เรื่อง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

ทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน บอกว่า ธรรมชาติจะคัดสรรผู้อยู่รอดสำหรับสังคมพัฒนาแล้ว จริงไหม???

ข้อแรกที่ผิดเลย คือทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นการอธิบายวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องการอยู่รอดของสังคมมนุษย์ เพราะมนุษย์มีกฎเกณฑ์ ระบบ และวัฒนธรรม ที่มนุษย์ตั้งกติกาขึ้นเอง ความได้เปรียบเสียเปรียบ ความเหลื่อมล้ำ หรือความยุติธรรมหรือไม่ เกิดจากกติกาของมนุษย์ ไม่ใช่กติกาของธรรมชาติ

การหยิบคำอธิบายของชาร์ลส์ ดาร์วิน มาใช้กับเรื่องของสังคมก็เลยเป็นเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นบ่อยๆ และมีมานานแล้ว โดยเฉพาะจากปากของผู้มีสถานะเหนือกว่าคนอื่นในสังคม ใช้เป็นเหตุผลที่จะบิดเบือนกติกาที่บิดเบี้ยวในแต่ละยุคที่เอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม หรือถึงขั้นทำลายชาติพันธุ์อื่นกันเลยทีเดียวอย่างกรณีของนาซีเยอรมัน

ส่วนทฤษฎีวิวัฒนาการโดยการคัดสรรตามธรรมชาติ (Natural Selection) ของชาร์ลส์ ดาร์วิน ว่าไว้อย่างไรบ้าง
จริงหรือเปล่าที่ผู้อยู่รอดคือผู้แข็งแรงที่สุด คำตอบก็ไม่ใช่อีกครับ

ลองนึกสถานการณ์ต่อไปนี้ จะช่วยให้เข้าใจชัดเจนง่ายขึ้น

มีนกชนิดหนึ่งที่กินเมล็ดพืช ซึ่งโดยธรรมชาติสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันแต่ละตัวก็จะมีอะไรที่แตกต่างกันไปเล็กน้อย นกบางตัวก็มีจะงอยปากหนากว่าบางตัว ต่อมาเกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสภาพแวดล้อม ทำให้เมล็ดพืชเกิดเปลือกหนาขึ้นกว่าเดิม เพราะฉะนั้นนกที่มีจะงอยปากหนาจะหากินเมล็ดพืชที่มีเปลือกแข็งได้ดีกว่านกจะงอยปากบาง

นกปากหนาก็จะมีลูกหลานสืบทอดได้มากกว่า

เมื่อผ่านไปรุ่นแล้วรุ่นเล่าๆ ก็จะเหลือแต่ตัวที่มีลักษณะได้เปรียบ นกชนิดนั้นก็จะเหลือแต่ตัวที่มีจะงอยปากหนาขึ้น

แล้วเมื่อผ่านเวลายาวนานมากๆ ประชากรของสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดมาได้ก็จะมีรูปร่างแตกต่างไปมากขึ้นๆ จนชัดเจนว่าดูไม่เหมือนชนิดพันธุ์ดั้งเดิมเลย เช่น จากนกที่เคยมีปากเรียวบางในอดีตก็กลายเป็นนกชนิดใหม่ที่ปากหนามากๆ

เมื่อมองจากตรงจุดท้ายของเหตุการณ์นี้ เราอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับการคัดสรรตามธรรมชาติว่า เป็นการแข่งขันระหว่างนกที่มีปากบางมาก กับนกที่มีปากหนามาก แล้วธรรมชาติคัดสรรให้นกปากบางแพ้ตายไปกันตอนนี้ แต่ไม่ใช่ จริงๆ พวกมันก็คือนกชนิดเดียวกันที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงมาต่างหาก

darwin 12

ธรรมชาติไม่ได้คัดเลือกสิ่งที่แข็งแรงที่สุด หรือดีที่สุด เพราะธรรมชาติไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น อะไรคือที่เรียกว่า ดี อะไรคือที่เรียกว่า พัฒนา ธรรมชาติไม่ได้มีเจตจำนงหรือมองเห็นล่วงหน้าว่าจะเลือกอะไรไปสู่อะไรที่พัฒนาแล้ว

มีเพียงสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้ดีกว่ากับสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่และในแต่ละช่วงเวลา จะอยู่รอดและให้ลูกหลานที่ปรับเปลี่ยนต่อไป

ในแง่นี้ หากมียุคที่นกตัวที่ปากบางกว่าได้เปรียบ มันก็จะวิวัฒนาการกลับมาปากบางลงอีกก็เป็นได้ ไม่ใช่ว่าปากหนาขึ้นเรื่อยๆ แล้วคือแข็งแรงที่สุดจะดีกว่าตลอดไป หรือถ้าการรู้จักช่วยเหลือกันเองเป็นการปรับตัวที่ทำให้อยู่รอดได้ดีกว่าการไม่ช่วยกัน นกปากบางที่รู้จักช่วยกันก็อาจอยู่รอดต่อไป

เมื่อหลายสิบล้านปีก่อนก็เหมือนกัน ไดโนเสาร์ที่ใหญ่กว่า แข็งแรงกว่า แต่ต้องสูญพันธ์ไปเพราะโลกถูกถล่มด้วยอุกกาบาตจนเกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพบรรยากาศ ขณะที่สัตว์ฟันแทะตัวเล็กๆ เอาตัวรอดมาได้และวิวัฒนาการมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างพวกเรา

darwin 13

ที่สำคัญ วิวัฒนาการไม่ได้หมายความว่าจะมีทางเลือกให้อยู่รอดเพียงเส้นทางเดียว หรือกับใครบางจำพวกเท่านั้น

สัตว์ฟันแทะตัวเล็กๆ ก็ไม่ได้วิวัฒนาการมาจนเหลือแต่มนุษย์ที่คิดว่าตัวเองเก่งที่สุดบนโลกนี้

เรายังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ช้าง วาฬ พะยูน หมา แมว เสือ ฯลฯ ซึ่งมีบรรพบุรุษร่วมกันมานานแสนนานแล้ว

ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดช่วยกันทำหน้าที่ในระบบนิเวศในแต่ละยุคสมัย ให้มีความสมดุลสำหรับยุคนั้นๆ

มีเพียงมนุษย์คนเก่งนี่แหละที่ขยันทำลายความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จนเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดโรคระบาดใหม่และจะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว

darwin 14

:: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :::: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: ::
กำเนิดสปีชีส์ The Origin of Species

(พิมพ์ครั้งที่ 4)
โดย ชาร์ลส์ ดาร์วิน
ผู้แปล ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ และคณะ
ราคา 399 บาท

สั่งซื้อได้ที่
Line : @sarakadeemag
FB inbox : http://m.me/sarakadeeboranrobroo

Line Myshop : https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/318766569

:: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :::: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: :: ::

หนังสือขายดีระดับโลกที่เสนอแนวคิดทรงพลังทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งก่อให้เกิดความเห็นต่างมานานกว่า 150 ปี The Origin of Species ผลงานของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักคิด นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ นักชีววิทยา นักเดินทาง ฯลฯ “คนขวางโลก” ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 150 ปีก่อน

เมื่อพบฟอสซิลหอยบนยอดเขา ผู้คนต่างเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าคือผู้นำขึ้นไป แต่ดาร์วินกลับคิดว่าน่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ไม่ใช่อำนาจพิเศษ แม้มีข้อโต้แย้งรุนแรงในทฤษฎีว่าสิ่งมีชีวิตมี “วิวัฒนาการ” ความเปลี่ยนแปลงบนโลกดำเนินไปตามธรรมชาติที่มี “กฎ” ควบคุม ด้วยความเชื่อเรื่องพระเจ้าคือผู้สร้างทุกสิ่งทรงพลังยิ่งในยุคนั้น แต่ชายชาวอังกฤษก็ไม่หยุดศึกษา เขาค้นคว้า ค้นคว้า และค้นคว้า พร้อมออกเดินทางไปทุกสารทิศ จากอังกฤษถึงกาลาปาโกส เพื่อหาข้อมูลสนับสนุนสมมุติฐาน กระทั่งถ่ายทอดเป็นหนังสือเล่มนี้

ที่ผ่านมา The Origin of Species ได้รับการแปลมากกว่า 40 ภาษา 400 กว่าสำนวน จนถึงล่าสุดในภาคภาษาไทยชื่อกำเนิดสปีชีส์

หากถามว่าทำไมต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ นอกจากชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับ ว่าคือหนังสือวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม สร้างความสั่นสะเทือนต่อวงการวิทยาศาสตร์ ศาสนา สังคม และการเมือง คำตอบอาจเพราะผลงานชิ้นนี้แสดงถึงพลังอำนาจ ในการพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติ ชนิดไม่ยอมจำนนต่ออำนาจพิเศษใด ๆ ที่อยู่นอกเหนือตรรกะเหตุและผล