สัตว์นรก - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 68

ต่อนี้ไปมาว่ากันถึงเรื่องนรกภูมิอย่างย่อๆ บ้าง

“ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” กล่าวว่าฝูงสัตว์ทั้งหลายที่ทำบาปกรรม ย่อมต้องไปเกิดเป็นในนรกซึ่ง “อยู่ใต้แผ่นดินอันเราอยู่นี้แล” สอดคล้องกับความหมายของ “นรก” ที่แปลว่าเหว

ตามคติจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุ พื้นที่ของนรกภูมิประกอบด้วย “นรกใหญ่” หรือ “มหานรก” แปดขุม ซ้อนกันเป็นชั้นๆ จากสูงสุดสู่ต่ำสุด หรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นนรก “แนวดิ่ง” ทำนองเดียวกับสวรรค์ ตั้งซ้อนๆ กันอยู่เหมือนถาดลูกชิ้นถาดผักในร้านสุกี้ ไล่เรียงจากนรกชั้นสัญชีวะที่อยู่บนสุด ไปจนถึงอเวจีอันอยู่ลึกล่างสุด ดังนี้

hell scene 3
  1. สัญชีวะ หรือสัญชีพ (คืนชีวิตขึ้นเอง) นิรยบาลถืออาวุธคอยสับฟันทิ่มแทง เมื่อสัตว์นรกตายตกไปแล้วจะมีลมพัดมาให้กลับฟื้นคืนชีวิต รับการทรมานซ้ำๆ ต่อไปอีก
  2. กาฬสุตตะ (เส้นดำ) สัตว์นรกถูกจับมัดติดกับพื้น แล้วนิรยบาลเอา “สายบรรทัดเหล็กใหญ่เท่าลำตาล” ดีดลงเหมือนเป็นช่างไม้ ถูกตรงไหนร่างกายก็แตกตลอดแนว ไม่ก็ถูกขวานถากผ่าเป็นชิ้นๆ “ดุจถากไม้”
  3. สังฆาฏะ (กระทบกัน) สัตว์นรกมีร่างกายเป็นคน หัวเป็นสัตว์ ถูกทรมาทรกรรมเหมือนคนเฆี่ยนตีสัตว์พาหนะต่างๆ นอกจากนั้นยังมีภูเขาเพลิงกลิ้งหลุนๆ เข้ามาบดร่างให้แหลกละเอียด
  4. โรรุวะ (ร้องครวญคราง) สัตว์นรกบังเกิดในดอกบัวเหล็กที่ลุกเป็นไฟ มีหนามแหลมคม
  5. มหาโรรุวะ (ร้องมากขึ้นอีก) นรกดอกบัวเหล็กอีกขุมหนึ่ง ยิ่งอื้ออึงด้วยเสียงร้องครวญครางมากขึ้นไปอีก
  6. ตาปนะ (ร้อน) มีหลาวเหล็กไว้เสียบแทงสัตว์นรก “ดุจเนื้ออันเสียบไม้” พอสุกได้ที ประตูนรกจะเปิด มีฝูงหมาตัวเท่าช้าง เขี้ยวเป็นเหล็ก เข้ามารุมกินบุฟเฟต์จนสิ้นเลือดสิ้นเนื้อ แล้วก็กลับไปเกิดใหม่อีก
  7. มหาตาปนะ (ร้อนจัด) นิรยบาลไล่ต้อนสัตว์นรกให้หนีขึ้นเขาที่มีลมพัดแรง พลัดตกลงมาก็ถูกหลาวเหล็กลุกเป็นไฟเสียบอีก
  8. อวีจิ หรืออเวจี (ไม่มีระหว่าง หรือไม่เว้นว่าง) สัตว์นรกถูกหลาวเหล็กเสียบตรึงไว้จนขยับไม่ได้ ทุกหนแห่งมีเปลวเพลิงลุกท่วมตลอดเวลา

“ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายว่านรกใหญ่ทั้งแปดขุมนี้ มีรูปร่างเป็นกล่องสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ มีประตูสี่ทิศ ฝาทุกด้านเป็นเหล็กเผาร้อนจัดจนแดงเดือด

ในจิตรกรรมฝาผนัง เช่นภาพด้านหลังพระพุทธรูปประธานในอุโบสถ นิยมรูปนรกให้เป็น “บ่อ” สี่เหลี่ยมจัตุรัส แลเห็นหัวสัตว์นรกอัดแน่นอยู่เต็มไปหมด ตรงกับที่ในคัมภีร์บรรยาย “นรกนั้นบ่มีที่เปล่าสักแห่ง เทียรย่อมฝูงสัตว์นรกทั้งหลาย หากเบียดเสียดกันอยู่เต็มนรกนั้น”

นรกใหญ่แต่ละขุม ยังมี “นรกบ่าว” หรือ “นรกบริวาร” เรียกว่า “อุสสุทนรก” อีก ๑๖ ขุม คือมีสี่ขุมในแต่ละด้านของผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส แล้วยังมี “นรกเล็ก” ล้อมรอบอีก 40 ขุม

รวมเป็นจำนวนนรกขุมต่างๆ ทั้งน้อยใหญ่ คือ 8+(8×16)+(8×40) หรือ 8+128+320 จึงเท่ากับ 456 ขุม

แต่ในคัมภีร์ก็มักไม่ได้ให้รายละเอียดของนรกทั้ง 456 ขุมนี้เท่าใดนัก เพียงแต่จะเล่ารวมๆ กันไป เช่นใน “ไตรภูมิพระร่วง” กล่าวถึงนรกบ่าว 16 ขุม รอบๆ นรกชั้นต้น คือสัญชีวะนรกเท่านั้น โดยอ้างว่าอยู่ในโปรแกรมทัวร์ที่พระมาตุลี พลขับเวชยันต์ราชรถประจำตัวพระอินทร์ เคยขับพาพระเนมิราชเหาะไปเที่ยวชมมาแล้ว

ส่วนใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” อธิบายขยายความไปว่า นรกบ่าวสี่ และนรกเล็กอีก 10 ขุมประจำแต่ละด้านของนรกใหญ่ทุกแห่ง มีรูปแบบการลงทัณฑ์อย่างเดียวกันหมด จึงเหมารวมกล่าวไปทีเดียวเลย

เมื่อลองพลิกอ่านดูในรายละเอียด จะพบว่า “ภาพจำ” ของนรก ส่วนมากคือฉากจาก “นรกบ่าว” หรือ “นรกเล็ก” เหล่านี้นี่เอง ไม่ว่าจะเป็นสุนัขตัวเท่าช้างและอีกาปากเหล็ก (สุนัขนรก) หม้อเหล็กใบใหญ่ที่เต็มไปด้วยน้ำเหล็กหลอมเดือดพล่าน “แดงเชื่อมเป็นน้ำอยู่” (โลหกุมภีนรก) การเอาคีมดึงลากลิ้นออกมาจากปาก (โลหพฬิสนรก) หรือการเอาหอกดาบไล่ให้ปีนขึ้นต้นงิ้วที่มีหนามแหลมยาว 16 องคุลี (โลหสิมพลีนรก)