเรียนพร้อมอุปกรณ์นิรภัยสำหรับกีฬาเอกซ์ตรีมครบชุดยืนบนขอบแรมป์ – พื้นที่โค้งลาดลงคล้ายครึ่งวงกลม วางเท้าบนสเกตบอร์ดคู่ใจ พลางกวักมือเรียกกองเชียร์คนสำคัญให้ไปดูท่าใหม่ที่เธอเพิ่งทำได้หลังจากไถลลงอย่างไม่เป็นท่ามาหลายต่อหลายครั้ง
ภาพเด็กผู้หญิงกับกีฬาสเกตบอร์ดอาจดูไม่คุ้นตาคนทั่วไปเท่าใดนัก แต่สำหรับชาวสเกตบอร์ดในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว เชื่อว่า “สองข้าว” พี่น้องสเกตเตอร์ตัวเล็กแต่ใจใหญ่คู่นี้คงไม่ใช่ภาพแปลกตาแต่อย่างใด
“เขาจะต้องเรียกแม่ไปดูตลอด เล่นท่าใหม่ ๆ ได้ก็จะขออวดหน่อย” ตวงขวัญ ศุภสวัสดิ์ หรือแม่หนอน เล่าถึงลูกสาวทั้งสองด้วยรอยยิ้ม “พี่ข้าวคนโตเขาจะชอบเล่นโหด ๆ หน่อย ชอบลงแรมป์ ชอบกระแทก แต่อย่างน้องข้าวเขามาเล่นตามพี่ก็ยังไม่ค่อยลุยขนาดนั้น”
พี่ข้าวและน้องข้าว เป็นชื่อเรียกป้องกันการสับสนระหว่าง ขวัญข้าว – วรรณวลี ศุภสวัสดิ์ และข้าวหอม – วราลี ศุภสวัสดิ์ เด็กหญิงอายุ ๙ และ ๘ ขวบ ผู้เป็นรุ่นใหม่แห่งวงการสเกตบอร์ดเชียงใหม่
“เห็นมาจากพระเอกหนังฝรั่ง เวลาเล่นเขาเท่มากก็เลยอยากเล่นบ้าง”
ขวัญข้าวหรือพี่ข้าวเล่าถึงรักแรกพบระหว่างเธอและสเกตบอร์ด เธอเพียรเก็บความประทับใจและเงินค่าขนมมาหยอดกระปุกวันแล้ววันเล่า จนซื้อสเกตบอร์ดแผ่นแรกได้ด้วยเงินของตัวเองในวัยเพียง ๗ ขวบ ไม่นานหลังจากนั้นข้าวหอมหรือน้องข้าว ก็มีผู้ใหญ่ใจดีซื้อสเกตบอร์ดให้ นับจากวันแรกที่สองพี่น้องเริ่มทรงตัวบนกระดานติดล้อมาจนถึงวันนี้ ขวัญข้าวและข้าวหอมเล่นสเกตบอร์ดมาเกือบ ๓ ปีแล้ว เธอจึงเป็น “รุ่นใหม่” ที่ไม่ใช่ “หน้าใหม่” แต่อย่างใด
Surf it like a wave, man ! : จากเกลียวคลื่นสู่การแข่งขัน
“Surf it like a wave, man !” เป็นคำพูดของตัวละครหนึ่งจากภาพยนตร์สุดมันเรื่อง Lords of Dogtown (ค.ศ. ๒๐๐๕) ที่เล่าถึงความเป็นมาของกีฬาสเกตบอร์ด เมื่อเหล่านักเซิร์ฟจากชายฝั่งทะเลแคลิฟอร์เนียเบื่อหน่ายจากการทนนั่งมองทะเลราบเรียบไร้คลื่น พวกเขาจึงเปลี่ยนสถานที่เซิร์ฟจากท้องทะเลมาเป็นท้องถนน ทำให้สเกตบอร์ดรุ่นแรกมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับเซิร์ฟบอร์ดติดล้อ ก่อนจะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนและพัฒนาเป็นทรงที่คุ้นตากันในปัจจุบัน
สเกตบอร์ดเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ ๑๙๕๐ โดยเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยกระแสจากภาพยนตร์ ดนตรี และแฟชั่น สเกตบอร์ดถูกส่งต่อข้ามวัฒนธรรมไปทั่วโลกโดยพ่วงเอาวิถีชีวิต ธุรกิจ ความอันตรายจากการเล่น และภาพลักษณ์ของวัยรุ่นเลือดร้อนเข้าไปด้วย ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐ กีฬาชนิดนี้จึงกลายเป็นกิจกรรมต้องห้ามในหลาย ๆ ที่ จนเหล่าสเกตเตอร์ต้องแอบเล่นในฐานะ “กีฬาใต้ดิน” อยู่นับ ๑๐ ปี
แม้สเกตบอร์ดจะเข้าสู่ยุคตกต่ำหลายต่อหลายครั้ง ทั้งปัญหาด้านภาพลักษณ์และการเสื่อมความนิยมเนื่องจากการเข้ามาของกีฬาเอกซ์ตรีมประเภทอื่น ๆ เช่นอินไลน์สเกตและจักรยาน BMX ในช่วงคริสต์ทศวรรษ ๑๙๗๐ แต่เมื่อเกิดการสร้างสรรค์ท่าสเกตใหม่ ๆ จนกลายเป็นแนวการเล่นแบบนิวสกูล (new school) ขึ้น สเกตบอร์ดก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งจนได้รับบรรจุลงในโปรแกรมการแข่งขันของกีฬา X Games ใน ค.ศ. ๑๙๙๕
จากนักเซิร์ฟไร้คลื่นแห่งชายฝั่งแคลิฟอร์เนียเมื่อกว่า ๖๐ ปีก่อน วันนี้สเกตบอร์ดได้รับการยอมรับในฐานะกีฬาเอกซ์ตรีมยอดนิยมที่มีผู้เล่นทั่วทุกมุมโลก และแน่นอนว่ารวมถึงสองพี่น้องนักสเกตแห่งเมืองเชียงใหม่อย่างขวัญข้าวและข้าวหอมด้วยเช่นกัน
Space for skaters : ขอพื้นที่ให้พี่ได้สังเกต
“ปรกติแม่ก็จะต้องขับรถวนหาที่ซ้อมเป็นวัน ๆ ไป แล้วแต่ว่าที่ไหนจะว่าง ช่วงหน้าฝนก็จะลำบากหน่อย บางทีต้องหยุดซ้อมไปเลยก็มี”
ตวงขวัญ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นผู้ชมและกองเชียร์คนสำคัญให้กับ “สองข้าว” แล้ว ยังต้องเป็นสารถีรับ – ส่งและมองหาสถานที่สำหรับฝึกซ้อมในแต่ละวันด้วย
“สเกตพาร์ก” ประจำของสองพี่น้องคือลานข้างโรงประลอง – สถานที่ทำงานศิลปะของนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งถูกใช้เป็นลานสเกตชั่วคราวในช่วงเวลาบ่ายแก่ ๆ ไปจนถึงช่วงเย็น ลานนี้ไม่มีอะไรอื่นนอกจากพื้นที่โล่งยาวขนานไปกับตัวอาคาร ในยามที่ต้องซ้อมด้วยท่ามาตรฐาน เหล่าสเกตเตอร์ทั้งรุ่นเก๋าและรุ่นจิ๋วมากหน้าหลายตาจึงต้องยกอุปกรณ์ประยุกต์ที่ดูมาตรฐานบ้างไม่มาตรฐานบ้างมาใช้ฝึกฝนทักษะ ตั้งแต่ราวเหล็กทำขึ้นเอง สายยาง ไปจนถึงอิฐบล็อก
ขวัญข้าวและข้าวหอมคุ้นเคยกับลานแห่งนี้เป็นอย่างดี สองพี่น้องส่งยิ้มและทักทายเหล่านักสเกตที่มีอายุมากกว่าพวกเธออย่างน้อย ๑๐ ปีด้วยการชนกำปั้นกันอย่างสนิทสนม
ลานโล่งยาวแห่งนี้ถูกกวาด ทำความสะอาด โดยสเกตเตอร์ที่กำลังจะใช้พื้นที่ อุปกรณ์การฝึกซ้อมทั้งที่สร้างขึ้นเองและหยิบจับมาประยุกต์ใช้ค่อย ๆ ถูกจัดวางตามที่เห็นว่าเหมาะสมทีละชิ้น ๆ แม้จะมีอุปกรณ์เพียงไม่กี่ชิ้น แต่เมื่อคำนวณพื้นที่ปลอดภัยของอุปกรณ์ชิ้นหนึ่ง ๆ ด้วยสายตา ก็พอจะพูดได้ว่ามันเบียดเสียดกันจนเต็มลาน
“เวลาจะออลลี่ต้องย่อเข่าลงไปอีก ขยับเท้าไปกลางบอร์ดอีกหน่อย แล้วค่อยสไลด์ไปข้างหน้าตอนกระโดด จะได้ออลลี่ได้สูง ๆ” เสียงทุ้มของสเกตเตอร์ร่างสูงผอมคนหนึ่งกำลัง “โค้ช” พี่ข้าวให้ “ออลลี่” หรือกระโดดโดยให้สเกตบอร์ดลอยสูงขึ้นด้วย การออลลี่สูงเป็นพื้นฐานของการออลลี่ข้ามสิ่งกีดขวาง และต่อยอดให้สามารถสเกตท่าอื่น ๆ ได้ ดูเหมือนว่าเป้าหมายของขวัญข้าวตอนนี้คือการออลลี่ขึ้นและลงจากเครื่องกีดขวางที่มีลักษณะเหมือนม้านั่งตัวยาว เหมือนที่เธอเห็นพี่ ๆ สเกตเตอร์เล่นกันแบบเท่ ๆ
หากวันไหนที่ลานข้างโรงประลองไม่สามารถใช้ฝึกซ้อมได้ สามแม่ลูกจะใช้ลานสเกตที่ชาวสเกตเตอร์ต่อเติมไว้ที่อาคารรกร้างหลังหนึ่งในศูนย์วิจัย สาธิต และฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ ซึ่งเป็นพื้นที่ของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“แม่ชอบให้มาที่นี่มากกว่า จะได้มีคนช่วยสอน ถ้าไปที่โน่นคนไม่เยอะ บางทีก็มีแต่แม่ไปนั่งดูอยู่คนเดียว แม่เล่นไม่เป็น สอนลูกไม่ได้” เธอพูดกลั้วหัวเราะในตอนท้าย
จริงอยู่ว่าตวงขวัญสามารถพูดคุยเรื่องท่า เทคนิค และอุปกรณ์เฉพาะในการเล่นสเกตได้เหมือนกับเป็นสเกตเตอร์คนหนึ่ง แต่ทั้งหมดนั้นเกิดจากการนั่งมองลูกสาวทั้งสองเรียนรู้ไปทีละนิด ๆ เท่านั้น ในทางปฏิบัติแม่หนอนสนับสนุนเต็มที่ได้ด้วยการเป็นลมใต้ปีก – ไม่ใช่โค้ช เธอจึงพยายามพา “สองข้าว” ไปเจอกับสเกตเตอร์เก่ง ๆ เพื่อจะได้รับคำแนะนำดี ๆ อยู่เสมอ
สเกตบอร์ดและกีฬาเอกซ์ตรีมประเภทอื่น ๆ มีเงื่อนไขในการฝึกซ้อมอยู่พอสมควร เพราะนอกจากเรื่องสถานที่และอุปกรณ์แล้ว กระบวนการการถ่ายทอดและฝึกซ้อมยังไม่เป็นระบบเหมือนกีฬามาตรฐานประเภทอื่น ๆ การโค้ชอย่างเป็นมาตรฐานในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ดังนั้นการรวมกลุ่มเพื่อถ่ายทอดความรู้ระหว่างสเกตเตอร์ที่มีฝีมือแล้วกับสเกตเตอร์รุ่นใหม่จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง
สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นอีกหนึ่งสถานที่ซ้อมในจังหวัดเชียงใหม่ที่นักกีฬาสเกตบอร์ดได้รับความอนุเคราะห์ โดยใช้พื้นที่สลับกับกลุ่มนักกีฬาบาสเกตบอลและชมรมแอโรบิก ที่นี่มีนักกีฬาเอกซ์ตรีมไปรวมตัวกันทุก ๆ เย็น เพราะนอกจากจะมีพื้นสำหรับสเกตแล้ว ยังมีลานจักรยาน BMX ที่มีอุปกรณ์ขนาดมาตรฐานสำหรับฝึกซ้อมอยู่ด้วย อุปกรณ์เหล่านี้เกิดจากการเรี่ยไรรวบรวมเงินคนละเล็กละน้อยจากกลุ่มจักรยาน BMX แรมป์ขนาดใหญ่ ตั้งเบียดเสียดอยู่ในมุมหนึ่งข้างสนามบาสเกตบอล ในเวลาที่กลุ่ม BMX ฝึกซ้อมจึงฝึกได้ครั้งละไม่กี่คัน และเมื่อพื้นที่นั้นว่างจึงจะเป็นเวลาของ “สองข้าว” และสเกตเตอร์หน้าใหม่คนอื่น ๆ
“พี่ขวัญชอบไปเล่นที่ไหนที่สุด” เสียงถามพี่คนโตที่พักเหนื่อยจากการสเกตมาร่วมวงสนทนา
“ชอบแม่เหียะ”
“ทำไมชอบแม่เหียะล่ะคะ”
“มันมีแรมป์ ชอบลงแรมป์” ขวัญข้าวตอบแล้วปลีกตัวไปตั้งหน้าตั้งตาออลลี่อีกครั้ง
“สนามเทศบาลฯ ก็มีแรมป์นะ” แม่หนอนพูดขึ้นโดยไม่ได้คาดหวังคำตอบจากลูกสาวคนโต
“มันสูงไป ข้าวหอมเล่นไม่ได้” น้องเล็กตอบแทนพี่สาว เพราะแรมป์สำหรับ BMX อาจมีความสูงและส่วนโค้งที่ลาดชันเกินไปสำหรับสเกตเตอร์ที่มีแค่ทักษะพื้นฐานไม่กี่ท่า “เคยโดนเสี้ยนด้วย ตรงนี้” เธอชี้ให้ดูที่ฝ่ามือ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับกีฬาเอกซ์ตรีมนั้นย่อมผุพังไปตามการใช้งานที่หนักหน่วงและหลายครั้งก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุ
พื้นที่ส่วนกลางที่ชาวสเกตในเชียงใหม่ใช้ฝึกซ้อมมีเพียงลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าและสนามกีฬาเทศบาลจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ ส่วนสถานที่อื่น ๆ นั้นล้วนเกิดขึ้นโดยพฤตินัยอย่างค่อนข้างถือวิสาสะ โดยยึดเอาพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นลานโล่ง และยาวพอจะสะสมแรงส่งให้มากเพื่อให้กระโดดข้ามสิ่งกีดขวางได้
“ถ้าจะเล่นแบบนั้นต้องไปต่อแถวก่อน”
ข้าวหอมชี้ชวนให้ดูการ “ต่อแถว” ของเหล่าสเกตเตอร์ อันเป็นหนึ่งในวิธีจัดการซ้อมให้สอดคล้องกับข้อจำกัดของพื้นที่ที่มีความยาวน้อยเกินไป โดยการกำหนดแนวการเล่นสเกตบอร์ดให้เป็นแนวทแยง เพื่อให้มีพื้นที่สะสมแรงส่งตัวก่อนกระโดดได้มากที่สุด เมื่อพื้นที่ถูกใช้ในแนวทแยง แนวการเล่นจึงมีได้แค่แนวเดียว เหล่าสเกตเตอร์กว่า ๑๐ ชีวิตจึงต้องต่อแถวยาวเหยียดในการฝึกซ้อมแต่ละรอบ
ข้อจำกัดที่ต่อเนื่องจากด้านสถานที่คืออุปกรณ์ฝึกซ้อม ท่าสเกตบอร์ดพื้นฐานที่ใช้แข่งขันมีทั้งท่าที่ฝึกซ้อมในพื้นที่โล่งกว้างได้และท่าที่ต้องอาศัยอุปกรณ์หรือพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ราวเหล็ก พื้นต่างระดับ พื้นลาดเอียงหรือแรมป์ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อสถานที่ฝึกซ้อมถูกใช้ร่วมกับกิจกรรมอื่น ๆ อุปกรณ์ฝึกซ้อมจึงไม่สามารถติดตั้งอย่างถาวรได้ “อุปกรณ์สร้างโปรฯ” ของสเกต-เตอร์ชาวเชียงใหม่จึงต้องเคลื่อนย้ายได้ เก็บได้ โดยใช้พื้นที่น้อย ในแทบทุกสนามฝึกซ้อม ทั้งที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการและที่เกิดขึ้นโดยพฤตินัย เราจะพบราวเหล็กที่ต่อเติมขึ้นเอง กรวยจราจร อิฐบล็อก แผ่นไม้กระดาน สายยาง และสารพัดสิ่ง
ที่ดูไม่ใกล้เคียงกับสเกตพาร์กที่ไหนบนโลกใบนี้
หอย – วิศววิท เตพา สเกตเตอร์ที่อยู่ในวงการกีฬาเอกซ์ตรีมเชียงใหม่มาอย่างยาวนานเคยพูดถึงปัญหาด้านสถานที่ให้เราฟัง
วิศววิท หรือที่พี่น้องสองข้าวเรียกว่า “พี่หอย” นอกจากจะเป็นโค้ชคนแรก ๆ ให้กับ “สองข้าว” แล้ว ยังประจำการอยู่ที่ Kovert ลานสเกตเอกชนที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ อันที่จริงจะเรียกว่าลานสเกตอาจไม่ถูกต้องนัก เพราะ Kovert เป็นร้านขายอุปกรณ์สำหรับสเกตที่เปิดกว้างให้เหล่าสเกตเตอร์ได้เข้ามาใช้พื้นที่และอุปกรณ์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แม้อาจจะไม่ใช่พื้นที่ขนาดมาตรฐานที่มีอุปกรณ์ครบครันเหมือนลานสเกตเต็มรูปแบบ แต่ลานสเกตใจดีแห่งนี้ก็เปิดโอกาสให้นักสเกตทุกรุ่น ทุกชนชาติมารวมตัวกันอยู่เสมอ
ช่วงเวลาหนึ่งในราวปี ๒๕๔๐ กีฬาสเกตบอร์ดในเชียงใหม่ได้รับการสนับสนุนและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนเกิดเป็นการจัดการแข่งขันกีฬาเอกซ์ตรีมขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย แน่นอนว่าการได้รับการสนับสนุนโดยเฉพาะด้านพื้นที่และอุปกรณ์ฝึกซ้อมย่อมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักกีฬามีพัฒนาการและความพร้อมในการแข่งขัน
“เมื่อก่อนเวลาไปแข่งนี่ ถ้าบอกว่ามาจากเชียงใหม่เขากลัวเลย เพราะเชียงใหม่โปรฯ เยอะ แชมป์ทั้งนั้น ระดับโลกก็อยู่ที่นี่”
โปรฯ ในวงการสเกตเตอร์หมายถึงสเกตเตอร์ที่มีทักษะการเล่นดีเยี่ยมจนถึงขั้นเล่นเป็นอาชีพ “เดี๋ยวนี้พอไปแข่งสนามระดับประเทศจะรู้เลยว่าเราเก่งทางราบ คือถามว่าเก่งไหม ก็ไม่ใช่ไม่เก่ง แต่พอเป็นท่าที่ต้องเล่นกับอุปกรณ์มาตรฐาน ที่อื่นเขาก็ดีกว่า เพราะซ้อมในพาร์กมาตรฐาน” เขาสรุปให้ฟังสั้น ๆ แต่ครอบคลุมปัญหาทั้งหมด
“อย่างผมนี่เดี๋ยวนี้ก็ไถไปเรื่อยเปื่อย เล่นที่ไหนได้ก็เล่น โดนไล่ก็ย้ายที่ ผมไม่ซีเรียส เล่นเป็นไลฟ์สไตล์ แต่ ‘สองข้าว’ นี่เขาเริ่มต้นค่อนข้างไว อนาคตไกล ควรจะได้ซ้อมจริงจัง” วิศววิทพูดส่งท้าย
เช่นเดียวกับวิศววิท เบียร์ – ธนาธร เลิศพัฒนชาติ เจ้าของร้าน Kid Skate Shop และหนึ่งในแรงผลักดันให้เกิดการแข่งขันสเกตบอร์ดในเชียงใหม่ก็มองเห็นความสำคัญในการสร้างพื้นที่ส่วนกลางสำหรับสเกตบอร์ดและกีฬาเอกซ์ตรีมอื่น ๆ
ในฐานะของผู้จัดกิจกรรมการแข่งขันมาเป็นเวลาหลายปี เขาพบว่ากลุ่มนักกีฬาสเกตบอร์ดในจังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้มีจำนวนน้อยอย่างที่หลายคนเข้าใจ
“ปีแรก ๆ ผมตกใจเลย โอ้โฮ มาจากไหนกันเนี่ย ที่ผ่านมาไปแอบอยู่ตรงไหนกัน” เขาเล่ากลั้วเสียงหัวเราะ ด้วยสถานที่ซ้อมที่จำกัดจำเขี่ยและไม่เอื้อให้เกิดการรวมตัวกัน จึงดูคล้ายกับความนิยมเล่นกีฬาสเกตบอร์ดหายไปจากจังหวัดเชียงใหม่ จนเมื่อเกิดกิจกรรมการแข่งขันขึ้น คนอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งคนในวงการกีฬาเอกซ์ตรีมเองจึงได้รู้ว่า นักกีฬาเอกซ์ตรีมในเชียงใหม่ไม่ได้ลดลงเลย เพียงแต่ขาดการรวมตัวกันเท่านั้น
“สนามเป็นสิ่งสำคัญนะครับ หากจะดึงเอกซ์ตรีมมาเป็นกีฬากระแสหลัก ลูกค้าฝรั่งร้านผมถามหาเอกซ์ตรีมพาร์กในเชียงใหม่ตลอด ผมเชื่อว่ากีฬาพวกนี้ไม่ได้เป็นแค่กีฬา แต่เป็นไลฟ์สไตล์ เป็นแฟชั่น เป็นธุรกิจด้วย ถ้าจัดการดี ๆ จะทำเงินให้เชียงใหม่ได้มากเลยด้วยซ้ำ” ธนาธรมองด้วยมุมมองของทั้งนักกีฬา ผู้จัดการแข่งขัน และนักธุรกิจได้อย่างครบถ้วน
มุมมองของผู้ใหญ่ซับซ้อน กว้างขวาง และหลากหลาย ในขณะที่มุมมองของเลือดใหม่ในตอนนี้ตรงประเด็นและเรียบง่าย
“ที่จริงชอบทุกที่ ที่ไหนก็ได้ ขอแค่ได้เล่นสเกต” ขวัญข้าวกลับมาตอบคำถามเดิมซ้ำอีกครั้ง
Start the future from now on : สร้างอนาคตที่วันนี้
“Practice makes perfect. – การฝึกฝนสร้างความสมบูรณ์แบบ” ประโยคนี้เป็นจริงเสมอในทุกเรื่อง กีฬาก็เช่นเดียวกัน อ้อ- สุรัสวดี วรวุฒิพุทธพงศ์ ก็เชื่อเช่นนี้ นอกจากบทบาทนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรแล้ว วันนี้เธอจึงมีบทบาทของประธานชมรมกีฬาเอกซ์ตรีมเชียงใหม่พ่วงด้วย เธอไม่เล่นกีฬาเอกซ์ตรีม แต่มองเห็นและเข้าใจผู้เล่นทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ เพราะเต้ย- กฤตเมศ วรวุฒิพุทธพงศ์ ลูกชายของเธอเป็นนักกีฬาอินไลน์สเกตรุ่นเยาวชนที่มีผลงานอยู่ในระดับนานาชาติ
“จะเป็นนักกีฬาอาชีพได้ไม่ใช่ว่าตะบี้ตะบันซ้อมอย่างเดียว ต้องซ้อมแบบมีระบบ ต้องรู้ว่าควรพัฒนากล้ามเนื้อส่วนไหน ถ้าโค้ชไปแบบไม่มีเทคนิคสู้ระดับโลกไม่ได้แน่นอน การรวมกลุ่มจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะกับกีฬาเอกซ์ตรีม เพราะเทคนิคหลาย ๆ อย่างต้องอาศัยการถ่ายทอดจากคนที่มีประสบการณ์” ด้วยข้อเท็จจริงนี้ สุรัสวดีจึงดึงสองพี่น้องนักสเกตเข้าร่วมชมรมทันทีที่ได้เจอกัน ในฐานะของผู้สนับสนุน เธอมองเห็นโอกาสในการพัฒนา
“สเกตบอร์ดให้อะไรดี ๆ กับลูกแม่เยอะ ให้ความอดทน ความพยายาม ให้ความมั่นใจ จากที่เคยเป็นเด็กไม่มั่นใจ ขี้อาย เดี๋ยวนี้ ‘สองข้าว’ คุยกับทุกคนได้หมด มีสังคมที่กว้างขึ้น ได้เจอกับคนโต ๆ แล้วเขาก็มีความคิดความอ่านเป็นผู้ใหญ่ สุดท้ายแล้วไม่ว่า ‘สองข้าว’ จะมีโอกาสไปไกลกว่านี้หรือไม่ แม่ก็ยังอยากให้เขาได้เล่นสเกตบอร์ดต่อไป ยังอยากให้เขาเติบโตขึ้นกับกิจกรรมนี้ไปเรื่อย ๆ ต่อให้จะได้เป็นหรือไม่ได้เป็นนักกีฬา แค่เขามีความสุขแม่ก็จะสนับสนุนทุกอย่าง”
ตวงขวัญพูดขึ้นในขณะที่สายตาจับจ้องไปที่สเกตเตอร์ตัวน้อยทั้งสองคน ซึ่งกำลังจะมีโอกาสก้าวเข้าสู่เส้นทางของนักกีฬาอาชีพที่ต้องเก็บตัวเพื่อฝึกซ้อมอย่างจริงจัง ในขณะที่ “สองข้าว” ตื่นเต้นกับการเก็บตัวฝึกซ้อม ตวงขวัญยังคงคิดไม่ตกเรื่องสถานที่เก็บตัว เพราะสนามที่ใช้ฝึกซ้อมท่ามาตรฐานสำหรับแข่งขันได้ ล้วนหมายถึงการย้ายที่อยู่ของเธอและลูกสาวเป็นเวลาหลายเดือน
กีฬาเอกซ์ตรีมกำลังก้าวเข้าสู่พื้นที่ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นสนามเล็ก ๆ ระดับจังหวัด หรือรายการระดับโลกอย่างเอเชียนเกมส์ ๒๐๑๘ และโอลิมปิก ๒๐๒๐ ที่มีการบรรจุสเกตบอร์ดเป็นหนึ่งในห้ากีฬาใหม่ในรายการแข่งขัน การเปิดพื้นที่ฝึกฝนและแสดงออกอย่างสร้างสรรค์สำหรับกีฬาเอกซ์ตรีมจึงไม่ใช่เพียงแค่ส่งเสริมงานอดิเรกหรือการออกกำลังกายเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างนักกีฬาในอนาคตด้วย – เผื่อว่าเอกซ์ตรีมพาร์กมาตรฐานสักแห่งในเชียงใหม่อาจส่งนักกีฬาสเกตบอร์ดหญิงที่ชื่อขวัญข้าวและข้าวหอมไปถึงโอลิมปิกในสักวันหนึ่ง
“เก็บของกลับบ้านได้แล้ว ‘สองข้าว’”
“แม่มาดูก่อน มาดูอีกที ขอรอบสุดท้าย เมื่อกี้ข้าวหอมทำได้แล้ว”
บทสนทนาต่อรองของสามแม่ลูกยังคงดำเนินกันไปอย่างยืดเยื้อ ปนเปกับเสียงกระแทกของสเกตบอร์ดในเวลาฟ้ามืด สเกตเตอร์สองสามคนกำลังฝึกออลลี่ข้ามแผ่นไม้อยู่ในมุมเล็ก ๆ ด้านข้าง อีกกลุ่มใหญ่ ๆ ยังคงเข้าแถวรอใช้ราวเหล็กต่อไป