อุตรกุรุ ทวีปทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ เป็นถิ่นที่อยู่อันพิเศษกว่าทวีปใด ทั้งภูมิสถานบ้านเมือง ผู้คน จารีตประเพณี รวมถึงวิถีการผลิต

ทรัพย์ส่วนกลาง - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 67

ไม่ว่าชาวอุตตกุรุผู้ใดจะมีความปรารถนาข้าวของอย่างใด ย่อมไปเสาะแสวงหาได้จากต้นกัลปพฤกษ์

กัลปพฤกษ์ต้นนี้เป็นไม้หลักประจำทวีปของอุตรกุรุ อย่างที่ในคัมภีร์โลกศาสตร์อธิบายว่ามีพระยาไม้ใหญ่ประจำทวีปอยู่ ๗ ต้น ที่มีขนาดเท่ากัน ได้แก่ ต้นปาริชาตบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ไม้แคฝอยของพิภพอสูร ไม้งิ้วประจำเมืองครุฑ (กึ่งกลางเขาพระสุเมรุ) ไม้หว้าในชมพูทวีป ไม้กระทุ่มแห่งอมรโคยานทวีป ไม้กัลปพฤกษ์อันเป็นหลักของอุตรกุรุทวีป และไม้ซีก ณ บุรพวิเทหทวีป

กัลปพฤกษ์ หรือกัปปพฤกษ์แห่งอุตรกุรุทวีปนั้น ดูๆ ไปก็คล้ายกับเป็นห้างสรรพสินค้าไร้เงินสด

“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” พาเที่ยวห้างไว้ดังนี้

“ล้วนผ้าดีๆ สีต่างๆ ลวดลายพิจิตรเป็นอย่างๆ ประหลาดๆ กัน…มีสัมผัสอ่อน เนื้อละเอียด บ่มิได้หยาบได้คาย สัมผัสเป็นสุขสบายกายสบายจิต…สรรพเครื่องประดับทั้งปวงนั้น ก็ล้วนแต่งามๆ ประหลาด วิจิตรด้วยมาลากรรมลดากรรม เป็นเครือดอกเครือใบต่างๆ เป็นนิจ ดอกไม้ต่างๆ ล้วนแล้วด้วยทองแลแก้ว เกี่ยวกระหวัดประสบประสานกัน มีพรรณโชติช่วงจำรัสแสง…เครื่องดุริยดนตรี เป็นต้นว่าพิณแลตะโพน ปี่แลบัณฑพ ฉิ่งแลกรับ สังข์แลกังสดาล”

นึกอีกที ถ้าเทียบอย่างที่คนสมัยนี้คุ้นตากันก็ต้องว่าคล้ายต้นคริสต์มาส คือมี “ของขวัญ” แขวนโตงเตงอยู่ตามกิ่งกัลปพฤกษ์ให้ไปเด็ดไปสอยมาได้ตามใจปรารถนา

เรื่องต้นกัลปพฤกษ์นี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีร่วมกัน ทั้งที่อุตรกุรุทวีป และอนาคตกาลยุคพระศรีอาริยเมตไตรย์ พระอนาคตพุทธเจ้า ดังที่ “พระมาลัยกลอนสวด” บรรยายโลกยุคพระศรีอาริย์ฯ ไว้ตอนหนึ่งว่าคนไม่ต้องทำงานการอะไรอีกต่อไป เพราะของกินของใช้ล้วนหาได้ที่ต้นกัลปพฤกษ์

“เมื่อใดหญิงและชาย      มิขวนขวายด้วยนาไร่
เลี้ยงชีพด้วยผลไม้ กัลปพฤกษ์อันให้ผล
บ่ห่อนค้าบ่ห่อนขาย มิขวนขวายเป็นกังวล
เกษมสุขทุกตัวตน ที่กัลปพฤกษ์ตามปรารถนา ฯ”

และเมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงสินค้าที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกันแล้ว ท่านผู้แต่งคัมภีร์แต่โบราณก็คงคิดว่าน่าจะเป็นเหตุให้ไม่มีใครอยากได้ใคร่ดีอะไร คือไม่มี “ตัวกู-ของกู” อีกต่อไป

ตัวอย่างที่ยกมาแสดงความ “ไม่หวงแหน” ในทรัพย์สินส่วนตัวของชาวอุตตรกุรุ คือบอกว่าเมื่อเวลาลงอาบน้ำที่ท่าน้ำเดียวกัน ทุกคนต่างเปลื้องผ้านุ่งผ้าห่มและเครื่องประดับออกมากองสุมๆ ทับๆ กันไว้ ใครขึ้นจากน้ำก่อน ก็สามารถหยิบเอาผ้าและเครื่องประดับที่วางอยู่ข้างบนสุดไปนุ่งห่มตกแต่งร่างกายได้เลย ใครขึ้นจากน้ำทีหลังก็เอาผ้าผ่อนที่วางข้างล่าง เอาเครื่องประดับที่วางข้างล่างไป “จะได้เลือกว่าของเราของเขาหาบ่มิได้”

คัมภีร์ถึงกับอ้างว่า พระพุทธองค์เคยตรัสสรรเสริญชาวอุตตรกุรุไว้ว่า “เหนือกว่า” ชาวชมพูทวีป หรือแม้แต่เทพยดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะมีตัณหาน้อย และปราศจากความหวงแหนเช่นนี้เอง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เคยทรงมีพระราชนิพนธ์เรื่อง “อุตตรกุรุ” เป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ Uttarakuru An Asiatic Wonderland วิจารณ์วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวอุตตรกุรุใน “ไตรภูมิพระร่วง” โดยทรงนำไปเปรียบเทียบกับแนวคิดสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ที่มีทรัพย์สินร่วมกันเป็นส่วนกลางเอาไว้ด้วย
“ทรัพย์สินนั้นเป็นของกลางทุกแห่งไป ไม่มีผู้ใดทำการเพาะปลูกเพื่อทำไร่ไถนาหรือค้าขายสำหรับตัวเองเลย ข้าพเจ้าขอตั้งข้อสังเกตว่า ตามที่ว่ามานี้ ถ้าไม่ใช่สังคมนิยม อะไรจึงจะใช่เล่า ทรัพย์สมบัติส่วนตัวไม่มี และการทำงานเพื่อสะสมทรัพย์ก็ไม่มีเหมือนกัน…” (สำนวนแปลโดยกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร)