ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


Catumaharajika

ณ แนวยอดเขายุคันธร เขาสัตตบริภัณฑ์วงในสุดซึ่งต่ำเตี้ยกี่งหนึ่งของยอดเขาพระสุเมรุ คือที่ตั้งของสวรรค์ชั้นล่างสุด ชื่อว่า “จตุมหาราชิกา”

จตุ แปลว่า สี่ (๔) ดังนั้นนามของสวรรค์ชั้นนี้จึงมีความหมายว่าเป็นที่สถิตของราชาผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสี่

เทวราชาสี่องค์นี้มีฐานะเป็นเทพเจ้ารักษาทิศทั้งสี่ด้วยจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “จตุโลกบาล” หมายถึงผู้ปกป้องคุ้มครองโลกสี่องค์ ได้แก่

  • ท้าวธตรฐ (อ่านว่า ถะ-ตะ-รด) ประจำทิศตะวันออก
  • ท้าววิรุฬหก (ออกเสียงว่า วิ-รุน-หก) ประจำทิศใต้
  • ท้าววิรูปักษ์ ประจำทิศตะวันตก
  • ท้าวเวสสุวัณ หรือเวสสุวรรณ ประจำทิศเหนือ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อมีการสร้างพระราชวังขึ้นบนเขาสมน เมืองเพชรบุรี คือ “พระนครคีรี” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “เขาวัง” ป้อมปราการรอบพระนครคีรีทั้งสี่ทิศล้วนได้รับพระราชทานนามตามเทวดาจตุโลกบาลชุดนี้ ในความหมายว่าเป็นผู้ปกปักรักษาพระราชวังประจำทิศนั้นๆ ได้แก่ ป้อมธตรฐป้องปก (ทิศตะวันออก) ป้อมวิรุฬหกบริรักษ์ (ทิศใต้) ป้อมวิรูปักษ์ป้องกัน (ทิศตะวันตก) และป้อมเวสสุวรรณรักษา (ทิศเหนือ)

ในทางพุทธศาสนาถือกันว่าท้าวจตุโลกบาลเป็นเสมือนโยมอุปัฏฐากของพระพุทธองค์ จึงเคยมาปรากฏตัวในพุทธประวัติหลายตอน เช่นเมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ คือออกผนวช ด้วยการทรงม้ากัณฐกะ (กัน-ถะ-กะ) ลอบหนีจากพระราชวังในเวลากลางคืน ตามพุทธประวัติก็กล่าวว่าท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ช่วยกันเอาหัตถ์มาช้อนรองรับกีบม้าไว้ มิให้กระทบพื้นดินเกิดเสียงอื้ออึง

จากนั้นเมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้ ๗ สัปดาห์ คือ ๔๙ วัน มีพ่อค้าสองนาย (บางคัมภีร์ว่าเป็นเพื่อนกัน บ้างก็ว่าเป็นพี่น้อง) ชื่อตปุสสะและภัลลิกะ ผ่านมาพบเห็น รู้สึกเลื่อมใส จึงแบ่งเอาข้าวสัตตุก้อนและสัตตุผง (คงเป็นเสบียงกรังของพ่อค้าเร่) น้อมถวายแด่พระพุทธองค์ ขณะนั้นเองท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ได้เหาะนำเอาบาตรศิลามาถวายองค์ละใบ พระพุทธองค์ทรงบีบอัดประสานบาตรทั้งสี่ให้ควบรวมเป็นใบเดียว แล้วทรงใช้รับบิณฑบาตเป็นครั้งแรก เลยถือกันว่าตปุสสะและภัลลิกะเป็นปฐมอุบาสกคู่แรกที่ยอมรับนับถือ “รัตนะทั้งสอง” คือพระพุทธเจ้าและพระธรรม (ส่วนพระสงฆ์ในเวลานั้นยังไม่ถือกำเนิดขึ้น)

ถ้าอ่านดูในพวกคัมภีร์โลกศาสตร์ ดูเหมือนจตุโลกบาลท่านจะเป็นเทวดาในสายงานที่ต้องลงพื้นที่ หรือเป็นพวกชอบลุยในภาคสนามอยู่เสมอ อย่างที่มีหน้าที่อย่างหนึ่งคือต้องหมั่นคอยสอดส่องพฤติกรรมมนุษย์ในโลก

“ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” เล่าไว้ว่า หากเป็นวันธรรมดาทั่วๆ ไป ท้าวจตุโลกบาลก็จะใช้ให้เทวดาองค์อื่นๆ ลงมาเป็นสายตรวจ แต่ถ้าเป็น “วันศีลน้อย” คือวันพระ ๘ ค่ำ ท่าน “ย่อมใช้ลูกมาต่างตัว” (คือให้ลูกๆ มาแทน) ยิ่งเมื่อถึง “วันศีลใหญ่” คือวันพระ ๑๕ ค่ำ “ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ย่อมมาเองเดินดูเอง”

แต่ไม่ว่าจะเป็นองค์ไหนมา “เทียรย่อมถือแผ่นทองเนื้อสุก แลถือดินสอนั้นอันทำด้วยชาติหิงคุละนั้นมาด้วย แลเดินไปดูทุกแห่ง ทั่วถิ่นฐานบ้านเมืองใหญ่น้อยทั้งหลายในมนุษย์โลกนี้ทุกแห่งแล” คือทุกองค์จะมาพร้อมเครื่องมือบันทึกข้อมูล (คือถ้าเป็นสมัยนี้ เทวดาคงหนีบเอา เทพเล็ต tablet มาด้วย) แล้วเดินเข้าทุกบ้าน ถ้าพบเห็นใครทำกรรมดีก็จะรีบจดลงแผ่นทองไว้ว่า “ท่านผู้นี้ชื่อนี้อยู่บ้านนี้เรือนนี้ได้ทำบุญธรรมฉันนี้ๆ” เช่น ฟังเทศน์ฟังธรรม สวดมนต์ไหว้พระ เลี้ยงดูพ่อแม่ เคารพยำเกรงผู้ใหญ่ รักพี่รักน้อง ฯลฯ

จากนั้น จตุโลกบาลก็จะประมวลผลข้อมูล แล้วแทงหนังสือส่งต่อขึ้นไปตามลำดับชั้น ผ่านพระปัญจสิขร ไปวางที่โต๊ะของพระมาตุลี เพื่อนำเสนอพระอินทร์ ให้ท้าวเธออนุมัติ อ่านอนุโมทนาประกาศให้ได้ยินกันทั่วทั้งสวรรค์

“เมื่อว่าพระอินทร์ ธ ค่อยอ่านไส้ ได้ยินออกไปไกลได้ ๙๖,๐๐๐ วาแล ถ้าว่าพระอินทร์ ธ ร้องอ่านด้วยเสียงแข็งไส้ ได้ยินเสียงนั้นไส้เพราะเป็นกังวานทั่วทั้งเมืองไตรตรึงษ์อันกว้างโดยคณนาว่าไว้ได้ ๘๐,๐๐๐,๐๐๐ วานั้นทั่วทุกแห่งสิ้นแล”

คือถ้าพระอินทร์ค่อยๆ อ่านเบาๆ ก็จะได้ยินไปไกลถึง ๙.๖ หมื่นวา หรือ ๑๒ โยชน์ (๑ โยชน์ เท่ากับ ๘,๐๐๐ วา) แต่ถ้าเมื่อใดที่พระอินทร์อ่านออกเสียงดังๆ ก็เหมือนถ่ายทอดสดให้ได้ฟังกันทั่วทั้งดาวดึงส์ คือตลอดระยะกว้างยาวด้านละ ๑ หมื่นโยชน์ หรือ ๘๐ ล้านวา เทวดาทุกองค์คงได้ยินกันหมดเลยทีเดียว