ประชากรแห่งหิมพานต์: ทีมมเหศวร - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 53

จักรวาลวิทยาของพุทธศาสนายังเผื่อแผ่ที่ทางให้แก่มหาเทพของฮินดูด้วย คือพระอิศวร ผู้สถิต ณ เขาไกรลาส หนึ่งในห้าเทือกเขาที่โอบล้อมสระอโนดาตในป่าหิมพานต์ คัมภีร์ออกชื่อว่า “พระมเหศวร” หรือ “มหิสรเทพบุตร” และเล่าถึงพฤติกรรมการท้าทายอำนาจพระพุทธองค์ ไว้หลายเรื่อง

“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” กล่าวว่าครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมใกล้เมืองกบิลพัสดุ์ มหิสรเทพบุตร พร้อมด้วยนางอุมาผู้เป็นชายา และบริษัทบริวาร วางแผนเข้าไป “ป่วน” ด้วยการ “ตั้งสนามฟ้อน” จับระบำรำเต้น เรียกร้องความสนใจจากผู้มาสดับพระธรรมเทศนา พร้อมประโคมดนตรีเสียงอึกทึก ทว่าแผนการกลับล้มเหลว เพราะไม่มีใครสนใจใยดีอะไร มหิสรเทพบุตรได้รับความอับอาย ต้องหนีกระเซอะกระเซิงกลับไปยังเขาไกรลาสครั้งหนึ่งแล้ว

ต่อมามหิสรเทพบุตรกลับมาท้าประลองฤทธิ์กับพระพุทธเจ้าอีกครั้ง ด้วยการชวนเล่น “ปิดตาหาเร้น” (ซ่อนหา) กัน โดยมหิสรเทพบุตรให้พระสมณโคดมปิดตาก่อน แล้วจึงเนรมิตกายให้ละเอียดเท่าปรมาณู แทรกตัวลงไปอยู่ในก้อนดินลึกแสนชั้น แล้วจึงเปล่งเสียงออกมาให้ฟังดูเหมือนอยู่ใกล้ๆ ว่า “เอาหละ! ซ่อนเสร็จแล้ว เริ่มหาได้”

ทันใดนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงบันดาลให้แผ่นดินแยกออกจากกัน แล้วยื่นพระหัตถ์ซ้ายลงไปล้วงหยิบเอามหิสรเทพบุตรขึ้นมากับทั้งดินแสนชั้นที่ห่อหุ้มอยู่ ก่อนจะใช้ปลายเล็บพระหัตถ์ขวาสะกิดทีเดียว ดินที่มหิสรเทพบุตรกำบังตัวไว้ ๙๙,๙๙๙ ชั้นก็ปลิวกระจายไป เหลือเพียงชั้นในสุดชั้นเดียว จากนั้นจึงตรัสเรียกซ้ำๆ อีกสามครั้ง ว่าให้ออกมาเถิด เพราะพระองค์ทรงทราบแล้วว่ามหิสรเทพบุตรไปซ่อนอยู่ที่ใด

ฝ่ายมหิสรเทพบุตรได้ยินแล้วก็ยังนึกว่า “โดนอำ” เพราะพระพุทธองค์จะไปรู้ได้อย่างไรว่าตนซ่อนที่ไหน นี่ก็คงแค่ส่งเสียงเรียก หลอกให้ออกจากที่ซ่อนเท่านั้นเอง จึงนอนนิ่งเฉยเสีย ไม่ยอมแสดงตัว พระพุทธองค์จึงทรงเริ่มพรรณนาอวัยวะต่างๆ ของฝ่ายที่ซ่อนอยู่ไปทีละส่วนๆ เพื่อยืนยันว่าพระองค์ทรงรู้แจ้งเห็นจริง จนมหิสรเทพบุตรยอมจำนน ออกจากก้อนดินที่ซ่อนตัว “หมู่เทพยดาแลยักษ์นาคแลสุบรรณทุกถ้วนหน้าก็ตบมือบันลือเสียงสำรวลเป็นอันดัง”

จากนั้นก็ถึงคราวผลัดให้พระสมณโคดมเป็นฝ่ายซ่อนบ้าง ปรากฏว่าทรงนิรมิตกายละเอียดเล็กกว่าปรมาณู แล้วไปอยู่ใกล้เปลือกตาของมหิสรเทพบุตร (บางคัมภีร์ก็ว่าอยู่เหนือหน้าผาก หรือไม่ก็ลอยอยู่เหนือศีรษะ) ฝ่ายหาเปิดตาออกมา ค้นเท่าใดก็หาไม่พบ ซอกซอนดูทุกหนทุกแห่งในจักรวาล เทียวไปเทียวมาเจ็ดรอบก็ยังไม่เจอจนเหนื่อยล้าอ่อนแรง ยกธงขาวยอมแพ้ กราบอัญเชิญพระพุทธองค์ให้ปรากฏแก่สายตา แล้วปวารณาตนเป็นโยมอุปัฏฐาก ยอมรับนับถือพระไตรสรณาคมแต่นั้นมา

ในทางดนตรีไทยจึงมีคำอธิบายต้นกำเนิดของเพลง “สาธุการ” ว่ามีกำเนิดจากเพลงที่ใช้บรรเลงเพื่ออัญเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จลงในโอกาสนี้นั่นเอง “สาธุการ” ถือเป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ในระดับที่ว่าศิลปินไทยที่ผ่านพิธีครอบครูแล้ว เมื่อได้ยินเพลงนี้ต้องยกมือประณมไหว้เหนือหัวแสดงสักการะทุกครั้งไป

แน่นอนว่าด้วยเหตุที่เป็นเรื่องในคัมภีร์พุทธศาสนาจึงเล่าเสียจนพระศิวะหรือพระอิศวร ซึ่งในทางฮินดูถือเป็นมหาเทพหนึ่งในสามของ “ตรีมูรติ” ร่วมกับพระพรหม และพระนารายณ์ (พระวิษณุ) เป็นฝ่ายต้องพ่ายแพ้แก่พุทธานุภาพ นั่นคือแม้มิได้ปฏิเสธความมีอยู่ของพระศิวะ แต่เมื่อต้องรวมอยู่ใน “จักรวาล” ของพระพุทธเจ้า ก็เลือกเล่าให้อยู่ในฐานะเทพชั้นรองไปเสีย

ใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เล่าต่อด้วยว่า ภายหลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว มหิสรเทพบุตรได้สร้างมหาวิหารขึ้น ณ เขาไกรลาส แล้วเนรมิตพระพุทธปฏิมากรอัน “งามเปรียบประดุจดังพระองค์สมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้าอันมีพระชนม์อยู่” แล้วยกขึ้นเหนือหัวอัญเชิญไปประดิษฐานยังมหาวิหารนั้น

ส่วนใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา สำนวนที่ ๑” มีรายละเอียดลงไปอีกว่า พระมเหศวรได้มีเทวบัญชาไว้ว่า “ต่อไปเบื้องหน้าถ้าผู้ใดมีน้ำใจคำรพจะสร้างรูปอาตมา จงประดิษฐานพระรูปสมเด็จพระพุทธเจ้าไว้เหนือศีร์ษะแห่งอาตมา ถ้าผู้ใดทำตามคำอาตมาแล้ว จะปรารถนาสิ่งใดก็สำเร็จที่ความปรารถนาผู้นั้น”

เนื้อหาตรงนี้คงแต่งเสริมขึ้น เพื่ออธิบายที่มาของพระพุทธรูปปางหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า “ปางโปรดมหิศรเทพบุตร” ทำเป็นรูปพระมเหศวร โดยมีลักษณะตามเรื่องเล่าว่าด้วยการเล่น “ปิดตาหาเร้น” ครั้งนั้น คือมีพระพุทธรูปประทับนั่ง หรือยืน อยู่เหนือเศียร

พระพุทธรูปปางนี้มีตัวอย่างอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ข้างๆ สนามหลวง) ใครสนใจก็ไปชมดูได้