รูปลักษณ์ของ “พรหมสี่หน้า” – สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 40

เรื่องที่เล่ามายืดยาวแต่ต้นนั้นยังอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า “ฉกามาพจร” คือสวรรค์ชั้นต้นหกชั้น หรือถ้านับแบบ “ไตรภูมิ” ก็คือแค่เพียงบางส่วนของ “กามภูมิ” เท่านั้น เหนือนั้นขึ้นไปอีกยังมีสวรรค์ชั้นสูงๆ ขึ้นไป เรียกรวมได้อีกสองภูมิ คือ “รูปภูมิ” กับ “อรูปภูมิ” ซึ่งถือกันว่าเป็น “สวรรค์ชั้นพรหม”

สวรรค์ชั้นพรหมนี้อยู่เหนือขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นต้นหกชั้นมากมายนัก “ไตรภูมิพระร่วง” ถึงกับบอกว่าระยะทางจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีขึ้นไปถึงสวรรค์ชั้นพรหมนั้น “จะนับจะคลนาด้วยโยชน์ก็ดี ด้วยวาก็ดี บ่มิได้เลยเพราะว่าไกลนัก” และบอกด้วยว่าถ้าเอาก้อนหินไปทิ้งจากสวรรค์ชั้นพรหมขั้นล่างสุดหรือที่อยู่ต่ำที่สุด ต้องใช้เวลาถึงสี่เดือนกว่าจะตกลงมาถึงยังโลกมนุษย์

พรหมสี่หน้า

พรหมสี่หน้า

รูปภูมิมีอีก ๑๖ ชั้น ถือเป็นพรหมที่ยังมี “รูป” บางครั้งเรียกว่า “โสฬสพรหม” (อ่านว่า โส-ลด-พรม) โสฬส แปลว่า ๑๖

เหนือขึ้นไปอีกคือ “อรูปภูมิ” อีก ๔ ชั้น เป็นพรหมที่ “ไม่มีรูป” แล้ว คือเหลือเพียงจิต

บนสวรรค์ชั้นพรหม ซึ่งเป็นเทวดาพุทธเหล่านี้มีเฉพาะพรหมเพศชายเท่านั้น “ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายว่า

“…มีเกศเกล้าดูงามนักหนา แลหัวเป็นชฎาทุกองค์ๆ ดูเรืองงามต่างๆ แลตนพรหมนั้นงามนักหนา หัวเข่าก็ดีแขนก็ดีที่ต่อกันก็ดีกลมงามนักบ่มิได้เห็นที่ต่อกัน…”

นั่นคือถ้าว่าตามคัมภีร์ เทพบนสวรรค์ชั้นพรหมหรือบรรดา “ท้าวมหาพรหม” นั้นก็มีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์ผู้ชาย เพียงแต่งดงามละมุนละม่อมกลมเกลี้ยงเต่งตึงเป็นพิเศษกว่า

เราอาจเคยได้ยินชื่อ “พระพรหม” ที่เป็นเทพเจ้าของศาสนาฮินดู หมายถึงมหาเทพองค์หนึ่งในชุด “ตรีมูรติ” อันประกอบด้วยพระศิวะ (พระอิศวร) พระวิษณุ (พระนารายณ์) และพระพรหม “พระพรหม” แบบนั้นถือเป็นชื่อเฉพาะ คือมีแค่องค์เดียว แต่ “พรหม” ในทางพุทธมีสถานะเป็นสภาวะธรรมระดับสูง จึงมีได้ไม่จำกัดจำนวน

ในทางงานช่างของไทย เวลาจะแสดงรูปพระพรหมซึ่งเป็นเทพจาก “สวรรค์ชั้นพรหม” มักนิยมไป “ขอยืม” รูปแบบพระพรหมของศาสนาฮินดูมาใช้ คือทำเป็นเทพเจ้าสี่หน้า ทั้งที่ในคัมภีร์เองก็ไม่ได้บอกตรงไหนเลยว่าเทวดาชั้นพรหมนั้นมีสี่หน้า แต่โดยขนบงานช่างไทย เช่นภาพวาดจิตรกรรม มักนิยมแสดงพระพรหมให้เห็นเพียงสามหน้า คือมีหน้าเต็มด้านหน้า ๑ แลเห็นเสี้ยวหน้าด้านข้าง ขนาบซ้ายขวาเป็น ๒ และ ๓ ส่วนหน้าที่ ๔ อยู่ด้านหลัง คือ “รู้ว่ามีแต่มองไม่เห็น” จึงไม่ต้องวาด แล้วแต่ละหน้ายังต้องทรงมงกุฎเฉพาะสำหรับใบหน้านั้นๆ อีก เราจึงเห็นเป็นพระพรหมสามหน้าทรงมงกุฎสามยอด

ใน “พระปฐมสมโพธิกถา” พระนิพนธ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส เล่าว่าพรหมบางองค์เคยเป็นเพื่อนเก่าของพระพุทธเจ้าด้วย เช่นฆฏิการพรหม ผู้ “เป็นสหายกับพระโพธิสัตว์ ครั้งเสวยพระชาติเป็นโชติปาลมาณพกาลเมื่อศาสนาพระพุทธกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น” พอท้าวมหาพรหมองค์นี้ทราบว่าเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ คือออกบวช ท่านจึงนำเอาอัฐบริขาร ๘ จากพรหมโลกมาถวาย ได้แก่ “กาสาวพัสตร์ ๓ ผืน สังฆาฏิ ๑ จีวร ๑ สบง ๑ บาตร ๑ มีด ๑ กล่องเข็ม ๑ กายพันธน์ ๑ ผ้ากรองน้ำ ๑”

กายพันธน์ คือเครื่องรัดตัว หมายถึง “รัดประคด” ที่ใช้เป็นเหมือนเข็มขัดรัดผ้าสบง คือผ้านุ่งของสงฆ์

เมื่อฆฏิการพรหมนำเอาไตรจีวรและเครื่องบริขารถวายให้แล้ว พระโพธิสัตว์ก็รับเอาไปครอง จากนั้นจึงถอดเครื่องทรงที่สวมใส่ออกจากพระราชวังมาส่งให้พระพรหม ซึ่งได้นำขึ้นสู่สวรรค์ชั้นพรหม แล้วเนรมิตเจดีย์แก้วขึ้นเป็นที่ประดิษฐาน มีชื่อว่า “ทุสสะเจดีย์”

ดังนั้น ในวันที่เจ้าชายสิทธัตถะออกผนวชนั้น จึงเป็นต้นกำเนิดของพระเจดีย์สององค์บนสวรรค์ เพราะฝ่ายพระอินทร์ก็อัญเชิญเอามวยผมที่ทรงตัดออกไปประดิษฐานไว้ในจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คู่กันกับทุสสะเจดีย์บนสวรรค์ชั้นพรหม ซึ่งบรรจุเครื่องทรงฉลองพระองค์ของพระโพธิสัตว์

ในทางพุทธแบบไทยๆ พระพรหมจึงนับเป็นเทวดาอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เข้าชุดคู่กับพระอินทร์เสมอ อย่างที่สำนวนไทยมีคำประเภท “(ไม่เลือก) หน้าอินทร์หน้าพรหม” รวมถึงมีอำเภอในจังหวัดสิงห์บุรีที่อยู่ในชื่อชุดเดียวกัน คืออินทร์บุรี และพรหมบุรี