เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) องค์การร่วมมือระหว่างรัฐบาล ๔ ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ก่อตั้งขึ้นเพื่อประสานงานพัฒนาแหล่งน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างยั่งยืน ได้เผยแพร่เอกสารข่าวว่ารัฐบาลลาวจะดำเนินการตาม “กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า” (Prior consultation process) สำหรับโครงการเขื่อนสานะคาม

pnpca01

ภาพแม่น้ำโขงมุมกว้าง แถบอำเภอสานะคาม กรุงเวียงจันทน์ นครหลวงของประเทศลาว บริเวณที่คาดว่าจะตอกเสาเข็มสร้างเขื่อนสานะคาม อยู่ห่างจากชายแดนไทยที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย แค่ประมาณ ๒ กิโลเมตร (ภาพ : Mekong River Commission)

กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าถือเป็นส่วนหนึ่งของกติกาการใช้น้ำบนแม่น้ำโขงตามระเบียบปฏิบัติเรื่อง “การแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง” (Procedure for notification, Prior consultation and Agreement : PNPCA) ของ MRC ภายใต้ระเบียบปฏิบัตินี้ โครงการใดก็ตามที่ใช้น้ำจากแม่น้ำโขงสายประธาน ระหว่างฤดูแล้งภายในลุ่มน้ำเดียวกัน หรือฤดูน้ำหลากระหว่างลุ่มน้ำ จะต้องผ่านกระบวนการ PNPCA ไม่ว่าจะเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหรือเขื่อน เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพ และการไหลของน้ำ

เอกสารข้างต้นถูกเผยแพร่หลังรัฐบาลลาวส่งเอกสารด้านวิศวกรรม ความเป็นไปได้ทางเทคนิค การประเมินผลระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม การศึกษาเรื่องตะกอนและการทำประมง มายังสำนักงานเลขาธิการ MRC ที่ประเทศกัมพูชา

ดร.แอน พิก ฮัดดา (An Pich Hatda) ประธานกรรมการบริหารของสำนักงานเลขาธิการ MRC ชี้แจงว่า “ลาวได้ส่งโครงการซึ่งเป็นการใช้น้ำภายในลุ่มน้ำบนแม่น้ำโขงสายประธานตลอดทั้งปี ภายใต้กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า การส่งโครงการนี้มาจะช่วยทำให้ประเทศสมาชิกและสาธารณชนได้รับทราบข้อมูล รายละเอียด และศึกษาการใช้น้ำของโครงการ รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น”
ทั้งนี้ กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าตามปรกติจะใช้เวลา ๖ เดือน แต่คณะกรรมการร่วมอาจขยายเวลาออกไป โดยกระบวนการนี้ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติโครงการที่นำเสนอ

pnpca02

คณะกรรมการธิการแม่น้ำโขงหรือ MRC เผยแพร่ภาพจำลองโครงการเขื่อนสานะคามหรือโรงไฟฟ้าพลังน้ำสานะคาม ที่จะสร้างกั้นแม่น้ำโขงสายประธาน โดยบริษัท ต้าถัง (ลาว) สานะคาม ไฮโดรพาวเวอร์ จำกัด บริษัทลูกของ “ต้าถัง” รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศจีน (ภาพ : Mekong River Commission)

เขื่อนสานะคาม หรือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำสานะคาม เป็นโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายประธาน (หมายถึงแม่น้ำโขงสายหลัก ไม่ใช่แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง) ตอนล่างโครงการที่ ๖ ที่รัฐบาลลาวนำเสนอถัดจากเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย และเขื่อนหลวงพระบาง ถูกออกแบบเป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (run-of-river) ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าต่อเนื่องตลอดทั้งปี ขนาดโรงไฟฟ้าบนตัวเขื่อนมีความยาวประมาณ ๓๕๐ เมตร สูง ๕๘ เมตร ติดตั้งกังหันผลิตไฟฟ้า ๑๒ ตัว แต่ละตัวมีกำลังการผลิต ๕๗ เมกกะวัตต์ รวมเป็น ๖๘๔ เมกกะวัตต์

บริษัท ต้าถัง (ลาว) สานะคาม ไฮโดรพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ “ต้าถัง” รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศจีน ได้รับสิทธิให้เป็นผู้พัฒนาโครงการนี้ด้วยต้นทุนทั้งหมด ๒,๐๗๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ ๖.๖ หมื่นล้านบาท งบประมาณส่วนหนึ่งประมาณ ๒๗.๒ ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ ๘๖๗ ล้านบาท จะถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

pnpca03

แผนผังแสดงสถานะเขื่อนต่างๆ บนแม่น้ำโขงสายประธาน จากภาพจะเห็นว่าเขื่อนสานะคามซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดเลยประมาณ ๒ กิโลเมตรอยู่ในสถานะเขื่อนที่วางแผนไว้และได้เข้าสู่กระบวนการ PNPCA เช่นเดียกวับเขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย และเขื่อนหลวงพระบาง (ภาพ : Mekong River Commission)

MRC ชี้แจงว่ารัฐบาลลาวยื่นเอกสารเพื่อการปรึกษาหารือล่วงหน้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ PNPCA โครงการเขื่อนสานะคามมาให้ตั้งแต่วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๒ หลังส่งเอกสารหัวข้อเดียวกันของโครงการเขื่อนหลวงพระบางได้ไม่นาน แต่เพื่อให้เกิดกระบวนการปรึกษาหารือที่ “มีคุณภาพ” และ “มีความหมาย” จึงตัดสินใจระงับส่วนเขื่อนสานะคามไว้ก่อน เพื่อดำเนินกระบวนการในส่วนเขื่อนหลวงพระบาง โดย PNPCA เขื่อนหลวงพระบางได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๒ วางแผนว่าจะสิ้นสุดวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๓ แต่เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโรคโควิด-๑๙ ทำให้ไม่สามารถประชุมเพื่อจัดทำถ้อยแถลงการณ์และแผนปฏิบัติการร่วมได้ การประชุมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๓

สำหรับโครงการเขื่อนสานะคาม ล่าสุดเอกสารขั้นต้นของโครงการได้รับการเผยแพร่ที่เว็บไซด์คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแล้วเพื่อให้สาธารณะชนเข้าถึง การก่อสร้างคาดว่าจะเริ่มต้นในปี ๒๕๖๓ แล้วเสร็จในอีก ๘ ปีข้างหน้า คือปี ๒๕๗๑ ตรงกับปีที่ทางเขื่อนจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับประเทศไทย

เขื่อนสานะคามเป็นอีกเขื่อนใหญ่กั้นแม่น้ำโขงที่จะขายไฟให้กับประเทศไทยตามนโยบาย Battery of Asia ของรัฐบาลลาว

pnpca04

แม่น้ำโขงบริเวณหน้าด่านศุลกากรเชียงคาน จังหวัดเลย ฝั่งตรงข้ามคือประเทศลาว คาดว่าการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าของเขื่อนสานะคามจะส่งผลกระทบข้ามพรมแดนถึงระดับน้ำโขงบริเวณนี้ เนื่องจากตัวเขื่อนตั้งอยู่ห่างไปแค่ไม่กี่กิโลเมตร (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

สันเขื่อนสานะคามจะตั้งอยู่ที่อำเภอสานะคาม ระหว่างทางจากนครหลวงเวียงจันทน์ขึ้นไปยังเมืองไซยะบุรี อยู่ห่างจากทะเลประมาณ ๑,๗๓๗ กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอสานะคามขึ้นไปทางเหนือน้ำ ๒๕ กิโลเมตร

ในบรรดาประเทศสมาชิก MRC นอกจากลาวแล้วที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสานะคามมากที่สุดคือประเทศไทย เพราะตัวเขื่อนจะสร้างกั้นแม่น้ำโขงห่างชายแดนไทย-ลาว ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ขึ้นไปทางเหนือแค่ราว ๒ กิโลเมตร

เมื่อมองภาพถ่ายทางอากาศผ่าน Google Earth จะเห็นคุ้งแม่น้ำโขงบริเวณอำเภอสานะคามคดเคี้ยวเลี้ยวลดไปตามภูเขาบนแผ่นดินลาวตอนเหนือ เตรียมแตะพรมแดนไทย-ลาว ที่บริเวณปากแม่น้ำเหือง อำเภอเชียงคาน

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ให้ความเห็นว่าตำแหน่งนี้เองที่ทางการลาวร่วมกับบริษัทต้าถังของจีนเสนอให้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง เพื่อผลิตไฟฟ้าแค่หกร้อยกว่าเมกกะวัตต์แต่ต้องแลกกับการปิดกั้นการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำโขง ส่งผลกระทบต่อผู้คนมากมาย เป้าหมายคือการส่งออกไฟฟ้ามายังประเทศไทย ทั้งๆ ที่บ้านเรามีพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินเฉลี่ย ๔๐ เปอร์เซ็นต์ และสูงถึง ๘๐ เปอร์เซนต์ในบางช่วงเวลา จึงไม่มีความจำเป็นต้องสร้างเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ซึ่งต้องแลกกับการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ

“แม่น้ำโขงที่คดโค้งไปตามภูเขาพาความชุ่มเย็น พาตะกอนแร่ธาตุ หล่อเลี้ยงไปตลอดทั้งลุ่มน้ำ ถ้าเปิดให้มีกระบวนการจัดการพลังงานกันดีๆ ให้มีทางเลือกไฟฟ้า ให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้และการให้บริการ คุ้งน้ำสวยงามนี้ก็จะยังคงอยู่ได้ ไม่ต้องถูกทำลาย ถึงตอนนี้แค่ ๑๑ เขื่อนในจีน และเขื่อนไซยะบุรีในลาวชาวบ้านก็รับผลกระทบข้ามพรมแดนกันแสนสาหัสแล้ว”

pnpca05

ชาวประมงพื้นบ้านที่อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย รอยต่อใกล้จังหวัดเลย กลุ่มประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบโดยตรงจากเขื่อนเนื่องจากขัดขวางการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำ และคล้ายตัดแบ่งแม่น้ำออกเป็นท่อนๆ ทำให้พันธุ์ปลาท้องถิ่นลดลง ส่งผลกระทบกับรายได้ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ทุกวันนี้ปัญหาแม่น้ำโขงได้รับความสนใจจากทั่วโลก โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในจีน และเริ่มมีการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง แสดงให้เห็นด้านมืดของการจัดการเขื่อนที่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำ ทั้งการปกปิดข้อมูลการปล่อยน้ำ การเบี่ยงเบนประเด็นโดยอ้างปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ

ในพื้นที่ภาคอีสาน หลังเขื่อนไชยะบุรีเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ระดับน้ำผันผวนไม่เป็นไปตามฤดูกาล ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สัตว์น้ำ ปู ปลา กุ้ง หอย และพืชพันธุ์ ท่ามกลางสถานการณ์เลวร้ายนั้นกระบวนการสร้างเขื่อนยังคงเดินหน้าต่อไป แม้ MRC จะมีกลไกหรือเครื่องมือ PNPCA ที่เป็นกระบวนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า แต่ก็ไม่อาจถ่วงดุลอำนาจในการตัดสินใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และไม่ได้นำความคิดเห็นหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชนไปใช้ในการตัดสินใจ ทำให้ถูกมองว่าคล้ายตรายางประทับสำหรับการสร้างเขื่อน

การยื่น PNPCA ของทางการลาวเพื่อสร้างเขื่อนสานะคามเหนืออำเภอเชียงคานแค่ ๒ กิโลเมตรคือตัวอย่างล่าสุด