เรื่องและภาพ : ทีมโฮมฮัก ค่ายนักเล่าความสุข

เพราะเป็นแม่…จึงค้นพบความสุข

คิมจียองตั้งอกตั้งใจอธิบายความรู้สึกของเธอแก่สามี

เธออธิบายว่าเธอหวั่นใจจะทำงานต่อไปไหวไหมหลังคลอด และเธอละอายใจที่ด่วนกลัดกลุ้มตั้งแต่ลูกยังไม่ทันเกิด

ชองแดฮยอนฟังคำพูดอย่างสงบ พลางพยักหน้าเป็นระยะตามจังหวะ

“ถึงอย่างนั้นก็เถอะ จียองเธออย่าคิดแค่สิ่งที่จะเสียสิ ลองคิดถึงสิ่งที่จะได้มาด้วย การเป็นพ่อแม่คนมีความหมายยิ่งใหญ่และเป็นเรื่องน่าประทับใจมากนะ ถ้าฝากใครเลี้ยงลูกไม่ได้จริงๆ ต่อให้เป็นกรณีเลวร้ายที่สุด คือเธอต้องออกจากงาน ก็ไม่เห็นต้องห่วง พี่จะดูแลเธอเอง พี่ไม่บอกให้เธอหาเงินเข้าบ้านหรอกน่า”

“แล้วพี่ล่ะเสียอะไร”
“หา?”
“พี่ห้ามฉันอย่าคิดแค่สิ่งที่จะเสีย แต่วัยสาว สุขภาพ หน้าที่การงาน เพื่อนร่วมงาน ความสัมพันธ์ทางสังคม เพื่อนฝูง แผนการที่วางไว้ อนาคต ฉันอาจสูญเสียพวกมันทั้งหมด ถึงได้คิดแต่สิ่งที่จะเสียอยู่นี้ไง แล้วพี่ล่ะ พี่เสียอะไรบ้าง”

นี่เป็นบทสนทนาในหนังสือเรื่องสั้นสัญชาติเกาหลี คิมจียองเกิดปี 82 ระหว่างคิมจียองและสามีในวันที่ทั้งคู่พูดคุยกันเพื่อตัดสินใจมีลูกเร็วขึ้นจากแผนที่วางไว้ เพียงเพื่อตัดความรำคาญใจจากการถูกเฝ้าถามถึงของญาติผู้ใหญ่ฝ่ายสามี

สร้างแรงกระเพื่อมถึงความไม่เท่าเทียมของชาย-หญิงในสังคมเกาหลี ประเทศที่ยังคงมีกลิ่นอายระบบปิตาธิปไตย (Paternalism) หรือชายเป็นใหญ่ และสังคมเอเชีย ซึ่งการตัดสินใจมีลูกสักคนนั้น ดูจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตลูกผู้หญิงคนหนึ่ง

เลี้ยงลูกใครว่าง่าย เพราะงานของแม่ไม่มีวันจบ

แม้ยุคปัจจุบันเพียงแค่มีมือถือ หากเราอยากรู้เรื่องอะไรก็ค้นหาได้ไม่ยาก แม้กระทั่งความรู้เรื่องการเลี้ยงเด็ก ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ไปจนโตเป็นหนุ่มเป็นสาว ทั้งงานวิชาการ บทความ หรือประสบการณ์ตรงของพ่อแม่ จนเหมือนไม่ต้องเป็นนักจิตวิทยาเด็ก เราก็เลี้ยงลูกตามหลักวิชาการหรือเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพได้

ฟังดูเหมือนการเลี้ยงลูกจะง่ายขึ้น แต่ความจริงพ่อแม่ยังมีความเครียดในการเลี้ยงดูลูกอยู่มาก

โดยเฉพาะแม่ที่ต้องรับบทบาทหลักในการดูแลลูก ต้องเครียดกับการดูแลลูก รับผิดชอบงานบ้าน จัดการกับอารมณ์ตนเอง ขาดความสัมพันธ์ทางสังคม และความวิตกเรื่องรายได้ของครอบครัว

จนทำให้แม่หลายคนมีพฤติกรรมและอารมณ์เปลี่ยนไป เครียด โกรธง่าย และบางคนมีภาวะซึมเศร้า

มีงานวิจัยสำรวจแม่ชาวสหรัฐอเมริกา อายุระหว่าง 18-64 ปี จำนวน 60,799 ราย เมื่อปี 2555 พบว่าแม่ที่อยู่บ้านเลี้ยงลูกเองนั้นมีอารมณ์เชิงลบได้มาก โดยแม่ฟูลไทม์ 41 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าตนเองกลายเป็นคนช่างวิตกกังวล ห่วงว่าจะเกิดอันตรายกับลูกน้อย ขณะที่แม่ทำงานกลับมีความรู้สึกเช่นนี้ 34 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตรงกับบทความเรื่อง The mental load of motherhood is what I didn’t fully expect? ของ Jordan Baker Watts คุณแม่ลูกสาม อดีต Miss America ที่บันทึกประสบการณ์การเลี้ยงลูกว่า

“ภาระในใจแม่เป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน แม่ทำสิ่งที่เหนื่อยมากมาย แต่ไม่เทียบเท่ากับความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ ถึงแม้ร่ายกายจะได้พักผ่อน แต่จิตใจจิตวิญญาณกลับไม่เคยได้พัก”

ความหมายใหม่

ผลการศึกษาของเว็บไซต์ psychology-spot ระบุหลักฐานทางชีววิทยาที่ช่วยยืนยันว่า ยีนจากแม่เป็นตัวกำหนดความฉลาดของลูกน้อย แต่ถึงอย่างนั้นยีนคงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ลูกฉลาด หรือมีความสุข ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูด้วย ซึ่งต้องเริ่มต้นจากพ่อแม่มีความสุขก่อน

มีทฤษฎีความสุข The Theory of well being ของ Dr. Martin Seligman จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา บอกว่า สิ่งที่จะทำให้คนเรามีชีวิตที่มีคุณภาพ และมีความสุข ขึ้นกับปัจจัย 5 อย่าง คือ “PERMA”

P- Positive emotion คือการมีอารมณ์บวก มีความหวัง มีศรัทธา มีอารมณ์ขัน
E- Engagement คือการรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด มีความสนใจกับสิ่งนั้นอย่างมุ่งมั่นจริงจัง จนเป็นพลังในการใช้ชีวิต
R- Positive Relationship คือการมีสัมพันธภาพที่ดี มีเพื่อน มีความสัมพันธ์ทางสังคม
M- Meaning คือการมีชีวิตที่มีความหมาย ไม่ใช่เพียงการเห็นคุณค่าของตัวเอง แต่ขยายถึงการได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่มีความหมายต่อชีวิตผู้อื่น
A- Accomplishment คือการทำอะไรแล้วประสบความสำเร็จ แม้เป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ก็เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการมีชีวิตต่อไป

จากประสบการณ์การเป็นแม่ลูกสอง ที่ต้องเป็นแม่กึ่งฟูลไทม์ คือสลับกันเลี้ยงลูกสลับกันทำงานระหว่างสามีภรรยาตลอด 24 ชั่วโมง ฉันเชื่อว่าการเป็นแม่ที่มีความสุขเกิดขึ้นจริงได้

ลองเปิดใจฟังเสียงความต้องการของตัวเอง โอบกอดตัวเองเหมือนที่โอบกอดลูก แล้วนำทฤษฎีของความสุขทั้งห้าปัจจัยนี้มาใช้ แม้กับเรื่องเล็กน้อยในชีวิต หรือเรื่องธรรมดาที่พบเจอในทุกๆ วัน เหมือนกับกลุ่มคุณแม่ที่ฉันได้มีโอกาสไปพูดคุย

 เสื่อกระเป๋าใส่ของเล่น แม่ชิโอริออกแบบเอง ทำให้เด็กๆ สามารถเล่นของเล่นได้ทุกที่ทั้งในบ้านและนอกบ้าน

เสื่อกระเป๋าใส่ของเล่น แม่ชิโอริออกแบบเอง ทำให้เด็กๆ สามารถเล่นของเล่นได้ทุกที่ทั้งในบ้านและนอกบ้าน

ผลงานชิ้นล่าสุดของเธอ ชุดตำรวจน้อยจากชุดเครื่องแบบเก่าของพ่อ

ผลงานชิ้นล่าสุดของเธอ ชุดตำรวจน้อยจากชุดเครื่องแบบเก่าของพ่อ

คุณแม่ ชิโอริ ซาโต้

เป็นแม่ลูกสอง ชาวญี่ปุ่นแต่งงานกับคนไทย และเลือกมาใช้ชีวิตในเมืองไทย

ชิโอริ ซาโต้ – แม่ชิโอริ เป็นคนโตเกียว จบปริญญาตรี สาขา International Liberal Art หรือวัฒนธรรมเปรียบเทียบ

เรารู้จักกันจากการเป็นผู้ปกครองเด็กอนุบาล 1 โรงเรียนเดียวกัน เราเจอกันบ่อยๆ ช่วงรอรับลูก และนัดทำกิจกรรมร่วมกันบ้างหลังเลิกเรียนในชื่อกลุ่ม After School ฉันคุ้นตากับภาพแม่ชิโอริที่มีเด็กชายฮิโรกิ ลูกคนที่ 2 อยู่ในเป้อุ้ม พร้อมๆ กับที่แม่ชิโอริกำลังง่วนกับการถักโครเชต์บ้าง ถักนิตติ้งบ้าง

แม่ชิโอริเล่าให้ฟังถึงการเรียนระดับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นของเธอว่า “ตอนเรียนปี 2 มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรบังคับให้นักศึกษาต้องไปเรียนต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม” เธอจึงเลือกมาเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เธอเล่าให้เราฟังว่า ชีวิตเธอเดินทางบ่อย ไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่มัธยมฯ และชอบท่องเที่ยวไปดูวิถีชีวิต เดินตลาดท้องถิ่นในหลายประเทศทั่วโลก

เมื่อเรียนจบเธอตัดสินใจทำงานที่ประเทศไทย เพราะคิดว่าหากเลือกกลับไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น โอกาสจะได้แต่งงานกับแฟนชาวไทยคงเป็นไปได้ยาก ด้วยวัฒนธรรมชาวญี่ปุ่นปัจจุบัน ผู้หญิงเริ่มทำงานมากขึ้น และคนญี่ปุ่นไม่ค่อยเปลี่ยนที่ทำงาน จะทำไปจนถึงเกษียณอายุ ซึ่งขัดกับความต้องการของเธอที่อยากมีครอบครัว อยากมีเวลาดูแลลูก

ตอนนี้เธอมีลูกชาย 2 คน อายุ 3 ขวบ และ 1 ขวบ ซึ่งเป็นวัยกำลังซน

เธอเป็นแม่ฟูลไทม์ที่ทั้งวันหมดไปกับการรับ-ส่งลูกคนโตที่โรงเรียน ดูแลลูกคนที่ 2 ที่อยู่ในวัยขวบเศษ ทำงานบ้าน

เธอมีห้องแห่งความลับที่บอกเล่าให้เราฟังด้วยสายตาเป็นประกาย

“เวลาลูกหลับ ชิโอริจะเข้าไปทำงานฝีมือในห้องนี้ค่ะ ต้องทำทุกวัน ถ้าไม่ได้ทำเราจะเครียด”

สำหรับแม่ชิโอริ งานฝีมือจึงเป็นยาระบายความเครียดจากการเลี้ยงลูกที่ดี

“เราเลี้ยงลูกคนเดียว ถึงโกรธลูกก็ออกจากตรงนั้นไม่ได้ เพราะไม่รู้จะฝากลูกไว้กับใคร มีบางวันเครียดอยากเย็บผ้ามาก และก็ขี้เกียจทำความสะอาดบ้านด้วย เลยขอเย็บผ้าก่อนวันนี้ไม่ทำงานบ้านวันนึงคงไม่เป็นไร

” พูดจบเราก็ยิ้มให้กันด้วยความเข้าใจ

ลูกชายคนโต ฮารุกิ ชอบรถไฟของเล่นมาก แม่ชิโอริเลยทำหมวกนายสถานีรถไฟแบบญี่ปุ่นให้ใส่เวลาเล่นรถไฟจำลอง หรือกลับไปขึ้นรถไฟที่ญี่ปุ่นในช่วงปิดเทอม

“การเห็นลูกชอบของที่เราทำให้ เป็นความสุขอีกแบบหนึ่งของเรา”

คุณแม่ชิโอริทำทั้งกระเป๋าสะพาย เสื่อกระเป๋าใส่ของเล่นที่ออกแบบเอง ชุดงานถักผักผลไม้ ชุดตำรวจจากผ้าเครื่องแบบเก่าของสามี หมวกนายสถานีรถไฟ และอีกหลายชิ้นที่ไม่น่าเชื่อว่าเธอจะมีเวลาทำอย่างประณีตและสวยงามขนาดนี้ ทั้งๆ ที่ต้องดูแลลูกและทำงานบ้านเพียงคนเดียว

“การแต่งงานกับคนญี่ปุ่นที่อยู่ญี่ปุ่น พ่อจะทำงานหนักมาก แม่ต้องทำงานเยอะกว่าอยู่ที่ไทย แต่สามีเราพอเลิกงานก็รีบกลับบ้านมาอยู่กับลูก มาเล่นกับลูก เขาทำได้ทุกอย่าง อาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม ป้อนข้าว เล่นกับลูก”

การมีบัดดี้ในการเลี้ยงลูก น่าจะเป็นอีกหัวใจสำคัญที่ทำให้คนเป็นแม่ฟูลไทม์แบบแม่ชิโอริ ยังคงมีพลังเลี้ยงลูก

เพราะรู้ว่าคู่ชีวิตพร้อมจะเข้าใจและเป็นหุ้นส่วนรับผิดชอบดูแลชีวิตน้อยๆ ร่วมกัน

ก่อนอำลาจากกันประโยคที่เธอพูดกับฉันยังลอยอยู่ในโสตประสาท

“ยังอยากมีลูกอีกคนนะคะ รอให้ฮิโรกิเข้าโรงเรียนก่อน หวังว่าจะได้ลูกสาวสักทีค่ะ”

หนังสือ อีกสื่อที่แม่แพร์และดินดินมักใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน

หนังสือ อีกสื่อที่แม่แพร์และดินดินมักใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน

กิจกรรมที่แม่อยากทำอย่างการมาเข้าร่วมสังฆะกับหมู่บ้านพลัมที่สวนโมกข์กรุงเทพ น้องดินดินก็ตามมาด้วย

กิจกรรมที่แม่อยากทำอย่างการมาเข้าร่วมสังฆะกับหมู่บ้านพลัมที่สวนโมกข์กรุงเทพ น้องดินดินก็ตามมาด้วย

mother10

คุณแม่ ชญาดา คงยิ่งยง

ชญาดา คงยิ่งยง – แม่แพร์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม After School ที่ฉันสนิทสนม เพราะเรามีกิจกรรมหลังเลิกเรียนร่วมกันเป็นประจำ ด้วยลูกมีพลังเยอะเหมือนกัน และเรามีแนวทางการเลี้ยงลูกและไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกัน เรียกว่าแม่มีเคมีเข้ากันได้ดี

แม่แพร์ อดีตนักโฆษณาในตำแหน่ง Account Director บริษัท JWT (J. Walter Thompson) จากการทำงานแบบ Work Hard Play Hard ทำให้แม่แพร์กลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง

“ถ้าเรามีครอบครัวมีลูก เราจะทำแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน”

ประจวบกับตอนนั้นได้รู้จักธรรมะวิถีเซนของหมู่บ้านพลัม ชุมชนแห่งการฝึกปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติเจริญสติในชีวิตประจำวัน การฝึกเป็นสังฆะ หรือชุมชนแห่งการปฏิบัติพุทธบริษัท 4 โดยหลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) พระภิกษุชาวเวียดนาม ผู้นำเสนอความคิด พุทธศาสนาต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และพุทธธรรม เป็นสิ่งที่ประยุกต์ใช้เข้ากับวิธีชีวิตยุคปัจจุบันได้ (Engage Buddhism)

จุดเปลี่ยนนี้ทำให้แม่แพร์เบนเข็มเส้นทางชีวิตจากนักโฆษณาที่สนับสนุนให้คนเข้าสู่กระแสบริโภคนิยม ลาออกจากงานประจำแล้วไปเรียนต่อ Master of Art in Early Childhood Education ที่ Loyola Marymount University รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

การเปลี่ยนบทบาทใหม่ของแม่แพร์ คล้ายกับการปิดหนังสือเล่มเดิม แล้วเริ่มเขียนหนังสือเล่มใหม่ที่ช่วยให้ชีวิตกลับมามีความหมาย ด้วยการเป็นครูอนุบาลและผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเด็กที่มีธรรมะในหัวใจ ช่วยให้แม่แพร์เกิดความอิ่มสุขที่ได้ทำเพื่อผู้อื่น

“ที่หมู่บ้านพลัมจะพูดถึงศีล 5 ที่ขยายความถึงเรื่องอื่นๆ หนึ่งในนั้นคือสัมมาอาชีวะ เราควรเลือกอาชีพที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

“ยอมรับว่าการมีลูกนี้ก็ทุกข์นะ ขนาดคิดว่าเตรียมตัวมาดี ทั้งปฏิบัติธรรมทั้งเรียนพัฒนาการเด็ก เราเป็นคนชอบอิสระ แต่พอต้องเลี้ยงลูกจริงๆ ต้องอยู่กับลูกตลอด 24 ชั่วโมง ก็ทุกข์”

ด้วยความต้องการดับเหตุแห่งทุกข์นี้ แม่แพร์เลือกให้เวลาคุณภาพกับลูก พร้อมกับเวลาความสุขของตัวเอง ทั้งไปออกกำลังกาย ไปปฏิบัติธรรม

ก่อนหน้านี้เธออยากไปปฏิบัติและอยากเป็นจิตอาสามาก แต่ด้วยความกังวลใจ กลัวลูกจะส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น จนวันหนึ่งคิดว่าหากอยากให้เขาเป็นอย่างไร จงพาเขาไปทำสิ่งนั้น

“พาดินดินไปงานภาวนาของหมู่บ้านพลัมตั้งแต่ 1 ขวบ คิดว่าถ้าร้องก็อุ้มออก เขาอาจเสียงดังบ้าง อยู่ไม่นิ่งบ้าง แต่เราก็เตรียมของเล่นไปให้เขามือไม่ว่าง ขาไม่ว่าง แม้จะไม่ได้นั่งปฏิบัตินานๆ แต่ให้เขาได้มาซึมซับบรรยากาศ และอยากปลูกฝังให้เขามีจิตอาสา ไปเห็นว่าเราไปช่วยงานธรรมะ ทำเพื่อผู้อื่น”

น้องดินดินในวัย 3 ขวบ จึงนั่งในห้องที่มีการปฏิบัติ การแบ่งปัน หรือการบรรยายธรรมได้อย่างเป็นธรรมชาติ

“สิ่งสำคัญในการเลี้ยงลูก คือต้องเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น อย่าคาดหวังกับลูก”

การเป็นแม่ในแบบแม่แพร์ จึงพร้อมเสมอที่จะหอบของเล่นลูกที่พอเหมาะพอดีไปในสถานที่อยากไป ให้ลูกได้เล่น ได้ทำกิจกรรมที่ลูกชอบ ขณะที่แม่ก็ได้ฟังธรรมะ ได้ฝึกปฏิบัติ ได้เชื่อมโยงกับผู้คนในสังฆะ ได้บ่มพลังแห่งสติ เพื่อเป็นแม่แพร์ที่เปี่ยมสติ ที่ดีขึ้นในทุกทุกวัน

 

กระดาษบอกความเสี่ยงหลังผ่าตัดที่คุณหมอยื่นให้ แม่ทิพย์ยังเก็บไว้จนถึงวันนี้

กระดาษบอกความเสี่ยงหลังผ่าตัดที่คุณหมอยื่นให้ แม่ทิพย์ยังเก็บไว้จนถึงวันนี้

แม่ทิพย์ น้ำหวาน และวายุ ในวันธรรมดาที่มีความสุข

แม่ทิพย์ น้ำหวาน และวายุ ในวันธรรมดาที่มีความสุข

คุณแม่ ทิพย์วรรณ เที่ยมหงษ์

เป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่วัยรุ่น เรียนมัธยมฯ ปลายห้องเดียวกัน อยู่กลุ่มเดียวกัน และถกกระโปรงปีนข้ามกำแพงโรงเรียนมาด้วยกัน

ทิพย์วรรณ เที่ยมหงษ์ – แม่ทิพย์ เป็นผู้หญิงเรียบๆ ใจเย็น พร้อมจะยอมเพื่อน ไม่เคยมีใครไม่ชอบทิพย์

แม่ทิพย์เป็นสาวออฟฟิตธรรมดา มีชีวิตเรียบง่าย ทำงานจันทร์ถึงศุกร์ ตอนเย็นเดินเที่ยวห้าง หรือมีนัดสังสรรค์บ้าง แต่เมื่อได้มาเป็นแม่ ชีวิตก็เปลี่ยนไป

เพราะลูกสาวตัวน้อยเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วและตีบตั้งแต่ในครรภ์ หรือที่เรียกว่า โรคหัวใจชนิด TOF (Tetralogy of Fallot) จากการมีเนื้องอกที่ลิ้นหัวใจ

หมอสังเกตเห็นความผิดปกติตอนน้องน้ำหวาน 7 เดือนแล้ว เด็กบางคนมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่น้องน้ำหวานเป็นทั้งตีบและรั้ว

วินาทีแรกที่รู้ว่าลูกไม่ปกติ

“วันนั้นเราไปหาหมอกับแม่ ปกติคุณหมอจะตรวจอัลตราซาวด์ไม่นาน แต่วันนั้นหมอใช้เครื่องมือส่องดูตรงหัวใจน้องนานมาก และออกไปเรียนหมออีกท่านมาช่วยกันดู เราใจเสียเหมือนกัน หมอยังไม่พูดอะไร แต่เราคิดว่าน่าจะต้องมีอะไรผิดปกติ

“พอหมอบอกว่าน้องเป็นโรคหัวใจ และให้เดินกลับไปที่ห้องตรวจเพื่อฟังคำแนะนำอีกครั้ง ตอนนั้นเราขอหมอมาเข้าห้องน้ำก่อน มานั่งร้องไห้

“เราถามตัวเองว่าเราทำอะไรพลาดไป เราดูแลลูกผิดพลาดตรงไหน ก่อนที่จะกลับออกมาหาหมออีกครั้ง”

แม่ทิพย์เล่าให้เราฟังอย่างละเอียด เหมือนเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

หลังจากคลอดน้ำหวาน แม้อาการโดยรวมจะดูเหมือนเด็กปกติ กินนมกินอาหารได้ ร่าเริง แต่น้ำหวานกลับเหนื่อยง่าย และตัวไม่โต กินเท่าไหร่น้ำหนักเท่าเดิม

ตอนอายุ 11 เดือน น้ำหนักยังอยู่ที่ 5 กิโลกรัม ซึ่งตามเกณฑ์มาตรฐานต้องอยู่ที่ 7.5-10.2 กิโลกรัม

หมอตัดสินใจขอให้น้ำหวานเข้ารับการผ่าตัดรักษา

“เป็นการตัดสินใจที่เร็วมาก หมอดูว่าน้ำหนักคงไม่ขึ้นไปกว่านี้แล้ว ก็บอกให้เรามาเดินเรื่องผ่าตัดเลย” แม่ทิพย์บอกเราเหมือนเป็นเรื่องปกติธรรมดา

“จริงๆ เรารู้อยู่แล้วว่าลูกต้องผ่าตัด จะช้าจะเร็วเท่านั้นเอง ทำใจไว้ทุกวันอยู่แล้วตั้งแต่วันที่รู้ว่าลูกไม่สบาย แต่ 11 เดือนก็ยังดีนะ เด็กบางคนคลอดออกมาก็ต้องผ่าตัดเลย นี่เรายังได้เลี้ยงเขามาก่อนตั้ง 11 เดือน”
การผ่าตัดรักษาอาการลิ้นหัวใจรั่วและตีบ หมอต้องย้ายหัวใจออกมาและใส่เครื่องปอดหัวใจเทียม เพื่อตัดเนื้องอกออก ให้เลือดกลับมาไหลเวียนดีขึ้น

แม้สถิติการผ่าตัดรักษาอาการโรคหัวใจในเด็กเล็กปัจจุบันจะมีอัตราการรอดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยง

แม่ทิพย์นำกระดาษที่หมอเขียนรายการความเสี่ยงยาวเยียดมาให้เราดู ตั้งแต่เสียเลือด ติดเชื้อ ภาวะแทรกซ้อนทางสมอง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไตวาย ไปจนถึงเสียชีวิต

“ทุกคนในบ้านกังวลว่าจะผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัดดี แต่เราเชื่อว่าลูกจะปลอดภัย วันนั้นเราอุ้มลูกมาส่งที่ห้องผ่าตัด ลูกร้องไห้ตลอดเวลา เงียบเสียงลงก็ตอนวางยาสลบแล้ว หลังจากนั้นเราก็กลับมาทำงานต่อ เพราะไม่รู้ว่าพอออกจากห้องผ่าตัดแล้วต้องหยุดงานยาวอีกกี่วัน”

วันนี้น้ำหวานอายุ 4 ขวบแล้ว กลับมาแข็งแรง เติบโต และเล่นซนได้เหมือนเด็กๆ ทั่วไป

ไม่ใช่เพียงลูกสาวที่เปลี่ยนไป แม่ทิพย์ก็เปลี่ยนไปจากวันวานที่เราเคยรู้จัก

แม่ทิพย์เข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวมาก การเป็นแม่ที่ต้องทำให้คนรอบข้างเห็นว่าเรายังไหว คงต้องเริ่มต้นจากการบอกตัวเองให้ได้ก่อน

mother08 mother09

ฉัน มาติกา วรรณโกวิท

ฉันเองก็ค้นพบความสุข เพราะได้เป็นแม่เช่นกัน

ฉันเป็นแม่ลูกสอง ลูกสาวคนโตอยู่ในวัยซนอายุ 4 ขวบ ลูกชายคนเล็กอยู่ในวัยน่าฟัดอายุ 4 เดือน

ก่อนจะมาเป็นแม่ ฉันเป็นนักจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ทำงานในประเด็นเด็กและสังคม การได้เดินทางเข้าไปพูดคุย ส่งต่อความรู้ให้ผู้คนในชุมชนทุกช่วงวัยในหลากหลายพื้นที่ ตั้งแต่เชียงรายจรดนราธิวาส คืองานของฉัน

ในเวลาว่างเว้นจากงาน ฉันยังเลือกเดินทางท่องไปในโลกของตัวหนังสือ และหยุดเวลาด้วยงานฝีมือ ที่ทำให้ชีวิตเนิบช้าลงบ้าง

การเป็นแม่ช่วงแรก หัวใจรู้สึกเหมือนถูกขัง ขังอยู่ในห้องที่เรียกว่า “แม่”

งานที่เคยทำ ทั้งงานอาชีพและงานอดิเรก แทบจะทำไม่ได้ เพราะมีหน้าที่หลักเลี้ยงลูก 24 ชั่วโมง มอบให้ลูกทั้งหมด

ฉันยึดธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง นั่นคือ ธรรมชาติของเด็ก ธรรมชาติของโลก และธรรมชาติของฉัน

ในวัยอนุบาลฉันไม่คาดหวังให้ลูกอ่านออก เขียนได้ แต่ขอให้ลูกได้เล่นได้สนุก เคารพธรรมชาติ บ่มเพาะการรักษ์สิ่งแวดล้อม

บ้านเราแทบไม่ใช้แพมเพิส ใช้ผ้าอ้อมเวลาอยู่บ้าน และใช้กางเกงผ้าอ้อมเมื่อต้องออกจากบ้าน

ครอบครัวเราหอบหิ้วกล่องพลาสติก ปิ่นโต ตะกร้า ถุงผ้า แก้วน้ำ หลอด ช้อนส้อม ไปจ่ายตลาดหรือไปงานอีเวนท์ต่างๆ

“หอบบ้านไปไหนกัน” คำทักทายที่ได้ยินเป็นประจำจากคนในครอบครัว เวลาเราพาเด็กๆ ออกไปข้างนอก

แม้ของเล่นของลูกจะมีไม่น้อย แต่ฉันชอบให้ลูกเล่นดิน เล่นทราย เก็บดอกไม้ ใบไม้ ต้นหญ้า มาปรุงด้วยจินตนาการ ออกมาเป็นของเล่นแสนสนุก

“โฮม” ลูกสาววัย 4 ขวบ ชอบใบไม้มาก ไปที่ไหนต้องขอเก็บใบไม้ที่หล่นอยู่ที่พื้นกลับมาเล่นที่บ้านเสมอ เห็นแล้วคิดถึงตัวเองในวัยเด็ก ฉันเองก็ชอบเก็บใบไม้ ดอกไม้ มาทับในสมุดหน้าเหลืองแทรกไปกับตุ๊กตากระดาษเช่นกัน

ฉันและสามีไม่ได้เฝ้าสั่งสอนลูกทุกเรื่อง แต่เราเลือกลงมือทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

บ้านเรามีหนังสือเป็นสิ่งแวดล้อม มีพ่อแม่หยิบหนังสืออ่านเป็นกิจวัตรประจำวัน พ่อแม่ตัดกล่องนมที่กินหมดแล้วมาล้างตาก นำไปบริจาคทำหลังคาจากกล่องนม น้องโฮมมีหน้าที่ช่วยตัด พับ นับจำนวน บ้านเรามีตะกร้าคัดแยกขยะรอนำไปขายโดยคุณปู่คุณย่า ส่วนขยะชิ้นไหนที่รีไซเคิลไม่ได้ เราก็ยัดใส่ขวดน้ำเปล่าทำ Eco bricks (อิฐขวดพลาสติก) ส่งต่อให้โรงเรียนของโฮมไว้สร้างอาคารเรียน

ตอนนี้ใบไม้ที่สนามหญ้าเริ่มรก ฉันแอบมีโครงการอยากชวนโฮมเปลี่ยนใบไม้ให้กลายเป็นดิน คงต้องเริ่มออกสำรวจพื้นที่ว่างในบ้านกันอีกครั้ง

ของเล่นใหม่ชิ้นนี้ของลูกน่าจะสร้างความมหัศจรรย์ให้เขาได้เหมือนเรื่องราวในนิทานก่อนนอน

เพราะการเล่นคืองานของเด็ก

หน้าตาความสุขของแม่วันนี้

เราถามคุณแม่ทั้งสามคนว่าในวันที่เป็นแม่ ความสุขของเธอหน้าตาเป็นแบบไหน

“ลูกสนุกเราก็สนุกด้วย และการที่ลูกรู้ว่าทุกคนรักเขา”

“ได้กอดลูกทุกวัน และเห็นว่าความเมตตากรุณาที่เราติดตั้งให้เขากำลังงอกงาม”

“ได้ใช้ชีวิตแบบนี้ ทำงาน เย็นกลับไปเลี้ยงลูก เช้ามาทำอาหารให้ลูกให้สามี ตื่นตี 4 ปั๊มนม ไปส่งลูกที่โรงเรียน พาลูกไปใส่บาตร ลูกสุขภาพดีแข็งแรง”

ฉันเชื่อว่าอดีตที่เราทำ กำลังไล่ล่าอนาคต ทั้งด้านบวกและด้านลบ

หากวันนี้ฉันวางรากฐาน โครงสร้าง และขั้นบันไดให้ดี วางราวให้ลูกได้ยึดเกาะ ถางทางให้ปลอดภัย เด็กๆ จะเดินขึ้นไปตามพัฒนาการ ด้วยจังหวะก้าวของเขาเอง

การเป็นแม่ที่มีความสุขจึงไม่จำเป็นต้องคิดถึงลูกอยู่ทุกวินาที

หากเราเข้าใจและยอมรับความเป็นแม่ในแบบของตัวเอง และพร้อมจะให้อภัยตัวเองในสิ่งที่ผิดพลาด

ความสุขที่เกิดขึ้นกับแม่ย่อมส่งต่อถึงชีวิตน้อยๆ ที่กำลังค่อยๆ เติบโตอย่างแน่นอน

ข้อมูลอ้างอิง

  • โชนัมจู. คิมจียอง เกิดปี 82. พิม์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: เอิร์นเนส พับลิชชิ่ง, 2562.
  • นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. เลี้ยงลูกให้ได้ดี 1-100 ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 2. กรุงเทพฯ: มูฟสี่ส์ แม็ทเทอร์, 2562.
  • บทความ อยากมีลูกที่มีความสุข ต้องเป็นพ่อแม่ที่มีความสุขก่อน จาก หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน
  • บทความ “งานแม่” ไม่มีวันจบ ผลสำรวจเผย แม่ที่เลี้ยงลูกอยู่บ้าน เครียด โกรธ ซึมเศร้า ไม่ได้สบายอย่างที่คิด จาก www.manager.co.th
  • บทความ ผลวิจัยชี้ ‘ความฉลาด’ ของเราได้มาจาก ‘แม่’ จาก THE STANDARD
  • มูลนิธิหมู่บ้านพลัม (Thai Plum Village) www.thaiplumvillage.org
  • มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ (Thai Cardiac Children Foundation of Thailand) ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลป์ยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ www.doctordek.com