เรื่อง : ศศิตา มณีวงษ์
ภาพ : ปรมินทร์ นกจิบ
ก่อนจะเริ่มผจญภัยไปกับเรา อยากให้ทุกคนลองเอ่ยชื่อผักที่มั่นใจว่าเป็น “ผักไทยพื้นบ้าน” มาสัก 15 ชนิด
ใบเหลียง ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และอื่น ๆ หลายคนอาจจะไล่ได้จนครบ
แต่ถ้าจะให้ไล่เรียงไปมากถึง 20-30 ชนิด เรามั่นใจว่าจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ
และให้ถามว่าดอกโสนใส่ในแกงอะไรได้บ้าง แล้วทำอย่างไร คงมีน้อยคนทราบ หรืออาจถูกถามกลับว่า “อะไรคือดอกโสน” ให้สะเทือนใจเล่น
แล้วสิ่งใดเป็นต้นตอให้ทุกคนมีความรู้จำกัดเพียงเท่านี้ ภูมิปัญญาการกินของมนุษย์หายไปไหน
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่เรากำลังจะพูดถึงคือ “สายพานอุตสาหกรรม”
รสมือของเครื่องจักร
“คนทำกับข้าวอร่อยที่สุดในชีวิตเรา คิดว่าใคร?”
สุนทร คมคาย หรือ “เกษตรแหลม” ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลเขาไม้แก้ว สารถีร่างใหญ่ใจดีถามเราระหว่างพารถกระบะสีขาวเขรอะฝุ่นแดงทะยานไปตามถนนสายหนึ่งซึ่งเลียบสวนข้าวโพดสองฟากฝั่ง สุดลูกหูลูกตาของเขตแดนนี้ล้วนเป็นพื้นที่เกษตรทั้งสิ้น หันไปทางไหนก็มีแหล่งอาหารห้อมล้อมไม่มีวันอดตาย เหลือเฟือจะส่งออกไปเลี้ยงปากท้องของคนเมือง แต่กลับเป็นตลกร้ายที่พวกเราเดินทางมาด้วยหัวข้อ “การขาดแคลนอาหารกลางวันของเด็กโรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว”
ฉันนั่งอยู่ด้านหน้าข้างคนขับตอบทันทีโดยไม่ต้องคิด “แม่”
“รองลงมาคือใคร คือเมียเราใช่ไหม เพราะเขาทำให้เรากินทุกวัน แต่อนาคตคนที่ทํากับข้าวได้อร่อยสุดคือ เจ้าของร้านสะดวกซื้อชื่อดัง”
รสชาติคุ้นเคยทำให้เรารู้สึกอบอุ่นปลอดภัย แล้วจะเป็นอย่างไรถ้าพ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยอาหารที่ซื้อสำเร็จรูปเพราะความเร่งรีบในชีวิตประจำวัน คงน่าเศร้าถ้าคนคนหนึ่งเกิดมาโดยกินอาหารอะไรก็ไม่ถูกปาก นอกจากรสมือของเครื่องจักร
“ต่อไปก็จะมีอาหารสำหรับเด็ก คนวัยทำงาน คนที่ต้องการโปรตีน คนสูงอายุต้องการแคลเซียมสูง เหมือนกับสูตรขุน สูตรหย่านม สูตรอะไรอื่นๆ แล้วความสวยงามของอาหารก็จะหายไป แต่จะมีของมาชงกับน้ำร้อน ชงกับนม เราใกล้จะได้กินอาหารเม็ดเข้าไปทุกที”
ชุมชนเขาไม้แก้วจึงร่วมมือกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้เชื่อมโยงกับฐานทรัพยากรที่พวกเขามี วิธีเด่นคือทำเกษตรอินทรีย์ปลูกผักตามฤดูเพื่อส่งมอบเป็นอาหารผู้ป่วยในโรงพยาบาลใกล้เคียง และส่งเสริมให้เด็กๆ ในโรงเรียนชุมชนเรียนรู้กรรมวิธีผลิตอาหารตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนไปถึงโต๊ะกับข้าวในครัวเรือน
“เท้าของทุนที่ย่ำมันจะใหญ่ จะมีพลังใช่ไหม แต่ก็ย่ำไปไม่ได้ทุกที่ครับ จะมีช่องว่างเล็กๆ ถ้าเราทำเรื่องพวกนี้ได้ ก็จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นอยู่รอด เพราะอินทรีย์แบบธรรมชาติน่าจะใช้ทุนน้อยกว่า”
เกษตรแหลมเล่าให้ฟังว่าเคยมีบริษัทติดต่อฟาร์มของเขาให้ปลูกกะเพรานำส่งโรงงานอาทิตย์ละ ๑ ตัน ก็เป็นไปได้หากจะร่วมทำกันทั้งชุมชน หรือเขาคนเดียวก็ทำได้ แต่เขายังคงถือมั่นกับการปลูกฝังทัศนคติให้ทุกคนปลูกพืชอินทรีย์หลากหลายตามธรรมชาติจัดสรร ถ้าต้องรู้สึกว่าพืชอื่นๆ นอกจากกะเพราในแปลงล้วนเป็นวัชพืช อาจส่งผลเสียครั้งใหญ่ดังกรณีเห็ดป่าที่เกิดขึ้น
“ทุกวันนี้ภูมิปัญญาเห็ดป่าหายไปหมด แม้แต่ตัวผมเองยังกล้าเก็บกินไม่เกินสามอย่าง คือเราคุ้นๆ ว่าน่าจะกินได้ แต่ใช่เปล่าวะ (หัวเราะ) เฮ้ย! กินมั่วก็ตายสิ”
อีกหนึ่งในภูมิปัญญาที่สำคัญคือวิธีปรุง เกษตรแหลมพาเรามาถึงโรงเรียนบ้านเขาไม้แก้วที่กำลังจัดกิจกรรมกันคึกคัก น่าเสียดายที่เรามาไม่ทันเวลาที่เด็กๆ กับคนเฒ่าคนแก่เรียนรู้วิธีทำอาหารพื้นบ้านร่วมกันทุกเดือน แต่เมนูที่เราไม่เคยลองถูกปันส่วนไว้อย่างละถ้วยจนละลานตา ไม่ว่าแกงยอดหวาย แกงขี้เหล็ก แกงเลียง ยำผักกูดราดกะทิ ซุปบักมี่ ซึ่งล้วนเป็นผักพื้นบ้านที่ออกผลง่ายตามฤดูกาล
การได้รับประทานอาหารที่ไม่มีข้อกังขาเรื่องสารเคมีอันตรายในมื้อนั้นมอบความหวังใหม่ให้แก่อนาคตของพวกเรา อนาคตตัวเล็กๆ ที่กำลังวิ่งซนอยู่รอบโต๊ะอย่างสนใจแขกผู้มาเยือน
กินไม่เป็น
“รุ่นผมนี่นะเรียนมัธยมฯ ไม่เคยกินข้าวกลางวันเลย เพราะถ้ากินสามมื้อจะไม่พอใช้ หิวแต่เราทำตัวนิ่งๆ แล้วไปอ่านหนังสือในห้องสมุด”
ชายร่างเล็กผิวกร้านแดดแววตาแจ่มใส สวมหมวกทรงปานามาคาดดำที่น่าจะทำจากต้นกก ทอดมองกลุ่มมนุษย์ตัวเล็กวัยกำลังซนที่รายล้อมตัวเขา เด็กหลายคนยืนโขยกเขยกบนกองปุ๋ยอินทรีย์เพื่อกลับหน้าดินให้กลบเศษอาหารและกองใบไม้แห้งที่พึ่งโกยมาใส่ลานหมัก
“ทีแรกก็ไม่ได้อยากขยันอ่านหนังสือหรอก แต่มันจำเป็น”
อาจารย์สานิตย์ เจนสัญญายุทธ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว ว่าต่อพลางหัวเราะ เดินมุ่งไปยังแปลงเกษตรเล็กๆ ที่มีเด็กอีกจำนวนหนึ่งกำลังใช้มือดึงวัชพืชออกจากแปลงปลูกสารพัดวัตถุดิบที่จะเลี้ยงปากท้องของพวกเขาในวันถัดไป
เกษตรแหลมได้รับสายจากทีมงานของเขาเรื่องมีคนใจร้ายนำสารพิษมาทิ้งในพื้นที่จึงเอ่ยขอตัว อำลาเราไป ปัญหาในตำบลนี้กับโรงงานผิดกฎหมายมีสายด่วนเข้ามาตลอดเวลาที่เราอยู่ที่นี่
อดีต ผอ .รับหน้าที่ดูแลเราต่อ ก่อนทรุดนั่งยองๆ ข้างกลุ่มเด็กๆ ชั้นประถมฯ ปลาย พลางใช้มือดึง “สมุนไพรรักษา Covid-19” ออกจากแปลงผักบุ้ง
“เวลาหาก็ตามหากันจัง แต่ตอนนี้ไม่ใช้แล้ว มันมาแย่งโตในแปลง เราก็ต้องถอนออก”
แอบทึ่งไม่น้อยที่ชายสูงวัยสามารถระบุชื่อและสรรพคุณของต้นไม้ใบหญ้า ได้เกือบทุกชนิด ชี้สุ่มไปทางไหนก็ตอบได้ว่าควรนำไปทำอะไรถึงจะดี
เดิมพื้นที่ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นชุมชนเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ กระทั่งเกิดปัญหาเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าชีวมวล หรือโรงงานที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมมาตั้งอยู่บริเวณต้นน้ำ ยืดเยื้อยาวนานหลายสิบปี
“ตั้งโรงงานแล้วน้ำพิษก็ต้องลงมาในคลองเรา ทำอย่างไรถึงจะสู้เขาได้ เราเลยหันมาประกอบอาชีพเกษตรอินทรีย์ ถ้าเคมีมาถูกของเรา เราจะบอกประชาชน บอกสื่อมวลชนว่า เราถูกรังแกแล้วนะ (หัวเราะ)”
การทำเกษตรอินทรีย์แบบไม่ใช้สารเคมีจึงเริ่มจากชุมชนเล็กๆ จนขยายสู่นโยบายของจังหวัดปราจีนบุรี โดยมีผลพลอยได้เป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนอาหารกลางวันของเด็กชั้นมัธยมฯ ต้น ซึ่งไม่มีงบช่วยเหลือจากส่วนกลาง หรือแม้แต่เด็กประถมฯ ก็มีงบประมาณคนละประมาณ ๒๑ บาท
“เราต้องฝึกให้เด็ก ๆ เรากินเป็นอีกครั้ง โดยเฉพาะรุ่นเล็กกว่ารุ่นนี้ ถ้ากินเป็นจะรอดตาย ได้เงินวันละสามร้อยต้องอยู่ได้ ที่อยู่ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะกินอาหารหรูนะ แต่กินอาหารที่ไม่ได้โตในบ้านเรา ผักสลัด มายองเนส ทำในบ้านเราได้เหรอ”
อาจารย์สานิตย์และเด็กกลุ่มหนึ่งพาเราไปดูพื้นที่แหล่งอาหารในโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งมีตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมฯ ต้น ไม่ว่าจะเป็นเล้าไก่ไข่อารมณ์ดี โรงเพาะเห็ด บ่อเลี้ยงปลากินพืช จนถึงนาอินทรีย์ด้านหลังโรงเรียน ใกล้กันเป็นยุ้งข้าวกับโรงสีน้อยที่ได้รับบริจาคจากศิษย์เก่าและหน่วยงานต่างๆ
“เราทำนาได้ปีละประมาณ ๑,๘๐๐ กิโลกรัม แต่ต้องการทั้งหมด ๑๒,๐๐๐ กิโลกรัม ซึ่งไม่พอ”
อาจารย์เปรยว่าข้าวในยุ้งส่วนใหญ่มาจากการทำบุญกฐินช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี เพราะส่วนที่ปลูกเองมีไม่เพียงพอ หลายครั้งที่หน่วยงานมอบเงินจำนวนหนึ่งมาช่วยเหลือ แต่อาจารย์ก็เลือกใช้ลงทุนระยะยาวกับโครงการเกษตรในรั้วโรงเรียนเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ขั้นตอนผลิตอาหารที่พวกเขาจะใช้ต่อยอดในครอบครัว ซึ่งล้วนมีที่ทางการเกษตรของตนเองเป็นส่วนใหญ่
และถ้ามีโอกาส อาจารย์มักพาเด็กๆ เข้าไปในชุมชนศึกษาพืชผักต่างๆ
“พอถามว่า ‘บ้านพวกเธอมีผักสวนครัวอะไรกินไหม’ เด็กก็บอกว่า ‘ไม่มี’ แต่พอพาไปดูว่าบ้านอื่นกินอะไร ปลูกอะไร กลับบอกว่าบ้านตัวเองก็มี”
ความสนุกและเสียงหัวเราะของเด็กๆ ระหว่างเดินทางไปสำรวจ เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่อาจารย์สานิตย์คิดว่าดีกว่าการพร่ำสอน นานครั้งที่เด็กๆ ต้องเก็บวัตถุดิบจากพื้นที่ห่างไกลกลับมา ก็จะเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับวิธีปลูกพืชนี้ไว้ใกล้ตัว สงสัยในวิธีปรุงอาหารจากพืชเหล่านี้ ถูกฝึกให้ชินกับอาหารปลอดภัยใกล้บ้าน กินผักหลากหลายได้มากขึ้น สุดท้ายพวกเขาจึงมีส่วนร่วมออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ของตนเองอย่างไม่รู้ตัวโดยมีผู้ใหญ่ในชุมชนให้คำแนะนำ
“เช่นผักโสน เด็กก็จะกินไม่เป็น นี่ผมตั้งใจว่าปีนี้จะเอาดอกโสนมาทำขนมดอกโสนและแกงส้มดอกโสนให้เด็กลองชิม”
ข้าวหนึ่งเม็ดเปลี่ยนโลกทั้งใบ
แค่พยายามรับประทานอาหารที่ทำจากวัตถุดิบพื้นถิ่น ผลัดเปลี่ยนรายการอาหารให้หลากหลายตามฤดูกาลก็ทำให้การเข้าถึงอาหารปลอดภัยเป็นเรื่องง่ายขึ้น การกอบกู้โลกทั้งใบดูเป็นไปได้ขึ้นมาในทันที กระนั้นการอธิบายเรื่องง่ายๆ ก็จำเป็นต้องใช้หลายมือมาร่วมแรงร่วมใจ นั่นเป็นเหตุผลที่ “โครงการ Young Food” ถือกำเนิดขึ้น
วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด หรือ “ห่วน” หญิงสูงวัยผู้มีรอยยิ้มเปื้อนหน้า ผมสีดอกเลา สวมเสื้อผ้าพื้นเมือง เจ้าของสำนักพิมพ์อินี่บุ๊คส์ เป็นหนึ่งในผู้นำโครงการ Young Food ที่นำพวกเราไปสู่โรงเรียนเล็กๆ ในตำบลที่ไม่เคยได้ยินชื่อ และกลับมาพร้อมปณิธานมุ่งมั่นว่าจากนี้เราจะปรับหนึ่งในปัจจัยสี่ที่บริโภคอยู่ทุกวันให้เป็นมิตรแก่สังคมมากขึ้น
INI Innovation เป็นเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องอาหารปลอดภัยโดยเฉพาะ โครงการนี้เกิดขึ้นจากการร่วมมือของสี่องค์กรภาคี ได้แก่ สำนักพิมพ์อินี่บุ๊คส์ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) และมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ภายใต้แนวคิดการออกแบบเพื่อนวัตกรรมทางสังคมของ ศ.ดร. เอซิโอ มานซินี ผู้เขียนหนังสืออันเป็นแรงบันดาลใจของโครงการอย่าง Design, When Everybody Designs: An Introduction to Design for Social Innovation
สิ่งที่เครือข่ายทำไม่เพียงแค่ขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคม แต่จะมีการคิดเชิงออกแบบอย่างถี่ถ้วนเพื่อให้มีเครื่องมือดำเนินงานช่วยเหลือโลกได้ง่ายขึ้น ซึ่งเริ่มจากเรื่องเล็กมากๆ อย่างการ “กิน” ก็เป็นหนึ่งในหัวใจหลัก
“ข่าวดีคือ ถ้าเราจะแก้ปัญหาโลกร้อน มันมีคำตอบอยู่ในอาหาร หากเราเปลี่ยนรูปแบบการกิน ก็หมายถึงเปลี่ยนรูปแบบการผลิตด้วย ระบบนิเวศจะดีขึ้นเลย รูปแบบการผลิตอาหารควรจะเป็นระบบ regenerative เช่น เกษตรอินทรีย์หรือเกษตรธรรมชาติ คือระบบที่ไปฟื้นชีวิตให้พื้นดิน น้ำ และอากาศ”
การเป็นนักขับเคลื่อนสังคมตั้งแต่สมัยสาวๆ ของวัลลภา ทำให้เธอมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะปลูกฝังแนวคิดเหล่านี้ในคนรุ่นใหม่ที่มีพฤติกรรมความเชื่อเปลี่ยนไป หนึ่งในนั้นคือพวกเขารักสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากการเติบโตท่ามกลางความแปรปรวนของธรรมชาติแบบสุดเหวี่ยง ทำให้พวกเขามีแนวคิดการจัดการธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น มีหลักตั้งอยู่ที่การรักษาธรรมชาติและวัฒนธรรมไปพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต
“เวลาเราไป TCDC จะเห็นเลยว่าเขาคิดทำผลิตภัณฑ์ที่เอามา recycle ซึ่งเป็นธุรกิจชุมชน นำวัฒนธรรมชุมชนออกมาใช้ เป็นเทรนด์ที่เรามองแล้วว่าน่ารักมาก”
องค์กรของวัลลภาเชื่อว่ามนุษย์เราต้องแสวงหาวัฒนธรรมใหม่ การปลูกฝังต่อจากนี้ต้องเปิดโอกาสให้คนทุกรุ่นสร้างวัฒนธรรมของตัวเองจากต้นทุนเดิมที่มีอยู่ เธอคิดว่าอาหารน่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้เด็กมาเรียนรู้แล้วก็ใส่ใจง่ายสุด หลังจากนั้นเด็กๆ จะมีทักษะในอาหาร ซึ่งนำพาพวกเขาไปสู่ทักษะชีวิตเรื่องอื่นๆ ได้
“แต่การทำให้เด็กๆ สนใจ เราควรจะ ‘เล่น’ กับมัน”
ใน Young Food มีสโลแกนประจำใจว่า playful meaningful ซึ่งไม่ใช่บอกเด็กๆ ว่าควรกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ แต่สร้างเงื่อนไขบางอย่างให้เขาออกแบบเมนูที่ชอบในตอนเริ่มต้น
“สมมุติเด็กบอกชอบกินมาม่า เราต้องมาทำความเข้าใจร่วมกัน แล้วถ้าอยากให้เขากินผัก เพราะผักมีไฟเบอร์ มีสารอาหารก็ค่อยๆ ทำ ไม่ต้องรีบบอก แล้วพอปลายทางของกิจกรรม ในมาม่าจะเริ่มมีผักใส่ลงไป”
การรู้จักที่มาที่ไปของอาหารจะเป็น “สะพาน” เชื่อมไปสู่การเรียนรู้ถัดไป นอกจากผักในตลาดที่ใส่ลงไปได้แล้ว พวกเขาสามารถทดลองใส่ผักพื้นบ้านอื่นๆ ที่มีตามรั้วบ้าน ริมคลอง จนเริ่มรู้สึกอยากคุยกับคนที่จัดการเรื่องอาหารในบ้าน
“จะทำแกงเทโพ แทนที่จะทำให้เปรี้ยวโดยใช้มะนาว ก็ใช้ความเปรี้ยวจากมะดัน ตะลิงปลิง ส้มมะขามได้ พอเขารู้ว่าความเปรี้ยวมาจากหลายๆ ทาง ก็จะเริ่มอ๋อ แม่เราใส่ส้มมะขามเหรอ”
จากการลงพื้นที่ในหลายๆ จังหวัดของโครงการ พบว่าผู้ปกครองหลายบ้านไม่มีเวลาให้เด็กๆ แต่วัลลภาเสนอแนวคิดง่ายๆ ให้พ่อแม่ได้คิดว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่กินอาหารด้วยกันแล้ว” และเริ่มจากขอเวลาไม่มากๆให้แต่ละครอบครัวทำอาหารและกินข้าวร่วมกันสักมื้อหนึ่งทุกสัปดาห์ จนไปถึงงานใหญ่ๆ อย่างงานบุญประจำปีที่ทุกคนใช้ภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่นมาสานสัมพันธ์
กับอีกหนึ่งเรื่องที่ยังเป็นปัญหาคือต้องพยายามหาเมนูอาหารที่จูงใจให้เด็กๆ อยากกิน หลายครั้งโครงการพบว่าความคิดของเด็กๆ ไปไกลและเลยขีดจำกัดที่ผู้ใหญ่จะคิดได้ ซึ่งเป็นผลจากเด็กๆ เรียนรู้ที่จะออกแบบอาหารของเขาเอง
“สมัยก่อนเราจะกินหน่อไม้จิ้มน้ำพริก แต่ทุกอย่างวันนี้เป็นรูปม้วนหมด เพราะเด็กเขาชอบม้วน ฉะนั้นเราจะเจอว่าน้ำพริกกลายเป็นน้ำพริกโรล (แป้งเวียดนามห่อผักจิ้มน้ำพริก) หน้าตาดูน่ารัก เรายังอยากจะกินเลย”
อันตรายของการปล่อยให้เด็กไม่สนใจอาหาร คืออาหารจะไม่มีอนาคต ลูกหลานของเกษตรกรเองกลับไม่อยากมีอาชีพเกษตรกร การทำให้เขารักในอาหารจึงเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนกันตั้งแต่เนิ่นๆ ความฝันของโครงการนี้จึงอยู่ที่การได้เห็นว่าในวันหนึ่ง ทุกครัวเรือน ทุกองค์กร ทุกโรงเรียน และทุกโรงพยาบาล ได้รู้จักเกษตรกร ทำอาหารที่ผลิตจากสวนในชานเมืองหรือละแวกบ้าน ผู้ผลิตก็จะมีความมั่นคงในการทำเกษตรอินทรีย์แบบมีผู้บริโภคแน่นอน มีวัฒนธรรมการกินที่หลากหลายและน่าหลงใหล ไปพร้อม ๆ กับการดูแลธรรมชาติ
“ความสำเร็จคงไม่ใช่ปลายทาง เพราะขณะเดินไป มีความสำเร็จเล็กๆ ระหว่างทางให้เราเห็นอยู่แล้ว”
โลกทั้งใบเกิดขึ้นได้จากเรื่องเล็ก ๆ การระเบิดจากแค่จุดเดียวก็ทำให้เกิดจักรวาล กว่าข้าวแต่ละเมล็ดจะมาอยู่ตรงหน้าเราได้ ล้วนถูกบ่มเพาะจากหยาดฝน หยดน้ำ ผืนดิน และอากาศ ดังนั้นคำกล่าวว่า “ทั้งจักรวาลของเราล้วนอยู่ในชามข้าว” อันเป็นที่มาในการตั้งชื่อโครงการจิตวิญญาณอาหารของ Young Food ก็คงไม่เกินจริงนัก
บรรณานุกรม
- BBC News ไทย. (๒๕๖๓). “ระบบนิเวศมหาสมุทรเขตร้อนใกล้ถึงภาวะล่มสลายในอีกสิบปีข้างหน้า.” สืบค้น ๒๐ กันยายน ๒๕๖๕ จาก https://www.bbc.com/thai/features-52242356
- NGThai. (๒๕๖๒). “การค้นพบทฤษฎีบิ๊กแบง.” สืบค้น ๒๐ กันยายน ๒๕๖๕ จาก https://ngthai.com/science/24035/big-bang-theory.
- สุจิต เมืองสุข. (๒๕๖๐). “โรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว ปราจีนบุรี ทำเกษตรอินทรีย์และชีวภาพ ผูกสำนึกโรงเรียน
- รักชุมชน.” สืบค้น ๒๐ กันยายน ๒๕๖๕ จาก https://www.technologychaoban.com/young-farmer/article_18621