เรื่องและภาพ : ปิยรัตน์ แซ่อึ้ง

เมื่อเดินเข้าสู่พื้นที่ด้านในของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ผู้มาเยือนจะเห็นภาพวาดใส่กรอบอย่างดีแขวนอยู่ ณ มุมต่างๆ เช่น ชานพักบันได ห้องสมุด และหากมีพื้นฐานความรู้ด้านศิลปะก็คงทราบว่าเป็นภาพวาดชื่อดังระดับโลก เช่น Mona Lisa, The Persistence of Memory, Starry Night Over the Rhône, Lady with an Ermine ทุกภาพเขียนกำกับว่าเป็นผลงาน “reproduction” ซึ่งหมายถึงสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ให้เหมือนหรือใกล้เคียงต้นแบบที่ศิลปินระดับโลกวาดไว้

ภาพวาด - ความสุขของผู้อยู่ข้างหลังภาพ
behindpainting02

นอกจากชื่อภาพและชื่อศิลปิน บนกรอบรูปเหล่านั้นยังปรากฏชื่อนักเรียนผู้สร้างสรรค์งาน reproduction ดังกล่าวด้วย

………………………………………………………………..

ข้างหน้าภาพ

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นที่รู้จักในฐานะ “โรงเรียนเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์” สถานศึกษาแห่งนี้มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ออกแบบเพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย วิชาส่วนใหญ่จึงเน้นด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนกระทั่งปี 2547 ได้ประกาศรับสมัครครูประจำมาสอนวิชาทัศนศิลป์ ด้วยแนวคิดที่อยากให้นักเรียนด้านวิทยาศาสตร์ได้รับการขัดเกลาให้ “อ่อนโยนขึ้น”

มานนท์ ผสมสัตย์ คือหนึ่งในผู้สมัครตอนนั้น และเขาผ่านการคัดเลือกได้เป็นครูสอนวิชาทัศนศิลป์คนเดียวของโรงเรียนนี้ตราบจนปัจจุบัน

จากนักศึกษาศิลปะที่ถนัดด้านจิตรกรรมเป็นพิเศษสู่การเป็นครูสอนศิลปะในโรงเรียนวิทยาศาสตร์ มานนท์ผู้มีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นต้นแบบ ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก แม้คนจะชอบถามเขาว่า “สอนศิลปะให้นักเรียนวิทย์ยากไหม” นั่นเพราะมานนท์ไม่ได้คิดว่าวิทยาศาสตร์กับศิลปะเป็นด้านตรงข้ามกัน

“ทั้งสองคือสิ่งเดียวกัน แต่คนกลับมาแยกย่อยในสมัยหลัง นักวิทยาศาสตร์อยู่ในแล็บเพื่อหาองค์ความรู้ ศิลปินสร้างงานศิลปะอยู่ในสตูดิโอเพื่อหาความงาม”

นอกจากนี้สำหรับเขา ความยากง่ายขึ้นอยู่กับทัศนคติเป็นสำคัญ

“ถ้าทัศนคติดี ความยากจะเป็นเรื่องท้าทาย แต่ถ้าทัศนคติไม่ดีจะกลายเป็นความท้อ ความสนใจด้านศิลปะของนักเรียนวิทย์อาจจะไม่มาก เราก็ต้องคิดว่าจะออกแบบการเรียนอย่างไรให้เขา appreciate กับศิลปะ มันเป็นเรื่องท้าทาย”

ด้วยมุมมองเช่นนี้ มานนท์จึงทำให้ห้องศิลปะเป็นดั่งห้องทดลอง นักเรียนที่ก้าวเข้าสู่ดินแดนของเขาจะได้ปฏิบัติการทางศิลปะ เช่น วาด ระบายสี ปั้น พิมพ์ภาพ ตัดเย็บเสื้อผ้า ขณะเดียวกันตัวเขาเองก็ได้ทดลองออกแบบวิธีจัดการเรียนการสอน รวมทั้งวางรากฐานหลักสูตรด้านศิลปะในโรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งนี้

“อยากเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่สอนศิลปะให้นักเรียนวิทยาศาสตร์”

นอกจากวิชาพื้นฐาน “ทัศนศิลป์” ที่นักเรียนทุกคนต้องเรียน มานนท์ยังเปิดสอนวิชาเลือกเสรีในแขนงศิลปะที่ได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นในทุกภาคเรียน ไม่ว่าศิลปะปฏิบัติ: สีน้ำมัน, เซรามิก รวมถึงวิชาภาพยนตร์ที่เขาเพิ่งเข้าอบรมหลักสูตรของหอภาพยนตร์ และกลับมาสร้างหลักสูตรวิชานี้ในโรงเรียนเป็นครั้งแรก ทุกวิชาที่มานนท์สอน นักเรียนจะต้องลงมือสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้สัมผัสศิลปะในฐานะผู้สร้างแล้ว มานนท์ยังใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือให้นักเรียนได้รู้จักแก้ปัญหาด้วย

“งานศิลปะที่งามที่สุดคือสามารถแก้ปัญหาได้หมดจดที่สุด ระหว่างสร้างงานศิลปะมันเกิดปัญหาขึ้นได้มากมาย เราก็ต้องแก้ไขให้ได้ เด็กรุ่นใหม่เกิดมากับเทคโนโลยี เวลาทำพลาดมัน delete ได้ง่าย แต่ชีวิตจริงไม่ใช่ ศิลปะสอนให้เราแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่นลงสีผิด เราก็ต้องแก้ให้ได้ ศิลปะคือสเกลพื้นฐานของการฝึกแก้ปัญหาในชีวิตจริง”

ความภาคภูมิใจประการหนึ่งของการวางรากฐานหลักสูตรด้านศิลปะในโรงเรียนนี้คือ เขาทำให้วิชาเลือกเสรีวิชาหนึ่งกลายเป็นวิชาพื้นฐานที่นักเรียนทุกคนต้องเรียนได้ นั่นคือวิชา “สุนทรียศาสตร์กับการดำรงชีวิต”

มานนท์จึงไม่ใช่แค่ครูสอนวาดภาพ แต่เป็นครูที่พยายามสอน “สุนทรี” ให้นักเรียน ซึ่งเขาตั้งใจไว้ตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 เมื่อไปชมนิทรรศการศิลปะแล้วเห็นคนมาร่วมงานน้อยมาก จึงเริ่มคิดว่า ทั้งที่ประเทศไทยมีศิลปินเก่งๆ แต่กลับไม่มีคนเสพงานศิลปะเท่าที่ควร เขาจึงอยากเป็นครูเพื่อถ่ายทอดความรู้และมุมมองในการมองศิลปะ

“ตั้งใจเลยว่าจะมาช่วยวงการการศึกษา ถ้าเราสร้างคนที่ซาบซึ้งในงานศิลปะ เขาก็จะไปเสพงานศิลปะ เราเห็นลูกศิษย์หลายคนยังมีความสุขกับศิลปะเมื่อเรียนจบจากที่นี่ไปแล้ว คนเป็นครูมีความสุขกว่านักเรียนได้เกรดสี่เสียอีก หรือต่อให้ยังไม่ซาบซึ้งในตอนที่เราสอน เขาก็อาจซาบซึ้งในอนาคตตอนมีประสบการณ์มากขึ้นแล้วก็ได้”

………………………………………………………………..

behindpainting03
behindpainting04
behindpainting05

ข้างหลังภาพ

นอกจากออกแบบหลักสูตรด้านศิลปะ มานนท์ยังสร้างบรรยากาศแห่งศิลปะในโรงเรียนด้วย เช่นจัดงานแฟชั่นโชว์ และที่เห็นชัดเจนสุดคือ ภาพวาดที่ใส่กรอบแขวนตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะห้องสมุดที่มีภาพวาดผลงานนักเรียนอยู่บนแทบทุกผนังที่มีพื้นที่ว่าง รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 30 รูป มานนท์ได้แรงบันดาลใจจากการศึกษาดูงานในหลายประเทศ และเห็นโรงเรียนชื่อดังหลายแห่งนำผลงานนักเรียนมาจัดแสดง ในโรงเรียน

“เราเป็นโรงเรียนประจำและห้องสมุดปิด 4 ทุ่ม นักเรียนที่นี่ผูกพันกับห้องสมุดมาก จึงให้เด็กที่มีความสามารถพิเศษรีโพรดักชันผลงานดังเหมือนภาพวาดในมิวเซียม นักเรียนคนอื่นๆ ก็จะได้ซาบซึ้งกับศิลปะด้วย เดินผ่านบ่อยๆ ก็จะคุ้นไปเอง”

มานนท์ยังใช้สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ผลงานนักเรียน ไม่ว่าเพจ “Art meet Science” เพจ “MWIT Art Studio.2020” รวมถึงหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาที่ล้วนกลายเป็น “แกลเลอรี” แสดงผลงานของนักเรียน

“เด็กๆ ภูมิใจมาก บางคนเห็นภาพของรุ่นพี่ก็มาขอวาดบ้าง เพราะอยากมีภาพวาดติดอยู่ในโรงเรียน”

เบื้องหลังภาพวาดเหล่านั้นไม่ได้มีแต่รอยยิ้มและความภูมิใจของผู้วาด แต่ยังมีผู้สอนที่ยืนถัดออกมาและมองดูความสำเร็จของลูกศิษย์อย่างภาคภูมิใจ ราวกับศิลปินผู้ชื่นชมผลงานตนเองที่แขวนอยู่ในแกลเลอรี

“ตั้งแต่เป็นครูก็วาดภาพน้อยลง แต่ยังสร้างสรรค์ศิลปะเท่าเดิม”

หากวัดจากผลประเมินของนักเรียนในแต่ละภาคเรียน มานนท์ย่อมถือเป็นครูที่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน เพราะเขาได้รับคะแนนเป็นอันดับต้นเสมอๆ แต่สำหรับเขา ความสำเร็จของการเป็นครูศิลปะไม่ได้อยู่แค่ตรงนั้น

“อยากให้เด็กดูงานศิลปะ ไปเดินหอศิลป์ ไปมิวเซียม บางคนไปเจองานศิลปะแล้วส่งข่าวบอกเรามา เราก็ดีใจแล้ว แต่นั่นก็แค่ความสำเร็จในระดับหนึ่ง”

เป้าหมายระดับสูงของเขาสัมพันธ์กับการเลือกมาเป็นครูในโรงเรียนชื่อดังแห่งนี้ เขารู้ว่าจะได้สอนศิลปะให้คนที่มีศักยภาพสูงและกำลังจะก้าวออกจากโรงเรียนไปเป็นผู้นำในสังคม

“เราอยากให้เด็กไปเป็นผู้นำองค์กรหรือสังคมโดยมีรสนิยมทางศิลปะ ศิลปะส่งผลต่อการขับเคลื่อนสังคมมาก เราอบรมผู้นำไม่ได้โดยตรง ก็เริ่มจากตรงนี้”

………………………………………………………………..

behindpainting06

“เพราะมนุษย์ชอบความงาม โลกจึงต้องมีศิลปะ”

เมื่อถามมานนท์ว่า “ความงาม” ในสายตาเขาคืออะไร เขานิ่งไปครู่หนึ่งก่อนจะตอบ

“ความซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเอง”

รอยยิ้มของเขาที่ปรากฏขึ้นตลอดการสนทนาเปรียบเสมือนภาพวาดธรรมชาติที่ทำให้ผู้ยืนชมรู้สึกสบายใจ และภาพนี้อาจกลายเป็นผลงานที่ถูกนำมา “reproduction” ในอนาคตก็เป็นได้