เขียน : กุลภัสสร์ พฤกษาจารสิริ
ภาพ : พงศกร ตะเคียน

 Wastegetable - ขยะคนกรุง ปั่นและปรุงเป็นอาหารจานใหม่
เทคนิคการออกแบบแปลงผักที่เรียกว่า Crop bed
ถูกนำมาใช้ที่ฟาร์มแห่งนี้ โดยจะมีการสร้างเปลสำหรับผักแต่ละแปลง ที่มีทั้งการควบคุมแสงแดด อุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณผักต่อแปลงอย่างเป็นระบบสำหรับพื้นที่จำกัด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพอีกทั้งยังมีการออกแบบลวดที่ใช้ป้องกันนกมาจิกกินผักที่ปลูกไว้ นอกจากนั้นแปลงผักยังช่วยดูดซับความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังตัวอาคารอีกด้วย

ฟาร์ม

พูดถึงคำนี้ คนส่วนใหญ่ก็คงนึกถึงชนบทที่ห่างไกลความเจริญ มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นไร่เป็นงาน เต็มไปด้วยผลผลิตทางการเกษตรหลากหลายชนิด มีเกษตรกรหลายชีวิตคอยดูแล คงไม่มีใครนึกถึงว่าในกรุงเทพฯ เมืองที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและมีความเจริญอยู่ทุกหย่อมหญ้าจะมีฟาร์มผักตั้งอยู่ที่ใจกลางเมือง แถมยังอยู่บนดาดฟ้าของห้างสรรพสินค้าอีกด้วย ราวกับว่าฟาร์มผักแห่งนี้ได้ปั่นรวมชีวิตคนกรุงและการเกษตรเข้าด้วยกันอย่างลงตัว และฟาร์มแห่งนี้ก็มีพันธกิจสำคัญคือผลิตผักสด ลดขยะเศษอาหาร สานสัมพันธ์กับชีวิตคนเมือง ซึ่งดึงดูดความสนใจคนกรุงเทพฯ แต่กำเนิดแบบเราได้เป็นอย่างดี

wastegetable02
ฟาร์มแห่งนี้ตั้งอยู่บนดาดฟ้าของตึกจอดรถห้างสรรพสินค้า Center One
ซึ่งตั้งอยู่ติดกับวงเวียนอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ใจกลางกรุงเทพมหานคร หากต้องการซื้อผักที่นี่ต้องเดินขึ้นบันไดของลานจอดรถหรือเดินไปตามทางขึ้นของรถยนต์
wastegetable03
ธนกร เจียรกมลชื่น หรือโจ๊ก เป็นผู้จัดการฟาร์มผักบนดาดฟ้า Wastegetable กำลังดูแลและตรวจสอบความเรียบร้อยของฟาร์มในช่วงบ่ายถึงเย็นอย่างที่เขาทำเป็นประจำและคอยให้บริการลูกค้าที่ติดต่อหรือเดินทางเข้ามาซื้อผักที่ฟาร์มแห่งนี้

เสกของเสียเป็นของสด

แสงแดดยามบ่ายแก่ๆ แผดเผาไปทั่วทั้งดาดฟ้าที่เต็มไปด้วยพืชผักมากมายดูเหมือนจะร้อนจนแทบไหม้ แต่ก็ต้องขอบคุณลมหนาวที่พอจะช่วยบรรเทาไอร้อนได้บ้าง หลังจากฝ่ามวลชนแสนแออัดในย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาได้ในที่สุดเราก็เดินทางมาถึงดาดฟ้าของห้าง Center One ซึ่งเป็นที่ตั้งของแปลงผัก “Wastegetable” แห่งนี้

ดาดฟ้าแห่งนี้ถูกเปลี่ยนจากพื้นที่คอนกรีตแห้งแล้งเป็นพื้นที่สีเขียวไปราวๆ 800-1,000 ตารางเมตร เต็มไปด้วยพืชนานาชนิด แต่เน้นไปที่ผักสลัดเป็นหลัก มีสมุนไพรฝรั่งบ้าง เช่น ไทม์ โรสแมรี ฯลฯ และพืชผักชนิดอื่นอีกเล็กน้อย

โจ๊ก-ธนกร เจียรกมล ผู้จัดการฟาร์มแห่งนี้เล่าว่า แรกเริ่มเดิมทีฟาร์มนี้เป็นโครงการนำร่องของบริษัท Bangkok Rooftop Farming (BRF) โดยที่จุดประสงค์ของโครงการนี้คือการกำจัดขยะเศษอาหาร เนื่องจากทุกวันนี้ปริมาณเศษอาหารในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีมากจนแทบล้น และถูกปล่อยทิ้งไว้รอวันย่อยสลายอย่างไม่เกิดประโยชน์ ทาง BRF จึงร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า Center One ที่มีคนสัญจรพลุกพล่าน มีร้านอาหารหลายสิบร้าน มีปริมาณขยะเศษอาหารหลายกิโล เพื่อทดลองนำขยะเศษอาหารจากทางห้างมาปั่นและปรุงจนกลายเป็นวัสดุปรุงดินคุณภาพดี

ผู้ก่อตั้ง BRF ทั้งเจ็ดคนไม่ได้คิดแค่วิธีกำจัดขยะเศษอาหารที่แปลงมาเป็นปุ๋ยแล้วขายเพียงเท่านั้น เนื่องจากตลาดการขายปุ๋ยหมักค่อนข้างแคบและมีกลุ่มลูกค้าที่ค่อนข้างจำกัดในกรุงเทพฯ อีกอย่างถ้าหากทำแต่ปุ๋ยก็จะได้ปริมาณเยอะกว่าที่ขายได้ เนื่องจากปริมาณขยะเศษอาหารมีเยอะมาก พวกเขาเลยหาทางออกให้กับปุ๋ยเหล่านี้ บวกกับความต้องการที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับมันเลยเกิดเป็นแปลงผัก Wastegetable นี้ควบคู่กันมา เพื่อไม่ให้ปุ๋ยเหลือทิ้ง และเพื่อให้คนภายนอกเห็นว่าปุ๋ยหรือดินของพวกเขานั้นทำให้พืชผักงอกงามได้ แสดงว่าปุ๋ยนี้ต้องมีคุณภาพดีไม่เป็นรองใครเลยทีเดียว

พอปุ๋ยดี ดินดี ผักก็งอกงาม ทำให้ผลผลิตของฟาร์มนี้ไม่ใช่แค่ปุ๋ยหรือดิน แต่รวมไปถึงพืชผักด้วย

ผักที่โตแล้วไปไหน?

โจ๊กเล่าว่าเมื่อก่อนทางฟาร์มตั้งบูทขายผักที่ด้านหน้าห้างนี้ กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่สัญจรผ่านห้างนี้เป็นหลัก หรือบางทีก็ขายให้กับทางห้างด้วย

จะเห็นได้ว่าฟาร์มผักแห่งนี้มีการใช้โมเดลธุรกิจที่เรียกว่าเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตั้งแต่การผลิต การใช้ และวนกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่

โดยเริ่มจากนำขยะเศษอาหารมาผลิตปุ๋ย

เอาปุ๋ยไปใช้ปลูกพืชผัก

นำพืชผักที่ได้ไปจำหน่าย

และผักเหล่านี้อาจถูกนำไปประกอบเป็นอาหารจานใหม่ พอเหลือทิ้งมันก็กลับมาเป็นขยะเศษอาหารที่เตรียมตัวไปเป็นปุ๋ยอีกครั้ง วนไปแบบนี้อย่างคุ้มค่าและไม่รู้จบ ราวกับเวทมนตร์ที่เนรมิตของเสียให้กลายเป็นอาหารจานใหม่ปลอดสารพิษได้

wastegetable04
แปลงผักแบบโต๊ะขนาดเล็กนี้ถูกออกแบบมาสำหรับคนเมืองที่มีพื้นที่จำกัด เป็นหนึ่งในองค์ความรู้สำหรับถ่ายทอดให้แก่ผู้มาเยี่ยมชม โดยทางฟาร์มจะมีการจัดคอร์สให้ความรู้เชิงปฏิบัติ และจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับสร้างแปลงผักง่ายๆที่ใครก็ทำได้
wastegetable05
ห้องนี้ถูกออกแบบมาเพื่ออนุบาลผักที่ยังไม่โตถึงขนาดที่กำหนด ก่อนนำไปลงในแปลงหลัก โดยจะมีคนงานเข้ามาดูแล ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ซึ่งการมีห้องนี้ช่วยให้แปลงผักมีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่อย่างชัดเจนและเป็นระเบียบ

ลองผิดลองปลูก

ฟาร์มบนดาดฟ้าแห่งนี้เพิ่งมีอายุแค่ 1 ปีเท่านั้น ถ้าจะเปรียบก็คงเหมือนเด็กทารกช่วงปีแรกซึ่งเป็นปีที่สำคัญ ต้องดูแลกันเป็นพิเศษ ทั้งวิธีการจัดการกับปัญหาต่างๆ หาวิธีที่ทำให้ผักโตได้เต็มที่มากที่สุด หรือวิธีปลูกที่เหมาะสมและไม่กินพื้นที่ เพราะพื้นที่เป็นโจทย์หลักที่ฟาร์มแห่งนี้ต้องไขให้ออกเลยก็ว่าได้ ว่าจะบริหารยังไงให้ทุกตารางเมตรเกิดประโยชน์สูงสุด

ถ้าลองเดินดูรอบๆ ฟาร์มจะเห็นได้เลยว่าแต่ละโต๊ะปลูกมีวิธีการปลูกที่แตกต่างกันไป เริ่มจากเป็นอ่างก้นไม่ลึกมากมาวางบนโต๊ะเหล็กขนาดใหญ่ สูงประมาณเอว ใส่ดินลงในอ่าง แล้วปลูกในนั้นเลย หรือบางโต๊ะก็ใช้เป็นถุงปลูก ต้นละถุง เรียงกันนับสิบถุงบนโต๊ะ

ก่อนหน้านี้เคยใช้กล่องโฟมใส่อาหารเป็นภาชนะในการปลูกด้วย เนื่องจากเป็นของเหลือที่หาได้ง่ายในห้าง แต่ด้วยขนาดที่ค่อนข้างหนาของขอบกล่อง ทำให้ปริมาณต้นไม้ที่ปลูกได้ในแต่ละกล่องน้อยกว่าที่ตั้งใจไว้ นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องระยะเวลาการใช้งาน หากใช้ไปนานๆ เกรงว่ากล่องอาจจะย่อยสลาย หรือมีสารเคมีปนเปื้อนลงไปในดิน ทำให้วิธีการปลูกในกล่องโฟมก็เป็นอีกวิธีที่ถูกพับเก็บไปพร้อมกล่อง

เราถามว่าตอนนี้ทางฟาร์มเจอวิธีการปลูกที่ดีที่สุดแล้วหรือยัง โจ๊กตอบว่าตอนนี้วิธีการปลูกก็ค่อนข้างเข้าที่เข้าทางแล้ว แต่ก็ยังไม่เจอวิธีที่ดีที่สุด ยังคงต้องทดลองต่อไปเรื่อยๆ

ระหว่างเดินดูฟาร์มเราก็ไปสะดุดตากับถุงปลูกจำนวนเกือบครึ่งที่มีหลากหลายสี เช่น แดง ส้ม ขาว สีสันของถุงปลูกนั้นสดใสตัดกับสีเขียวของใบพืชได้เป็นอย่างดี ทีแรกนึกว่ามันเป็นแค่การตกแต่งเพิ่มสีสันให้กับฟาร์มที่มีแต่สีเขียว เลยหันไปถามผู้จัดการฟาร์มเพื่อยืนยันความถูกต้องของความคิดตัวเอง

ปรากฏว่าเราคิดผิด ถุงสีๆ พวกนี้มีไว้สำหรับทดลองในสมมุติฐานที่ว่าสีของถุงปลูกมีผลต่อการปลูกหรือไม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าสนใจดี เราเลยถามกลับว่าแล้วเห็นความแตกต่างอะไรไหม โจ๊กขำแล้วบอกว่า “ยังอยู่ระหว่างการทดลองน่ะครับ”

ถึงตอนนี้จะยังไม่เห็นผลอะไรจากถุงหลากสี แต่มันก็มีประโยชน์คือเพิ่มความน่ารักให้กับต้นไม้ได้อยู่ประมาณหนึ่งเลย

แดดยามบ่ายบนดาดฟ้านี่ไม่ธรรมดาจริงๆ ยิ่งอยู่ในใจกลางเมืองแห่งคอนกรีตที่เต็มไปด้วยควันพิษ ยิ่งทวีความโหดร้ายของไอร้อนเข้าไปอีกหลายเท่าตัว

เรายังร้อน ต้นไม้ก็ร้อนพอๆ กัน แต่ติดตรงที่มันเดินไปเปิดเครื่องทำความเย็นแบบมนุษย์เราไม่ได้นี่สิมันถึงแห้งตายอยู่บ่อยๆ โจ๊กบ่นถึงความร้อนระอุกลางเมืองที่ค่อนข้างเป็นศัตรูตัวฉกาจกับต้นไม้พวกนี้ เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พวกเขาต้องหาทางป้องกัน ซึ่งทางออกก็คล้ายๆ กับมนุษย์เรานี่แหละ

กางร่ม

แดดร้อนก็ต้องกางร่ม เป็นวิธีง่ายๆ อย่างแรกที่ใครๆ ก็นึกถึง เดิมทีมันเคยเป็นฟาร์มที่มีแค่โต๊ะปลูกวางท้าทายไอแดดจากพระอาทิตย์ แต่เมื่อความร้อนมันสาหัสเกินกว่าที่พืชผักจะทนไหว ทางฟาร์มเลยตัดสินใจติดตั้งโครงหลังคาขึ้น โดยเอาผ้าตาข่ายสีเข้มมาคลุมเพื่อเป็นโล่ป้องกันไอร้อน

“แต่จริงๆ แล้วพืชพวกนี้ชอบแดดนะ” โจ๊กบอก

“แค่มันไม่ถูกกับความร้อน”

โชคร้ายสำหรับผักพวกนี้ที่ประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตอบอุ่น เลยไม่มีแดดจัดที่อุณหภูมิห้อง

เว้นเสียแต่ว่าเป็นหน้าหนาว (ที่มีแค่ไม่กี่วัน)

wastegetable06
ถังใส่เศษอาหารและเครื่องหมักปุ๋ยนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการผลิตปุ๋ย อีกทั้งยังได้แก๊สหุงต้ม ที่สามารถนำเอามาใช้ประโยชน์ได้ โดยทางฟาร์มกำลังผลักดันโมเดลฟาร์มนี้ให้เจ้าของตึกแห่งต่างๆมาเข้าร่วมโดยหวังว่าจะช่วยลดปัญหาจากขยะเศษอาหารได้อย่างเป็นรูปธรรมและสร้างเครือข่ายอาชีพเกษตรกรวิถีคนเมืองให้เกิดขึ้นจริงในแต่ละพื้นที่ทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร
wastegetable07
ปุ๋ยที่นำมาใช้ในฟาร์มแห่งนี้มาจากการนำเอาเศษอาหารเหลือทิ้งจากการบริโภคภายในอาคารห้างสรรพสินค้ามาหมักด้วยเครื่องหมักปุ๋ย โดยปุ๋ยบางส่วนที่เหลือจะถูกนำไปขายเป็นการสร้างรายได้ให้ฟาร์มและห้างสรรพสินค้าอีกทางหนึ่ง

(อาบ) น้ำ

น้ำเป็นตัวช่วยระบายความร้อนได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับต้นไม้หากรดน้ำเยอะเกินไปก็อาจจะทำให้ชื้นและก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับเชื้อราได้ การควบคุมปริมาณน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเป็นพืชที่โตแล้ว มีใบค่อนข้างเยอะ จะใช้วิธีการเปิดสปริงเกอร์รดน้ำเอา ส่วนต้นไม้ที่ยังเป็นต้นอ่อน หรือไม่ได้มีใบมากก็จะใช้วิธีหยดน้ำแทน เพื่อควบคุมปริมาณน้ำไม่ให้เยอะเกินความจำเป็น

จริงๆ ปัญหาของการปลูกพืชไม่ได้มีแค่ความร้อนเพียงอย่างเดียว แต่มันยังมีปัญหาเล็กๆ ที่คอยมากวนใจผู้ดูแลฟาร์มแห่งนี้อยู่ไม่น้อย เช่น พวกแมลงศัตรูพืช นกกระจิบที่คอยมากินต้นอ่อน แต่คนที่ดูแลสวนที่นี่ก็งัดเอาวิธีต่างๆ นานาที่ปลอดสารเคมีมาใช้ เช่น การนำเอาตาข่ายมาคลุมรอบโต๊ะปลูกเพื่อไม่ให้นกเข้ามากินต้นอ่อนได้ หรือใช้ถุงดักแมลง เป็นต้น เพื่อป้องกันพืชผักของพวกเขาให้สมบูรณ์ แข็งแรงที่สุด

โจ๊กยืนยันเลยว่าเส้นทางของฟาร์ม Wastegetable แห่งนี้ก็มีล้มลุกคลุกคลานอยู่บ้าง มีปัญหาให้คอยแก้อยู่ทุกวัน ซึ่งกว่าจะทำให้เข้าที่เข้าทางอย่างทุกวันนี้ได้ก็ลองผิดลองถูกกันมาเยอะพอสมควร

wastegetable08
ถุงล่อแมลงเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการดักจับแมลงที่จะมากัดกินสร้างความเสียหายแก่ผักที่ปลูกไว้ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาคุณภาพผักที่ทำได้ง่ายและไม่ต้องใช้สารเคมีใดๆให้สิ้นเปลือง ผักที่นี่จึงเป็นผักออร์แกนิคที่ดีต่อสุขภาพ
wastegetable09
คนงานของฟาร์มกำลังชั่งน้ำหนักผักก่อนนำไปขายให้แก่ลูกค้า โดยทั่วไปลูกค้าของฟาร์มจะมาจากละแวกพื้นที่ใกล้ๆ ซึ่งทำให้เกิดการค้าขายทางตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดโอกาสเสียหายของผลผลิตจากการขนส่ง

เก็บกวาดเก็บเกี่ยว

นอกจากโมเดลธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นของฟาร์มแห่งนี้คือการสร้างพื้นที่กิจกรรมให้กับคนที่อยากปลูกผักในละแวกนั้น โดยที่จะมีการจัดการฝึกให้คนที่สนใจทำฟาร์มลักษณะนี้ได้มาเรียนรู้และลองปฏิบัติ

เริ่มตั้งแต่การทำปุ๋ยหมักจากขยะเศษอาหาร วิธีเพาะเมล็ด บอกเคล็ดลับที่ทำให้พืชผักงอกงามในแบบฉบับ Wastegetable ซึ่งถ้าหากใครถูกอกถูกใจก็สามารถนำไปปรับใช้กับพื้นที่ของตัวเองได้ทางฟาร์มไม่หวง แถมยังสนับสนุนอีกด้วยเพื่อลดปัญหาเศษขยะที่มาจากครัวเรือน

ลองคิดดูว่าถ้าหากชุมชนแห่งนี้เต็มไปด้วยฟาร์มผักแบบ Wastegetable คงจะช่วยลดปริมาณขยะเศษอาหารไปได้มากเลยทีเดียว เผลอๆ อาจจะช่วยเรื่องการลดอุณหภูมิอีกด้วย

แต่สำหรับบางคนการปลูกผักก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าไรนัก

ถ้าเป็นคนมือร้อนมาฝึกที่นี่จะทำให้มือเย็นขึ้นไหม เราถาม

โจ๊กตอบอย่างขำๆ “มันไม่เกี่ยวหรอกครับว่ามือร้อนหรือมือเย็น มันขึ้นอยู่ที่วิธีการปลูกและปรุงดินมากกว่า ซึ่งทางฟาร์มของเราสอนให้ทั้งสองอย่างอยู่แล้ว” คงเป็นคำตอบที่ทำให้คนมือร้อนหลายๆ คนที่รักในการปลูกต้นไม้สบายใจขึ้น

เพราะฉะนั้นใครที่มีพื้นที่ มีเวลา อย่ารอช้า เก็บกวาดดาดฟ้าให้พร้อม แล้วมาลองปลูกผักดูสักตั้ง

แต่ถ้าใครไม่มีพื้นที่ ไม่มีเวลา แต่รักในการกินผัก ทาง Wastegetable ก็เปิดโอกาสให้คนที่ต้องการซื้อผักเข้ามาเก็บผักจากแปลงแบบตัดจากต้นได้เลย น่าจะเป็นกิจกรรมที่ถูกอกถูกใจใครหลายๆ คนพอสมควร

จริงๆ แล้วกิจกรรมของทาง Wastegetable นั้นก็ค่อนข้างครอบคลุมกลุ่มประชากรทุกรูปแบบ ทั้งคนชอบปลูก คนชอบกิน แต่ที่สำคัญคงต้องเป็นคนชอบผัก

หลังจากพูดคุยกันมาอย่างยาวนานก็คงถึงเวลาต้องจากแปลงผักที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์และพันธกิจแห่งนี้แล้ว แน่นอนว่าก่อนไปเราไม่ลืมที่จะอุดหนุนผักจำนวนหนึ่งติดไม้ติดมือกลับบ้าน

ยิ่งเป็นผักที่ได้ตัดเองกับมือแล้ว รสชาติของผักคงอร่อยขึ้นอีกเท่าตัว

สายลมอ่อนๆ พัดโชยมาอีกครั้ง ทำเอายอดของต้นสมุนไพรฝรั่งที่อยู่ด้านหน้าฟาร์มโบกพลิ้วอยู่ไหวๆ ราวกับกำลังโบกมือลาเราที่กำลังจะลงจากดาดฟ้าแห่งนี้ไปใช้ชีวิตแบบคนกรุงเต็มตัวอีกครั้ง และหมายใจไว้ว่าวันนึงเราจะได้มีโอกาสปลูกผักกินเองสักครั้ง