เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพปก : swy

ถ้า อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี ยังมีชีวิต

๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๓ เขาจะอายุครบ ๑๒๐ ปี

ในวาระพิเศษของนักประพันธ์เมืองน้ำหอมผู้ทำให้ Le Petit Prince เป็นมากกว่าวรรณกรรม แต่เป็นดั่งบันทึกชะตากรรมมนุษย์ผ่านสัญลักษณ์มากมายที่ซ่อนอยู่ในตัวละคร

เราอยากชวนค้นหา “ความสัมพันธ์ลับๆ” บางอย่างในชีวิตของเขาผ่าน “ประเด็นใหม่” นำมาเรียบเรียงเสริมกับบทคัดสรรบางส่วนจาก ๗๗ ปี เจ้าชายน้อย ใน สารคดี ฉบับ ๔๒๑ (มีนาคม ๒๕๖๓)

เพื่อสะท้อนบางสิ่งที่ซุกอยู่ใน “ความเป็นมนุษย์”

 

Special Scene : เรื่องลับของ “Saint-Exupéry” ใน “Le Petit Prince”

:: เหตุเกิดจาก de Saint-Exupéry ::

๒๙ มิถุนายน ๒๔๔๓ เด็กชายถือกำเนิดที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส

ในชื่อเต็ม Antoine Jean-Baptiste Marie Roger de Saint-Exupéry

แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ชื่อเดิมทั้งหมด นามสกุลแรกเกิดของเด็กน้อยที่ใช้ร่วมกับพี่น้องไม่มีเครื่องหมาย “-” คั่นกลาง เป็นเขาเองที่เติมภายหลังเมื่อเป็นนักเขียนชื่อดังและมีผลงานตีพิมพ์ขณะใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกา

บ้างว่าเพราะไม่ชอบให้ใครเรียก Mr. Exupéry และเพื่อขจัดข้อกังขาว่าเขาไม่ใช่ “นักบุญ” (Saint) เอ็กซูว์เปรี จึงใส่เครื่องหมายคั่น Saint-Exupéry ให้ออกเสียง “แซ็งแต็กซูว์เปรี” อย่างถูกต้องตามฝรั่งเศส

เรื่องนามสกุลยังมีประเด็นน่าสน กล่าวกันว่าเมื่อพี่สาวคนที่ ๒ “ซีมอน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี” (ชื่อเต็ม Gabrielle Charlotte Marie Simonne de Saint Exupéry) นักประวัติศาสตร์ อดีตบรรณารักษ์และผู้ช่วยภัณฑารักษ์สำนักศูนย์วิจัยศึกษากรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ผู้รักการขีดเขียนเช่นเดียวกับน้องชาย แรกเริ่มมีผลงานตีพิมพ์ยังใช้นามปากกา “S. de Saint-Exupéry” แต่กลายเป็นเหตุให้ผู้คนในสื่อสิ่งพิมพ์สับสนว่าเป็นผลงานของอ็องตวน สร้างความขุ่นเคืองให้เจ้าของนามสกุลที่มีเครื่องหมายขีดคั่น ผลงานต่อๆ มาเธอจึงเปลี่ยนใช้นามปากกา “S. de Remens” (ซีมอน เดอ เรเม็งส์) ครั้นซีมอนจะตีพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้น-บทกวีเล่มแรกในชีวิตเธอก็ใช้ “Simone de Remens” ไม่ว่าจะบังเอิญหรืออย่างไรหนังสือเล่มนั้นก็ยังอุตส่าห์พิมพ์ขึ้นปีเดียวกับ “Le Petit Prince” นวนิยายปรัชญาทรงพลัง-ผลงานสุดท้ายในชีวิตของอ็องตวน

ในช่วงท้ายของชีวิต ซีมอนก็ยังเป็นตัวแทนของสกุล “เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี” อุทิศตนให้กับการเผยแพร่ผลงานของน้องชายไปทั่วประเทศ

rose02

 

:: “นักบิน” ความจริงในนิยายของแซ็งแต็กซูว์เปรี ::

ต่างก็รู้ชีวิตจริง อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี เป็นนักบิน

เริ่มอาชีพประจำเส้นทางสายตูลูส-คาซาบลังกาก่อนไปเป็นหัวหน้าหน่วยประจำสถานีบินที่คาซูบีในแอฟริกาและบันทึกชีวิตผ่านนิยาย Courrier Sud (ไปรษณีย์ใต้) ทำนองว่าอาณาจักรมนุษย์อยู่ในใจแต่ละคน ส่วนอาณาจักรของเขามีเพียงทะเลทรายสุดลูกหูลูกตา ภายหลังหันไปขับเครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบกระหว่างเมืองมาร์แซย์ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสและอาลซาสทิศตะวันออกของฝรั่งเศส กระทั่งเกิดอุบัติเหตุ “ปีกเครื่องบินหัก” เมื่อมีโอกาสกลับมาบินอีกก็หวังทำสถิติบินรวดเดียว ๑๒,๐๐๐ กิโลเมตร จากปารีส-ตูนิส-เบงกาซี-ไคโร จนถึงไซ่ง่อน แต่เครื่องบินขัดข้องต้องร่อนลงทะเลทรายของลิเบียในแอฟริกาเหนือ ห่างจากกรุงไคโรราว ๒๐๐ กิโลเมตร ต้องเดินเท้าฝ่าทะเลทรายอยู่ ๕ วัน กว่าจะพบกลุ่มนักเดินทางไกลผ่านมา

“อุบัติเหตุกลางทะเลทราย” จึงเป็นสัญลักษณ์ชีวิตแซ็งแต็กซูว์เปรีที่น่าเชื่อว่านักบินในเรื่องเจ้าชายน้อยก็อาจคือ “ร่างอวตารในนิยาย” ของเขา ดังฉากแรกพบระหว่างนักบินหนุ่ม-เจ้าชายน้อย

“…เมื่อ ๖ ปีมานี้ เครื่องบินของฉันเกิดขัดข้องอยู่กลางทะเลทรายสะฮาราโดยไม่มีช่างเครื่องยนต์หรือแม้แต่ผู้โดยสารสักคนมาด้วยกัน ฉันจึงพยายามซ่อมเองเพราะมีน้ำสำหรับดื่มเพียง ๘ วันเท่านั้น…”

หนึ่งในความสนุกของผู้อ่านคือการได้ “ไขปริศนาลับ” ที่ซุกความรู้สึกหลายอย่างในแต่ละวรรคของเนื้อหา บางคนจึงอ่านเจ้าชายน้อยแล้วหลั่งน้ำตาด้วยเชื่อว่าแซ็งแต็กซูว์เปรีแทรกชีวิตตนลงไป

เช่นนักบินบอกว่าเขาอยู่กับความรู้สึกโดดเดี่ยวมาแต่เด็ก กระทั่งวันที่เครื่องบินเสียกลางทะเลทรายสะฮาราและได้พบเจ้าชายน้อยก็คล้ายบางสิ่งได้รับการกระตุ้น หรือขณะที่นักบินชวนเจ้าชายน้อยนั่งพักให้คลายเหนื่อยจากการเดินหาบ่อน้ำ เขารู้สึกได้ถึงบางสิ่งที่ส่องแสงท่ามกลางความเงียบยามวิกาลทั้งที่มองไม่เห็นอะไรบนเนินทราย กลับได้ยินเจ้าชายน้อยพูด

“สิ่งที่ทำให้ทะเลทรายสวยงามอยู่ตรงบ่อน้ำที่ถูกซ่อนไว้สักแห่งหนึ่ง”

แล้วผู้เขียนก็เล่าชีวิตวัยเด็กที่นักบินอาศัยในบ้านโบราณ มีเรื่องเล่าถึงสมบัติใต้ดินแต่ไม่มีใครเคยพบจึงทำให้บ้านยิ่งมีเสน่ห์เพราะซุกซ่อนความลับไว้

ใครก็ตามที่ผ่านผลงานอื่นของแซ็งแต็กซูว์เปรีย่อมรู้ว่า “บ้านโบราณในวัยเด็ก” มีอยู่จริง

หลายเรื่องลึกลับอันยิ่งใหญ่คงไม่มีผู้ใหญ่คนใดเข้าใจว่าสำคัญเพียงไร กระทั่งวันที่แซ็งแต็กซูว์เปรีตัดสินใจเล่าทุกความลับนั้นผ่านตัวอักษรและรูปวาด มอบแก่สำนักพิมพ์เรย์นัลแอนด์ฮิตช์ค็อก

rose03

 

 

:: “เจ้าชายน้อย” ร่างอวตารวัยเยาว์ของแซ็งแต็กซูว์เปรี ::

เป็นได้ว่าเจ้าชายน้อยอาจมีอายุเพียง ๖ ขวบ

จากการที่ผู้ประพันธ์เชื่อมโยงช่วงวัยที่เขาวาดรูปงูเหลือมกลืนช้าง หลายครั้งเจ้าชายน้อยจึงมีคมคิดเกินเด็ก และทุกครั้งที่อ่านเรื่องของเจ้าชายน้อยก็พลอยได้รู้จักอุปนิสัยใจคิดของแซ็งแต็กซูว์เปรีลึกซึ้งขึ้น

…ผมเห็นเด็กเล็กๆ คนหนึ่ง ลักษณะแปลกมาก ยืนมองดูผมอย่างเคร่งขรึม…เขาไม่มีท่าทีหลงทาง เหนื่อยล้า หิวโหย กระหายน้ำ หรือเกรงกลัวใดๆ ไม่เหมือนว่าเป็นเด็กหลงทางกลางทะเลทราย…

คือภาพแรกเห็นเมื่อนักบินสะดุ้งตอนรุ่งสางจากเจ้าของเสียงเล็กๆ ที่เซ้าซี้ให้วาดรูปแกะ ต่อเมื่อได้รูปที่พอใจจึงได้รู้รางๆ เกี่ยวกับการปรากฏตัวอย่างลึกลับของเด็กชาย

“คุณมาจากท้องฟ้าเหมือนกันหรือ! แล้วคุณมาจากดาวดวงไหนล่ะ?”

เจ้าชายน้อยถามและไม่ได้รอคำตอบกลับชวนคุยเรื่องแกะอีก ครั้นนักบินจะวาดเชือกและหลักผูกให้ด้วย เจ้าชายน้อยก็สะดุ้งก่อนเผยรายละเอียดสถานที่ที่เขาจากมาทีละนิด

“…บ้านผมเล็กนิดเดียว” “ตรงไปข้างหน้าเรา ไปได้ไม่ไกลหรอก…”

และก็เพราะลูกแกะจึงทำให้ได้ข้อมูลที่ปะติดปะต่อเพิ่มเรื่อยๆ

“จริงหรือที่ลูกแกะมันกินพุ่มไม้…อย่างนั้นก็กินต้นเบาบับด้วยสิ”

เมื่อนักบินคาดว่าเด็กน้อยหวังให้ลูกแกะช่วยกินต้นเบาบับตั้งแต่ยังเป็นต้นกล้า จึงเดาว่าบนดาว บี ๖๑๒ น่าจะมีเบาบับรุกรานอยู่ ขืนปล่อยไว้อาจหยั่งรากลึกจนทำให้ดวงดาวเล็กๆ ปะทุแตก เป็นเหตุผลให้ต้องคอยกำจัดตั้งแต่ยังเป็นต้นอ่อนทุกวัน และคงดีถ้ามีลูกแกะช่วยกินบ้าง

นอกจากนี้กิจวัตรของเจ้าชายน้อยยังต้องขูดเขม่าทำความสะอาดปล่องภูเขาไฟสามลูกซึ่งสูงเพียงหัวเข่า ภูเขาไฟจึงคล้ายเป็นปล่องไฟในบ้านมากกว่า แม้ขนาดของดาวที่เจ้าชายน้อยอาศัยยังยากระบุเป็นตัวเลข แต่ก็คงเล็กมากเพราะเพียงเลื่อนเก้าอี้ไปสองสามก้าวก็ได้ชมดวงอาทิตย์ตกทุกเมื่อตามต้องการแล้ว

“แต่ละวันผมเห็นดวงอาทิตย์ตก ๔๓ ครั้ง…ห้วงเวลาแสนเศร้าคนเราชอบดูดวงอาทิตย์ตก”
และนั่นคือสิ่งที่ทั้งสองมีเหมือนกันคือเป็น “นักจินตนาการ”

rose04

 

:: “สุนัขจิ้งจอก” ผู้สอนให้รับผิดชอบต่อความสัมพันธ์ ::

“สุนัขจิ้งจอก” แสนฉลาดเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย?

ทันทีที่นิตยสาร สมิทโซเนียน (Smithsonian Magazine) พิมพ์โดยสถาบันสมิทโซเนียนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตั้งข้อสันนิษฐานว่าผู้เป็น “ต้นแบบของสุนัขจิ้งจอก” ในวรรณกรรมเจ้าชายน้อยคือหญิงสาว

นักวิจารณ์วรรณกรรมจำนวนมากก็เชื่อว่า “เอลิซาเบท เรย์นัล” ภรรยาของ ยูจีน เรย์นัล เจ้าของสำนักพิมพ์เรย์นัลแอนด์ฮิตช์ค็อก ผู้พิมพ์หนังสือ Le Petit Prince และ The Little Prince เป็นครั้งแรก คือสุนัขจิ้งจอกผู้ให้ข้อคิดกับเจ้าชายน้อยเรื่องวิธี “ฝึกให้เชื่อง” และทำให้เขาค้นพบคุณค่าของ “ความสัมพันธ์”

ตอนที่เจ้าชายน้อยกำลังร่ำไห้ เมื่อรู้ความจริงว่าตนไม่ใช่ผู้ครอบครองกุหลาบที่มีเพียงหนึ่งเดียวในจักรวาล สุนัขจิ้งจอกก็ปรากฏตัวขึ้นใต้ต้นแอปเปิล เขาเริ่มสร้างความรู้จักโดยกล่าวชมความงามของสุนัขจิ้งจอก แล้วชวนให้มันมาเป็นเพื่อนเล่นเพื่อคลายความเศร้าโศก แต่สุนัขจิ้งจอกปฏิเสธ

“ฉันเล่นกับนายไม่ได้ถ้ายังไม่ถูกฝึกให้เชื่อง…นายยังไม่ต่างจากคนอื่นอีกนับแสน ฉันยังไม่ต้องการนายและนายก็ไม่ต้องการฉัน ฉันจึงเป็นสุนัขจิ้งจอกธรรมดาเช่นตัวอื่นจนกว่านายคุ้นเคยกับฉัน เราก็จะต้องการกัน นายจะเป็นเด็กคนเดียวในโลกของฉัน ฉันก็เป็นสุนัขจิ้งจอกตัวเดียวในโลกของนาย…”

แล้วกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ก็ก่อเกิดขึ้นกลางทะเลทรายสะฮารา

“…ถ้าเคยมาสี่โมงเย็น สักบ่ายสามฉันจะเริ่มมีความสุข พอถึงสี่โมงเย็นฉันจะตื่นเต้น กระวนกระวาย เห็นคุณค่าของความสุข แต่ถ้ามาไม่เป็นเวลาฉันก็ไม่รู้จะเตรียมตัวตอนไหน”

ในที่สุดเจ้าชายน้อยก็ฝึกสุนัขจิ้งจอกให้เชื่อง กระทั่งใกล้ถึงโมงยามอำลา สุนัขจิ้งจอกเป็นฝ่ายไม่สบายใจจนจะร้องไห้ แต่ก็ตัดสินใจบอกให้เด็กชายผู้มีผมสีเดียวกับรวงข้าวสาลีกลับไปที่สวนกุหลาบ
“จะได้รู้ว่ากุหลาบของนายมีแค่ดอกเดียวจริงๆ เมื่อนายกลับมาลาฉันจะบอกความลับอย่างหนึ่ง”

ที่สวนกุหลาบ ๕,๐๐๐ ต้น เด็กน้อยจึงได้เข้าใจถ่องแท้ว่าหมู่กุหลาบเหล่านั้นไม่เหมือนกุหลาบของเขาสักนิด เพราะไม่มีใครมาสร้างความสัมพันธ์ด้วย ต่างจากกุหลาบดอกเดียวบนดวงดาวที่เขาได้เฝ้ารดน้ำ ทะนุถนอมไว้ในที่ครอบแก้ว หาฉากบังลมให้ คอยกำจัดตัวหนอน ทนฟังเธอบ่น โอ้อวด และเฉยชา

“เราจะมองเห็นอย่างแจ่มชัดด้วยดวงใจเท่านั้น สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นด้วยดวงตา”

สุนัขจิ้งจอกเผยความลับในวันเดียวกับที่ต้องฝึกใจให้เข้มแข็งเพื่อบอกลาเด็กชาย

“เวลาที่นายสละให้กับดอกกุหลาบ ทำให้กุหลาบดอกนั้นมีค่ามากขึ้น…มนุษย์ลืมความจริงข้อนี้ แต่นายต้องไม่ลืมนะ ต้องรับผิดชอบต่อทุกสิ่งที่มีความสัมพันธ์ด้วย ต้องรับผิดชอบกุหลาบของนาย”

ผิวเผินบทตอนนี้จบที่การสอนให้เจ้าชายน้อยรู้จักรับผิดชอบความสัมพันธ์ต่อผู้อื่น ที่ซ่อนอยู่คือสุนัขจิ้งจอกเองก็แฝงนัยสำคัญไว้ให้เด็กชายผู้เป็นที่รักได้ทบทวนเรื่องระหว่างตนด้วย

แม้ไม่ปรากฏความชัดเจนในหนังสือ แต่หลายสถานการณ์ก็ชวนคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เกิดกับผู้เขียนตอนอยู่นิวยอร์ก เรื่องเริ่มปะติดปะต่อเมื่อหลานชายของ โจเซฟ คอร์เนลล์ (Joseph Cornell) ศิลปินชาวอเมริกันกลุ่มเซอร์เรียลิสต์ผู้มีชื่อเสียงด้านงานศิลปะแนวคอลลาจและผู้ผลิตภาพยนตร์แนวทดลอง นำรูปวาด-ต้นฉบับจากวรรณกรรมเจ้าชายน้อยมอบให้ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์มอร์แกน (The Morgan Library & Museum) ในนครนิวยอร์ก เพื่อจัดแสดงนิทรรศการ The Little Prince : A New York Story ช่วง ๒๐ มีนาคม ถึง ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ ทายาทเล่าว่าผลงานทั้งหมดไม่เคยเผยแพร่ที่ใด และเป็นสมบัติส่วนตัวของคอร์เนลล์-เพื่อนสนิทของแซ็งแต็กซูว์เปรีในช่วงที่เขาอาศัยอยู่นิวยอร์ก โดยได้รับมาเป็นของขวัญ

ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์มอร์แกนจึงเป็น “สถานที่รักษาต้นฉบับเจ้าชายน้อย” เพียงแห่งเดียวที่ได้ครอบครอง “ต้นฉบับลายมือ” ของแซ็งแต็กซูว์เปรี

บนต้นฉบับร่างแรก ผู้ประพันธ์เพียงเขียนถึงนักบินที่ติดอยู่กลางทะเลทรายและได้พบเจ้าชายน้อยผู้เดียงสาแต่มีความรู้แจ้ง ซึ่งทั้งเรื่องมีตัวละครไม่มากและจบใน ๑๕,๐๐๐ คำ แต่ในบรรดาตัวละครสำคัญมีจุดหนึ่งที่แซ็งแต็กซูว์เปรีพยายามเขียนใหม่ด้วยภาษาฝรั่งเศสในบรรทัดที่ลบไม่ออกมากถึง ๑๕ ครั้ง

คือตอนนาทีต้องกล่าวลา สุนัขจิ้งจอกเตือนให้เจ้าชายน้อยสัมผัสความจริงด้วยหัวใจ

“L’essentiel est invisible pour les yeux” (สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นด้วยดวงตา)

ไม่เพียงผู้หลงใหลเจ้าชายน้อยจะวิเคราะห์เชื่อมโยงกับชีวิตแซ็งแต็กซูว์เปรีว่าขณะอยู่นิวยอร์กเขาไม่ได้มีความสุขนัก มากด้วยปัญหาสุขภาพ ความขัดแย้งในชีวิตสมรส ความเครียดต่อการเมือง และโศกเศร้าต่อชะตากรรมสงครามของฝรั่งเศส ทำให้ต้องเยียวยาหัวใจกับเพื่อนรักตัวน้อยที่ไม่มีตัวตน

ยังน่าสนใจว่าปี ๒๕๑๗ Paramount Picture นำภาพยนตร์แฟนตาซีทางดนตรี The Little Prince มาถ่ายทอดบนแผ่นฟิล์มโดยผู้กำกับฯ สแตนลีย์ โดเน็น (Stanley Donen) และฝีมือการแสดงที่มีริชาร์ด ไคลีย์ (Richard Kiley) รับบทนักบิน และเด็กชายสตีเฟน วอร์เนอร์ (Steven Warner) แสดงเป็นเจ้าชายน้อย ฉากต่อเนื่องของภาพยนตร์นี้ได้เลือกถ่ายทำในสาธารณรัฐตูนิเซีย

โดยตีความเชื่อมโยงว่าตัวละครสุนัขจิ้งจอกในชีวิตจริงอาจคือคนรักของแซ็งแต็กซูว์เปรี

ส่วนกุหลาบสื่อถึงภรรยาของเขา

rose05

 

:: ความลับของ “กุหลาบ” ดอกเดียวในโลก ::

เรายอมรับกันมานานเกี่ยวกับดอกกุหลาบของเจ้าชายน้อย

ว่าคือมาดามกอนซูเอโล (Consuelo de Saint-Exupéry) ภรรยาตามจารีตของแซ็งแต็กซูว์เปรี

กระทั่งเมื่อเธอเสียชีวิตในปี ๒๕๒๒ นักวิชาการเข้าสำรวจในบ้านหวังพบหลักฐานใหม่เติมเต็มชีวประวัติของแซ็งแต็กซูว์เปรี-ผู้สาบสูญในสงคราม โดยการนำทางของคนสวนไปยังห้องใต้หลังคาทำให้

บังเอิญพบ “ต้นฉบับ” หนึ่งที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี ๒๔๘๘ เก็บใส่หีบสมบัติ

หลักฐานที่ปิดล็อกนั้นกลับเป็นกุญแจเปิดเผยเรื่องราวสำคัญที่เก็บไว้นาน ๓๔ ปี สู่หนังสือชื่อ The Tale of the Rose (เรื่องเล่าของนางกุหลาบ) ภายใต้นามปากกา “de Saint-Exupéry”

ว่าด้วยเรื่องรักของหญิงม่ายพราวเสน่ห์กับหนุ่มนักบินผู้กล้าหาญแห่งยุคบุกเบิกเส้นทางบิน เขาใฝ่หาดวงดาวและเธอก็เป็นหญิงสาวผู้ร่าเริงที่เข้ามาเติมเต็มความฝัน ไม่กี่ชั่วโมงหลังพบกันครั้งแรกทั้งคู่ต่างเชื่อว่าตนเกิดมาเพื่อเป็นสามี-ภรรยา การแต่งงานนั้นหอมหวาน เขาพาเธอออกบินไปปารีส คาซาบลังกา และนิวยอร์ก แม้บางช่วงชีวิตทั้งคู่จะพบมรสุมของการทรยศ นอกใจ ให้รู้สึกเจ็บปวดจนต้องห่างเหิน แต่ที่สุดแล้วก็ยังคงกลับมาอยู่ด้วยกันเสมอ ผู้เขียนเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ The Tale of the Rose กับเรื่องราวใน Le Petit Prince ว่าเธอคือดอกกุหลาบผู้เป็นที่รักของเจ้าชายน้อยที่มีอยู่เพียงดอกเดียวในโลกของเขา แม้เธอจะดื้อรั้นเพียงใดแต่เขาก็ไม่อาจมีชีวิตโดยปราศจากเธอ

การสูญเสียสามีผู้เป็นที่รักจึงเป็นความเจ็บปวดดั่งแผลที่ยังคงสดเสมอในหัวใจ

สำหรับผู้ที่ศรัทธาว่าสัญลักษณ์ต่างๆ และหลากสถานการณ์ที่อยู่ในเรื่องเจ้าชายน้อยคือส่วนเสี้ยวชีวิตจริงของผู้เขียน ย่อมถูกทำให้เชื่อสนิทใจว่าดอกกุหลาบก็คือมาดามกอนซูเอโล-ภรรยาแซ็งแต็กซูว์เปรี

และเป็นได้ว่ามาดามกอนซูเอโลก็คิดอย่างไม่เคยเคลือบแคลงใจ

กระทั่งมีการค้นพบหลักฐานลายมือที่แซ็งแต็กซูว์เปรีเขียนไว้ในช่วงเมษายน ๒๔๘๖ ถึงพฤษภาคม ๒๔๘๗ (ก่อนหายสาบสูญไปพร้อมเครื่องบิน Lockheed P-38 Lightning เพียง ๒ เดือน) ถึงความสัมพันธ์แต่ฝ่ายเดียวที่เขามีต่อหญิงอื่น ตัวหนังสือนั้นสารภาพหมดเปลือกว่าเขาตกหลุมหลงรักเจ้าหน้าที่สาววัย ๒๓ ปี ผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้กองทัพฝรั่งเศส ซึ่งเขาได้พบเธอที่แอลจีเรีย เธอไม่เคยใยดีแม้จะรู้ว่าเขาคลั่งไคล้เธอมาก ลายมือนี้เองกลายเป็นสิ่งสำคัญให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่าหรือแท้จริงแล้วเธออาจคือ “ดอกกุหลาบ” ผู้แสนทรนงตนที่แซ็งแต็กซูว์เปรีใช้เป็นเครื่องมือบอกเล่าความปวดร้าวที่ไม่สมหวังในรัก

และเป็นได้อีกว่าคือสาเหตุให้มาดามกอนซูเอโลพับเก็บต้นฉบับความรักใส่หีบ

rose06

 

อันที่จริงเกินครึ่งของคนที่มีความสุขกับการเสพ “เจ้าชายน้อย” ไม่ได้สนใจเบื้องหน้า-เบื้องหลังอันแสนซับซ้อนนัก ในจำนวนนั้นไม่เคยรู้ประวัติชีวิตของผู้ประพันธ์เลยก็มี แต่เมื่อรู้ในภายหลังก็อดไม่ได้ที่ต้องกลับไปเปิดอ่านอีกครั้งเพื่อลองเชื่อมโยงกับเรื่องราวชีวิตผู้เขียน

นั่นเองที่ทำให้ปีที่ ๑๒๐ ของ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี ยังไม่ตายแม้ไร้ลมหายใจ

  • ภาพประกอบรวบรวมจากอินเทอร์เน็ต