การจำลองเขาพระสุเมรุมาสร้างเป็นสถาปัตยกรรมมิได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของกษัตริย์ หรือการพระราชทานเพลิงศพเจ้านายชั้นสูงเท่านั้น หากแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยายังมีหลักฐานว่าเคยมีการ “ตั้ง” เขาพระสุเมรุเป็นมณฑลพิธีสำหรับ “พระราชพิธีอินทราภิเษก” ด้วย

อินทราภิเษก - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 93

พิธีนี้เป็นการประกาศสถานะความยิ่งใหญ่ของ “พระเจ้าราชาธิราช” คือราชาเหนือราชาทั้งปวง โดยถือเสมือนเป็นการ “อินทราภิเษก” คือได้รับการอภิเษกจากพระอินทร์ ผู้เป็นราชาแห่งทวยเทพ และเจ้าแห่งเขาพระสุเมรุ

ในการนี้จึงต้อง “ตั้งเขาพระสุเมรุ” ขึ้น ตามตำราว่ามีความสูงถึง “เส้น ๕ วา” คือ ๒๕ วา เทียบตามสมัยนี้ที่ว่า วาหนึ่งคือ ๒ เมตร ก็แปลว่าสูงถึง ๕๐ เมตร โดยรอบก็มีเขาสัตตบริภัณฑ์ลดหลั่นกันลงมา ได้แก่เขายุคุนธรกับอิสินธร สูงเส้นหนึ่ง (๔๐ เมตร) ถัดไปเป็นเขากรวิก สูง ๑๕ วา (๓๐ เมตร) กับมีเขาไกรลาสสูง ๑๐ วา (๒๐ เมตร) บนเขาพระสุเมรุมีรูปพระอินทร์ประทับอยู่ บนยอดเขาอื่นๆ ก็มีรูปเทวดานั่งประจำทุกเขา ส่วนที่เขาไกรลาส ตั้งรูปพระอิศวรกับพระอุมา

กฎมณเฑียรบาลเล่าว่าพระราชพิธีนี้กินเวลายาวนานร่วมเดือน โดยในแต่ละวันจะมีพิธีการต่างๆ ซึ่งบางส่วนใกล้เคียงกับขั้นตอนในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เช่นในวันที่ ๗ มีเทพยดา (คงเป็นข้าราชบริพารที่แต่งคอสเพลย์) มาถวายพระพร วันที่ ๘ มีพราหมณาจารย์มาถวายพระพร วันที่ ๙ ท้าวพระยามาถวายพระพร วันที่ ๑๐ ถวายช้างม้าและทหารสี่เหล่า วันที่ ๑๑ ถวาย ๑๒ ท้องพระคลัง ฯลฯ

แม้ในสมัยอยุธยาเอง พระราชพิธีอินทราภิเษกคงไม่ได้จัดขึ้นบ่อยนัก และครั้งที่มีหลักฐานมากเป็นพิเศษ คือในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ ๒๑๗๒-๒๑๙๙)

พระเจ้าปราสาททองเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยการ “ปราบดาภิเษก” คือทำรัฐประหาร ยึดอำนาจ ตั้งราชวงศ์ใหม่ ตลอดรัชสมัยจึงเต็มไปด้วยพิธีกรรมการประกาศบุญญาธิการบารมี ยืนยันสิทธิธรรมในราชบัลลังก์ และพระราชพิธีอินทราภิเษกก็นับเนื่องเป็นกโลบายอย่างหนึ่งในการแสดงพระราชอำนาจ ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อเสริมสร้างความยิ่งใหญ่ พระองค์ยังทรงผนวกพระราชพิธีนี้เข้ากับพระราชกรณียกิจอีกอย่างหนึ่ง คือการ “ลบศักราช”

คนที่เคยมีชีวิตผ่านช่วงปีคริสต์ศักราช ๒๐๐๐ (ปี ๒๕๔๓) มา ยังอาจพอจำได้ถึง “วิกฤต” ที่เรียกกันว่า Y2K (อ่านเป็นภาษาฝรั่งว่า วายทูเค Y คือ year หรือปี ส่วน 2K หมายถึง ๒๐๐๐) เมื่อโลกเต็มไปด้วยความหวาดหวั่นภาวะรวนเรของระบบคอมพิวเตอร์ ถึงขนาดว่ากันว่าอาจทำให้เครื่องบินที่กำลังบินอยู่ตกลงจากฟ้า ฯลฯ แต่สุดท้าย วิกฤตที่ว่านั้นก็ผ่านไปได้โดยแทบไม่มีปัญหาอะไรจริงจัง และถูกลืมเลือนไปในที่สุด

ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ปฏิทินจุลศักราชกำลังเคลื่อนเข้าใกล้ จ.ศ. ๑๐๐๐ (ตรงกับปี ๒๑๘๑) เข้าไปทุกที นับเป็นช่วงเวลาแห่งความประหวั่นพรั่นพรึงด้วยเกรงว่าโลกจะย่างเข้าสู่ “กลียุค” วิธีการแสดงบารมีของพระเจ้าปราสาททองคือช่วงก่อนจะถึง Y1K โปรดเกล้าฯ ให้มีพิธี “ลบศักราช” หรือ “ตัดศักราช” คือประกาศให้เปลี่ยนจาก จ.ศ. ๑๐๐๐ ที่เป็นปีขาล ถอยหลังกลับไปเป็นปีกุน คือย้อนหลังไปสามปี (ลำดับปีนักษัตรคือ กุน ชวด ฉลู ขาล) เพื่อ “หลอก” ว่าช่วง “กลียุค” ยังมาไม่ถึง

“พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์” เล่าว่าในการนี้มีการตั้งเขาพระสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์ เขาไกรลาส ขึ้นที่สนามหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ แล้วให้ช่างทำรูปสมเด็จพระอมรินทราธิราช สถิตอยู่ ณ ยอดเขาพระสุเมรุเป็นประธานในพิธี โดยมีพราหมณ์ที่ “แต่งกายเป็นพระอิศวร พระพิษณุ พระพายุ พระพิรุณ พระเพลิง พระยม พระไพสพ พระจันทร์ พระอาทิตย์ รูปเทพเจ้าทั้งสิบสองราศี แวดล้อมสมเด็จอมรอินทราธิราชโดยอันดับ” พร้อมกับมีแผ่นทองเขียนศักราชเก่าบรรทัดหนึ่ง ศักราชใหม่บรรทัดหนึ่ง วางใส่พานไว้เบื้องหน้าพระอินทร์ ณ ยอดเขาพระสุเมรุ ครั้นได้เวลาอันเป็นมงคลฤกษ์ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็เสด็จพระราชดำเนินโดยพระมหาราเชนทรยาน มาประทับเกย ณ เชิงเขาสัตตบริภัณฑ์ แล้วทรงพระดำเนินขึ้นไปยังยอดเขาพระสุเมรุ ทรงสักการะพระรัตนตรัย จากนั้น

“ยกพระกรเบื้องขวาลบศักราชเดิมนั้นเสียเสร็จ พราหมณ์ที่แต่งกายเป็นพระอิศวร พระนารายณ์ แลเป็นเทพเจ้านั้น ก็อวยชัยถวายพรโดยสารโสลกวิธี พรหมทวิชาจารย์ก็เป่าสังข์แตรดุริยดนตรี พิณพาทฆาตฆ้องชัย เภรีมี่สนั่นศัพท์ก้องโกลาหลทั้งพระนคร แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับยังพระราชมนเทียรสถาน”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาปราสาทองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท” จึงสันนิษฐานกันว่าน่าจะมีพระราชดำริให้ประกอบการพระราชพิธีอินทราภิเษก ณ ที่นั้น ตามกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยา แต่พระมหาปราสาทองค์ดังกล่าวกลับถูกฟ้าผ่าจนเกิดเพลิงไหม้ขึ้นเสียก่อน จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นแทน และในยุคกรุงเทพฯ จึงไม่เคยมีพิธีอินทราภิเษก