เรื่อง : วรรณิดา มหากาฬ
ภาพ : AntiThesisTheatre
“แม่บ้าน แรงงานที่ไร้ค่าจ้าง ถูกกัดกินในบ้าน ในสถานที่คุ้นเคยแต่ทำให้เหน็บหนาว”
คือถ้อยคำในละคร Women with A Time Machine ที่เชื่อมโยงถึงผู้เขียนได้มากที่สุด อาจเพราะเป็นสิ่งที่ตั้งคำถามกับตัวเองมาตลอดถึงบทบาทหน้าที่ของเพศกำเนิดด้วยการมองผ่าน “แม่” ที่เป็นผู้ดูแลบ้าน
“แม่ก็คือแม่ แม่คือตัวเรา เราคือตัวแม่ ใครตัดสินว่าใครเป็น ขาดสิ่งใดถึงไม่เรียกว่าแม่”
ช่วงหนึ่งกระแสในโลกออนไลน์เกิดการตั้งคำถามว่า “ถ้าย้อนเวลาไปหาแม่สมัยวัยรุ่นได้ อยากบอกอะไรกับแม่ ?” แน่นอนว่าคำตอบนั้นหลากหลาย แต่ส่วนที่คล้ายกันมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการกลับไปบอกแม่ว่าอย่ารีบแต่งงาน อย่ารีบมีลูก อยากให้ใช้ชีวิตของตัวเองให้เต็มที่
เช่นกันกับการตั้งคำถามของผู้กำกับ ปานมาศ ทองปาน จากมีมดังในโลกโซเชียลอย่าง Men and Women with Time Machine หากผู้ชายและผู้หญิงย้อนเวลาไปได้จะทำอะไร
เปิดค้นดูจะพบว่าสิ่งที่ผู้หญิงย้อนกลับไปทำคือการกลับไปหายายของตัวเองและบอกว่าสวัสดีฉันคือหลานสาวของคุณ ต่างกันกับผู้ชายที่อยากย้อนกลับไปทำสิ่งยิ่งใหญ่มากมาย ปานมาศตั้งคำถามต่อไปว่าสิ่งธรรมดาที่ผู้หญิงกลับไปทำเป็นความธรรมดาสามัญเพียงแค่นี้หรือเป็นการบอกบางอย่าง ตั้งคำถามถึง “ความเป็นหญิง” และถ่ายทอดผ่านการสร้างความหมายของการกลับไปในละครที่พูดถึงผู้หญิงคนหนึ่ง การได้ใช้ “ไทม์แมชชีน” เดินทางข้ามเวลาไปเป็นผู้หญิงคนอื่นในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยมีภารกิจสร้างสมดุลของมิติเวลาและอนาคตอันเท่าเทียม
“เริ่มจากการถามตัวเองว่าสภาวะการที่เรามองว่าตัวเองเป็นเพศอะไรคืออะไรกันแน่ สิ่งที่เราเกิดมาพร้อมกับมันเป็นคุณค่าบางอย่างที่เราได้รับมาภายหลัง คือประสบการณ์ที่ทำให้เราเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือเพศใดก็ตาม”
เธอมองว่า “สำนึกความเป็นเพศ” ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ไม่ได้เป็นการหยั่งรู้หรือระลึกได้ด้วยตัวเอง แต่เป็นประสบการณ์ของผู้คนที่ถูกถ่ายทอดตั้งแต่ประวัติศาสตร์ รุ่นสู่รุ่น หรืออาจจะถึงขั้นข้ามน้ำข้ามข้ามทะเลผนวกรวมเป็นเรื่องราวให้ได้ยึดโยงตัวตนกับความเป็นเพศนั้นๆ
“โคตรกำกวม เข้าใจยาก ให้ดูที่อวัยวะเพศ”
อีกหนึ่งถ้อยคำจุกอกของตัวละครที่พยายามจะหาความหมาย
แล้วชายจริงหญิงแท้คืออะไร ?
ตอนแรกเกิด สิ่งที่แบ่งแยกมนุษย์คือร่างกายที่แตกต่าง นอกจากนั้นความเป็นชายหญิงอาจเป็นเพียงความหมายที่ถูกสร้างจากครอบครัว สังคม แม้กระทั่งสื่อที่หลอมประสบการณ์จากอดีตให้ผู้คนยึดโยง
แล้วการยึดโยงกับความเป็นเพศทางใดทางหนึ่งคือ “การแสดง”
ในสายตาผู้กำกับแล้วสิ่งนี้คือการแสดงบางอย่างที่ทำซ้ำและเกิดขึ้นเรื่อยมาตลอดหลายพันปีประกอบสร้างจนกลายเป็นรูปแบบบางอย่างที่คุ้นชิน อยู่ในเนื้อในตัว ในความคิด ในร่างกาย ทำให้มนุษย์คนหนึ่งแสดงออกในแบบที่สำนึกความเป็นเพศนั้นๆบอกให้กระทำ
“สังคมสะท้อนคอนเซ็ปต์ชายหญิง ตัวตนคนเราก็อาจจะหมดความหมาย”
ไทม์แมชชีนพาเราย้อนไปดูสำนึกเหล่านั้นในประวัติศาสตร์ ปัจจุบัน และเลยผ่านไปยังอนาคต ผ่านตัวละครผู้หญิงในช่วงเวลาต่างๆ โดยผู้ใช้ไทม์แมชชีนจะต้องเชื่อมโยงตัวตนกับความเป็นหญิงทางใดทางหนึ่ง
แล้วเราจะค้นหาว่าสำนึกนั้นของเราคืออะไร หรืออยู่ตรงไหน ?
บางทีเราอาจจะ “ไฟดับ” อย่างที่ตัวละครเป็น หมายความถึงการหลุดออกจากกรอบเพศในแบบที่สังคมกำหนดบ้างบางคราวแต่เป้าหมายของคนๆหนึ่งยังชัดเจนในสิ่งที่อยากจะทำ
แล้วเราจะพิสูจน์ความเป็นหญิงกับตัวตนเราอย่างไร พิสูจน์ได้หรือไม่ ?
ปลายทางของคำถามเหล่านี้ยังกำกวม และคงไม่สามารถตอบได้อย่างหมดจด
สิ่งประกอบสร้างเพื่อจำแนกมนุษย์เหล่านั้นอาจไม่เป็นสิ่งใด
แต่สุดท้าย เรื่องเหล่านี้ไม่ยากในการพยายามจะเข้าใจ
ร่วมท่องเวลาไปกับมิวสิคัลเรื่องใหม่ที่พร้อมเทคโอเวอร์สำนึกความเป็นหญิงในทุกไทม์ไลน์กับ “Women With a Time Machine: A new Musical” โดย RCB Experimental Art Lab ร่วมกับกลุ่มละคร Anti-Thesis Theatre
จัดแสดงวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 15 ธันวาคม 2567 ณ RCB Forum ชั้น 2 RIVER CITY BANGKOK