เมื่อสยามสถาปนาราชธานีใหม่ขึ้น ณ กรุงเทพพระมหานครแล้ว ได้จัดการปกครองหัวเมืองให้เป็นลำดับชั้นเรียงรายออกไปโดยรอบราชธานี ให้หัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นพื้นที่รับผิดชอบของอัครมหาเสนาบดีมหาดไทย หัวเมืองฝ่ายใต้เป็นเขตของอัครมหาเสนาบดีกลาโหม ส่วนหัวเมืองชายทะเลใกล้พระนครอยู่ขึ้นตรงต่อเสนาบดีกรมท่า

ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 91

ถัดออกไปอีกชั้นหนึ่งคือหัวเมืองประเทศราชที่อยู่ห่างไกล ปกครองโดยเจ้านายราชสกุลของเมืองนั้นๆ ภายใต้การกำกับของกรุงเทพฯ โดยอาจถูกเรียกเกณฑ์ผู้คนหรือสิ่งของบ้างเป็นครั้งคราว เช่น เกณฑ์กำลังทหารไปรบ และเรียกร้องเอาวัสดุก่อสร้างและเครื่องใช้ไม้สอยสำหรับงานพระเมรุ รวมทั้งยังมีภาระต้องจัดส่งเครื่องราชบรรณาการ “ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง” (บางทีเรียกกันว่า “ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง”) คือต้นไม้ทำด้วยเงินและทองคำ เข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายแด่กษัตริย์ที่กรุงเทพฯ ตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น ๓ ปีครั้งหนึ่ง

หัวเมืองประเทศราชเหล่านี้ ได้แก่หัวเมืองล้านนา (เชียงใหม่ ลำพูน น่าน แพร่ ฯลฯ) ทางเหนือ หัวเมืองลาว (หลวงพระบาง เวียงจันท์ จำปาสัก) ทางตะวันออกเฉียงเหนือ หัวเมืองเขมร (กัมพูชา) ทางตะวันออก ส่วนทางใต้ก็มีทั้งนครศรีธรรมราช และหัวเมืองมลายู (ไทรบุรี กลันตัน ตรังกะนู และปะลิส) ในคาบสมุทรภาคใต้

ในปี ๒๓๒๙ ต้นสมัยกรุงเทพฯ กัปตันฟรานซิส ไลต์ พ่อค้านักแสวงโชคชาวอังกฤษเข้าไปบุกเบิกเกาะร้างที่ชื่อปีนัง (pulau pinang) หรือที่ไทยแปลว่า “เกาะหมาก” นอกชายฝั่งตะวันตกของไทรบุรี (หรือเกดะห์) แล้วขอ “ใช้พื้นที่” จากสุลต่านผู้ปกครอง หนังสือแบบเรียนประวัติศาสตร์ฉบับทางการของไทยมักนับเอากรณีนี้ว่าเป็นการ “เสียดินแดน” ครั้งแรกของสมัยรัตนโกสินทร์ คือเสียให้แก่อังกฤษ

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายนี้วางอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจที่ว่าเกดะห์ หรือไทรบุรี เป็น “หัวเมืองประเทศราช” ที่ถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทอง (ภาษามลายูเรียกว่า bunga mas บุหงามาศ คือดอกไม้ทอง) ดังนั้นการที่สุลต่านรัฐเกดะห์ หรือที่ไทยแต่งตั้งให้เป็น “พระยาไทรบุรี” ยอมยกดินแดนของตน (ซึ่งขึ้นกับสยาม) ให้บริษัทอังกฤษ ย่อมถือเป็นการ “เสียดินแดน”

แต่ขณะเดียวกัน ราชวงศ์ของสุลต่านเกดะห์ (รวมถึงประวัติศาสตร์ฉบับทางการของมาเลเซียปัจจุบัน) กลับเห็นตรงกันข้าม โดยยืนยันว่าการส่งบุหงามาศนั้น มิได้เป็นสัญลักษณ์แห่งการสยบยอมต่ออำนาจ หากเป็นแต่เพียงเครื่องยืนยันในไมตรีจิตมิตรภาพอันดีที่มีระหว่างกันเท่านั้น

แล้วราชสำนักกรุงเทพฯ เอาต้นไม้เงินต้นไม้ทองเหล่านี้ไปทำอะไร ?

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (๒๔๕๔-๒๕๓๘) ผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษา เคยอธิบายไว้ในหนังสือ “ลักษณะไทย” ว่า

“พึงสังเกตว่ารอบพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์นั้นตั้งต้นไม้ทองเงินหลายต้น…พระที่นั่งนั้นสมมติว่าเป็นเขาพระสุเมรุ…การที่เมืองประเทศราชต้องส่งต้นไม้ทองเงินเข้ามาถวายนั้นเท่ากับเป็นการยอมตัวเข้ามาอยู่ในป่าหิมพานต์รอบเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตของพระเป็นเจ้า แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดแห่งจิตใจอันมีความจงรักภักดี…”

และอาจด้วยเหตุถือว่าต้นไม้เงินต้นไม้ทองนั้นเป็นของมีค่า เป็นสิ่งดีพิเศษ จึงมีธรรมเนียมที่กษัตริย์จะนำไปบูชาพระด้วย เช่นในรัชกาลที่ ๒ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ส่งคณะสมณทูตไทยไปสืบข่าวการพระศาสนาที่ลังกา “โปรดให้จัดต้นไม้เงินทอง ๑๖ สำรับ เทียนใหญ่ธูปใหญ่ ๓๐๐ คู่ เปนของทรงพระราชอุทิศส่งไปบูชาพระทันตธาตุแลพระเจดียฐานในลังกาทวีป”

จนเดี๋ยวนี้ ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ก็มีตู้กระจกใส่ต้นไม้เงินต้นไม้ทองคู่หนึ่ง ขนาดสูงกว่าตัวคน ตั้งเป็นพุทธบูชาอยู่สองข้างบุษบกประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พร้อมป้ายว่าเป็น “ต้นไม้ทอง บรรณาการเมืองเชียงใหม่”